ปกติแล้วเรามักคุ้นเคยกันดีว่า หากแบ่งมนุษย์ตามลักษณะนิสัยการเข้าสังคมแบบหยาบๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีคนเพียงสองประเภท เริ่มที่ ‘extrovert’ กลุ่มที่ชอบเข้าสังคม ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ได้รับพลังงานจากการพูดคุยกับคนอื่น มักมีลักษณะเป็นคนอัธยาศัยดี เข้ากับคนง่าย มีเครือข่ายเพื่อนกว้างขวาง
ต่อมาอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามราวกับหยินหยาง นั่นคือ ‘introvert’ หรือก็คือกลุ่มที่ชอบใช้เวลาอยู่กันตนเองมากกว่ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การเข้าสังคมเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงาน มักมีลักษณะเป็นคนรักสันโดษ พูดน้อยต่อหน้าคนไม่รู้จัก ไม่ค่อยเข้าร่วมงานสังคม
แต่โลกแห่งความเป็นจริงซับซ้อนเกินกว่าจะแบ่งคนออกเป็นแค่สองประเภท ช่วงหลังมานี้เราเลยอาจจะได้เห็นกระแส ‘ambivert’ ขึ้นมาบ้าง อธิบายง่ายๆ คนกลุ่มนี้คือลูกผสมระหว่าง extrovert และ introvert นั่นคือบางครั้งก็เพิ่มพลังชีวิตผ่านการเข้าสังคม บางครั้งก็เก็บตัวสันโดษขึ้นอยู่กับอารมณ์ในตอนนั้น เราเลยมักจะเห็นเพื่อนกลุ่มนี้ตามงานสังคมเป็นครั้งคราว
อย่างไรก็ตามสังคมก็ซับซ้อนขึ้นอีกตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าให้ต้องปรับตัวเข้าหาสิ่งใหม่นี้อย่างช่วยไม่ได้ ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนประเภทใหม่ขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดย Urban Dictionary เว็บไซต์สารานุกรมที่เปิดให้ชาวเน็ตได้อัปเดตและค้นหาความหมายของคำทั่วไป ไปจนถึงแสลงใหม่ๆ ทั่วโลกได้เรียกคนประเภทนี้ว่า “textrovert” นั่นเอง
Textrovert นักแชทช็อตไมค์ ผลจากเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นและชุมชนที่หายไป
‘Textrovert’ เกิดจากการผสมกันระหว่าง ‘text’ ที่แปลว่าข้อความ และหาง ‘trovert’ จาก ‘extrovert’ และ ‘introvert’ ให้ความหมายถึงคนที่มีบุคลิกอัธยาศัยดี คุยเก่ง สามารถแสดงความเป็นตัวเองได้ดีผ่านตัวหนังสือ ซึ่งในที่นี่หมายถึงการแชทคุยบนโซเชียลมีเดียนั่นเอง
ในทางตรงกันข้าม เมื่อคนกลุ่มนี้ต้องมีปฏิสัมพันธ์หรือพูดคุยกับคนอื่นแบบพบหน้า ก็จะกลับกลายเป็นคนขี้อาย พูดน้อยหรือพูดไม่เก่งขึ้นมาทันที ถ้าให้สรุปสั้นๆ คนกลุ่มนี้ก็เหมือนกับคนที่เป็น ‘extrovert’ เมื่อได้คุยผ่านตัวอักษร แต่เป็น ‘introvert’ เมื่อต้องเจอหน้ากันนั่นเอง
บุคลิกแบบ ‘textrovert’ เป็นหลักฐานชั้นยอดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หนึ่งในสาเหตุสำคัญคงจะหนีไม่พ้นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การพบปะเจอหน้ากันเป็นเรื่องยากจนผู้คนต้องทำตัวให้คุ้นชินกับการคุยผ่านตัวหนังสือแทน
อีกหนึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะชุมชนมีจำนวนน้อยลงและขนาดเล็กลง เห็นได้ชัดจากชุมชนพื้นบ้านที่ค่อยๆ หายไป พื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้คนละแวกเดียวกันได้มาทำกิจกรรมร่วมกันก็น้อยลงเช่นกัน ผลที่ตามมาคือคนรุ่นใหม่ไม่มีพื้นที่ “ปรับตัวเข้าสังคม” หรือพื้นที่ปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้าอย่างสมัยก่อน
ใช่ว่าต้องเป็นคนรุ่นใหม่หรือเด็ก Gen Z (คนที่เกิดช่วง ค.ศ.1995-2009) เท่านั้นที่จะมีบุคลิกแบบ ‘textrovert’ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมย่อมส่งผลกระทบกับทุกคนในสังคมไม่มากก็น้อย นอกจาก Gen Z แล้ว Gen Y (คนที่เกิดช่วง ค.ศ.1981-1994) ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีจำนวน ‘textrovert’ เยอะไม่แพ้กัน ไม่แน่ว่าเราหรือเพื่อนเราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้ เช่นนั้นเราไปสำรวจเช็กลิสต์คนที่น่าจะเป็น ‘textrovert’ ไปพร้อมกันเลยดีกว่า
ลักษณะของคน ‘textrovert’
1. แรกๆ พูดน้อยแล้วค่อยกลายเป็นคนพูดมาก
หากคุณมีเพื่อนเป็น ‘introvert’ หรือเป็น ‘introvert’ เสียเองคงพอจะคุ้นเคยกับลักษณะนิสัยแบบนี้อยู่บ้าง เพราะส่วนมากมักใช้เวลากับตัวเองและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ‘introvert’ เลยจะมีกำแพงแก้วบางอย่างคอยกั้นระหว่างตนเองและ “ผู้บุกรุกหน้าใหม่” อยู่เสมอ
แต่เมื่อผู้บุกรุกกลายเป็นคนรู้จัก และค่อยๆ ทำลายกำแพงแก้วลงจนได้เข้าไปอยู่ในโลกของเขาแล้วนั้นจะพบว่าจริงๆ ‘introvert’ ก็เป็นคนคุยเก่ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่พวกเขาชอบยิ่งสามารถพูดได้เรื่อยๆ
‘textrovert’ ก็เช่นกัน เพราะเนื้อในแทบไม่ต่างอะไรจาก ‘introvert’ การพูดคุยกับพวกเขาแรกๆ ก็จะต้องข้ามกำแพงของการ “ถามคำตอบคำ” ไปเสียก่อน ทว่าเมื่อเปิดใจได้แล้ว กลับกันเขาอาจจะเป็นฝ่ายชวนคุยก่อนเลยก็เป็นได้
2. ตายไมค์เมื่อต้องพูดคุยแบบต่อหน้า
ต่อให้คุณสามารถเปิดใจจนสนิทกับคน ‘textrovert’ ได้ผ่านแชทแล้ว เมื่อถึงเวลาที่นัดมาเจอหน้ากันจริงคุณจะได้พบกับเต่าในกระดองอีกครั้ง จนคุณอาจคิดว่าคนที่มาพบคุณกับคนที่คุยในแชทเป็นคนละคนเลยก็เป็นได้
เพราะสำหรับ ‘textrovert’ แล้วตัวตนในแชทกับตัวตนต่อหน้าของเขาจะแยกกันอย่างสิ้นเชิง ต่อให้คุณสนิทกับคนในแชทได้แล้วก็ใช่ว่าคุณจะสนิทกับตัวจริงเสมอไป ไม่ใช่ว่าความรู้สึกสนิทจะหายไปไหนแต่เพราะ ‘textrovert’ นั้นจะไม่ถนัดพูดเอามากๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความประหม่า อีกส่วนอาจเป็นเพราะไม่ค่อยได้มีโอกาสฝึกเข้าสังคมเนื่องจากสาเหตุที่เคยกล่าวถึงก่อนหน้านั่นเอง
3. มีความคิดสร้างสรรค์ในการตอบแชท
เมื่อสนิทกันแล้วสิ่งหนึ่งที่คุณจะสัมผัสได้จากการคุยแชทกับเพื่อน ‘textrovert’ คือความรู้สึกที่คุยแล้วอยากคุยอีก แม้พวกเขาจะตายไมค์เมื่อถึงเวลาต้องคุยต่อหน้า แต่ภายใต้เกราะกำบังอย่างโซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ความคิดอย่างเต็มที่ในการเฟ้นหาคำตอบแต่ละอย่างที่มักชวนให้คุณประหลาดใจ
หรือหากเป็นคุณเองที่เป็น ‘textrovert’ ให้ลองสังเกตดูว่าคุณสนุกสนานกับการคิดหาคำตอบมาต่อบทสนทนากับอีกฝ่ายมากแค่ไหน เพราะจริงๆ แล้วการพูดคุยอาจเป็นสิ่งที่คุณอยากทำกับเพื่อนหรือคนสนิทมาตลอด แต่เพราะพูดออกจากปากไม่เก่ง เมื่อมีเครื่องมีดีๆ อย่างโซเชียลมีเดียแล้วคุณจึงไม่ลังเลที่จะปล่อยของออกมาอย่างเต็มที่
4. มักจะหลุด “ภาษาส่วนตัว” ออกมาบ่อยๆ
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘textrovert’ พูดไม่เก่งหรือสื่อสารผ่านการพูดได้ยากกว่าคนอื่น อาจจะเป็นเพราะพวกเขามี “ภาษา” เป็นของตัวเอง แบบที่พูดแล้วเข้าใจอยู่เพียงคนเดียว และยินดีที่จะเผยแพร่ลัทธิการใช้คำฉบับของตนเองให้กับคู่สนทนาผ่านแชทที่คุยด้วยเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีคนถามบ่อยๆ ว่าคำที่ใช้หมายถึงอะไร ใช้บริบทไหน และหากคำนั้นไม่ใช่ภาษาถิ่นหรือ “ภาษาจะเทย” ที่เป็นแสลงที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่เป็นภาษาที่คุณรังสรรค์ขึ้นมา นิยามและกำหนดบริบทการใช้ด้วยตัวคุณเอง ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘textrovert’ ก็ได้
5. เล่าเรื่องเก่งจนคนฟังคล้อยตาม
นอกจากจะเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์และมีภาษาเป็นของตัวเองแล้ว ‘textrovert’ มักจะมีจินตนาการสูงและหลายครั้งที่พวกเขาจะซ้อมเรียบเรียงเรื่องราวแห่งจินตนาการนั้นอยู่ในหัวของตนเอง นั่นทำให้พวกเขากลายเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอดเมื่อต้องเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ทักษะการเรียบเรียงจะทำให้ผู้อ่านคล้อยตามจังหวะการเล่าเรื่องและรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในคำพูดเหล่านั้น
เป็นไปได้ว่า ‘textrovert’ เหล่านี้มักจะซ่อนตัวอยู่ในคราบนักเขียน ไม่ว่าจะเขียนนิยายหรือเขียนคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย ทั้งเรื่องแต่ง รีวิว หรือเรื่องเล่าประสบการณ์มากมาย เพราะการเรียบเรียงและสื่อสารผ่านตัวหนังสือเป็นทักษะที่เขาสามารถทำได้ดีนั่นเอง
คุณเองก็เป็น ‘textrovert’ ที่พูดเก่งได้นะ
แน่นอนว่าบุคลิกหนึ่งย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับคนเป็น ‘textrovert’ แล้ว ข้อดีของเขาคงอยู่ที่การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพผ่านตัวหนังสือ ส่วนข้อเสียของเขาคือการพูดไม่เก่ง หลายคนคงสงสัยว่าในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารซึ่งหน้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงมีอาชีพเกิดใหม่มากมายที่ไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้ากับคนอื่นแล้ว ดังนั้นการพูดไม่เก่งยังจะเรียกว่าเป็นข้อเสียได้อีกหรือ?
แม้การพูดคุยต่อหน้าอาจไม่ใช่เรื่อง “จำเป็น” ในการใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบัน แต่ต้องยอมรับว่าในชีวิตการทำงานการมีปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้ายังคงจำเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยหารือในที่ประชุม การทำความรู้จักและสร้างเครือข่ายคอนเน็กชันในที่ทำงาน ไปจนถึงการนำเสนอผลงาน หากไม่ฝึกการพูดซึ่งหน้าไว้อาจทำให้พลาดโอกาสสำคัญของชีวิตไปเลยก็ได้
สำหรับ ‘textrovert’ แล้วอาจมีเหตุผลมากมายนอกจากที่กล่าวไปข้างต้นที่ทำให้การพูดคุยต่อหน้าเป็นเรื่องยาก แต่เพราะคนเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อย่างสิ้นเชิง การพยายามขยับเข้าใกล้มันอีกสักนิดอาจทำให้การใช้ชีวิตบนโลกนี้สวยงามและสนุกสนานมากขึ้น สำหรับใครที่อยากจะลองเปลี่ยนแปลงตัวเองดูสักตั้ง อาจจะเริ่มต้นจาก 3 ทริกง่ายๆ ต่อไปนี้
1. ฝึกทักทายผู้อื่นก่อน
คำพูดคือสิ่งที่มีพลังมากกว่าที่เราคิด แม้เริ่มแรกจะยังไม่สามารถพูดได้คล่องอย่างที่คิดไว้แต่การได้ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ อยากการส่งเสียงออกไปก่อนแทนที่จะรอใครเปิดบทสนทนาอาจพาโอกาสใหม่ๆ มาให้เราแบบที่ไม่ทันตั้งตัว รวมถึงอาจช่วยทำให้คนอื่นกล้าที่จะเข้ามาคุยกับเรามากขึ้นด้วยเช่นกัน
2. ฝึกควบคุมลมหายใจเมื่อเกิดอาการประหม่า
ไม่แปลกที่เราจะเกิดอาการประหม่าเมื่อทำสิ่งที่ไม่คุ้นชิน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราต้องรู้ว่าจะรับมือกับอาการประหม่านั้นอย่างไร ทางที่รู้กันทั่วไปและเห็นผลดีมาตลอดคือการกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจให้เต็มท้องแล้วค่อยๆ ปล่อยออกมาจะช่วยลดความกังวลและทำให้ใจสงบลงได้
3. กล้าที่จะพูดผิดแล้วพูดใหม่
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหล่า ‘textrovert’ ไม่กล้าพูดออกไปเพราะไม่อยากทำให้ตัวเองอับอายด้วยการพูดผิด เพราะสำหรับพวกเขาคำพูดช่างมีพลังมากมาย เมื่อพูดผิดครั้งหนึ่งก็ราวกับเรื่องราวที่เรียบเรียงมาเกิดรอยร้าวและสลายไปในพริบตา
ซึ่งความจริงแล้วความผิดพลาดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยจนทุกคนชินและเลิกสนใจไปหมดแล้ว การพูดผิดเองก็เป็นหนึ่งในความผิดพลาดที่ทุกคนพร้อมจะเมินใส่เพราะไม่ใช่สิ่งที่ผิดแปลกจนต้องสนใจ การอายที่พูดผิดจึงกลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ทำให้คนกลับมาสนใจว่าความผิดพลาดไหนกันที่ทำให้เราอายขนาดนั้น
เช่นนั้นแล้ววิธีรับมือที่ดีที่สุดคือการกลมกลืนไปกับผู้คนด้วยการเมินความผิดพลาดนั้นเสียแล้วพูดใหม่ราวกับสิ่งที่พูดไปก่อนหน้านี้เป็นเพียงละอองที่ค่อยๆ จางไปเองจนไม่มีใครสังเกตเห็น
การก้าวไปทีละก้าวก็นับว่าเป็นการพัฒนาเช่นกัน แม้จะเริ่มต้นด้วยท่าทีเก้ๆ กังๆ ก็นับเป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าเช่นกัน สุดท้ายสักวันจะต้องก้าวไปถึงปลายทางที่เราอยากเป็นได้แน่นอน
ที่มา:
– A Textrovert – And His 6 Magnificent Characteristics : Shraddha Rane – https://bit.ly/3r2lx1B
– Young People Don’t Know How to Talk To Each Other Anymore : Alisa Hrustic – https://bit.ly/480MW4x
– Gen Z is the loneliest generation, and it’s not just because of social media : Katrina Trinko – https://bit.ly/45BlUiO
#selfdevelopment
#generation
#textrovert
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast