PSYCHOLOGYทำความรู้จัก Toxic Empathy พิษของการเอาใจเขามาใส่ใจเรามากไป จนกระทบต่อจิตใจของตัวเอง

ทำความรู้จัก Toxic Empathy พิษของการเอาใจเขามาใส่ใจเรามากไป จนกระทบต่อจิตใจของตัวเอง

ชีวิตของคนเรามักมีช่วงเวลาที่สวยงามผ่านเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้ใช้เวลาที่มีกับคนที่รักหรือการได้เสพโมเมนต์ของการทานอาหารในร้านที่หมายตาไว้นาน แต่เมื่อชีวิตของเรามีช่วงเวลาที่ดี แน่นอนว่าก็ต้องมีช่วงเวลาที่รู้สึกแย่เกิดขึ้นได้เช่นกัน ยิ่งเมื่อเราอยู่ในโลกที่สามารถเชื่อมโยงกับข่าวสารได้เป็นร้อยเป็นพันเพียงแค่ปลายนิ้ว

เมื่อการเข้าถึงข่าวสารเป็นเรื่องง่าย แค่เรากดเข้าแอปฯ นั้นก็เจอข่าวร้าย เข้าแอปฯ นี้ก็เจอข่าวไม่ดี การหลีกเลี่ยงหรือเพิกเฉยต่อข่าวร้ายๆ ที่เราเห็นจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เช่น ตอนเช้าเราเห็นข่าวคนถูกทำร้ายร่างกายและไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็รู้สึกเศร้าและเห็นอกเห็นใจเขาไปด้วย หรือพอช่วงบ่ายๆ หน่อย เราก็เห็นความทุกข์ยากของคนอื่นเพราะความเหลื่อมล้ำในสังคม เราก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจและรู้สึกแย่ตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีวันจบ

ซึ่งการที่เรารับรู้และเข้าใจถึงอารมณ์ ความคิด หรือความรู้สึกคนอื่น (Empathy) ก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้าเราเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย (Highly Sensitive Person) อารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราได้ โดยเราสามารถเรียกสิ่งนี้ได้ว่า “Toxic Empathy” หรือการที่เราเอาใจเขามาใส่ใจเรามากไปจนส่งผลร้ายต่อตัวเราเอง

แล้วเราจะป้องกัน Toxic Empathy และรักษาพลังงานทางอารมณ์ของเราไว้ ท่ามกลางข่าวร้ายที่เต็มไปหมดได้อย่างไร?

ทำความเข้าใจ Toxic Empathy ให้มากขึ้น

ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจกับคำว่า Toxic Empathy เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Empathy คืออะไรกันแน่

จริงๆ แล้วนักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาก็ไม่ได้มีการยืนยันจริงๆ เสียทีเดียวว่า Empathy คืออะไร บางคนบอกว่ามันคือการที่เราแสดงความกังวลใจต่อคนอื่น บางคนบอกว่ามันเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณของการเป็นเพื่อนมนุษย์ หรือบางคนก็บอกว่ามันคือเรื่องของศีลธรรม

แต่จากการศึกษาที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานอย่าง Toward a consensus on the nature of empathy: A review of reviews ที่จัดทำขึ้นโดย Håkansson Eklund J และ Summer Meranius M ได้สรุปไว้ว่า Empathy เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับ 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ความสามารถในการเข้าใจ ความรู้สึก การแบ่งปันความรู้สึกของผู้อื่น และการรักษาความเป็นตัวเองไว้

แล้วการมี Empathy ที่มากเกินไป จะทำให้ความหวังดีของเรากลายเป็นพิษต่อตัวเราเองได้อย่างไร?

จริงอยู่ที่ว่า Empathy ช่วยให้เราเชื่อมโยงกับคนอื่นและทำให้เราดูมีนิสัยเชิงบวก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าเราไม่สามารถรักษาความเป็นตัวเองไว้ได้ สุดท้ายปัญหามันก็จะตกอยู่ที่ตัวเราเอง

เพราะถ้าเราเข้าไปแบกรับความเจ็บปวดของคนอื่น มันก็จะทำให้เราเจ็บไปด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราจะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ รวมถึงเราต้องเรียนรู้ที่ปรับอารมณ์และควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ให้เกินเลยมากไป จนได้รับผลกระทบเชิงลบตามมา

เช่น เราอาจกลายเป็นคนที่ต้องประสบกับความทุกข์เหล่านั้นไปด้วย สมมติว่าเราเห็นเพื่อนเพิ่งสูญเสียคนที่รักไป แน่นอนว่าเราก็ต้องเข้าไปปลอบ แต่สำหรับบางคนแล้ว ไม่ได้หยุดอยู่แค่การปลอบ แต่มีความรู้สึกร่วมด้วย เช่น รู้สึกสงสาร เห็นใจ และอยากแบ่งปันความเจ็บปวดนั้นมาไว้ที่ตัวเอง ซึ่งถ้าเรารับความรู้สึกของคนอื่นมาไว้ที่ตัวเองมากไป สุดท้ายมันก็จะทำให้เราหมดแรง ซึมเศร้า หรืออาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและสิ้นหวังได้

ทีนี้มาดูกันต่อว่า เราเข้าข่ายมีนิสัย Toxic Empathy หรือเปล่า ผ่านการเช็ก 3 สัญญาณเหล่านี้

1) ชอบหาเหตุผลดีๆ มาลบล้างพฤติกรรมแย่ๆ ของคนอื่น

การที่เรามี Empathy จะช่วยให้เรารับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่นและสังเกตถึงสถานการณ์ภายนอกว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้แต่ละคนทำพฤติกรรมเช่นนั้น ดังนั้นแล้วหากเราเจอคนที่ทำพฤติกรรมแย่ๆ ใส่ เราก็อาจจะพยายามหาเหตุผลต่างๆ มารองรับพฤติกรรมเหล่านั้น เช่น ถ้าเห็นหัวหน้าหัวร้อน เราก็อาจจะคิดว่าเป็นเพราะเขาต้องเจอกับงานกองโตที่อยู่ตรงหน้า เขาก็เลยหงุดหงิดไปบ้าง

แต่การหาเหตุผลหรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ข้อแก้ตัว” ให้กับพฤติกรรมของคนอื่น สุดท้ายแล้วมันจะนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในระยะยาว

Advertisements

2) รู้สึกว่าการปฏิเสธคนอื่นเป็นเรื่องยาก

คนที่มี Empathy จะชอบช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่า เมื่อมีคนมาขอให้เราทำอะไรบางอย่างแล้วเราไม่อยากทำ แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธ นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนของการมีนิสัย Toxic Empathy

3) รับความเครียดจากปัญหาของผู้อื่น จนสุขภาพกายแย่ลง

การที่เรามี Empathy มากเกินไป อาจทำให้สุขภาพกายแย่ลงได้ เพราะถ้าเราได้รับความเครียดมาจากคนอื่น ความเครียดนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราด้วย เช่น เมื่อเราเจอกับความตึงเครียด ร่างกายเราจะรับมือด้วยการตอบสนองอัตโนมัติที่เรียกว่า สู้หรือหนี กลไกนี้จะเพิ่มระดับของฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอล และอาจส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย

3 วิธีหยุดเอาใจเขามาใส่ใจเรามากไป

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองอาจเข้าข่ายเป็น Toxic Empathy ก็ถึงเวลาที่จะต้องหันมาปรับเปลี่ยนและหาสมดุลความรู้สึกเข้าอกเข้าใจคนอื่นของตัวเอง ก่อนที่จะสายเกินแก้

1) แยกปัญหาของคนอื่นออกจากปัญหาของตัวเอง

ต้องบอกก่อนว่า การที่เรามี Empathy มากเกินไป สามารถนำไปสู่อาการหมดไฟได้ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า มันจะสร้างความเครียด ความเจ็บปวด ตลอดจนความกังวลอันมหาศาลให้กับตัวเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันส่งผลต่อสุขภาพ อีกทั้งยังทำให้ความสามารถของ “การให้” ของเราลดลงอีกด้วย

การที่เราจะหาสมดุลในเรื่องนี้เจอ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ กำหนดขอบเขตว่าปัญหาไหนเป็นของใคร และเราควรยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน การกำหนดขอบเขตจะทำให้เราแยกปัญหาและอารมณ์ของเราออกจากอารมณ์ของคนอื่น

จำไว้อย่างหนึ่งว่า เรายื่นมือไปช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่ไม่ต้องรับแรงกดดันมาไว้ที่ตัวเอง

2) สังเกตและตั้งชื่อความรู้สึกที่เกิดขึ้น

การจัดการกับอารมณ์ได้ดีที่สุดก็คือ การทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง บางครั้งการที่เรามีอาการ Toxic Empathy นั้นเป็นเพราะเราไม่สามารถแยกความรู้สึกของเราออกจากความรู้สึกของคนอื่นได้ เมื่อขอบเขตความรู้สึกของเรากับคนอื่นมีความคลุมเครือ ก็จะทำให้เกิดการติดต่อทางอารมณ์หรือการที่เราเอาอารมณ์ของคนอื่นเข้ามาเป็นอารมณ์ของตัวเองได้ ในท้ายที่สุดแล้ว เราจึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้อีกต่อไป

ดังนั้น เวลาที่เรารู้สึกถึงความไม่สบายใจ ให้ลองหยุดอยู่เฉยๆ และหายใจเข้าลึกๆ หลังจากนั้นให้ลองตั้งชื่ออารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น หาคำที่เฉพาะเจาะจงมากำหนดความรู้สึกของตัวเราเอง เช่น ตอนนี้เรารู้สึกหนักใจ เครียด หรือวิตกกังวล

เมื่อตั้งชื่อความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว ให้ถามตัวเองต่อว่า “เราเรียนรู้อะไรจากความรู้สึกนี้ได้บ้าง” และลองสำรวจความรู้สึกของตัวเองให้ละเอียดขึ้นอีกนิด เพื่อให้สมองเรียนรู้วิธีการตอบสนองและการประเมินความรู้สึกของตัวเราเอง
.
การลองสังเกตและตั้งชื่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จะช่วยให้เราพัฒนาทักษะการตระหนักรู้ในตนเองและการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเมื่อเราสามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้แล้ว ก็จะควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น รวมถึงแยกแยะความรู้สึกของตัวเองออกจากคนอื่นได้นั่นเอง

3) วางกลยุทธ์

เมื่อเราตกอยู่ในภวังค์ของ Toxic Empathy สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยคือ สุขภาพจิตของเรา ถ้าเรารู้สึกว่ากิจกรรมไหนทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า ให้หาเวลาพักผ่อนจากสิ่งเหล่านั้น เช่น ถ้าการที่เราเล่นโซเชียลแล้วเห็นข่าวไม่ดีบ่อยๆ นั้นทำให้เกิดความรู้สึกเห็นใจอกเห็นใจคนอื่นอย่างท่วมท้น ก็ให้พยายามลดนิสัยนั้นลง

การเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าความรู้สึกที่เรามีมันมากเกินไป จนทำให้สุขภาพกายและใจของเราแย่ลง ถึงเวลานั้นเราก็ต้องพยายามแยกให้ออกว่าปัญหาไหนเป็นของใคร ทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น รวมถึงควรลด ละ เลิก พฤติกรรมต้นเหตุลง เท่านี้เราก็จะสามารถอยู่กับตัวเองและคนอื่นได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

อย่าลืมว่าเมื่อเราเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นได้ เราก็ต้องเข้าใจและเห็นใจตัวเองให้เป็นบ้าง

อ้างอิง
– Learn how to protect yourself from toxic empathy : Elizabeth Perry, BetterUp – https://bit.ly/3MJK16r
– Can You Have Too Much Empathy? : Barbara Field, Verywell Mind – https://bit.ly/3WFxnKq
– Too Much Empathy Is Damaging: 3 Ways To Get The Balance Right : Tracy Brower, PhD, Forbes – https://bit.ly/3WJKp9Z
– Toxic Empathy: All You Need To Know About This Syndrome : Swarnakshi Sharma, Calm Sage – https://bit.ly/3OLOLLC

#selfdevelopment
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า