เพราะยิ่งไม่แน่นอน ยิ่งท้าทาย? 3 เหตุผล ทำไมคนเราถึงตกหลุมรักคนที่ไม่รักเรา

2555
ตกหลุมรัก

หลายๆ คน คงต้องเคยเจอเพื่อนหรือคนรอบตัวอยู่หลายคนที่ดูโหยหาความรัก ปากบอกอยากมีความรักหรือจริงจังกับใครสักคน แต่ตอนนี้แค่ยังไม่มีใครเข้ามา ทั้งที่ความจริงแล้วก็มีคนเข้ามาชอบตั้งเยอะ แต่กลับไม่ชอบใครเลยสักคน แล้วก็ดันไปชอบคนที่พาเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์แบบงงๆ ดูไม่รู้แน่ชัดว่า จะชอบหรือไม่ชอบกันแน่ซะงั้น

หรือไม่ต้องยกตัวอย่างว่าเป็นเพื่อนหรือคนไกลตัวที่ไหน เพราะคนคนนี้อาจคือ ‘ตัวคุณ’ เองนี่แหละ!

ทั้งที่ในบางความสัมพันธ์ก็ดูแทบเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แต่ทำไมคนเราถึงยังยอมตกลงไปในหลุมนั้น เผลอใจไปรู้สึกดีด้วย โดยเฉพาะกับคนที่ดูไม่ได้รักเราแบบเดียวกับที่เราคิดอยู่เสมอเลย?

Advertisements

ความจริงแล้วก็มีคำอธิบายพฤติกรรมนี้เอาไว้อยู่ 3 เหตุผลด้วยกัน

เหตุผลที่ 1: สนใจเพราะเขาเป็นคนในแบบที่เราอยากเป็น

ตั้งแต่ตอนแรกที่ทำให้คนเราเผลอใจไปชอบใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นเพราะเป็นคนในสเปค หรือมีความสนใจที่ตรงกัน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นคนนี้? และทำไมถึงได้ชอบเขามากขนาดนี้ด้วย?

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพราะ ยิ่งเขาคนนั้นเป็นคนในแบบที่ ‘เราอยากจะเป็น’ มากเท่าไหร่ เราจะยิ่งชอบและชื่นชมตัวเขามากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะเขาสามารถทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ เขาจึงเป็นเหมือนส่วนเติมเต็มชีวิตในส่วนที่ตัวเราเองไม่มีหรือขาดหายไป และเพราะการที่เขาเป็นคนในแบบที่เรายังเป็นไปไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างที่ดูยิ่งห่างไกล เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ยากกว่าเดิม

เหตุผลที่ 2: มองข้ามข้อเสีย จนเขาดูเป็นคนดีไร้ที่ติ

หลังจากคนเราตกหลุมรักใครสักคนแล้ว เพราะ ‘อคติส่วนตัว’ จากความรู้สึกชอบ (Bias) จะทำให้คนเราโฟกัสแต่ข้อดีของคนคนนั้นจนไม่ได้สนใจในข้อเสีย และมักคาดหวังต่อไปถึงผลลัพธ์ในแง่ดี ต่อให้เขาดูไม่ค่อยสนใจอะไรในตัวเราเท่าไหร่ หรือจะทำอะไรไม่ดีมากแค่ไหนก็ตาม เพราะอคติตรงนี้เองที่ทำให้คนเราไม่ได้ใส่ใจสิ่งนั้นมากเท่าสิ่งดีๆ ที่เขาทำกลับมาให้ แม้จะเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เหตุผลที่ 3: ยิ่งไม่แน่นอน ยิ่งท้าทาย

หากอธิบายตามหลักจิตวิทยา จากทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning Theory) สกินเนอร์ได้ทำการทดลองโดยใส่หนูเข้าไปในกล่อง เมื่อหนูกดคาน จะมีการเสริมแรงทางบวก ด้วยการให้รางวัลเป็นอาหารที่ตกลงมาทุกครั้ง และเมื่อหนูทำพฤติกรรมนี้ซ้ำๆ จะทำให้หนูเรียนรู้ว่า ถ้าหิวก็สามารถกดคานให้อาหารออกมาเองได้ หนูจึงกดคานบ่อยๆ เพื่อให้ได้รับรางวัลตามที่ต้องการ 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทำการทดลองด้วยการสุ่มการเสริมแรงทางบวก เปลี่ยนเป็นถ้าหนูกดคานจะมีอาหารสุ่มออกมาแค่บางครั้ง หนูไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดการเสริมแรงอีกทีเมื่อไหร่ เมื่อการเสริมแรงมีจำนวนครั้งที่ไม่แน่นอน (Variable Ratio) ผลการทดลองกลับพบว่า หนูมีแนวโน้มที่จะกดคานนั้นซ้ำๆ และถี่ยิ่งขึ้นกว่าปกติ จนกว่าจะมีอาหารออกมา

หลักการนี้ก็สามารถนำมาใช้อธิบายเรื่องความรักได้ด้วยเช่นกัน เมื่อคนเราอยู่ในความสัมพันธ์ที่คาดเดาไม่ได้ อีกฝ่ายมาๆ หายๆ ไม่รู้ว่าจะได้รับความรัก (การเสริมแรงทางบวก) อีกทีเมื่อไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนมีอาการเหมือนเสพติด อยากได้ อยากมีมากกว่าเดิม เพราะการที่อีกฝ่ายดูไม่แน่นอน ก็ยิ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย และมีแนวโน้มทำให้อยากพยายามมากขึ้น หวังว่าจะทำให้สำเร็จได้ในสักวัน

ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว ความสัมพันธ์นี้จะจบลงแบบไหน แต่ถ้าคนเราชอบใครสักคนจริงๆ เขาก็คงจะไม่ทำให้คุณต้องรู้สึกไม่ชัดเจนและเหนื่อยกับความสัมพันธ์อยู่แบบนี้ คนเรารักใครก็ต้องแสดงออกให้ชัดเจน แต่การที่เขาไม่ชัดเจนอยู่แบบนี้ก็คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดแล้ว 

การมีผู้ให้และผู้รับในความสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากัน เพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า “ความสัมพันธ์นี้อาจยังไม่ใช่สำหรับคุณ” รอเก็บความรักไว้ให้คนที่คู่ควรกับคุณกว่านี้กันดีกว่า 

อย่าเอาตัวเองไปเป็น ‘หนู’ ที่คอยกดคานรอคอยความรัก ในความสัมพันธ์ที่ทำร้ายตัวเองกันอีกเลย


Advertisements

อ้างอิง:

https://bit.ly/3AA10jV

https://bit.ly/3iDkwWY

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ: 

– รู้จักกับ “Breadcrumbing” เมื่อเขาแค่อยากเก็บเราไว้ แต่ไม่ได้อยากจริงจัง https://missiontothemoon.co/psychology-breadcrumbing/

– ยิ่งเจ็บก็ยิ่งรัก? เข้าใจ ‘Trauma Bonding’ กับเหตุผลที่บางคนยอมทนอยู่ในความสัมพันธ์แย่ๆ https://missiontothemoon.co/inspiration-trauma-bonding/

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#psychology

#relationship

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements