รู้จักกับ “Breadcrumbing” เมื่อเขาแค่อยากเก็บเราไว้ แต่ไม่ได้อยากจริงจัง

9850
Breadcrumbing

นอกจากการงาน การเงิน และสุขภาพ เรื่องความรักและความสัมพันธ์ก็เป็นอีกด้านหนึ่งในชีวิตที่สำคัญมากเช่นกัน เป็นด้านที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจมากๆ แถมยังเข้าใจยากขึ้นทุกวันเสียด้วย

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมทำให้ความสัมพันธ์ในยุคปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นกว่าในอดีตมาก ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ค่านิยมใหม่ๆ และเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อคนได้กว้างไกล แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนรู้สึกว้าวุ่นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว เพราะพฤติกรรมขอคนที่เปลี่ยนไป

เราเลยได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ (ที่ไม่เคยมีในยุคคุณตาคุณยาย) ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์การมี ‘คนคุย’ แต่ไม่ได้คบ การ ‘โดนเท’ หรือ ghosting เป็นต้น

Advertisements

และอีกหนึ่งพฤติกรรมในความสัมพันธ์สมัยใหม่ที่เราอยากให้ทุกคนรู้จักก็คือ “Breadcrumbing”

Breadcrumbing คืออะไร

เคยเจอแบบเหตุการณ์แบบนี้ไหม? เราเจอใครคนหนึ่งที่เรารู้สึกสนใจ และเขาก็ ‘เหมือนจะ’ สนใจในตัวเราเช่นเดียวกัน เพราะเขาทักมาก่อนบ้าง กดไลก์บ้าง ตอบไอจีสตอรี่เราบ่อยๆ  และบางครั้งถึงกับส่งรูปร้านสวยๆ มาชวนเราว่า ‘ไว้ไปกัน’ (แต่ก็ไม่เคยจะนัดกันจริงจังสักที)

และที่สำคัญที่สุดคือ.. เขามาๆ หายๆ!

พอเราเริ่มเหนื่อยกับความไม่ชัดเจนและทำทีว่าจะเงียบหายไปบ้าง คนคนนั้นมักจะหันมาให้ความสนใจเราอีกครั้ง จนเรารู้สึกว่า คราวนี้เราอาจจะได้พัฒนาความสัมพันธ์กันก็ได้นะ แต่สุดท้ายเรื่องราวก็ลงเอยแบบเดิมเสียทุกครั้ง

พฤติกรรมแบบนี้นั่นเองที่เราเรียกว่า “Breadcrumbing” โดยคำว่า Bread crumbs นั้นมีความหมายว่า ‘เศษขนมปัง’ เป็นการเปรียบเปรยว่า การกระทำนี้เหมือนกับการวางเศษขนมปังล่อให้คนเดินตาม คล้ายกับฉากในเทพนิยายเด็กเรื่องฮันเซลและเกรเทล (หรือถ้าพูดแบบใจร้ายก็คือเหมือนกับตอนที่เราพยายามล่อหมาแมวด้วยขนม) ส่วนคำที่ใกล้เคียงในภาษาไทยคงจะหนีไม่พ้นคำว่า ‘หว่าน’ ‘อ่อย’ หรือ ‘การให้ความหวัง’ นั่นเอง

คนเรา Breadcrumbing ไปเพื่ออะไร

สาเหตุที่คนทำพฤติกรรมเช่นนี้ (โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) เป็นเพราะ ‘ความเหงา’ ความเหงาเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ และโดยปกติเราคลายเหงาด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนรัก

ทว่าในชีวิตจริง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีและลึกซึ้งต่อเพื่อนหรือครอบครัว และไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมสร้างความสัมพันธ์จริงจัง ดังนั้นเพื่อเติมเต็มความต้องการทางสังคม (social needs) พวกเขาจึงหันมาใช้ความสัมพันธ์อัน ‘ตื้นเขิน’ จำนวนมากเป็นการทดแทน เช่น การมีคนคุยหลายๆ คนในเวลาเดียวกันแต่ไม่จริงจังสักคน เป็นต้น

อีกสาเหตุคือ ‘ความรู้สึกไม่มั่นคง’ (insecure) หลายๆ คนมักจะมีแผนสำรอง เมื่อไม่มั่นใจว่าความสัมพันธ์ปัจจุบันจะไปรอดไหม เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ชอบความไม่แน่นอน เลยพยายามทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย (secure) โดยการเก็บใครบางคนไว้เป็น ‘ตัวสำรอง’ 

ส่วนคนที่เผลอให้ความหวังคนอื่นโดยไม่รู้ตัว อาจเป็นไปได้ว่าเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ณ ตอนนี้เราต้องการอะไร เราแค่อยากเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้รู้ว่าใครดีที่สุดสำหรับเรา

เราไม่ได้เกิดมาเพื่อรู้ทุกอย่าง แต่เราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ ดังนั้นการที่เราไม่แน่ใจและไม่รู้ว่าต้องการอะไรจากความสัมพันธ์นั้นไม่ใช่เรื่องผิดเลย 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า หากไม่มีการสื่อสารเจตนารมณ์ให้ชัดเจน เราอาจเผลอทำให้อีกฝ่ายอาจเสียทั้ง ‘เวลา’ และ ‘ความรู้สึก’ ได้

Advertisements

Breadcrumbing ส่งผลเสียอย่างไร

บางครั้งคนที่ให้ความหวัง เขาก็ไม่รู้ตัวว่าเขาสร้าง ‘ความเสียหาย’ ให้คนอื่นมากน้อยแค่ไหน

งานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต ความโดดเดี่ยว และความรู้สึกไร้ค่าในกลุ่มคนที่ถูก Breadcrumbing ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่จำนวนกว่า 600 คน อายุตั้งแต่  18 ถึง 40 ปี โดยแบ่งเป็นชายและหญิงจำนวนเท่าๆ กัน ผลการวิจัยพบว่าคนที่โดนให้ความหวังเหล่านี้รู้สึก ‘ไม่มีความสุขกับชีวิต ไม่มีค่าและโดดเดี่ยว’

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของใครบางคนอย่างมาก ดังนั้น ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายทำนิสัยมาๆ หายๆ เราอาจลองคุยกับอีกฝ่ายให้ชัดเจนว่าเจตนาของเราคืออะไร เพื่อที่จะได้ไม่ทำร้ายอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว

แล้วกรณีที่เราเป็นฝ่ายถูก Breadcrumbing ล่ะ?

โดน Breadcrumbing ต้องทำอย่างไรดี

หากเราไม่มีความสุขกับอาการเอาแน่เอานอนไม่ได้ของอีกฝ่าย และเรามั่นใจแล้วว่า เรากำลังมองหาความสัมพันธ์แบบจริงจังอยู่ เราควรเลิกหยิบเศษขนมปังแห่งความหวังที่เขาโยนให้ และสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา บอกเขาไปตามตรงว่าเราต้องการอะไรจากความสัมพันธ์นี้ และถามความต้องการของอีกฝ่าย หากได้คำตอบแล้ว เราจะได้ตัดสินใจกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อ

ไม่ใช่เรื่องน่าอายหากเราจะถามคำถามที่ใครหลายคนอาจมองว่า ‘จริงจัง’ ออกไป หากสิ่งนี้ทำให้เราไม่สบายใจ ก็ไม่มีเหตุผลที่เราต้องอยู่ในสถานะดังกล่าวต่อไป อย่าลืมว่าความรู้สึกและความต้องการของเราสำคัญที่สุดเสมอนะ

อ้างอิง

https://bit.ly/2Ts32Cq

https://bit.ly/3gogYVS

#missiontothemoonpodcast

#mission #พอดแคสต

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements