self developmentหาเหตุผลว่าทำไมคนถึงชอบหนังบู๊? หลักจิตวิทยาให้คำตอบได้

หาเหตุผลว่าทำไมคนถึงชอบหนังบู๊? หลักจิตวิทยาให้คำตอบได้

เมื่อพูดถึงสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ‘สื่อ’ ที่นำเสนอความรุนแรงก็นับว่ามีผลกระทบต่อความรุนแรงในสังคมด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสื่อประเภท ‘ภาพยนตร์’ ที่ให้ทั้งความบันเทิง และทำให้เราซึมซับความรุนแรงไปโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว การเสพสื่อจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันและไม่หลงผิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

หนังประเภทหนึ่งที่มักจะตกเป็นเป้าแรกของสาเหตุความรุนแรงก็คือหนังแอ็กชัน ภาพการต่อสู้ การใช้อาวุธ การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ตัวละครอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม หรือความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ทำให้หนังแอ็กชันหลายเรื่องถูกจำกัดสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ บางบ้าน

แต่ในความจริงแล้วหนังแอ็กชันมีเรื่องราวที่หลากหลายมากๆ หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ หลายคนก็นับเป็นหนังแอ็กชันเช่นกัน ดังนั้นการเลือกหนังให้เหมาะกับคนดู และดูโดยรู้ว่าอะไรถูกต้องเหมาะสม และอะไรไม่ถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญ

ตอนที่เราดูหนังแอ็กชัน เราไม่ได้คาดหวังความผ่อนคลาย แต่เราคาดหวังที่จะได้เห็นฉากต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ อย่างซูเปอร์ฮีโร่จากทุกมุมโลกร่วมมือกันโค่นล้มจอมวายร้ายในจักรวาล ภาพฉากตึกอาคารที่พังครืนลงตรงหน้า ความกดดันเหล่านี้ทำให้เราสงสัยว่าตัวละครจะทำอย่างไรต่อไป?

การต่อสู้ เสียงโครมครามจากการปะทะและเสียงอาวุธนอกจากจะสร้างความตื่นเต้นให้ผู้ชมแล้ว ก็ยังมีหลักจิตวิทยาน่าสนใจอีกมากมายว่าทำไมคนเราถึงชอบดูหนังแอ็กชันที่อึกทึกครึกโครมอย่างนี้ได้

ความเครียดที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราเอง

ปกติแล้วคนที่ดูหนังในเวลาว่างๆ ก็มักจะดูเพื่อผ่อนคลายในวันพักผ่อน วันที่เราไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องงาน บางทีเราก็เปิดหนังไปด้วย ทำงานบ้านไปด้วย บางคนก็ดูหนังตอนออกกำลังกาย แต่ถ้าเปิดหนังแอ็กชันล่ะก็ เราคงจดจ่อกับเนื้อเรื่องในหนังจนลืมทำอย่างอื่นแน่ๆ เพราะสิ่งที่หนังแอ็กชันให้เราก็คือ ‘ความเครียดระยะสั้น’ (Short-Term Stress)

ถ้าพูดถึงความเครียด เรามักจะคิดว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ได้ แต่จริงๆ แล้วความเครียดมีหลายลักษณะ โดยความเครียดระยะสั้นที่เกิดจากการดูหนังแอ็กชันเป็นความเครียดที่เราสามารถควบคุมมันได้อย่างสิ้นเชิง เรากด Pause และ Play ได้ตลอดเวลา

โดยความเครียดระยะสั้นจะทำให้ร่างกายของเราตื่นตัวเพียงชั่วขณะที่หนังดำเนินไปเท่านั้น แล้วมันก็จะปรับตัวและกลับมาอยู่ในสภาวะปกติได้เมื่อหนังจบลง ความตื่นตัวชั่วขณะแบบนี้เองที่พาเราออกจากอารมณ์เบื่อๆ เนือยๆ หรือทำให้เราได้สัมผัสกับความตื่นเต้นและผ่อนคลายความเครียดจากวันทำงานได้บ้าง

กระตุ้นสมอง ให้ลองคิดแก้ปัญหา

นอกจากร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวตลอด 3 ชั่วโมงแล้ว สมองของเราเองก็ตื่นตัวไปพร้อมด้วยเช่นกัน เมื่อสมองของเราประมวลผลเรื่องราวในหนังอย่างเต็มที่ก็จะส่งผลถึงการประมวลผลในชีวิตจริงด้วย

บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้มีเพียงสองด้าน และในแต่ละวันก็ไม่ได้มีสถานการณ์บีบบังคับเรามากพอจนเรากลายเป็นคนที่ตัดสินใจเก่ง หนังแอ็กชันจึงเป็นแบบฝึกหัดการฝึกสมองที่ดีมากอีกวิธีหนึ่ง เราสามารถทำความเข้าใจความคิดของตัวละครทั้งในมุมของคนดู และในมุมที่สมมติว่าเป็นตัวละครเสียเอง

“ถ้าเป็นฉัน ฉันจะเลือกทางไหน? ระหว่างพยายามต่อไปจนสุดทางกับเลิกไปเลยเสียตั้งแต่ตอนนี้?” ระหว่างที่ดูหนังเรามักจะเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นมาในใจ ทางเลือกที่เราได้ใช้สมองพิจารณาทบทวนอย่างหนักตลอดเวลา 3 ชั่วโมงว่าเราจะได้อะไรหรือเสียอะไรไป เข้าใจต้นตอของปัญหาและคาดเดาสถานการณ์ในอนาคต สุดท้ายเราก็ได้คำตอบจากการไตร่ตรองอย่างสุดความสามารถโดยที่เราไม่ต้องเสียอะไรเลย เพราะนั่นเป็นสถานการณ์สมมติที่เราคิดขึ้นมาตามหนังที่ดูอยู่เท่านั้น

“โอ๊ย! ถ้ารู้อย่างนี้แต่แรก เรื่องก็ไม่บานปลายถึงขนาดนี้หรอก” บางครั้งหนังก็ซ่อนปมปัญหาจนเราแทบเดาเรื่องไม่ออก สมองของเราตื่นตัวและประมวลผลอย่างหนักมาตลอด 2 ชั่วโมงครึ่งก็ยังไม่เจอคำตอบที่สมเหตุสมผลสักที สุดท้ายก็มาเฉลยเอาตอนจบว่าเราพลาดหรือเผลอมองข้าม ‘อะไร’ ไป

Advertisements
Advertisements

“ความสำเร็จเกิดขึ้นจาก Action”

ทำไมเราถึงเรียกหนังบู๊ ต่อสู้ เลือดสาดว่าหนังแอ็กชัน ทั้งๆ ที่ Action ในภาษาอังกฤษมีความหมายว่า การกระทำ?

จอห์น ทรูบี (John Truby) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Anatomy of Genres เคยกล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่าที่จริงแล้วหนังแอ็กชันไม่ได้สอนให้เรารู้ว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม หรือคนดีย่อมชนะคนชั่วอะไรทำนองนั้น แต่มันสอนให้เรารู้ว่า “จะสามารถเอาชนะอุปสรรคไปได้อย่างไร?” ต่างหาก

เราจะทำอย่างไร? ถ้าเราเป็นเด็กที่ต้องไปเรียนต่างประเทศ โดยที่ไม่มีคนรู้จักสักคน ต้องเจอภาษา อาหาร และวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยไม่พอ ยังต้องเจอนักเรียนพวกบุลลี่และเป็นนักกีฬาต่อสู้เสียอีก แล้วจะทำอย่างไรเมื่อเราเป็นหัวหน้าแก๊งอันธพาลที่อำนาจเริ่มระส่ำระสาย มีทั้งคนในแก๊ง และแก๊งคู่อริที่พร้อมจะเล่นงานเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง

จากกฎฟิสิกส์ ซึ่งเป็นกฎว่าด้วยธรรมชาติของโลกที่ว่า “Action เท่ากับ Reaction” เราจะบอกว่าหนังแอ็กชันคือหลักปรัชญาชีวิตสู่ความสำเร็จก็ไม่ผิดนัก เพราะมันพูดถึงการฝ่าฟันอุปสรรคในรูปแบบที่หลากหลาย บ้างก็มาในรูปแบบของภัยพิบัติ คนเลวที่พร้อมใช้วิธีนอกกฎหมาย หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของผู้อื่น หรือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงความเชื่อและอุดมการณ์ของตัวเองก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ได้เหมือนกัน

ตัวละครจะสร้างเป้าหมาย หรือ Becoming ซึ่งก็คือการได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการเป็น ส่วนการต่อสู้ หรือ Fighting ก็คือการกระทำที่ทำให้ตัวละครบรรลุเป้าหมายไปได้ หากไม่มีการกระทำ (Action) หรือการต่อสู้ (Fighting) เส้นเรื่องของหนังแอ็กชันก็จะไม่สามารถถือกำเนิดขึ้นมาได้

แต่เราก็ต้องยอมรับว่าในอีกแง่หนึ่ง เมื่อสมองของคนก็สามารถซึมซับความรุนแรงและแสดงพฤติกรรมแบบนั้นออกมาได้ ดังนั้นไม่ว่าเรากำลังเสพสื่ออะไรอยู่ก็ตาม การรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ดังนั้นในวันสบายๆ เราใช้หนังแอ็กชันเพื่อให้ความบันเทิง ใช้เป็นที่หลบเพื่อพักผ่อน ชาร์จพลังให้เราฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้าในชีวิตจริง ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตเพื่อเป้าหมาย และให้ความสนุกสนานและสถานการณ์ความรุนแรงที่ควบคุมได้เพียงนิ้วคลิกอยู่แค่ในภาพยนตร์เรื่องโปรดของเราก็เพียงพอแล้ว

อ้างอิง
– Why Do People Enjoy Action Movies? The Science Behind It : Ada Martin, Poler Stuff – https://bit.ly/3LTDk2p
– Why people like action movies: Some science to it : Science And Samosa – https://bit.ly/48LxA4n

#selfdevelopment
#psychology
#entertainment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า