My Way

715
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • สุดท้ายแล้วความสุขหรือทุกข์มันคือทัศนคติ ไม่ใช่เหตุการณ์ และหลายครั้งเรื่องร้ายๆมันก็ไม่ได้ร้ายเสมอไป บางคนเกิดมาต้นทุนต่ำมากๆ แต่ด้วยทัศนคติที่ดีและจิตใจที่เข้มแข็ง พวกเขาจึงพาตัวเองมายืนในที่ที่เขาอยากมาได้
  • ในเรื่องร้ายๆมีดีเสมอ ถึงจะเกิดมาขาด แต่สุดท้ายธรรมชาติจะชดเชยสิ่งอื่นๆมาให้เราเอง หรือถ้าหากเราพยายามมากพอ เสียสละมากพอ สุดท้ายวันหนึ่งเราก็จะได้สิ่งที่เราอยากได้

ขอตั้งชื่อบทความแบบนี้เลยแล้วกัน เพราะกำลังนั่งทำงานอยู่ดีๆ เพลง My Way ก็เล่นขึ้นมาในเพลย์ลิสต์ ทำให้ถึงกับต้องหยุดทำงานแล้วเปลี่ยนมาเขียนบทความนี้แทน 

คุณคิดเหมือนผมไหมครับ ว่าในที่สุดเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงแล้ว เราอยากร้องเพลง My Way นี่แหละให้กับตัวเอง อยากบอกกับตัวเองเหมือนในเพลงไหมครับว่า

ใช่ ฉันมั่นใจว่าคุณรู้ว่ามันเคยมีช่วงเวลา
ที่ฉันต้องทำสิ่งที่ยากเกินกว่าท่ีฉันสามารถทำได้
แต่เมื่อไรก็ตามที่ลังเลสงสัย
ฉันกลืนกินมันเข้าไปแล้วค่อยคายออกมา
ฉันเผชิญหน้าแล้วลุกขึ้นยืน
แล้วก็ทำมันในแบบของฉันเอง

Yes, there were times, I’m sure you knew
When I bit off more than I could chew.
But through it all, when there was doubt,
I ate it up and spit it out.
I faced it all and I stood tall;
And did it my way

ชีวิตมันไม่ง่ายนะครับ แต่เชื่อเถอะครับว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเรา เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่สำคัญเท่าทัศนคติที่เรามีต่อเรื่องนั้นครับ 

เพราะสุดท้ายแล้วความสุขหรือทุกข์มันคือทัศนคติครับ ไม่ใช่เหตุการณ์ และหลายครั้งเรื่องร้ายๆมันก็ไม่ได้ร้ายเสมอไป บางทีมันกลับกลายเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เหมือนกับคำกล่าวโบราณของจีนที่ว่า 

Good Luck? Bad Luck? Who knows?
โชคดี? โชคร้าย? ใครจะรู้ล่ะ?

ถ้าจำไม่ผิดผมเคยอ่านจากหนังสือของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ว่า โทมัส อัลวา เอดิสัน หนึ่งในบุคคลที่พลิกหน้าประวัติศาตร์ของโลกนั้น ก็มีปัญหาเรื่องการได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเขาติดเชื้อไข้ดำแดง ทำให้เมื่อโตมา เอดิสันมีภาวะที่เรียกว่าเกือบจะหูหนวก 

Advertisements

แต่ว่าปัญหาไม่ค่อยได้ยินนี้ไม่ได้แย่ไปซะทั้งหมด เพราะสำหรับเอดิสัน มันกลับกลายเป็นคุณูปการสำคัญที่ช่วยให้เขาไม่ค่อยวอกแวก มีสมาธิจดจ่อกับการทดลองประดิษฐ์ของต่างๆ ได้นานกว่าคนอื่น เป็นเพราะว่าเขาไม่ค่อยได้ยินอะไร เลยไม่โดนรบกวนโดยเสียงได้ง่าย


หรือลองอ่านตัวอย่างของเด็กหนุ่มคนนี้ดูก่อนได้นะครับ เรื่องนี้เกิดขึ้นในเมืองเอสเซ็กซ์ (Essex) ประเทศอังกฤษ เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

หนูน้อยเดินออกจากชั้นด้วยความใจเสียปนความอาย เมื่อเขาถูกเรียกชื่อโดยคุณครูให้ออกจากห้องเรียนปกติเพื่อไปเข้าชั้นเรียนสำหรับเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ “พิเศษ”

เด็กๆคนอื่นร้องเพลงแซว โดยเอาทำนองเพลง let it be มาแปลงโดยใส่คำว่า special need (ต้องการความช่วยเหลือพิเศษเข้าไปแทน) พลางหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน

หนูน้อยคนนี้เป็นโรคที่เรารู้จักกันในนาม ดิสเล็กเซีย (Dyslexia) ซึ่งทำให้มีความบกพร่องในการอ่าน ส่งผลต่อปัญหาในการอ่านเขียน การสะกดคำและผสมคำ จัดเป็นความไม่ปรกติด้านการเรียนรู้ (จริงๆแล้วไม่เรียกว่าเป็นโรคซะทีเดียว เพราะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา ต้องอาศัยความเข้าใจและกำลังใจของตัวเองและคนรอบข้างเป็นหลัก) มีสาเหตุมาจากการทำงานที่เซลล์สมองซีกซ้ายที่ผิดปรกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียนบ้างไม่มากก็น้อย 

แม้จะเรียนได้ไม่ดีนัก แต่หนูน้อยคนนี้สนุกกับการทำอาหารและโชคดีที่พ่อแม่ของเขามีร้านอาหารกึ่งผับเล็กๆ เขาจึงมีที่ซ้อมมือในการทำอาหารได้ตลอด 

เขาทำอาหารให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูงทานตั้งแต่เขาสูงพอที่จะใช้เตาได้ 

การทำอาหารเป็นสิ่งที่เขาหลงใหล เมื่อเรียนหนังสือจบเขาจึงพยายามหางานในร้านอาหาร จนในที่สุดก็ได้โอกาสไปทำงานที่ร้านอาหารอิตาเลี่ยนแห่งหนึ่ง ที่นี่เอง เขาค้นพบว่าอาหารอิตาเลี่ยนเป็นอาหารที่เขาทำได้ดีเป็นพิเศษ

Advertisements

ในปี 1997 หลังจากได้ออกทีวีสั้นๆในรายการทำอาหารรายการหนึ่ง ผู้จัดของ BBC ก็เห็นแววของเด็กหนุ่มคนนี้เนื่องจากสไตล์การพูดที่ไม่เหมือนใคร และการทำอาหารที่ทำให้เรื่องยากๆดูง่าย จึงชวนเขามาทำรายการให้ BBC 

รายการนี้ชื่อ The Naked Chef ซึ่งทำให้เด็กหนุ่มผู้นี้ดังเป็นพลุแตก และรายการทีวีอีกหลายสิบรายการตามมา 

เขาคือ เจมี่ โอลิเวอร์ (Jamie Oliver) เชฟที่ร่ำรวยที่สุดในโลก นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ประมาณการทรัพย์สินของเขาว่ามีเกิน 10,000 ล้านบาท

เจมี่ยังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนอาหารของโรงเรียนในอังกฤษให้ดีต่อสุขภาพเด็กมากขึ้น โดยโครงการของเขานั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ เมื่อการเรียกร้องของเขาส่งผลในการแก้กฎเกณฑ์เรื่องการจัดหาอาหารในโรงเรียน เมื่อทำสำเร็จในอังกฤษแล้ว เขายังรณรงค์เรื่องนี้ต่อในอเมริกาอีกด้วย 

นอกจากนี้ ทุกๆปีเขายังมีโครงการชื่อ “ฟิฟทีน (Fifteen)” ซึ่งเอาเด็กด้อยโอกาสด้านทุนทรัพย์ ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือติดยาเสพติด เข้ามาฝึกในร้านอาหารของเขา เพื่อที่คนเหล่านี้จะได้มีโอกาสที่จะมีอาชีพที่ดีและไม่ต้องกลับไปสู่วังวนเดิม

ปัจจุบันเจมี่เป็นเจ้าของร้านอาหารกว่า 50 ร้าน และเป็นเจ้าของหนังสือทำอาหารขายดีกว่า 20 เล่ม จริงๆเมื่อวันก่อนผมก็เพิ่งลองร้านของเจมี่ ที่สยามดิสคัฟเวอรี่มา อาจจะไม่ใช่แนวผมเท่าไร แต่ก็ถือว่าโอเคนะครับ พอได้ 

ทั้งที่เขามีหนังสือของตัวเองมากมาย แต่ด้วยโรคดิสเล็กเซีย ทำให้เขาเพิ่งอ่านหนังสือเล่มแรกในชีวิตจบเมื่อตอนอายุ 38 นี่เอง หนังสือที่ว่าคือนิยายเรื่อง เกมล่าเกม: แคชชิ่งไฟเออร์ (The Hunger Games: Catching Fire) 

เจมี่บอกว่าปัญหาไม่ได้มาจากอุปสรรคที่ทุกคนมี ปัญหาจะเกิดก็ต่อเมื่อคนเหล่านั้นเอาอุปสรรคมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินชีวิตมากกว่า 

อันที่จริงในวงการธุรกิจ นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงหลายคน ไม่ว่าจะเป็นริชาร์ด แบรนด์สัน (Richard Branson) ผู้บริหารเครือเวอร์จิ้น (Virgin), อนิตา ร็อดดิก (Anita Roddick) ผู้ก่อตั้งแบรนด์เดอะบอดี้ช็อป (The Body Shop), พอล สมิท (Paul Smith) เจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง และ อิงวาร์ คัมพราด (Ingvar Kamprad) ผู้ก่อตั้ง IKEA คนเหล่านี้ล้วนมีปัญหาเรื่องดิสเล็กเซียเหมือนกันทำให้อ่านหนังสือได้ช้า หรือบ้างก็อ่านหนังสือไม่ได้เลย

แน่นอนครับว่าแทบทุกคนล้วนเจอปัญหากับการเรียนในโรงเรียน เพราะสิ่งที่พวกเขาเป็นนั้นเป็นอุปสรรคในการเรียนซะเหลือเกิน และบ่อยครั้งที่พวกเขาเหล่านี้จะถูกสบประมาทหรือดูถูกสารพัด

แต่มันก็น่าแปลกใจนะครับ เพราะมีงานวิจัยพบว่า ผู้ก่อตั้งธุรกิจในสหรัฐกว่า 35% บอกว่าตัวเองเป็นดิสเล็กเซีย หรือหากใครเคยอ่านหนังสือเรื่อง กลยุทธ์ล้มยักษ์: David and Goliath ของมัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) ก็มีเขียนไว้ว่า เขาพบว่าผู้บริหารเกือบครึ่งห้องที่มาฟังเขาพูดนั้นก็เป็นดิสเล็กเซียเช่นกัน

การอ่านหนังสือไม่ออกนั้นดูเหมือนเป็นฝันร้ายของชีวิต เพราะมันเป็นอุปสรรคในการเรียน แต่เชื่อมั้ยครับว่าจูลี่ โลแกน (Julie Logan) ได้ทำการศึกษาถึงบุคลิกและลักษณะของผู้บริหารที่เป็นดิสเล็กเซียที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จและพบว่า ผู้บริหารที่เป็นดิสเล็กเซียนั้น มีทักษะด้านการพูดที่ดีมาก นั่นเพราะพวกเขาเขียนอ่านไม่ได้ เลยได้ทักษะการพูดชดเชยมา ทำให้พวกเขาพูดโน้มน้าวคนเก่ง มีความสามารถในการผลักดันคนให้คล้อยตามวิสัยทัศน์ของพวกเขา

นอกจากนี้ พวกเขายังมีทักษะการแก้ปัญหา รวมไปถึงการมอบหมายงาน (delegation) ที่เก่งอีกด้วย นั่นเพราะตลอดชีวิตของพวกเขาต้องเรียนรู้กับการแก้ปัญหาจากการอ่านหนังสือไม่ค่อยออก พวกเขาจึงจำเป็นต้องคิดหาทางออกเป็นประจำ อีกทั้งความที่อ่านเองไม่ได้ ทำให้พวกเขาต้องฝึกความกล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะเชื่อใจและไว้ใจคน (trust) และนั่นก็ส่งผลให้ผู้บริหารเหล่านี้มีทักษะใช้งานคนเป็น 


หรือบางครั้งเรื่องร้ายๆ ก็เกิดขึ้นมาโดยไม่คาดคิด 

สมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม เดเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle) เข้าเป็นมือกลองวงดนตรีแจ๊ซของโรงเรียน แต่ด้วยความโชคร้ายชาเซลล์ เขาต้องเจอกับครูสอนดนตรีที่ดุร้ายมหาโหด 

ครูคนนี้ที่มักใช้ถ้อยคำบีบคั้นจิตใจ ด่าด้วยคำหยาบคายกรอกหูเด็กซ้ำแล้วซ้ำเล่าเวลาที่เล่นไม่ได้ดั่งใจ บังคับให้เด็กต้องฝึกดนตรีอย่างหนักหนาเกินกว่าปกติ

โดยชาเซลล์ต้องฝึกตีกลอง 6-7 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลาเกือบ 5 ปี และนั่นทำให้เขาจำฝังใจกับความเจ็บปวดจากการถูกกดดันของครูสุดโหด

เมื่อเวลาผ่านไปชาเซลล์ ดึงเอาความรู้สึกบีบคั้นแบบที่เขาเคยเผชิญในชีวิตจริงนี้มาทำเป็นหนังเรื่อง Whiplash ที่เล่าเรื่องแอนดรูว์ นีย์แมน (Andrew Neiman) หนุ่มมือกลองที่อยากประสบความสำเร็จกับการเป็นมือกลองแจ๊ซระดับประเทศ แต่เขาก็ต้องเผชิญกับความกดดันจากครูสุดโหดเทอเรนซ์ เฟลชเชอร์ (Terence Fletcher) ซึ่งถอดบุคลิกมาจากครูแจ๊ซตัวจริงๆของชาเซลล์ และหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ภาพของเฟลชเชอร์นั้นเป็นที่กล่าวขานกันมาก ในฐานะตัวละครที่ดุร้ายและบีบคั้นจิตใจคนดูได้สุดๆ

ซึ่งนั่นทำให้หนังเรื่อง Whiplash คว้ารางวัลใหญ่ Grand Jury Prize จากเทศกาลหนังซันแดนซ์ (Sundance) ส่วนเจเค ซิมมอนส์ (J.K. Simmons) เจ้าของบทครูสุดโหด ก็ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาครองด้วย 

เมื่อปีที่ผ่านมา ชาเซลล์ที่หลงใหลในดนตรีแจ๊ซ ก็ได้นำเรื่องราวของดนตรีแจ๊ซซึ่งมีอิทธิพลในชีวิตเขาวัยเด็กมาทำเป็นหนังที่มาแรงที่สุด ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุด และเป็นตัวเต็งในการคว้ารางวัลภาพยนต์ยอดเยี่ยมไปครอง นั่นคือ La La Land นั่นเอง

เดาว่าถ้าชีวิตไม่รันทดขนาดนี้ บทหนังของชาเซลล์คงไม่กินใจพวกเราได้ขนาดนี้เหมือนกัน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างชีวิตมนุษย์ที่มีสองมือสองขาหนึ่งสมองเหมือนเรา บางคนเกิดมาต้นทุนต่ำมากๆ แต่ด้วยทัศนคติที่ดีและจิตใจที่เข้มแข็ง พวกเขาจึงพาตัวเองมายืนในที่ที่เขาอยากมาได้

แน่นอน พวกเขาอาจเคยคิดถามตัวเองว่าทำไมฟ้าถึงต้องกลั่นแกล้งพวกเขา แต่เชื่อเถอะครับ โลกไม่ได้ร้ายกับเราขนาดนั้น เพราะตัวอย่างเหล่านี้ได้บอกว่า ในเรื่องร้ายๆมีดีเสมอ ถึงจะเกิดมาขาด แต่สุดท้ายธรรมชาติจะชดเชยสิ่งอื่นๆมาให้เราเอง หรือถ้าหากเราพยายามมากพอ เสียสละมากพอ สุดท้ายวันหนึ่งเราก็จะได้สิ่งที่เราอยากได้ ผมเชื่ออย่างนั้นนะครับ 

ดังนั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น จะดีหรือร้าย อยู่ที่การมองของเราครับ


เขียนเรื่องนี้จบผมนึกถึงคำพูดของสก็อต แฮมิลตัน (Scott Hamilton) ขึ้นมาทันที

The only disability in life is a bad attitude
ความพิการอย่างเดียวในชีวิต คือการมีทัศนคติอันเลวร้ายScott Hamilton
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่