ทำยังไงให้เราสามารถเป็นคนที่เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

26649
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคนี้ และการที่จะเป็น self-directed learners ได้นั้นคุณต้องเข้าใจกระบวนการในการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างแท้จริง ต้องรู้จักการตั้งเป้าหมายที่ดีในการเรียนรู้ (ในบทความนี้อธิบายถึงการตั้งเป้าหมายแบบ SMART) เข้าใจวิธีย่อยข้อมูลที่ดี ปรับการเรียนรู้ของตัวเองให้เป็น Active Learning รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นคำที่เราคงได้ยินกันบ่อย ๆ ในยุคนี้ โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ นั้นก็เป็นเพราะเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างรอบตัวเรานั้นถูกเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแบบเร็วสุด ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความรู้เดิมที่เราเคยมีหรือสิ่งที่เราเคยทำมา อาจจะไม่สามารถนำพาเราไปข้างหน้าได้อีกต่อไป

คนที่จะสามารถก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้นั้น จึงต้องเป็นคนที่มีนิสัยของการเรียนรู้ตลอดชีวิต คำถามคือแล้วเราจะต้องทำอย่างไร ผมไปอ่านเจอบทความอันหนึ่งจาก The World Economic Forum ที่ชื่อว่า Bill Gates and Benjamin Franklin share this learning habit เห็นว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจเลยหยิบมาเล่าให้ฟังครับ

Lifelong Learning : เรียนรู้ตลอดชีวิต

The World Economic Forum เคยตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่าภายใน 2-3 ปี ต่อจากนี้คนที่อยู่ในตลาดแรงงานทั้งหมด จะต้องใช้เวลา 101 วัน ในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ แต่การเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ที่ว่านั้นไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้วิชาใหม่เลยซะทั้งหมด แต่เป็นการเรียนรู้จากการทำงานไปด้วย หรือเรียนเรื่องบางอย่างเพื่อที่จะรู้แบบพอประมาณ

Advertisements

ซึ่งตรงกันข้ามกับการเรียนรู้เรื่องใหม่แบบจริง ๆ ที่มีกระบวนการในการเรียนรู้ที่ออกจะค่อนข้างซับซ้อน และเป็นการเรียนรู้ศาสตร์หรือวิชาใหม่เลย ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเรียนเพื่อสอบในมหาวิทยาลัย และในบทความนี้เราจะมาพูดถึงส่วนนี้กันครับ

เป็นที่รู้กันดีว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนอยู่ในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม (traditional education) แต่ก็ยังคงประสบความสำเร็จอย่างสูงในสาขาวิชาชีพของเขา ตั้งแต่ Steve Job, Bill Gates, Ellen DeGeneres, Anna Wintour, Henry Ford, John D. Rockefeller และอีกมากมายหลายคน

หลังจากเขาไปศึกษาประวัติของคนเหล่านี้ เขาก็พบว่าคนกลุ่มนี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ซึ่งนั้นก็คือความเป็น self-directed learners (คนที่สามารถพาตนเองไปเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง) อย่างที่รู้กันดีว่าในทุกวันนี้ความเป็น self-directed learners นั้น มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะระบบการศึกษาของเราแต่ก่อนก็อาจจะครอบคลุมประมาณหนึ่ง แต่ในทุกวันนี้การเรียนในระบบเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่ครอบคลุมเสียแล้ว

ใบบทความของ The World Economic Forum บอกไว้ว่า “บางทีใบปริญญาที่เราเรียนมา ทันทีที่มหาวิทยาลัยพิมพ์ใบจบการศึกษาให้กับเรา เรื่องที่เราเรียนมามันก็ล้าสมัยไปแล้ว” ในความเป็นจริงผมคิดว่าเรื่องนี้มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเวลาเราเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ มันไม่ใช่การเรียนเรื่องใหม่ทั้งหมด แต่มันคือการเอาความรู้เก่ามาต่อยอดด้วย เพราะเหตุนี้การเรียนรู้ในระบบปัจจุบันจึงยังคงมีประโยชน์อยู่มาก

แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะหยุดเรียนรู้ไม่ได้ แม้เราจะได้รับใบปริญญามาแล้วก็ตาม


คุณต้องเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดของคุณ

การที่คุณจะเป็น self-directed learners ได้นั้นคุณต้องควบคุมตัวเองให้สามารถเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ได้ และคุณต้องเป็นเจ้าของกระบวนการในการเรียนรู้ทั้งหมด (Take ownership of your learning) นั้นหมายความว่าเราต้องมีความเข้าใจถึงกระบวนการของความเป็น self-directed learners ซึ่งกระบวนการที่ว่านั้นมีดังนี้ครับ

  1. เรียนได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาเคี่ยวเข็ญ
  2. วิเคราะห์ได้ว่าเราต้องเรียนเรื่องอะไร และเพราะอะไร
  3. มีเป้าหมายที่ชัดเจน
  4. ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้างในการเรียนรู้ เช่น ต้นทุนเวลาหรือค่าใช้จ่าย
  5. เลือกกลยุทธ์ในการเรียน เช่น เรียนผ่าน คอร์ส, สัมมนา, อ่านหนังสือ หรือทั้งหมด
  6. ต้องประเมินผลได้ ข้อนี้สำคัญมาก

Salman Khan ผู้ก่อตั้ง Khan Academy บอกว่า จริง ๆ แล้วการเรียนเองก็ไม่ได้แตกต่างจากการเรียนในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียนเท่าไหร่นัก มันเป็นภาพลวงตาที่เราคิดว่าเวลาเรียนในมหาวิทยาลัยจะเป็นการเรียนรู้แบบที่มีคนมาป้อนข้อมูลให้กับเรา เพราะในความเป็นจริงการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการสร้าง บริบท (context) ที่ทำให้เราสามารถดึงเอาข้อมูลออกมาใช้ได้มากที่สุด

ซึ่งในจุดนี้เองที่ทำให้คนที่มีความเป็น self-directed learners นั้นแตกต่างจากคนทั่วไป คือคนกลุ่มนี้เขาสามารถสร้าง context ของการเรียนรู้ขึ้นมาได้โดยที่ไม่ต้องเพิ่งมหาวิทยาลัย แล้ววิธีการที่ดีที่สุดในการสร้าง context ที่จะทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องนั้นก็คือการมี “Growth mindset”

เพราะคนที่มี Growth mindset จะอยากที่จะเรียนรู้ เชื่อว่าทุกอย่างพัฒนาได้ ไม่เก่งก็ฝึก ไม่รู้ก็ต้องเรียนรู้ ซึ่งจะแตกต่างจากคนที่เป็น Fixed Mindset เพราะคนที่เป็น Fixed Mindset จะเชื่อว่าทุกอย่างบนโลกนี้ถูกกำหนดมาไว้หมดแล้ว คนนั้นเก่งก็เพราะเขาฉลาดอยู่แล้ว เราไม่รู้เรื่องนั้นหรอกเพราะเราไม่ได้เรียนมา หรือเราคงไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองหรอกมันคงยากเกินไปสำหรับเรา

วิธีของคนที่เป็น Fixed Mindset โต้ตอบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ

เหตุการณ์ วิธีโต้ตอบของคนที่มี Fixed Mindset
เวลาเจอความท้าทาย พยายามหลีกเลี่ยง เพราะกลัวล้มเหลว และในมุมมองของคนที่มี fixed mindset คนที่เก่งจะต้องไม่ล้มเหลว
เมื่อเจออุปสรรค ล้มเลิกได้ง่าย
วิธีคิดเกี่ยวกับความพยายาม ความพยายามที่ทุ่มเทไปคงไม่ช่วยเปลี่ยนอะไร
เมื่อเจอคำวิจารณ์ ไม่ชอบ/ไม่สนใจ Feedback ที่เป็นคำติ
เมื่อเห็นคนอื่นสำเร็จ รู้สึกไม่ดี/รู้สึกถูกคุกคาม เมื่อเห็นความสำเร็จของผู้อื่น

 

วิธีของคนที่เป็น Growth Mindset โต้ตอบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ

เหตุการณ์ วิธีโต้ตอบของคนที่มี Growth Mindset
เวลาเจอความท้าทาย ไม่เป็นไร อันนี้เรายังไม่รู้ แต่เราพร้อมที่จะเรียนรู้เพิ่ม
เมื่อเจออุปสรรค เป็นเรื่องธรรมดา และสู้ต่อไป
วิธีคิดเกี่ยวกับความพยายาม เชื่อว่าความพยายามจะเป็นเครื่องมือที่จะนำพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ
เมื่อเจอคำวิจารณ์ ยอมรับคำติ นำมาวิเคราะห์ และพัฒนาปรับปรุงตัวเอง
เมื่อเห็นคนอื่นสำเร็จ มีเรื่องอะไรที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ได้บ้าง

 


ตั้งเป้าหมายแบบ SMART ในการเรียนรู้สิ่งใหม่

การตั้งเป้าหมายแบบ SMART ประกอบไปด้วย

  • S = Specific = ชัดเจน
  • M = Measurable = วัดผลได้
  • A = Action-oriented = ระบุเลยว่าจะทำอะไร
  • R = Realistic = อยู่ในความเป็นจริง
  • T = Time-defined = เป้าหมายที่ตั้งจะเสร็จเมื่อไหร่

และอย่าลืมบริหารจัดการเวลาให้ดี (time management) เพราะคนที่เป็น self-directed learners ที่ดี จะต้องมีการวางแผนเรื่อง time management ที่ดีด้วยเป็นของที่มาคู่กันเสมอ

การเป็น self-directed learners ที่ตั้งเป้าหมายแบบ SMART จะตรงกันข้ามกับการตั้งเป้าหมายแบบ VAPID โดยสิ้นเชิง การตั้งเป้าหมายแบบ VAPID จะประกอบไปด้วย

  • V = Vague = ไม่ชัดเจน
  • A = Amorphous = ไม่เป็นระเบียบ ไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน
  • P = Pie-in-the-sky = สร้างวิมานในอากาศ (มโน)
  • I = Irrelevant = ไม่เกี่ยวข้อง
  • D = Delayed = ไม่เสร็จสักที

จงจดจำไว้ว่า Self-directed learners ที่ดีต้องไม่เป็นแบบ VAPID

กฏ 5 ชั่วโมงของ เบนจามิน แฟรงคลิน

Benjamin Franklin เป็นทั้งนักเขียน นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักลงทุน และผู้ประกอบการ ซึ่งตัวเขาเองนั้นได้เรียนหนังสือในระบบถึงแค่ 10 ขวบ แต่เขาศึกษาเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการวางแผนในการเรียนรู้ที่ดีด้วย

Benjamin Franklin จะใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในวันธรรมดาเพื่อเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ในหนึ่งสัปดาห์เขาจะใช้เวลาเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ รวมกันประมาณ 5 ชั่วโมง

Advertisements

เขาบอกว่าการเรียนรู้วันละ 1 ชั่วโมง 5-6 วันต่อสัปดาห์ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เพราะการเรียนรู้เรื่องใหม่วันละ 1 ชั่วโมงนั้น จะทำให้สมองของเรานั้นไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป เพราะอย่าลืมนะครับว่าเราทุกคนต้องทำงานประจำ มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากมายในชีวิตประจำวัน

การเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นเป็นส่วนเสริมของชีวิต ถ้าการเรียนรู้สิ่งใหม่ของเรามันหนักเกินไปสมองของเราจะถอยครับ ดังนั้นการที่คุณเอาการเรียนทั้งสัปดาห์มายัดลงในวันเดียว ทีเดียวครั้งละ 5-6 ชั่วโมง บางทีมันอาจจะทำให้เราเก็บรายละเอียดได้ไม่หมด (สำหรับผมคือไม่หมดแน่ ๆ )

เพราะระบบประสาทหรือสมองของเรา มันต้องใช้เวลาในการประมวลผลข้อมูล เพราะฉะนั้นการวางแผนในการเรียนรู้ให้ย่อยออกไปในแต่ละวัน จึงทำให้สมองของเราสามารถที่จะตกผลึกเรื่องที่เราเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น

Active Learning : เรียนรู้แบบแอคทีฟ

Salman Khan ผู้ก่อตั้ง Khan Academy บอกว่าคนที่มี Active learning หรือการที่ผู้เรียนมีโอกาสที่จะได้ลงมือทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง สมมุติว่าเราเรียนเลขก็จะมีโจทย์เลขมาให้ทำ แต่ในบางวิชาที่มัน Active learning ยาก ๆ เช่นการศึกษาประวัติศาสตร์เพราะเราไม่รู้ว่าจะ Active learning ยังไง เพราะส่วนใหญ่ก็มีแต่อ่านหนังสือ

แต่จริง ๆ เราก็สามารถทำ Active learning กับการอ่านได้นะครับ ซึ่งเรื่องนี้ Bill Gates บอกว่าเขาใช้วิธีที่เรียกว่า marginalia-note-taking คือการจดโน๊ตลงไปในช่องว่าง ๆ ของหนังสือ

Bill Gates เล่าว่ามันเป็นเหมือนกับการพูดคุยกับผู้เขียน และเมื่อคุณอ่านหนังสือแล้วคุณต้องคิดตามว่า สิ่งที่คุณกำลังอ่านนี้ คุณอ่านเรื่องอะไร พยายามทำความเข้าใจ (อย่าอ่านแค่ผ่าน ๆ ไป)

โดยเฉพาะเมื่อเราอ่านเพื่อที่จะเรียนรู้อะไรบางอย่าง เพราะว่าความรู้ใหม่ที่คุณกำลังอ่านในหนังสือเล่มนี้ มันจะไปเชื่อมต่อกับความรู้เก่าที่คุณมีอยู่ ฉะนั้นคุณต้องเห็นจริง ๆ ว่ามันเชื่อมกันยังไง Bill Gates บอกว่าสำหรับเขาแล้ว การจดด้วยมือเป็นสิ่งที่เขาทำแล้วมันได้ผลดีที่สุด สำหรับการอ่านหนังสือเพื่อให้รู้เรื่องและเข้าใจจริง ๆ

จัดลำดับความสำคัญด้วยกฎ 80/20

กฎ 80/20 ที่เราคุ้นเคยกันดีของ Vilfredo Pareto และกฎนี้ก็สามารถที่จะใช้ได้กับการเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วยเช่นกัน ในทุกศาสตร์หรือวิชาจะมีหลักที่สำคัญมาก ๆ อยู่ประมาณ 20-30% หาแกนของสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้ให้เจอ เลือกตรงนั้นออกมาและจงตั้งใจกับมัน

พาตัวเองไปในที่ ที่มีความรู้อยู่

ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นห้องสมุดเสมอไป อาจจะเป็นการพาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องที่เรากำลังสนใจ หรือแม้กระทั่งการไปฟังข้อมูลดี ๆ (จริง ๆ) จากงานสัมมนาต่าง ๆ คือจะเป็นที่ไหนก็ได้ ที่เราสามารถไปหาความรู้ได้ เพราะในบางครั้งความรู้จำนวนมาก เราไม่สามารถค้นหาใน Google ได้

โดยเฉพาะฐานข้อมูลที่มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่าง ๆ ซื้อไว้ ซึ่งมันมีงานวิจัยคุณภาพสูงจำนวนมากที่ขายกันฉบับละ 3,000 เหรียญ คือยังไงเราก็ซื้อเองไม่ไหว และข้อมูลเหล่านี้นี่ละครับจะอยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งเขามีข้อมูลนี้อยู่

Ray Bradbury นักเขียนชาวอเมริกันชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง ฟาเรนไฮต์ 451 (Fahrenheit 451) ตัวเขาไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่เขาทำคือเขาไปที่ห้องสมุดประจำเมืองสัปดาห์ละหลาย ๆ ครั้งแทน ผลจากใฝ่หาความรู้อย่างต่อเนื่องของเขา ในที่สุด Ray Bradbury ก็ได้เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในศตวรรษที่ 21

หาแรงบันดาลใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่

ในการเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้น ไม่ได้มีเกรดให้ ถึงเขาให้เกรดมาคุณก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร ได้ใบรับรองก็โอเคประมาณหนึ่ง แต่มันก็ไม่ได้มีแรงผลักดันเหมือนตอนเรียนปริญญาหรอก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองบ้าง (Motivation)

ทีนี้การสร้าง Motivation ให้ตัวเองก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นคนที่อยากจะรู้เรื่องอะไร หรือเรามีเป้าหมายอะไรในชีวิต

ในบทความนี้เขายกตัวอย่าง Mark Cuban มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ปัจจุบันเขาอายุเกือบ ๆ 60 แล้ว ซึ่งในตอนนี้เขากำลังเรียนรู้เรื่องการเขียน Code ภาษา Python

เขาบอกเหตุผลในการเรียนรู้สิ่งนี้ว่า เขามีความเชื่อว่ามหาเศรษฐีที่จะมีทรัพย์สิน 1 ล้านล้านเหรียญ คนแรกของโลก จะต้องทำเงินได้จาก AI (ปัญญาประดิษฐ์ – artificial intelligence)

และเขาก็บอกต่อว่า เขาไม่อยากที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่คนอื่น ๆ กำลังขึ้นรถขบวนนี้ไป แถมเขายังรู้สึกว่ายิ่งเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งทำให้เขาอยากที่จะเรียนรู้แบบลงลึกมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

แน่นอนว่าทุกคนคงไม่ได้มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ด้วยการตั้งเป้าว่าตัวเองจะต้องเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน เพราะแต่ละคนก็อาจจะมีแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันไป

แต่มันต้องมีอะไรสักอย่างที่ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา เช่น เราอยากมีทักษะอย่างใหม่นี้เพื่ออะไร เรียนสิ่งนี้เพราะอะไร อยากได้ทักษะใหม่นี้เพื่อที่จะได้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน หรือเราอยากได้ทักษะใหม่นี้เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น จึงอยากที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าแบบไหนก็นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ทั้งสิ้นครับ


ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผมอยากจะสรุปว่าการเป็น Lifelong Learning เป็นเรื่องที่สำคัญสุด ๆ ยังไงเราก็คงหนีเรื่องนี้กันไม่พ้นอยู่แล้วล่ะ ไม่ว่าจะยังไงในที่สุดแล้ว เราก็ต้องยอมรับและเอาเรื่องนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเรียนรู้”
ขอให้ทุกคนสนุกกับการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ นะครับ ^_^

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่