INSPIRATION‘ทำน้อย เปลี่ยนโลกมาก’ วิธีทำงานวันละ 4 ชั่วโมงในแบบ Charles Darwin

‘ทำน้อย เปลี่ยนโลกมาก’ วิธีทำงานวันละ 4 ชั่วโมงในแบบ Charles Darwin

ปรัชญาการทำงานเก่าๆ มักจะกล่าวกันว่า “ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ก็ต้องทำงานให้หนัก” ทำให้วัยทำงานหลายคนโดยเฉพาะเหล่า First Jobbers ตกอยู่ในวังวนของวัฒนธรรมคลั่งงาน หรือที่เรียกกันว่า Hustle Culture โหมงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ

ซึ่ง Hustle Culture ก็มีข้อดีคือองค์กรได้ใช้พนักงานได้อย่างคุ้มค่า ส่วนพนักงานก็สามารถเร่งประสิทธิภาพและพัฒนาความสามารถของตัวเองได้แบบก้าวกระโดด แต่ข้อเสียที่หลายคนต้องพบเจอก็คือ อาการหมดไฟที่มาเร็วกว่าที่ควรจะเป็น เราจึงเห็นวัยทำงานหมดไฟ ลาออกจากงานเพื่อพักสมองกันตั้งแต่อายุยังน้อย

ด้วยเหตุนี้ พนักงานในบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่งอย่าง Amazon, Microsoft และ Google ที่ใช้การทำงานแบบ Work from anywhere ก็หันมาให้ความสำคัญกับการทำงานเพียงแค่ 4 ชั่วโมงต่อวัน โดยจากการสำรวจในเว็บไซต์ Blind พบว่าพนักงานบริษัทชั้นนำกว่าครึ่ง ออกมาให้ความเห็นว่าตัวเองมักจะจดจ่อกับงานให้เต็มที่ ทำงานให้เสร็จภายใน 4 ชั่วโมงเท่านั้น แล้วนำเวลาที่เหลือไปใช้ชีวิตของตัวเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ท้าทายวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ว่าต้องทำงานให้ถึง 7-8 ชั่วโมง เข้างาน 9 โมงเช้า แล้วเลิกงาน 5 โมงเย็น จึงจะถือว่าเป็นการทำงานอย่างแท้จริง

แนวคิดนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าจะทำให้งานมีประสิทธิภาพจริงหรือ? ตัวพนักงานจะสามารถทำงานให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาแค่ 4 ชั่วโมงหรือไม่? และนายจ้างจะได้รับประโยชน์จากวิธีการทำงานแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า? วันนี้เราจึงจะพาทุกท่านไปดูวิธีการทำงานของบิดาแห่งวิวัฒนาการของโลก ที่ทำงานแค่ 4 ชั่วโมงต่อวันก็สามารถทำให้เขาค้นพบทฤษฎีที่เปลี่ยนโลกได้อย่างน่ามหัศจรรย์

“หนังสือเรื่องกำเนิดสิ่งมีชีวิต (The Origin of Species)”
“ทฤษฎีการคัดสรรโดยธรรมชาติ (Theory of Natural Selection)”

ทั้งสองเป็นชื่อผลงานอันยิ่งใหญ่ที่พลิกความเชื่อดั้งเดิมของมนุษย์ เปลี่ยนโลกทั้งใบให้เข้าสู่ยุคใหม่ด้วยมันสมองและสองมือ เชื่อหรือไม่ว่า บุคคลผู้ให้กำเนิดผลงานเหล่านี้ เขาคือ “ชาลส์ ดาร์วิน” นักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยาและนักชีววิทยา ผู้ที่ยึดมั่นในเรื่องของ Work-Life Balance ก่อนใคร และใช้เวลาทำงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น!

Charles Darwin ทำอะไรใน 1 วัน?

07.00 น. – ตื่นนอนและเดินเล่นใกล้ๆ บ้าน
07.45 น. – รับประทานอาหารเช้าคนเดียว โดยใช้เวลาแค่ 15 นาทีเท่านั้น
08.00 น. – เริ่มทำงานวิจัยและทฤษฎีต่างๆ ซึ่งเป็นเวลาที่เขาจะโฟกัสมากที่สุดของวัน
09:30 น. – พักผ่อน นั่งอ่านจดหมายทั้งหมด
10.30 น. – กลับมาทำงานวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีอีกครั้ง
12.00 น. – เดินเล่น ไม่ว่าจะเดินไปดูเรือนต้นไม้ หรือเดินตามชายหาด ขึ้นอยู่กับสุขภาพในตอนนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เขามักจะเดินคนเดียว หรือไม่ก็ไปกับสุนัข
12:45 น. – รับประทานอาหารกลางวันกับทั้งครอบครัว หลังจากนั้นก็อ่านหนังสือพิมพ์ The Times และเขียนตอบจดหมาย
15.00 น. – พักผ่อนในห้องนอน สูบบุหรี่ ฟังวรรณกรรมโดยที่เอ็มม่า ดาร์วิน ซึ่งเป็นภรรยาเป็นคนอ่านให้ฟัง
16.00 น. – เดินเล่นอีกครั้ง หรือบางครั้งก็พูดคุยกับเพื่อน
16.30 น. – ทำงานวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎี สะสางงานค้างทั้งหมด
18.00 น. – พักผ่อนในห้องนอนอีกครั้ง ฟังวรรณกรรมที่ภรรยาอ่านให้ฟัง
19.30 น. – จิบชาเบาๆ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เล่นไพ่กับภรรยา
22.00 น. – เดินออกจากห้องรับแขก และเตรียมตัวเข้านอนภายในเวลา 22.30 น.

กิจวัตรเหล่านี้มาจากหนังสือ Charles Darwin: A Companion ของ R.B. Freeman ซึ่งได้เขียนตามคำบอกเล่าของฟรานซิส ดาร์วิน ลูกชายคนที่สามของชาลส์ ดาร์วินที่ค้นพบว่าพ่อของตัวเองมีกิจวัตรประจำวันที่เข้มงวด และไม่เปลี่ยนแปลงกิจวัตรเหล่านั้นเลย แม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หรือแม้จะมีญาติมาเยี่ยมที่บ้านก็ตาม ชาลส์ ดาร์วินก็ยังคงรักษากิจวัตรเหล่านี้อยู่ ซึ่งความสม่ำเสมอและระเบียบวินัยแบบนี้ อาจจะเป็นอีกหนึ่งกุญแจที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ แม้จะใช้เวลาทำงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

จากกิจวัตรของชาลส์ ดาร์วิน เราจะเห็นได้ว่าเขามีการแบ่งเวลาการทำงานออกเป็น 3 ช่วง และแต่ละช่วงก็ใช้เวลาอยู่ที่ 1.30 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้เขายังนำเวลาสำหรับการพักผ่อนมาคั่นกลางระหว่างเวลาทำงานด้วย ซึ่งวิธีแบบนี้สอดคล้องกับ Pomodoro Technique ที่กำหนดเวลาทำงานแยกกับเวลาพักผ่อนอย่างชัดเจน แล้วเริ่มต้นทำงานภายใต้เวลาที่กำหนดอย่างจดจ่อ โดยไม่ว่อกแว่ก จนเมื่อเวลาครบก็หันมาพักผ่อน แล้วก็กลับไปทำงานเมื่อถึงเวลาทำงาน วนไปเช่นนี้จนงานเสร็จในที่สุด

ซึ่งถึงแม้เขาจะใช้เวลาทำงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าจำนวนชั่วโมงก็คือ เขาปฏิบัติตามกิจวัตรนี้อย่างเคร่งครัด ใช้เวลางานที่มีอยู่จดจ่อกับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเป็นเวลาถึง 20 ปี จนกระทั่งหนังสือชื่อ “กำเนิดของสิ่งมีชีวิต” (The Origin of Species) ได้ตีพิมพ์ออกมา และเป็นทั้งที่รู้จัก ที่วิจารณ์กันในวงกว้างนั่นเอง

ซึ่งไม่เพียงแต่ชาลส์ ดาร์วินเท่านั้นที่มีการจัดการแบ่งเวลาการทำงานและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด เรายังพบว่านักเขียนท่านอื่นก็มีการแบ่งเวลาทำงานกับเวลาชีวิตอย่างชัดเจนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

[ ] Anthony Trollope นักเขียนนวนิยายก้องโลก “Chronicles of Barsetshire”  ที่ใช้เวลาเขียนหนังสือครั้งละ 15 นาทีจนครบ 3 ชั่วโมงต่อวัน
[ ] Saul Bellow นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์และโนเบลด้านวรรณกรรม ที่แม้จะต้องออกไปสอนที่มหาวิทยาลัยช่วงบ่าย แต่ก็รักษาตารางการเขียนงานในช่วงเช้าเพียง 3 ชั่วโมง
[ ] Stephen King เจ้าของผลงานนวนิยายอย่าง IT และ The Shining ก็ตั้งกฎกับตัวเองว่าจะต้องเขียนหนังสือให้ได้วันละ 1,000 คำ และเขียนให้เสร็จภายใน 11.30 – 13.30 น. เท่านั้น
[ ] Henri Poincaré คณิตศาสตร์ผู้ค้นพบทฤษฎี Topology ทำงานเป็นเวลา 4 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่ 10.00 – 12.00 น. และ 17.00 – 19.00 น.

เคล็ดลับโปรดักทีฟตามแบบฉบับของ Charles Darwin

หากอ่านมาจนถึงตรงนี้ก็อาจจะรู้สึกเบื่อกับคำว่า “โปรดักทีฟ” และรู้สึกว่าการทำตามเคล็ดลับหรือ Productivity Hacks ตามหนังสือก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์นัก แต่ความโปรดักทีฟในแบบฉบับของ ชาลส์ ดาร์วินนั้นค่อนข้างแตกต่างจากวิธีที่เราเคยเห็นมาทั้งหมด เพราะเขาเลือกที่จะใช้วิธี “Rest to be more productive” หรือยิ่งพักผ่อน ยิ่งทำงานได้ดีขึ้นนั่นเอง

หลายคนคงจะเคยเห็นเพื่อนคนหนึ่งที่เราเห็นว่าไม่ค่อยทำงาน เที่ยวไปวันๆ แต่พอถึงเวลานำเสนองานหรือเข้าห้องสอบ คนเหล่านี้กลับทำคะแนนได้สูงอย่างเหลือเชื่อ แน่นอน เหล่านักวิชาการ นักปรัชญา และบาทหลวงในยุค 1800s ก็คงมองชาลส์ ดาร์วินเป็นเพื่อนแบบนั้น เพราะถ้าหากจะให้แบ่งเวลาใน 1 วันของชาลส์ ดาร์วินออกมาแบบง่ายๆ เราจะพบว่าเขาทำกิจกรรมอยู่แค่ 6 อย่างต่อวัน ได้แก่ การเขียน การวิจัย การนอนพักผ่อน การเดินเล่น การเล่นไพ่ และการอ่านหนังสือ เมื่อลองสังเกตในตารางกิจวัตรของเขา จะพบว่ามากกว่าครึ่งของวันนั้นเป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานเลย

กิจกรรมพักผ่อนที่คนอื่นอาจจะมองว่า “ทำเล่นๆ” “ทำไปแบบเรื่อยเปื่อย” นั้นถูกนำมาคั่นกลาง เพื่อนำเขาไปสู่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง ซึ่งเราได้สรุปหัวใจการของทำงานแบบนี้ ออกมาเป็นเคล็ดลับ 5 ข้อที่ง่าย และสามารถนำไปใช้พัฒนาความโปรดักทีฟได้ทันที

Advertisements

เคล็ดลับข้อที่ 1 ตั้งเป้าหมายของวัน

หลังจากที่ชาลส์ ดาร์วินตื่นนอน เขาจะ “ตั้งเป้าหมายของวัน” ก่อนที่จะออกไปเดินเล่นเสมอ ซึ่งคำถามหลักของเขาในทุกเช้าคือ “วันนี้ฉันจะทำอะไรดี?”

คำถามนี้สามารถนำมาใช้ในทุกเช้า ก่อนที่เราจะเริ่มอ่านอีเมลหรือเข้าประชุม ให้ใช้เวลาสักไม่กี่นาที คิดให้รอบคอบว่าวันนี้เรามีเป้าหมายว่าอะไร และใช้เวลาทั้งวันในการทำสิ่งที่นำเราไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งเป้าหมายนั้นอาจจะเป็นเพียงเป้าหมายเล็กๆ อย่างการทำงานที่ค้างคามานานให้เสร็จก็ได้

เคล็ดลับข้อที่ 2 จดบันทึกเสมอ

หนึ่งนิสัยที่ทำให้ชาลส์ ดาร์วินสามารถค้นพบทฤษฎีการคัดสรรโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ได้ก็คือ การชอบจดบันทึก ไม่ว่าจะเจอกับอะไรก็จะจดเอาไว้ ทุกครั้งที่เขาออกไปเดินเล่นก็มักจะพกสมุดโน๊ตเล่มเล็กๆ และจดบันทึกสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ที่เขาสังเกตเห็น

กระทั่งเขานั่งเรือ ออกเดินทางไปยังเกาะต่างๆ รอบโลก เขาก็ทำการจดบันทึกทุกสิ่งที่เขาสังเกตเห็นตั้งแต่แรกจนจบการเดินทาง จนทำให้ไดอารี่ของเขามีความยาว 770 หน้า เต็มไปด้วยข้อมูลหนัง กระดูก และซากสัตว์กว่า 5,426 รายการ

เราสามารถนำนิสัยชอบจดบันทึกนี้มาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึกเพื่อจดจำรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่สามารถหยิบมาใช้ในการทำงานเพียง 4 ชั่วโมงนั้นได้ทันที หรือจะเป็นการสะท้อนความคิดของเราว่าวันนี้เราผ่านอะไรมาบ้าง เราเรียนรู้อะไรจากแต่ละเหตุการณ์ เพื่อให้เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ในทุกวัน

Advertisements

เคล็ดลับข้อที่ 3 ค้นพบไอเดียใหม่ด้วยการเดิน

ชาลส์ ดาร์วินมีพฤติกรรมที่ชอบเดินมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ได้ออกกำลังกายแล้ว เขายังใช้ช่วงเวลาในการเดินเล่นนี้เพื่อฝึกการคิดเชิงเหตุผล (Rational Thinking) ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ

หากลองนำมาปรับใช้กับชีวิตของเรา เราจะพบว่าเราใช้เวลานั่งบนเก้าอี้นานถึง 7 ชั่วโมง ซึ่งการนั่งนานๆ นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ อารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับงานวิจัยที่พบว่า การเดินช่วยทำให้คิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้นถึง 60%

ให้ลองสังเกตว่าเวลาเราคุยโทรศัพท์ เรามักจะเดินไปคุยไปเพื่อสามารถสนทนาได้อย่างไหลลื่นขึ้น ซึ่งการเดินนี้เองก็เหมาะกับการคิดเชิงเหตุผล (Rational Thinking) และสามารถช่วยให้เราได้ทั้งสุขภาพที่แข็งแรง และไอเดียที่ดีมากขึ้น

เคล็ดลับข้อที่ 4 แยกตัวเพื่อทำงานแบบ Deep Work 

ชาลส์ ดาร์วินอาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลจากเมือง ซึ่งบ้านหลังนั้นค่อนข้างโดดเดี่ยวและตอบโจทย์กับการจดจ่อกับงาน นอกจากนี้เขายังสร้างกระท่อมไม้ซึ่งแยกออกมาจากบ้าน เป็นที่ที่เหมาะสำหรับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปิดกั้นสิ่งรบกวนสมาธิ และทำให้เขาได้ใช้ความคิดได้อย่างเต็มที่

แต่ในฐานะของมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง เราอาจจะไม่ต้องลงทุนสร้างกระท่อมไม้แบบชาลส์ ดาร์วินก็สามารถทำงานแบบ Deep Work ได้ด้วยการลดสิ่งรบกวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในที่ที่เงียบ สงบ ปิดแจ้งเตือนแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็น ใช้โหมดห้ามรบกวนในโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถจดจ่อในเวลาทำงานได้มากที่สุด

หรือถ้าหากเราทำงานในออฟฟิศที่มีคนมากมาย ก็สามารถเริ่มได้ด้วยการตั้งสถานะห้ามรบกวนในปฏิทิน หรือแอปฯ สำหรับการทำงาน, ใส่หูฟังเปิดเพลงระหว่างทำงาน, ปิดแจ้งเตือนโปรแกรมแชตต่างๆ หรือย้ายไปนั่งทำงานในที่ที่เงียบสงบ มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

เคล็ดลับข้อที่ 5 ชาร์จพลังสมองด้วยการพักผ่อน

ชาลส์ ดาร์วินมีการตั้งเวลางีบหลับระหว่างวันเพื่อพักผ่อนอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นหนึ่งในนิสัยที่เขารักษาไว้อย่างเคร่งครัด ก่อนที่จะกลับมาทำงานอีกครั้ง เรียกได้ว่าในหนึ่งวัน ต้องมีช่วงที่เขานอนกลางวันอย่างน้อย 2 รอบ

นอกจากนี้ ในบริษัทจีนหลายแห่ง ก็มีวัฒนธรรมการนอนกลางวัน ที่ยืดเวลาออกจากพักเที่ยง โดยให้พนักงานนอนกลางวันเป็นเวลาตั้งแต่ 30 นาที – 1 ชั่วโมงก่อนที่จะกลับมาทำงานอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า การพักผ่อนหลังพักเที่ยง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นจนถึงเวลาเลิกงาน

ซึ่งหากเรารู้สึกว่าเริ่มมีอาการง่วงนอนและไม่มีสมาธิทำงาน ก็สามารถงีบหลับสัก 15 – 20 นาทีเพื่อพักสมองได้ การนอนกลางวันมีข้อดีในการเพิ่มประสิทธิภาพและความตื่นตัวในการทำงาน ทำให้ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสมาธิดีขึ้นด้วย

“ทำน้อย เปลี่ยนโลกมาก” ถ้าจะพูดว่าวลีนี้เป็นการอธิบายตัวตนการทำงานของชาลส์ ดาร์วินก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนัก เพราะจะเห็นได้ว่าแม้เขาจะใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่ก็เป็น 4 ชั่วโมงที่เขาสามารถใช้ได้อย่างคุ้มค่า ทำงานได้อย่างเต็มที่ มีการจัดสรรแบ่งเวลา ผสมผสานกับกิจกรรมพักผ่อนและหาไอเดียใหม่ๆ ได้อย่างกลมกลืน

และถ้าหากเราจะนำมาปรับใช้กับชีวิตการทำงานของตัวเองนั้น ให้คิดเสมอว่า “เราทำงานในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักร” เวลางานคือเวลางาน เวลาพักคือเวลาพัก เหนื่อยก็งีบหลับ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ต้องมีวินัย” ตั้งเป้าหมาย วางแผน และทำซ้ำๆ จนกลายเป็นพฤติกรรม ซึ่งแม้ว่าสิ่งที่ชาลส์ ดาร์วินค้นพบจะถูกต่อต้านในชั่วชีวิตของเขา แต่สุดท้ายสิ่งนั้นก็สามารถเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล และสามารถพลิกจากคำพูดดูถูกดูแคลนของฝ่ายตรงข้ามให้เป็นคำยกย่องสรรเสริญในฐานะของ “บิดาแห่งวิชาวิวัฒนาการ” ได้อย่างไร้ข้อกังขาในที่สุด


อ้างอิง
– Charles Darwin & Charles Dickens’ Four-Hour Work Day: The Case for Why Less Work Can Mean More Productivity : Colin Marshall, Openculture – https://bit.ly/46ACG1u
– Why we should work four-hour days like Darwin and Dickens : Rachel Hosie, Independent – https://bit.ly/48GtfiO
– Charles Darwin : Daily Routines – https://bit.ly/3PKP5cz
– How much you work a day? : Blind – https://bit.ly/3RUOmIa
– The 15-Minute Routine Anthony Trollope Used to Write 40+ Books : JAMES CLEAR – https://bit.ly/46gI9Ld
– Behind the life and work of Saul Bellow : Andrew Bauld, The University of Chicago – https://bit.ly/46F96YW
– Stephen King’s Writing Routine Proves Why He’s The Best : Sandy, Medium – https://bit.ly/3F6ejNq
– Henri Poincaré : Wikipedia – https://en.wikipedia.org/wiki/Henri_Poincaré
– 8 habits from Charles Darwin for his insane Productivity : Tanosei, Medium – https://bit.ly/3Q5RY91

#history
#productivity
#charlesdarwin
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า