Fast Fashion ใส่ได้หรือไม่ควร? ข้อคิดจากกระแส #แบนSHEIN

4674
Fast Fashion

หากเราได้เข้าชมวิดีโอเกี่ยวกับแฟชั่นใน TikTok หรือ YouTube ในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ เราจะพบว่าหนึ่งแบรนด์ที่ผู้คนพูดถึงบ่อยๆ ก็คือแบรนด์ Fast Fasion ยักษ์ใหญ่จากจีนที่ชื่อ “SHEIN” 

SHEIN เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่นในอเมริกา แม้จะไม่มีหน้าร้านและขายเฉพาะบนช่องทางออนไลน์เท่านั้น แต่ SHEIN ก็กวาดรายได้ไปมหาศาลแถมยังขึ้นครองตำแหน่งแอปฯ ซื้อของที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในอเมริกาอีกด้วย

แต่เมื่อความนิยมเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือคำวิพากษ์วิจารณ์

Advertisements

ทั้งเรื่องการเอาเปรียบแรงงาน การละเมิดลิขสิทธิ์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน หลายๆ ประเทศมีการต่อต้าน SHEIN มาพักใหญ่เพราะปัญหาเหล่านี้ ในไทยเองก็เช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้เกิดแฮชแท็ก “#แบนSHEIN” ขึ้นในสื่ออย่าง Twitter ชักชวนให้ผู้คนออกมาแสดงความเห็นถึงผลเสียของการบริโภค Fast Fashion

เรามาสำรวจประเด็นร้อนจากกระแส #แบนSHEIN กันดีกว่าว่าอุตสาหกรรม Fast Fashion โดยเฉพาะ SHEIN สร้างผลกระทบอย่างไรบ้างและเราจะหาทางออกให้ปัญหานี้ได้อย่างไร

Cult Of SHEIN ลัทธิสวมใส่แบบใช้แล้วทิ้ง

SHEIN ได้รับความนิยมท่ามกลางกลุ่มวัยรุ่นอย่างมาก เพราะสินค้าต่างๆ มีราคาที่จับต้องได้ แถมมีตัวเลือกหลากหลาย ในปี 2020 แบรนด์ทำรายได้สูงถึงหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 3 แสนล้านบาท) อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปีนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ SHEIN เป็นที่นิยมขนาดนี้คือเทรนด์ “Fashion Haul”

วิดีโอ Fashion Haul หรือ การรีวิวและลองสวมใส่เสื้อผ้าที่ซื้อมาในจำนวนมาก เป็นที่นิยมของเหล่ายูทูบเบอร์มานาน แต่เมื่อเกิดแพลตฟอร์มใหม่อย่าง TikTok ขึ้นมา คอนเทนต์แฟชั่นบนโลกออนไลน์ก็ขยับไปอีกขึ้น มีการแข่งขันแต่งตัวตามชาเลนจ์ (Challenge) ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน

จริงอยู่ที่กิจกรรมเหล่านี้สนับสนุนให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ด้วยการทำงาน (Algorithm) ของ TikTok ที่ชักชวนให้คนโพสต์วิดีโอ ‘รายวัน’ ถึงจะโด่งดังในแอปฯ ได้ เสื้อผ้าที่หลายๆ คนมีอาจไม่พอในการทำคอนเทนต์ ด้วยเหตุนี้เอง คนจึงหันมาซื้อเสื้อผ้ามากขึ้น ส่งผลให้เกิดการบริโภคที่มากเกินไป

และถ้าต้องซื้อเสื้อผ้าบ่อยขนาดนี้ หลายๆ คนอาจหันมาบริโภคแบรนด์ถูกๆ เพื่อความสบายกระเป๋ากัน แน่นอนว่า SHEIN ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ Fast Fashion ที่ถูกเลือก

ไม่ใช่เพียงแค่ เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่บริโภคสินค้า Fast Fashion ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเองก็เช่นกัน การเสพสื่อและเทรนด์เสื้อผ้าใหม่ๆ เป็นจำนวนมากกระตุ้นให้เราอยากมีอยากใช้ จากเดิมที่เสื้อผ้ามีไว้เพื่อ ‘สวมใส่’ กลับกลายเป็นไอเทมใช้แล้วทิ้ง บางคนถึงกับซื้อมาเพียงเพื่อ ‘ถ่ายรูป’ และโพสต์ลงบน Instagram เท่านั้น

ยิ่งผู้บริโภคจับจ่ายมากขึ้น ผู้ผลิตยิ่งผลิตออกมามากขึ้น แล้วสถานการณ์แบบนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ผลกระทบของ Fast Fasion ต่อสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรแรกที่อุตสาหกรรมแฟชั่นใช้เป็นจำนวนมากคือ “น้ำ” 1 ใน 10 จากปริมาณน้ำทั้งโลกใช้ไปกับการผลิตเสื้อเสื้อผ้า ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตฝ้ายไปจนถึงการย้อมสี  โดยการผลิตฝ้าย 1 กิโลกรัมนั้นใช้น้ำราวๆ 3,000 ลิตร ส่วนการย้อมสีก็ใช้น้ำเยอะไม่แพ้กัน แถมมีการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ ผลสำรวจพบว่าน้ำเสียกว่า 20% บนโลกนี้มีต้นเหตุมาจากขั้นตอนย้อมสีเสื้อผ้านี่เอง

นอกจากฝ้ายแล้ว อุตสาหกรรมแฟชั่นยังนิยมใช้เส้นใยสังเคราะห์มากขึ้น และในเส้นใยนี้เองมีพลาสติกขนาดจิ๋วที่เราเรียกว่า “ไมโครไฟเบอร์” (Microfibers) ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะกว่าขั้นตอนผลิตผ้าฝ้ายแล้ว ไมโครไฟเบอร์ยังใช้เวลานานในการย่อยสลาย

ยิ่งไปกว่านั้น หากพลาสติกเหล่านี้สลายตัวจะปล่อยสารเคมีเป็นพิษออกมาด้วย เมื่อสารพิษเข้าสู่ระบบนิเวศน์ สัตว์ทะเลต่างๆ จะปนเปื้อนสารพิษและจะมีการสะสมไปเรื่อยๆ ตามลำดับห่วงโซอาหาร 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการผลิตและการบริโภคที่มากเกินไป ส่งผลให้เสื้อผ้าจำนวนมากต้องถูกทิ้ง ฝังกลบ และเผาทำลาย หลายๆ ปัญหารวมกันนี้ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างการขนส่งพัสดุเสียอีก

แม้แบรนด์ Fast Fashion หลายๆ แบรนด์อย่าง H&M และ Zara จะออกมาทำแคมเปญแสดงภาพลักษณ์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่หากอัตราการผลิตและบริโภคยังไม่ลดลง มีการคาดการณ์ว่า ภายในทศวรรษเดียว อุตสาหกรรมแฟชั่นจะเป็นต้นเหตุหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีจำนวนสูงถึง 50% จากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

Advertisements

อย่างไรก็ตาม SHEIN เป็นเพียงหนึ่งแบรนด์ในอุตสาหกรรม Fast Fashion เท่านั้น มีเหตุผลอื่นๆ อีกไหมที่ทำให้คนออกมา #แบนSHIEN แต่ไม่ใช่แบรนด์อื่น

ประเด็นร้อนอื่นๆ ใน #แบนSHEIN

นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว SHEIN ยังพบปัญหา “ละเมิดลิขสิทธิ์” ศิลปินอิสระนับไม่ถ้วน

ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์แฟชั่นขนาดเล็กชื่อ Elexiay ออกมาพูดถึงเสื้อสเวตเตอร์รุ่น Amelia ที่ทอมือทั้งผืนจากประเทศไนจีเรีย ซึ่งขายอยู่ที่ราคา 330 เหรียญสหรัฐ แต่เสื้อดังกล่าวกลับถูก SHEIN คัดลอกดีไซน์และผลิตออกมาขายในราคาเพียง 17 เหรียญเท่านั้น

“ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการออกแบบ ใช้เวลาเป็นวันๆ ในการถักเสื้อแต่ละตัว น่าท้อใจเหลือเกินที่ต้องเห็นงานที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเราถูกลดทอนคุณค่า กลายเป็นเพียงของลอกเลียนแบบที่ผลิตโดยเครื่องจักร” ดีไซเนอร์ดังกล่าวแสดงความเห็นบน Twitter ของเธอ

น่าเศร้าที่นี่ไม่ใช่กรณีแรก มีแบรนด์เล็กๆ และศิลปินอิสระมากมายที่ถูกขโมยผลงาน นำไปผลิตซ้ำในราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือเคสโทรศัพท์มือถือ แม้จะมีการเรียกร้องไปยังบริษัทและเอเจนซี่โฆษณาของ SHEIN หลายต่อหลายครั้ง ทางแบรนด์ยังไม่เคยออกมาแสดงความเห็นใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อีกประเด็นคือวัสดุที่ใช้ในการผลิตของ SHEIN นั้นเป็น “วัสดุคุณภาพปานกลาง” ไปจนถึงคุณภาพแย่ สินค้าส่วนใหญ่จึงไม่คงทน มีอายุการใช้งานที่สั้น และยากที่จะนำไปขายต่อเป็นเสื้อผ้ามือสอง ส่วนเครื่องประดับในเว็บไซต์เองก็มีราคาถูกมากๆ โดยเริ่มต้นที่ 10 บาทเท่านั้น แต่ผู้ใช้งานหลายท่านออกมารีวิวบนโลกออนไลน์ว่าใส่เพียง ‘ครั้งเดียว’ ก็หมดสภาพจนต้องทิ้ง

ประเด็นใหญ่สุดท้ายคือปัญหา “แรงงาน” SHEIN คือหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่มีคะแนนความโปร่งใสเป็นศูนย์ เมื่อมีการเข้าไปสำรวจการผลิต มีรายงานว่าแรงงานเหล่านี้ทำงานในโรงงานที่อัดแน่นไปด้วยคนและของ อากาศร้อนจนแทบหายใจไม่ออก แต่พวกเขาก็ทำงานไม่หยุดหย่อนตั้งแต่เช้ายันค่ำ โรงงานนรกเช่นนี้ไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง สภาพตึกเก่าทรุดโทรม และเสี่ยงต่อการเป็นต้นเหตุเพลิงไหม้ แต่กลับมีอยู่นับร้อยในเมืองกวางโจว ทางตอนใต้ของจีน

เพราะปัญหาเหล่านี้นี่เอง คนจึงหันมาต่อต้านจนเกิดแฮชแท็กอย่าง #แบนSHEIN ในไทย และ #BoycottSHEIN บน TikTok ในต่างประเทศ

จะทำอย่างไรเมื่อหลายคนมีงบซื้อได้แค่ Fast Fashion

ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากพอ เมื่อตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวก็สามารถช่วยแก้ไขได้ ด้วยการหันไปสนับสนุนแบรนด์อื่นที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและมีจริยธรรม

แล้วคนที่ไม่มีกำลังซื้อมากพอล่ะ จะต้องทำอย่างไร

จริงอยู่ที่อุตสาหกรรมแฟชั่น (โดยเฉพาะ Fast Fashion) สร้างปัญหารอบด้าน แต่ต้นทุนในชีวิตคนเรานั้นต่างกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถสนับสนุนแบรนด์ที่ยั่งยืนและมีจริยธรรมได้ แม้ว่าอยากสนับสนุนมากเท่าใดก็ตาม

ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่ผู้บริโภคพอทำได้คือซื้อเท่าที่จำเป็น ซื้อเสื้อผ้าที่ใส่ซ้ำได้บ่อยๆ ถนอมเสื้อผ้าให้ดีตามป้ายกำกับการใช้งาน ใช้งานให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในตอนท้าย เราอาจนำไปบริจาคเป็นเสื้อผ้ามือสองต่อ หรือนำไป Reuse ใช้งานในด้านอื่นๆ อย่างการนำไปทำเป็นพรมเช็ดเท้าหรือผ้าขี้ริ้ว เป็นต้น อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือการหันมาสนับสนุนเสื้อผ้ามือสองมากขึ้น 

แม้ #แบนSHEIN จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากแบรนด์เดียว แต่ก็ช่วยให้หลายคนตระหนักถึงปัญหารอบด้านในอุตสาหกรรมแฟชั่น ถ้าหากเราอยากเป็นอีกหนึ่งแรงในการช่วยแก้ไขปัญหานี้ วันนี้เราอาจเริ่มด้วยการบริโภคอย่างมีสติและสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น อาจเริ่มง่ายๆ ด้วยการชวนคนรอบข้างคุยเรื่อง #แบนSHEIN หรือด้วยการส่งบทความนี้ให้เพื่อนๆ ของคุณอ่านก็ได้นะ

อ้างอิง
https://bit.ly/30hBxPP
https://bit.ly/3GYHl1c
https://n.pr/3mWYekN
https://bit.ly/3BZvj3W

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements