รีวิวหนังสือ: คิดแค่ 1 แต่ได้ผล 100

1282
หนังสือ คิดแค่ 1 แต่ได้ผล 100
หนังสือ คิดแค่ 1 แต่ได้ผล 100
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หนังสือเขียนไว้ว่า “อย่าทำให้บริษัทกลายเป็นสวนสัตว์”
  • บริษัทที่ใช้ระบบให้เงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งตามอายุงาน จะทำให้พนักงานสูญเสียสัญชาติญาณแบบสัตว์ป่า ไม่ทุ่มเททำงานเพื่อผู้ใช้บริการอีกต่อไป และค่อยๆกลายเป็น “สวนสัตว์” ในที่สุด
  • ในวงการอินเทอร์เน็ตที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและแข่งขันดุเดือด ถ้าเราไม่สร้างสิ่งใหม่ๆที่มีคุณค่าออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้บริการก็จะทิ้งเราไปทันที

วันนี้ผมเดินทางมาบรรยายที่ภูเก็ตครับ ระหว่างนั่งเครื่องบิน ผมอ่านหนังสือเรื่อง “คิดแค่ 1 แต่ได้ผล 100” ซึ่งเขียนโดย อากิระ โมริคาวา อดีต CEO ของ LINE ผู้ที่ทำให้ LINE ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้

ผมโชคดีมากที่ได้มีโอกาสทานข้าวกับคุณอากิระ ครั้งหนึ่งตอนที่คุณโมะริกะวะเดินทางมากรุงเทพ เป็นอาหารค่ำที่สนุกและได้ความรู้มาก ต้องขอบคุณคุณหมู Ookbee ที่เชิญไปครับ

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบไปสองรอบแล้ว และผมซื้อแจกพนักงานทุกคน เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องบอกนะครับว่าผมชอบแค่ไหน

นอกจากจะชอบแล้วต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้ ตรงใจผมมากเกือบทั้งเล่ม

เรียกว่าอ่านแล้วโดนสุดๆ

วันนี้ไม่ได้อยากรีวิวแต่อยากเอาบทบทนึงที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ที่เกี่ยวกับเรื่อง”คน”ที่ผมคิดว่าเป็นแก่นในการบริหารองค์กรยุคใหม่มาให้ทุกท่านอ่านกันครับ

ผมคิดว่าบทนี้น่าสนใจเพราะอ่านแล้วผมเชื่อว่า คนที่อ่านน่าจะมีความเห็นที่หลากหลาย อยากได้ความเห็นของทุกท่านที่อ่านด้วยนะครับว่าคิดเห็นยังไงกันบ้าง

บทนี้คือบทที่ 16 ชื่อเรื่องว่า

“อย่าทำให้บริษัทกลายเป็นสวนสัตว์”

เนื้อหาเขียนไว้ว่าอย่างนี้ครับ

“หลังจากที่เข้ามาทำงานที่บริษัทฮันเกม เจแปน ได้ 4 ปี ผมก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบริษัท

ตอนนั้นในใจลึกๆผมรู้สึกได้ว่าบริษัทกำลังอยู่ในช่วง วิกฤติ เพราะสถานการณ์ของบริษัทต่างจากตอนที่ผมเพิ่งเข้ามาทำงานแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ตอนที่ผมเข้ามาใหม่ๆ บริษัทมีพนักงานราว 30 คน และกำลังประสบกับภาวะขาดทุน ทุกคนจึงทำงานอย่างสุดกำลังทำให้บริษัทผงาดขึ้นมาครองอันดับหนึ่งในตลาดเกมออนไลน์ของญี่ปุ่นได้ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี

จากนั้นเกิดอะไรขึ้นน่ะหรือครับ

ทุกคนมีความสุขกันถ้วนหน้า ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ได้แต่งงาน มีลูก ซื้อบ้าน แล้วก็ได้กลับบ้านกันเร็ว แน่นอน ว่ามันฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ผมคิดว่ามันมีเรื่องที่ “อันตราย” ซุกซ่อนอยู่ นั่นคือ บริษัทใช้ระบบให้เงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งตามอายุงาน

ถ้าทำงานที่นี่ต่อไปเรื่อยๆ เงินเดือนก็จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเหมือนยืนอยู่บนบันไดเลื่อน แล้วพนักงานที่คิดแบบนี้ก็จะสูญเสียสัญชาติญาณแบบสัตว์ป่าไป แววตาที่เปล่งประกายเมื่อได้ทุ่มเททำงานเพื่อให้ผู้ใช้บริการพึงพอใจก็หายไป ราวกับว่าพวกเขาถอดเขี้ยวเล็บออกหมดแล้ว จากนั้นบริษัทก็ค่อยๆกลายเป็น “สวนสัตว์” ไปในที่สุด

Advertisements

มนุษย์นี่ช่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอเสียจริงๆ

ผมอดคิดอย่างนั้นไม่ได้ครับ เพราะเมื่อคนเราอยู่ในจุดที่มีความสุขอยู่แล้ว เราก็จะไม่ดิ้นรนไปมากกว่านั้น จึงแทบไม่มีใครคิดจะทุ่มเททำงานจนสายตัวแทบขาดเพื่อผู้ใช้บริการอีก

นั่นอาจเป็นเรื่องที่ดีหากเราอยู่ในสังคมที่ไม่มีการแข่งขันเพราะแค่รักษาความสำเร็จนั้นไปเรื่อยๆก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้ แต่ในวงการอินเทอร์เน็ตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแข็งขันดุเดือด ดังนั้น ถ้าเราไม่สร้าง “สิ่งใหม่ๆที่มีคุณค่า” ออกมาให้ได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้บริการก็จะทิ้งเราไปทันที

โลกใบนี้คือห่วงโซ่ของการจัดหาความต้องการ ถ้าทำให้ผู้ใช้บริการพอใจได้ บริษัทก็จะมีกำไร ส่งผลให้พนักงานอยู่ดีมีสุขไปด้วย วงจรนี้จำเป็นต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารจึงห้ามทำให้บริษัทกลายเป็น “สวนสัตว์” เด็ดขาด ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเราใช้ชีวิตอยู่ในสวนสัตว์อย่างสุขสบายจนไม่อาจปรับตัวเข้ากับห่วงโซ่ได้ ไม่ช้าความสุขก็จะหายวับไป เพราะสุดท้ายแล้วความสุขจะรอเราอยู่ที่ปลายทางของความยากลำบากเสมอครับ

นอกจากนี้ ถ้าปล่อยให้บริษัทเป็นอย่างนี้ต่อไป ปัญหาที่รุนแรงกว่าจะเริ่มปรากฏขึ้นมา

หากบริษ้ทเลื่อนตำแหน่งและขึ้นเงินเดือนให้พนักงานโดยใช้ระบบอายุงาน พนักงานใหม่ที่ทำงานได้ดีและสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทก็จะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานเก่าแก่ที่ไม่ค่อยสร้างประโยชน์อะไร ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ว่าใครก็น่าจะเกิดการคับข้องใจกันบ้างแหละครับ แถมคนเก่าคนแก่บางคนยังชอบสกัดดาวรุ่งเมื่อเห็นว่าพนักงานใหม่มีแววโดดเด่นว่าตัวเอง นี่มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเลยในที่สุดผมจึงต้องประกาศออกไปว่า

“ผมจะปรับระบบการขึ้นเงินเดือนพนักงาน คนที่สร้างผลงานและนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าให้กับผู้ใช้บริการได้มากกว่าจะได้เงินเดือนสูงกกว่า จากนั้นก็ได้ลดหลั่นกันไปตามลำดับ”

ผมเริ่มต้นจากการล้างกระดานใหม่หมด โดยปรับเงินเดือนและตำแหน่งของทุกคนกลับมายังจุดเริ่มต้น จากนั้นประเมินและปรับเปลี่ยนเงินเดือนให้เหมาะสม

แน่นอนว่ามีพนักงานที่ไม่เห็นด้วยแสดงตัวออกมาเรื่อยๆจนในที่สุดคนในบริษัทก็โวยวายกันยกใหญ่

แต่ผมไม่สนใจ เพราะพนักงานที่โวยวายและคัดค้านก็มีแต่พวกที่ทำงานไม่คุ้มเงินเดือนสูงๆทั้งนั้น แถมยังใช้อารมณ์เป็นใหญ่และไม่ยอมทำความเข้าใจเรื่องที่มีเหตุผล ผมจึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปโต้เถียงด้วย 

สุดท้ายคนที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะลาออกไปเอง ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่ได้รับพนักงานใหม่เข้ามาเสริม แต่นำเงินเดือนของคนที่ลาออกไปมาแบ่งสันปันส่วนให้พนักงานที่สร้างประโยชน์ให้กับบริษัทแทน การทำเช่นนี้ช่วยให้ขวัญและกำลังใจของพนักงานที่ตั้งใจทำงานเพิ่มขึ้นมากเลยล่ะครับ อีกทั้งผมยังสามารถทำให้พนักงานทุกคนซึมซับนโยบายอันเรียบง่ายที่ว่า “ที่นี่เป็นบริษัทที่ให้ผลตอบแทนแก่คนที่ทำงานเก่งจริงๆ” ได้ด้วย”

โดยส่วนด้วยผมเห็นด้วยกับวิธีคิดแบบนี้นะครับ ผมเชื่อว่าองค์กรสมัยใหม่จะโตเร็วและแข็งแรงได้ มันต้องอารมณ์ประมาณนี้แหละครับ

แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย อ่านแล้วเป็นไงบ้างครับ ลองมาคุยกันดูได้ครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่