รีวิวหนังสือ: พุทธะในปราด้า

1347
หนังสือ พุทธะในปราด้า
หนังสือ พุทธะในปราด้า
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หนังสือเล่าเกี่ยวกับพื้นที่และกระบวนการสร้างความสร้างสรรค์ คนๆเดียวสามารถคิดได้หลายแบบ เช่น การคิดแบบโครงสร้างซึ่งเป็นการเชื่อมโยงและประยุกต์ความคิด การคิดแบบนักวิเคราะห์ที่มักเป็นการคิดแบบมุ่งแก้ปัญหา และการคิดแบบรวบยอดที่ต้องอาศัยข้อมูลที่มีแล้วจึงลงมือ
  • ประเทศแถบสแกนดิเนเวียให้กำเนิดนักออกแบบจำนวนมาก งานออกแบบของกลุ่มนี้มักคุมโทนนิ่งๆ แต่ฟินแลนด์จะมีสีสันที่แตกต่างออกไป และแม้ว่าฟินแลนด์จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่มีกระบวนการในการสร้างแบรนด์ให้มาเป็นแบรนด์แถวหน้าของโลกได้อย่างน่าสนใจ
  • การส่งต่อองค์ความรู้ระหว่างรุ่นนั้นมีความสำคัญและเป็นรากฐานของอารยธรรมหรือแม้แต่ความอยู่รอดของเผ่าพันธ์ุ

วันนี้ผมเดินทางมาปารีสครับ ที่จริงจุดหมายปลายทางคือเมืองลิสบอนประเทศโปรตุเกสที่จะจัดงานเว็บซัมมิท 2017 (Web Summit 2017) (ซึ่งเดี๋ยวจะมีบทความมาเล่าเพียบแน่นอนครับ) แต่ว่าไหนๆจะมายุโรปแล้วก็เลยแวะมาฝรั่งเศสด้วยซะเลย

ตอนแรกว่าจะเอาแต่หนังสือเรื่องสายเทคมาอ่านเพราะช่วงนี้กำลังอิน แต่พอเหลือบไปเห็นเล่มนี้ก็รู้สึกว่ามันน่าจะเข้ากับทริปนี้ดีเลยติดมาด้วย ตอนระหว่างนั่งรอเครื่องเลยเปิดอ่านดู ปรากฏว่าอ่านแล้วติดเลยครับ อาจจะเป็นเพราะวิธีการใช้ภาษาของคุณพลอยด้วย ทำให้ตัวอักษรมันดูลื่นไหลมากๆ

จะบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออย่างไรดี… คือหนังสือมีความเซนมากครับ ถ้าให้อธิบายคือว่าเวลาอ่านไปจะไม่ได้อยากเอาปากกาไฮไลท์มาขีด หรือติดโพสต์อิท แต่จะอ่านแล้วนั่งจมๆกับความคิดตัวเอง 

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น พาร์ท 1: The Flower เขียนโดยคุณ พลอย จริยะเวช และพาร์ท: 2 The Root เขียนโดยคุณชัยอนันต์ สมุทวณิช ซึ่งโทนในการเขียนก็จะแตกต่างกันพอควรครับ

ส่วนแรกคุณพลอยเล่าถึง พื้นที่ความสร้างสรรค์ กระบวนการสร้างความสร้างสรรค์ ที่น่าสนใจมากๆ ผมขออนุญาตยกหน้าหนึ่งที่ผมชอบมากมานะครับ เป็นเรื่องของวิธีการคิดซึ่งในหนังสือเขียนไว้ว่า คนคนเดียวสามารถคิดได้หลายๆแบบเช่น (ขออนุญาตลอกมาเลยนะครับเพื่อให้ตรง)

การคิดแบบโครงสร้าง (Structure Thinking) 

การคิดแบบนี้เริ่มที่การหัดคิดเปรียบเทียบและนำไปสู่การเชื่อมโยงความคิดอย่างมีระบบ เพื่อจะตัดสินว่าปัญหานี้เราจะซัด จะจัดการมันอย่างไร ต้องอาศัยการศึกษาระบบ (system) ต่างๆ การทำแผนภูมิต่างๆ พยายามคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ จะประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้กับสถานการณ์อย่างไร

การคิดแบบนักวิเคราะห์ (Analytical Thinking) 

คนชอบคิดแบบนี้จะเชื่อเรื่องตัวเลข ข้อเท็จจริง ตั้งหน้ามองหาเหตุผล (Fact & Logic) หาทิศทาง หาคำตอบของเหตุ (Reason) เพื่อมุ่งแก้ปัญหา ผู้คิดแบบวิเคราะห์มักต้องการความชัดเจนตรงไปตรงมา เป้าหมายอยู่ไหนก็พุ่งเข้าไปชนตามทิศทางจากข้อมูลอันชัดเจนที่ตนเชื่อมั่น 

การคิดแบบรวบยอด (Conceptual Thinking) 

คือคนที่ชอบพยายามหาความคิดใหม่ๆ ทักษะการคิดแนวนี้ต้องอาศัยข้อมูลที่แน่นอนที่มีในมือมากพอ ต้องวาดภาพในสมอง (Make a Picture) รู้จักท้าทาย (Challenge) ไม่คิดทำซ้ำแบบเดิมๆ ที่เน้นความปลอดภัยเพราะเห็นตัวอย่างว่ามันดีอยู่แล้ว ไม่กลัวผิดลุยเลย ลงมือทำไปทั้งที่ไม่มีทิศทาง (รวมทั้งไม่มีแหล่งอ้างอิงให้เอามาดูเป็นตัวอย่าง) เน้นกระบวนการ (Process) ก่อนแล้วค่อยหาทิศทางทีหลัง นักคิดแบบนี้ จึงรักที่จะสร้างมุมมองใหม่แบบไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ

หนังสือเล่าต่อเรื่องเทรนด์ เรื่องแฟชั่น และที่ผมชอบเป็นพิเศษคือส่วนที่พูดถึง สแกนดิเนเวีย ครับ อย่างที่เรารู้กันครับว่ายอดฝีมือด้านการออกแบบจำนวนมากบนโลกใบนี้มาจากประเทศแถวๆนี้เต็มเลยครับ

คุณพลอยพูดถึงงานออกแบบที่มีจุดเด่นคือนักออกแบบให้ความเคารพต่อวัสดุที่ใช้ผลิตชิ้นงานใดๆอย่างสูง Form & Function สำคัญเสมอกัน ไม่มีสิ่งใดกลบกัน งานออกแบบของกลุ่มสแกนส่วนใหญ่จะมีการคุมโทนนิ่งๆ แต่ประเทศที่ไม่เหมือนชาวบ้านหน่อยคือ ฟินแลนด์ จะมีสีสันแตกต่างจากเพื่อนๆแถวนี้อย่างชัดเจน

แบรนด์แถวหน้าของฟินแลนด์ที่ควรค่าได้รับการกล่าวถึงก็มี มารีเมกโกะ (Marimekko), มูมิน (Moomin), อราเบีย (Arabia), อาร์เทค (Artek) และ อิททาละ (Iittala) 

Advertisements

สิ่งที่ทำให้ผมฉุกคิดมากๆเลยตอนอ่านถึงตรงนี้คือ ฟินแลนด์เป็นประเทศเล็กๆที่มีประชากรแค่ 5 ล้านคน (เล็กกว่ากรุงเทพเยอะ) แต่มีกระบวนในการสร้างแบรนด์ที่มาเป็นแบรนด์แถวหน้าของโลกได้อย่างน่าสนใจมากครับ อันนี้เป็นเรื่องที่คนทำแบรนด์น่าเอาไปคิดต่อมากๆ เพราะจริงๆประเทศไทยก็มี “เรื่องเล่า” ที่มีเสน่ห์ไม่แพ้กันครับ 

ส่วนที่สองต้องขอยอมรับตามตรงเลยครับว่ารู้สึกต้องใช้พลังงานในการอ่านเยอะ อาจจะเป็นเพราะว่าเนื้อหามีความลึกมาก เพราะพูดถึงรากเหง้าของมนุษย์เชิงจิตวิทยา พุทธศาสนา รวมไปถึงเรื่องหนักๆอีกหลายเรื่อง

แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับส่วนที่สองคือ ทำให้ผมตกผลึกได้ว่าการส่งต่อองค์ความรู้ระหว่างรุ่นของมนุษย์นั้นมีความสำคัญจริงๆ และเป็นรากฐานของอารยธรรมหรือแม้แต่ความอยู่รอดของเผ่าพันธ์ุของเราเลยก็ว่าได้

เอาเป็นว่าเดี๋ยวส่วนที่สองจะกลับมาอ่านอีกรอบนะครับ


สิ่งที่ทำหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้เสร็จ

หนึ่ง เปิดเว็บ book depository

เข้าไปสั่งหนังสือชื่อ The Luxury Alchemist ที่คุณพลอยเขียนถึงไว้และเนื้อหาดูน่าสนใจมาก จริงๆผมลืมบอกไปว่าเดี๋ยวนี้ผมสั่งหนังสือจาก book depository เยอะมาก เพราะค่าส่งฟรีทั่วโลก แต่เวลาสั่งต้องใจเย็นๆครับเพราะนาน และถ้าสั่งหลายเล่มบางทีก็มาส่งหลายรอบ 

อ่อ ลืมบอกไปว่าสำหรับคนที่ชอบโมเลสกิน (Moleskine) ลองเข้าไปเว็บนี้บ่อยๆนะครับ เพราะชอบมีลดราคาแล้วลดเยอะด้วยครับ 

สอง เข้าไปศึกษาประวัติของมารีเมกโกะอย่างละเอียด

เพราะเป็นแบรนด์ที่จริงๆต้องบอกว่าชอบแต่ไม่เคยรู้เรื่องราวแบบลึกๆ มีอะไรบางอย่างที่คุณพลอยเขียนถึงทำให้รู้สึกว่าอยากเรียนรู้เรื่องแบรนด์นี้เพิ่ม

สาม กลับกรุงเทพเมื่อไรจะไปกินร้านบ้านนวลที่สามเสนซอย 2

เพราะสารภาพว่าไม่เคยรู้จักร้านมาก่อน แต่เห็นรูปในหนังสือแล้วตั้งใจว่ากลับไปจะไปให้ได้

ใครที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านแนะนำว่าให้หามุมโปรดที่บ้าน หรือร้านกาแฟร้านชาที่ชอบ หาหูฟังไปฟังเพลงบรรเลงช้าๆเบาๆ พร้อมจิบเครื่องดื่มร้อนๆ แล้วให้ตัวอักษรพา “ความคิด” ของคุณไปเที่ยวครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่