เพราะดูดีกว่าจึงประสบความสำเร็จกว่า? รู้จักกับหลุมพรางความคิด “The Halo Effect”

2486
The Halo Effect

ย้อนกลับไปในวันเสาร์ที่ 11 เมษายน ปี 2009 ณ เวทีประกวด Britain’s Got Talent ท่ามกลางแสงไฟอันเจิดจ้าและผู้ชมนับร้อยในห้องส่ง หญิงวัยกลางคนรูปร่างท้วมในชุดเดรสลูกไม้สีครีมเฉิ่มๆ กำลังเดินเท้าสะเอวอย่างมั่นใจไปยังกลางเวที

ภาพตรงหน้าทำให้หลายคนหลุดหัวเราะออกมา ท่าทางมั่นใจของเธอช่างขัดกับอายุ รูปร่าง การแต่งตัว และทรงผมสั้นดัดลอนของเธอเสียเหลือเกิน ไหนจะการตอบคำถามที่ยังแอบตะกุกตะกักเพราะตื่นเวทีอีก

ทั้งผู้ชมและกรรมการดูไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตารอการแสดงของเธอนัก แต่เหตุการณ์กลับน่าสนใจขึ้นเมื่อหนึ่งในกรรมการถามเธอว่า “ความฝันของคุณคืออะไร” และเธอตอบว่า “ฉันอยากเป็นนักร้องมืออาชีพ”

Advertisements

‘นักร้องมืออาชีพ’

คำตอบอันทะเยอทะยานทำเอาหลายคนส่ายหัวด้วยความไม่เชื่อ ผู้ชมต่างพากันซุบซิบ ขบขัน บางคนถึงขั้นกลอกตาใส่ หากความคิดของผู้ชมส่งเสียงออกมาได้คงจะเป็นคำพูดว่า ‘ป้าคนนี้เนี่ยหรือ จะเป็นนักร้อง’ หรือไม่ก็ ‘ไม่มีทางเสียหรอก!’

แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อหญิงคนดังกล่าวเปล่งเสียงร้องทรงพลังออกมา ทุกคนในห้องส่งต่างพากันอ้าปากค้างกับน้ำเสียงอันไพเราะ จากสีหน้าดูถูกกลายเป็นประทับใจ จากเสียงซุบซิบนินทากลายเป็นเสียงฮือฮา กล้องตัดมาที่ภาพพิธีกรที่ยืนแอบอยู่ที่ข้างเวที เขาหันมามองกล้องแล้วถามคนดูทางบ้านว่า “ไม่ได้คาดหวังอะไรแบบนี้เลยใช่ไหม” (You didn’t expect that, didn’t you?) 

นั่นสินะ เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า ‘ความสามารถ’ ของเธอมีมากน้อยแค่ไหน แต่ทำไมเราถึงตัดสินไปแล้วว่าเธอจะร้องเพลงห่วย!?!

รู้จักกับหลุมพรางความคิดที่ชื่อ The Halo Effect

ไม่ต้องบอก หลายๆ คนก็รู้แล้วว่าผู้หญิงวัยกลางคนดังกล่าวคือ ซูซาน บอยล์ นักร้องที่โด่งดังจากการประกวด Britain’s Got Talent นั่นเอง ตอนดูวิดีโอการประกวดของเธอครั้งแรก เราอาจไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อดูซ้ำหลายๆ ครั้งเราอาจเริ่มรู้สึกเห็นใจและสงสัยว่า ทำไมเราถึงด่วนตัดสินเธอจากภาพลักษณ์ภายนอก ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าความสามารถของคนคนหนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน้าตาเลยด้วยซ้ำ

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเราโดน “The Halo Effect” เข้าแล้วน่ะสิ!

The Halo Effect คืออคติทางความคิด (Cognitive Bias) ประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราสรุปว่า ใครคนหนึ่งมีนิสัยเป็นอย่างไร โดยอ้างอิงจากความประทับใจครั้งแรก (First Impression) พูดง่ายๆ ก็คือหากการพบกันครั้งแรกแล้วเรารับรู้ถึงคนคนนั้นในแง่บวก เรามักจะคิดเอาเองว่านิสัยด้านอื่นๆ ของเขาจะดีตามด้วย

ยกตัวอย่างเช่น หากเราเจอคนคนหนึ่งที่แต่งตัวดูดี ยิ้มแย้มแจ่มใส่ และพูดจาดีกับเรา เรามักจะทึกทักไปเองว่าเขาน่าจะเป็นคนดี ฉลาด หรือมีฐานะแน่เลย

คำว่า The Halo Effect ปรากฏครั้งแรกในการศึกษาของเอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดค์ ในปี 1920 โดยเขาได้ทดลองให้เหล่าผู้บัญชาการในกองทัพให้คะแนนคุณสมบัติด้านต่างๆ ของลูกน้อง (เช่น มีความเป็นผู้นำ แข็งแรง ฉลาด ซื่อสัตย์ และพึ่งพาได้) ผลพบว่าเมื่อผู้บัญชาการให้คะแนนนายทหาร A ช่องใดช่องหนึ่งสูงเป็นพิเศษ มีแนวโน้มว่าเขาจะให้คะแนนช่องอื่นๆ สูงตามด้วย

หลังจากนั้นก็มีงานวิจัยอื่นๆ อีกหลายงานที่ศึกษาเรื่องนี้ ผลวิจัยจากงานเหล่านั้นมักพบว่า เมื่อเรามองว่าใครสักคน “หน้าตาดี” แล้ว มีแนวโน้มว่าเราจะมองคนเหล่านั้นมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่ดีตาม งานวิจัยหนึ่งถึงขั้นพบว่า คณะลูกขุนมักจะไม่เชื่อเวลาที่ผู้ต้องหาหน้าตาดีนั้นทำผิดกฎหมาย!

เช่นเดียวกัน คนที่สร้างความประทับใจครั้งแรกได้ไม่ดี ก็จะถูกเหมารวมว่าด้อยกว่า ไม่มีความสามารถ หรือนิสัยไม่ดี เป็นต้น เหมือนที่ซูซาน บอยล์ ถูกคนดูและกรรมการคาดหวังว่าต้องร้องเพลงออกมาห่วยแน่ๆ เพียงเพราะเธอไม่ได้มีรูปลักษณ์ภายนอกน่าดึงดูด อคติทางความคิดแบบนี้ถูกเรียกว่า The Reversed Halo Effect หรือ The Horn Effect นั่นเอง

เพราะ ‘ดูดี’ ก็มีชัยไปว่าครึ่งจริงหรือ

ในด้านของการศึกษา งานวิจัยหนึ่งพบว่า การที่อาจารย์จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ดีต่อเด็กนั้นจะ ‘แตกต่าง’ กันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าหน้าตาและบุคลิกของเด็กคนนั้นจะดูดีแค่ไหน อีกงานวิจัยได้ศึกษาผลการเรียนของนักเรียนกว่า 4,500 คน ทั้งจากห้องแบบเห็นหน้าและคอร์สออนไลน์แบบไม่เห็นหน้า จากนั้นจึงให้ผู้ทดลอง 28 คน ให้คะแนน ‘หน้าตา’ ของเด็กนักเรียน 

ผลพบว่านักเรียนที่ถูกมองว่า ‘ดูดี’ มักจะได้คะแนนค่อนข้างดีเมื่ออยู่ในชั้นเรียนที่อาจารย์เห็นหน้าพวกเขา แต่เมื่อต้องเรียนในคอร์สออนไลน์แบบไม่เห็นหน้า คะแนนของพวกเขากลับลดลง 

ในด้านการทำงานก็ส่งผลกระทบเช่นกัน งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Economic Psychology พบว่า พนักงานเสิร์ฟอาหารที่ดูดีกว่ามักจะได้ทิปมากกว่าประมาณ 1,200 เหรียญ (หรือเกือบสี่หมื่นบาท) ต่อปี เมื่อเทียบกับพนักงานเสิร์ฟคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ดูดีเท่า

Advertisements

อีกงานวิจัยจาก The Journal of Applied Psychology ในปี 2009 พบเช่นกันว่า ความหน้าตาดีไม่เพียงส่งผลดีต่อความมั่นใจของคนเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อรายได้และเสถียรภาพทางการเงินอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าเมื่อคนคนหนึ่งมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดีกว่า เขาคนนั้นมีโอกาสที่จะได้รับผลการเรียนที่ดีกว่า ตามมาด้วยหน้าที่การงานที่ดีกว่า และท้ายที่สุดจึงนำมาสู่รายได้ที่ดีกว่านั่นเอง ดังนั้นหากจะพูดว่า “เพราะดูดีจึงมีชัยไปกว่าครึ่ง” จึงไม่ผิดนัก

ระวัง เข้าใจ และหัดใช้ให้เป็นประโยชน์!

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าอคติทางความคิดแบบนี้ส่งผลอย่างไรได้บ้าง เราสามารถนำความคิดนี้ไปปรับใช้ในชีวิตได้หลายด้าน

ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นผู้สัมภาษณ์งาน เราสามารถระวังตัวเองให้มากขึ้นในการ ‘ไม่ตัดสิน’ ผู้สมัครที่ไม่ดูดีว่าไร้ความสามารถ และไม่ทึกทักไปเองว่า ผู้สมัครที่หน้าตาดีนั้นเก่งกว่า เมื่อเราตระหนักถึงอคติทางความคิด เราจะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นกลางมากขึ้น ผลดีที่ตามมาคือองค์กรจะได้ผู้สมัครที่มีความสามารถจริงๆ ไม่ใช่แค่ ‘ดูเหมือน’ มีความสามารถ

แต่ถ้าหากเราอยู่ในบทบาทผู้สมัครล่ะ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

แน่นอนว่าในการแข่งขันหรือการทำงาน เราควรวัดกันที่ ‘ความสามารถ’ ไม่ใช่ ‘หน้าตา’ อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงว่า อคติทางความคิดมีอยู่ทุกหนทุกแห่งและเราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบของมันได้ 

หากเราจะเลือกพึ่งความสามารถล้วนๆ แบบซูซาน บอยล์ ก็ไม่ผิด

แต่ถ้าหากเราเลือกเพิ่ม ‘คะแนนพิเศษ’ ด้วยการอัปเกรดตัวเองให้ดูดีคงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

ไม่ต้องถึงขั้นไปศัลยกรรมให้ออกมาสมบูรณ์แบบ เพราะการสร้างความประทับใจแรกพบทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่การแต่งตัวให้ดูดี ดูสะอาด เข้ากับสถานการณ์และรูปร่างของเรา การพูดด้วยความมั่นใจ การยิ้มแย้มแสดงความเป็นมิตร ไปจนถึงการฉีดน้ำหอม การตัดเล็บให้ดูสะอาดสะอ้าน หรือการนั่งตัวตรง 

หากเราแก้ปัญหาอคติทางความคิดอย่าง The Halo Effect ไม่ได้ ก็ใช้ประโยชน์จากมันเสียเลย! บางทีสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ประกอบกับทักษะในตัวเราที่มีอาจรวมพลังพาเราไปสู่เป้าหมายก็ได้นะ

mm2021

The Halo Effect เป็นหนึ่งในอคติทางความคิดที่แสดงให้เห็นถึงความ ‘ไม่ยุติธรรม’ บนโลกใบนี้ โชคร้ายที่เราไม่สามารถกดปุ่มรีเซ็ตความคิดทุกคนบนโลกใบนี้ได้ สิ่งที่เราพอจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นมาอีกนิดและยุติธรรมขึ้นมาอีกหน่อย ก็อาจจะเป็นการตระหนักรู้ถึงอคติของตัวเองและสร้างความตระหนักรู้ให้คนรอบๆ ตัว

อาจฟังดูเล็กน้อย แต่วันใดวันหนึ่ง มันอาจช่วยให้คนที่มีความสามารถสักคน ไม่ต้องเจอความรู้สึกถูกตัดสินแบบที่ซูซาน บอยล์ ต้องเจอ

อ้างอิง
https://bit.ly/3wwP3Lc
https://bit.ly/3mZt7VY
https://bit.ly/31QqJsw
https://bit.ly/3ofUnPm

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements