สำนักข่าว Business Insider รายงานว่าพนักงานที่ต้องทำงานจากที่บ้านหรือ Work From Home มีความเสี่ยงต่อการเกิด ’ภาวะสมาธิสั้น’ (Attention Deficit Disorder) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน สืบเนื่องจากภาระการทำงานของพนักงานที่เพิ่มมากขึ้น
โดยทางผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ปกติแล้วการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitasking) หรือแม้แต่การทำงานสองอย่างสลับไปมา จะทำให้ประสิทธิภาพของพนักงานในการจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าลดน้อยลง อีกทั้งการทำงานจากที่บ้านยังส่งผลให้เหล่าคนทำงานต้องแยกตัวออกจากสังคมและยังต้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ซึ่งล้วนส่งผลให้ ‘ภาวะสมาธิสั้น’ เลวร้ายลงไปอีก
แหล่งข่าวรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อ Business Insider ว่า เมื่อเธอทำงานจากที่บ้านไปได้สักระยะหนึ่ง เธอมักหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อที่จะเช็กข้อความและการแจ้งเตือนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นก็มักจะลุกไปจัดโต๊ะหรือแม้แต่กระทั่งหาขนมทานระหว่างทำงาน เธอยังกล่าวเพิ่มอีกว่า เธอไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าได้เลย เธอรู้สึกว่าการทำงานของเธอกำลังถูกรบกวนอยู่ตลอดเวลา โดยเธอเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นผลมาจากมาตรการทำงานจากที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่ Ned Hallowell จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาการไม่จดจ่อต่องาน หรือการอยู่ไม่นิ่งจากการทำงานแบบ Work From Home ไม่ใช่โรคสมาธิสั้น (ADHD) แต่เป็นอาการอยู่ไม่นิ่ง หรือการขาดการจดจ่อ เกิดจากสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ซึ่งเรายังไม่สามารถปรับตัวได้ โดยอาการเหล่านี้เรียกว่า Attention Deficit Disorder (ADD) หรืออาการไม่สามารถอยู่นิ่งได้ อีกทั้งยังกล่าวว่า ‘การเป็นโรคสมาธิสั้น จะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด’ อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาของทั้ง 2 อาการมีความคล้ายคลึงกัน อาทิเช่น การดื่มกาแฟหรือแม้แต่กระทั่งการสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน
ด้าน Curt Steinhorst ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสมาธิ กล่าวว่า ลำดับแรกเราต้อง แบ่งพื้นที่อย่างชัดเจน โดยแยกระหว่างพื้นที่สำหรับการทำงาน และพื้นที่ส่วนตัว เนื่องจากเมื่อเราเข้าสู่พื้นที่ที่แบ่งไว้สำหรับทำงาน จะทำให้เรารู้สึกมีพลัง และสามารถจดจ่อได้มากขึ้น และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้พื้นที่การทำงาน มาเป็นพื้นที่ในการพักผ่อน หรือสร้างความบันเทิง เพราะจะทำให้รบกวนการจดจ่อต่องานได้ รวมถึงการเดินในตอนเช้า ก็จะช่วยให้สมองปลอดโปร่งมากขึ้นอีกด้วย
ลำดับต่อมา คือ การไม่รับข้อมูลที่มากจนเกินไป ในส่วนนี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทำ To-Do-List ไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดลำดับในสิ่งที่ควรทำในแต่ละวัน อีกทั้งการวางโทรศัพท์ให้ห่างตัว ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ Steinhorst ยังกล่าวเพิ่มว่า การทำงานให้น้อยลง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ โดยให้เหตุผลว่า เราไม่สามารถคาดหวังให้ตัวเราเองกระตือรือร้นตลอดเวลาในการทำงาน การนั่งอยู่ตรงหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ไม่ช่วยให้งานเราดีขึ้น การทำงานให้น้อยลง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน ดังนั้นการสร้างพื้นที่การทำงานใหม่และออกจากมุมเดิมๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้
อ้างอิง:
https://bit.ly/3AJggMY
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worldnews
