PODCASTในวันที่ชีวิตหลงทาง จะก้าวออกจากความเวิ้งว้าง และความสับสนอย่างไร?

ในวันที่ชีวิตหลงทาง จะก้าวออกจากความเวิ้งว้าง และความสับสนอย่างไร?

เหตุผลที่คนเราหลงทางคือการไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะตื่นขึ้นมา “เพื่ออะไร”

เราอาจเคยมีช่วงเวลาหนึ่งที่ตื่นขึ้นมาตอนเช้าอย่างอิดออดและไม่ยอมลุกจากเตียง แต่ตกดึกกลับไม่ยอมนอนเพราะไม่อยากให้ถึงเช้าถัดไป เราอาจเคยมีเป้าหมายที่พร้อมทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับมัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งกลับหยุดทำไปเสียดื้อๆ เพราะแรงจูงใจที่มีกลับถูกแทนที่ด้วย “คำถาม” ที่เรายังตอบไม่ได้ และอาการเหล่านี้คืออาการปกติของคนที่ “หลงทาง”

ทุกคนต่างสงสัยว่า ทำไมคนเราถึงต้องมีจุดหนึ่งในชีวิตที่รู้สึก “หลงทาง” ? ไม่ว่าเราจะมีชีวิตที่ดีพร้อมในทุกด้านหรือไม่มีก็ตาม แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง เราต่างต้องมาหยุดอยู่ที่ทางแยกและไม่รู้ว่าตนเองจะเลือกทางไปต่ออย่างไรอยู่ดี

คาร์ล ยุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาผู้โด่งดัง มองว่า การที่เราสับสนกับชีวิตเพราะชีวิตของเรามีความแน่นอนเพียงหนึ่งเดียวคือ ความตาย และนั่นทำให้เราสงสัยตลอดเวลาว่า เรากำลังใช้ชีวิตไปเพื่ออะไรกันแน่? ทำไมเราถึงต้องเสียสละทั้งเวลาและแรงกายเพื่ออดทนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก?

ในระหว่างที่คาร์ล ยุง (Carle Jung) เขียนหนังสือ The Red Book ที่เปรียบเสมือนคัมภีร์รวมทฤษฎีของตนเอง เขาจึงได้ค้นพบเจตจำนงของการมีชีวิต นั่นคือ “บางทีมนุษย์เกิดมาเพื่อเสียสละอะไรบางอย่าง ให้กับสิ่งที่มีความหมายมากกว่าชีวิตของเราเอง” เพราะหากเราค้นพบสิ่งที่ “คู่ควร” กับเวลาและแรงกายของเราแล้ว เราจึงจะรู้สึกว่าชีวิตของเรามีหนทางและมีความหมาย

หาเหตุผลนั้นให้เจอ โดยเริ่มต้นจากการถามตนเองว่า “ทำไม?”

แม้เราอาจไม่รู้ตัว แต่แท้จริงแล้วเราอาจกำลังใช้ชีวิตโดยมี “เหตุผล” นั้นขับเคลื่อนตลอดเวลา และบางทีการที่เราหลงทาง อาจไม่ใช่เพราะเราไม่มีเหตุผลในการใช้ชีวิต แต่เราอาจยัง “ไม่รู้” ว่าต้องตั้งคำถามอย่างไร จึงจะเจอคำตอบที่มีอยู่แล้วเท่านั้น

โดยใน TedTalk อันโด่งดังของ ไซมอน ไซเนก (Simon Sinek) ผู้เขียนหนังสือ Start With Why เขาได้กล่าวถึงโมเดลวงกลมทองคำ (Golden Cricle) ซึ่งเป็นโมเดลที่อธิบายการกระทำของมนุษย์ว่า ทำไมบางคนถึงใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ แต่บางคนกลับไม่ใช่ โดยโมเดลวงกลมนี้ประกอบไปด้วย 3 ชั้นซ้อนกันเหมือนหัวหอม นั่นคือ

1. “What” ชั้นนอก
2. “How” ชั้นกลาง
3. “Why” ชั้นใน (แกนกลาง)

“What” หรือ “อะไร” หมายถึงการกระทำและความคิดระดับนอกที่เราเข้าถึงได้ง่ายที่สุด คือ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่หรือเราต้องการอะไร ตัวอย่างเช่น อยากมีเงิน อยากทำธุรกิจ อยากทานอาหาร และอยากผอม ซึ่งเป็นการกระทำและความคิดที่ควบคุมด้วยสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortex) ที่มีความเป็นเหตุผลและสามารถอธิบายออกมาด้วยคำพูดได้

“How” หรือ “อย่างไร” คือการขยายความการกระทำชั้นนอกหรือ “What” อีกที เช่น ฉันอยากมีเงินเยอะๆ และอยากทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการกระทำและความคิดส่วนนี้จะควบคุมด้วยสมองส่วนลิมบริก (Limbric) จึงมีอารมณ์และความรู้สึกมาปะปนด้วย แต่ชั้นนี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเติมเต็มความต้องการในชีวิตของเรา

“Why” หรือ “ทำไม” คือชั้นที่สำคัญที่สุด และเป็นตัวกำหนดการกระทำของชั้นนอกทั้งหมด ซึ่ง “Why” อาจเป็นได้ทั้งความเชื่อ คุณค่า แรงบันดาลใจและจุดหมายชีวิตของเราเอง โดยความคิดในชั้นนี้ควบคุมด้วยสมองส่วนลิมบริก (Limbric) หรืออารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับชั้น “How” แต่ต่างกันตรงที่เราไม่สามารถอธิบายความคิดในชั้นนี้ออกมาเป็นคำพูดได้อย่างชัดเจน ซึ่งคนที่มีแรงบันดาลใจมหาศาลก็คือคนที่รู้ “Why” ของตนเองเป็นอย่างดี

หากเชื่อมโยงกับสิ่งที่คาร์ล ยุง (Carl Jung) กล่าวถึง ชั้น “Why” ก็คือชั้นที่จะช่วยตอบเราได้ว่า สิ่งที่มีความหมายและคู่ควรกับเวลาของเรามากที่สุดคืออะไร ถ้าเราเป็นแม่ซึ่งทำงานหนักเพื่อหาเงินอยู่ทุกวัน “Why” ที่ทำให้เรายังคงทำงานหนักต่อไป อาจจะเป็นเพราะต้องการให้ลูกสุขสบาย หรือถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องการขายคอมพิวเตอร์ “Why” ของเราอาจไม่ใช่เพียงเพื่อให้มีผลกำไร แต่เพื่อให้บริษัทได้สร้างนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ดังนั้นในขณะที่เราสับสน อาจต้องลองเริ่มตั้งคำถาม “Why” กับเป้าหมายหรือการกระทำที่แล้วมาของเรา ย้อนคำถามและขุดลึกไปทีละคำตอบเรื่อยๆ จนกว่าจะเริ่มเข้าใจและค้นพบตนเองมากขึ้นว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดและคู่ควรกับเวลาของเรามากที่สุดคืออะไรกันแน่?

เมื่อเราได้ยืนอยู่บนทางแยกอีกครั้ง คำตอบของ “Why” จึงจะเป็นเข็มทิศที่ทำให้เรารู้ว่าหลังจากนี้เราต้องเลือกไปทางไหนต่อ

แล้ว “Why” ที่แท้จริงของเราเป็นอะไรได้บ้าง?

“Why” ของเราไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งในบางจังหวะเวลาของชีวิต เราก็อาจพบว่า “Why” ของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างไรก็ตามในบทความ Finding Direction When You’re Feeling Lost บนเว็บไซต์ Harvard Business Review ก็ได้กล่าวถึง 5 เหตุผลหลักที่ทำให้เรารู้สึกชีวิตมี “ความหมาย” ไม่แน่ว่า แม้กาลเวลาหรือจังหวะชีวิตจะทำให้เราเปลี่ยนไปมากขนาดไหน “Why” ของเราก็น่าจะยังวนเวียนอยู่ใน 5 เรื่องนี้ นั่นคือ

1. เรารู้สึกว่า ตนเองเป็นที่ต้องการ (Belonging)

“Why” ของบางคนอาจเป็นการได้มีชีวิตอยู่เพื่อรักและดูแลคนที่สำคัญ อาจเป็นทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหรือคนรัก และอาจเพราะมนุษย์เราคือสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ สิ่งที่จะทำให้เราสุขและทุกข์มากที่สุดจึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ดังนั้นหากเราได้เจอความสัมพันธ์หรือสังคมที่รู้สึกว่า ตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งและเป็นที่ต้องการของคนอื่น พยายามรักษาความสัมพันธ์นั้นเอาไว้ให้ดี

2. เรารู้สึกว่า ชีวิตมีจุดมุ่งหมาย (Purpose)

“Why” ของบางคนอาจเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “เราเกิดมาเพื่ออะไรกันแน่” หรือ “เราต้องไปทางไหนต่อ” มนุษย์น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่รู้จักความตายและรู้จักการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของตนเอง ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกไร้ทิศทางและมองภาพในอนาคตของตนเองไม่ชัดเจน แม้จะมีพร้อมทั้งปัจจัย 4 แต่เราก็ยังไม่รู้สึกเติมเต็มอยู่ดีจนกว่าจะค้นพบเป้าหมายของตนเอง

Advertisements

3. เรารู้สึกว่า ตนเองมีความสามารถ (Competence)

“Why” ของบางคนอาจมาจากความภาคภูมิใจที่ได้เห็นความสามารถของตนเองผ่านสิ่งที่ตนเองทำ เราอาจผูกติดพรสวรรค์ ความเก่งกาจและความภาคภูมิใจเข้ากับตัวตนของเราเอง เพื่อให้มีความมั่นใจในการดำรงชีวิตต่อ และไม่เพียงเท่านั้นการที่เรายิ่งเก่งในสิ่งที่ตัวเองทำ ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกพอใจกับชีวิตและเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้นเท่านั้นด้วย

4. เรารู้สึกว่า เราเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง (Control)

“Why” ของบางคนอาจยึดโยงกับความเป็นอิสระ และการได้กำหนดชีวิตด้วยตนเอง เหตุผลนี้ยังใช้อธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงรู้สึกหมดไฟและไม่มีความสุขเพราะงานที่เราไร้อำนาจตัดสินใจ หรือต้องอยู่ในองค์กรที่กฎระเบียบเคร่งครัดจนน่าอึดอัด ซึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นหุ่นยนต์ทำตามคำสั่ง และยังเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราไม่มีความสุขเมื่อทำตามความฝันของคนอื่น ซื้อของตามคนอื่น เปลี่ยนแปลงตนเองตามคนอื่น ซึ่งนั่นเพราะความตั้งใจเดิมไม่ได้มาจากตนเองตั้งแต่แรก

5. เรารู้สึกว่า เราได้ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัวและมอบคุณค่าให้แก่ส่วนรวม (Transcendence)

“Why” ของบางคนอาจเป็นความสุขที่มาจากการได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือคนอื่น หรือการแบ่งปันคุณค่าบางอย่างให้กับโลกใบนี้โดยไม่นึกถึงผลประโยชน์ของตนเอง ดั่งสุภาษิตกรีกโบราณที่กล่าวว่า “สังคมจะยิ่งใหญ่ขึ้นเมื่อคนชราปลูกต้นไม้ แม้รู้ว่าตนเองจะไม่มีวันได้นั่งพักอยู่ใต้ร่มเงาของมัน”

ในวันที่เราตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่างเปล่า และใจเต็มไปด้วยความกังวล เราอาจรู้สึกเกรงกลัวเมื่อตนเองกำลังจะหลงทาง ทว่า “การหลงทาง” ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเช่นกัน เพราะเราจะไม่มีทางรู้เลยว่า ทางที่เดินอยู่ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” จนกว่าเราจะเดินมาหยุดอยู่ที่หน้าทางแยก ดังนั้นโปรดใช้เวลานั้นตั้งคำถามให้เต็มที่ ยืนหาคำตอบจนกว่าจะเจอ “Why” ที่เราพอใจ ณ ตอนนั้นจริงๆ

อ้างอิง
– Start with why — how great leaders inspire action: Simon Sinek – https://bit.ly/3T55gEd
– Finding Direction When You’re Feeling Lost: Manfred F.R. Kets de Vries – https://bit.ly/4bHYTy2
– Carl Jung – How to Find Your Purpose: Freedom in Thought – https://bit.ly/4bHiMoX
– Golden Circle model: Simon Sinek’s theory of value proposition ‘start with why’: Dave Chaffey – https://bit.ly/4bMoztc

#inspiration
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า