PSYCHOLOGYworklifeใจไปแต่กายยังต้องอยู่ อยากลาออกแทบตาย แต่ก็ทำไม่ได้

ใจไปแต่กายยังต้องอยู่ อยากลาออกแทบตาย แต่ก็ทำไม่ได้

“ลาที่ดีคือลาออก” ประโยคขำขันที่ดูเหมือนจะเป็นการแซวเล่น แต่ความจริงแล้วกลับแฝงไปด้วยความเจ็บปวดของคนทำงาน กับความจริงที่ว่าแม้ว่ากายจะเหนื่อย ใจจะล้าเพียงใดก็ไม่สามารถลาออกได้ง่ายๆ อย่าที่คิด ลำพังแค่การลาหยุดสำหรับบางคนยังเป็นเรื่องยาก ลาออกยิ่งไม่ต้องพูดถึง

วิกฤตเศรษฐกิจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนทำงานตัดสินใจจะอยู่ต่อหรือลาออก ปกติแล้วภายใต้ภาวะตึงเครียดทางการเงิน งานประจำจะกลายมาเป็นโอเอซิสกลางทะเลทราย ผู้คนก็มักจะกอดงานที่ทำอยู่ไว้แน่นเพื่อเป็นหลักประกันท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าจะสามารถชักสายป่านเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ถึงเมื่อไร

ยกตัวอย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 (พ.ศ. 2551) มีตำแหน่งงานว่างและอัตราการลาออกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการลาออกของคนทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทว่าหลังยุคโควิดระบาดเป็นต้นมา แนวทางขององค์กรและพฤติกรรมของคนทำงานก็เปลี่ยนไป แม้ว่าทั่วโลกจะเกิดภาวะเงินเฟ้อจนค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ความต้องการลาออกกลับไม่ลดต่ำลงอย่างที่เคยเป็นมา

ผลสำรวจพนักงานทั่วโลกกว่า 53,912 ของ PwC เมื่อกลางปี 2023 ที่ผ่านมาพบว่า คนทำงานกว่า 26% มีความตั้งใจที่จะลาออกจากงานภายในหนึ่งปี เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจของปีที่แล้วกว่า 7% (จากเดิม 19%) โดยสาเหตุมาจากการทำงานหนักเกินไป 44% ติดขัดในการชำระบิลประจำเดือนอีกกว่า 38%

นอกจากนี้พิษเศรษฐกิจยังส่งผลให้ผู้คนมีเงินออมน้อยลงหรือแทบไม่มีเลยจนเกิดเป็นแรงผลักดันให้คนทำงานรู้สึกว่าต้องโยกย้ายงานหรือออกจากงานประจำที่เงินเดือนไม่ได้ขึ้นขนานไปกับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อมุ่งไปหาองค์กรที่สามารถสร้างความมั่นคงและผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อได้มากกว่า

อีกปัจจัยที่ส่งผลให้ความต้องการลาออกพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ คือตำแหน่งงานว่างที่แม้จะลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงมีมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในสหรัฐอเมริกามีงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอีกเกือบแตะห้าแสนตำแหน่ง เรียกว่าเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดของปี 2023 เลยก็ว่าได้

การลาออกเพื่อมองหาโอกาสที่ดีกว่ากลายเป็นเทรนด์ของคนทำงานที่ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะไปทำให้สถานการณ์การลาออกครั้งใหญ่หรือ ‘The Great Resignation’ แย่ลงกว่าที่เป็นหรือไม่ ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าคนทำงานทุกคนจะสามารถลาออกเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับตนเองได้ดั่งใจนึก

แม้วิกฤตค่าครองชีพจะสร้างความเคลื่อนไหวให้กับคนทำงานบางกลุ่มต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อด้วยเงินเดือนที่แทบไม่พอค่าใช้จ่ายแต่ได้ความมั่นคง หรือจะโยกย้ายงานเพื่อปรับฐานะทางการเงินให้เพียงพอต่อการใช้สอน ทว่ายังมีคนทำงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถ ‘เลือก’ อย่างใดอย่างหนึ่งได้เลย

เนื่องจากตลาดแรงงานนั้นมีปัจจัยมากกว่าที่คิด คนทำงานบางกลุ่มจึงมีเพียง ‘ข้อจำกัด’ ที่ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจลาออกได้แม้ว่าจะต้องทำงานท่ามกลางภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นและเงินเดือนที่หยุดนิ่ง โดยข้อจำกัดที่สังเกตเห็นได้ชัดมีสองประการ ได้แก่

Advertisements

1. ข้อจำกัดด้านตลาดแรงงาน

เพราะการหางานแต่ละครั้งไม่ใช่เพียงนึกอยากจะหาแล้วจะเจองานใช่เลยทันที แต่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายอย่าง อย่างแรกเลยนั่นคือ ‘มีงานว่างหรือไม่’ แม้ว่าตลาดแรงงานจะเปิดตำแหน่งว่างมากมายแต่หากงานเหล่านั้นไม่มีตำแหน่งที่ต้องการก็เทียบเท่ากับไม่มี

นอกจากต้องพิจารณาว่าจะมีงานตำแหน่งที่ต้องการว่างหรือไม่แล้ว ความสามารถในการเข้าถึงตำแหน่งว่างเหล่านั้นก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัด กล่าวคือคนบางกลุ่มอาจไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีมากมายที่ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มหางานต่างๆ หรือบางคนก็อาจจะไม่สามารถแบ่งเวลาออกมาค้นหาตำแหน่งที่ต้องการได้ เป็นต้น

เมื่อหนทางที่จะเข้าถึงตำแหน่งว่างลดลงก็เปรียบเสมือนถูกปิดกั้นการมองเห็น คนทำงานกลุ่มดังกล่าวจะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าตนเองมีทางเลือกในการโยกย้ายงานเนื่องจากไม่รู้ว่ามีตำแหน่งว่างอยู่ โอกาสในการจะยกระดับทางอาชีพก็มีน้อยกว่านั่นเอง

การพาคนที่ต้องการงานมาเจอกับงานที่ต้องการว่ายากราวกับต้องพึ่งพาพรหมลิขิตแล้ว อีกหนึ่งข้อจำกัดคือความเหมาะสมระหว่างคนทำงานกับเนื้องานนั้นๆ เพราะทั้งองค์กรและคนทำงานย่อมมีความคาดหวังต่อกันและกันแตกต่างกันไป

กล่าวคือองค์กรที่เปิดตำแหน่งที่ต้องการด้วยข้อเสนอค่าตอบแทนที่คาดหวังก็ย่อมคาดหวังทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสมต่อข้อเสนอด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ผู้สมัครทุกคนจะตรงกับความคาดหวังนั้นด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเองและสายงานที่ไม่เท่ากันนั่นเอง

Advertisements

2. ข้อจำกัดด้านการเงิน

การลาออกหรือโยกย้ายงานในอุดมคติคือการลาออกหลังจากที่ได้งานใหม่แล้ว เนื่องจากการว่างงานไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างย้ายงานหรือเป็นการลาออกมาเพื่อหางาน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ยังคงเกิดขึ้นไม่ว่าเราจะมีงานทำหรือว่างงานนั่นเอง

โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการออมเงิน คนทำงานกลุ่มหนึ่งจึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาจับจ่ายในชีวิตประจำวันและเป็นต้นทุนในการดำเนินชีวิตขณะหางานใหม่ เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดที่รั้งคนทำงานจำนวนมากไว้ออกจากการลาออกแม้ว่าใจจะจากไปนานแล้วก็ตาม

ข้อจำกัดเหล่านี้นอกจากจะทำให้การลาออกเป็นเรื่องยากแล้วนั้น ยังมีส่วนทำให้การอยู่ต่อในองค์กรนั้นๆ เป็นเรื่องยากด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะกังวลว่าการหางานใหม่เป็นเรื่องยากแล้ว ยังต้องกังวลว่าการบ่นหรือเรียกร้องค่าตอบแทนและเนื้องานที่เหมาะสมยังเป็นเรื่องยากอีกด้วย

ตลาดแรงงานก็เป็นหนึ่งในตลาดเช่นเดียวกับตลาดทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ เปรียบคนทำงานได้กับผู้ซื้อและเปรียบคนจ้างงานได้กับผู้ขาย ยิ่งผู้ซื้อมีความสามารถในการเลือกซื้อมากเท่าใด อำนาจของผู้ซื้อก็จะมากขึ้น ผู้ขายก็ต้องแข่งขันกันเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ สร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้บริโภค

กลับกันหากผู้ซื้อมีความสามารถในการเข้าถึงและเลือกซื้อสินค้าน้อย ผู้ขายก็มีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดราคาและเงื่อนไขอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรมหรือเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ตั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันสูงจนคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึง ก่อให้เกิดการกดขี่และเหลื่อมล้ำที่กว้างมากขึ้น

เช่นเดียวกันกับตลาดแรงงาน ตลาดแรงงานในอุดมคติคือการที่คนทำงานสามารถโยกย้ายไปตามองค์กรต่างๆ ได้อย่างราบรื่น หากเป็นเช่นนั้นองค์กรต่างๆ ก็จะเร่งพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร ข้อเสนอและสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อแย่งตัวบุคลากรที่มีคุณภาพตามที่ต้องการมาเป็นของตน

ทว่าข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านตลาดแรงงาน ด้านการเงิน หรือข้อจำกัดอื่นๆ กลายมาเป็นโซ่ตรวนรั้งคนทำงานเอาไว้ไม่ให้โยกย้ายไปยังที่ที่ให้โอกาสได้มากกว่า ส่งผลให้ผู้จ้างมีอำนาจเหนือในการกำหนดขอบเขตงานและค่าตอบแทน

กล่าวคือผู้จ้างบางกลุ่มใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดของคนทำงานกำหนดขอบเขตงานที่เกินกว่าหน้าที่ของตำแหน่งนั้นๆ กลับกันก็จ่ายค่าตอบแทนในระดับที่น้อยกว่าที่ควรได้เมื่อเปรียบเทียบกับการแข่งขันในตลาด กลายเป็นว่าคนทำงานต้องทำงานหนักเกินแต่กลับได้ค่าแรงที่ไม่เหมาะสม

แม้คนทำงานจะต้องพบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรมมากแค่ไหนแต่ก้ไม่สามารถเรียกร้องให้องค์กรเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมหรือจำกัดขอบเขตงานให้น้อยลงได้เพราะกังวลว่าบริษัทจะ ‘จ้างคนอื่น’ ที่สามารถยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทและตนเองจะต้องว่างงานนั่นเอง

แน่นอนว่าการผูกขาดทางอำนาจในตลาดแรงงานเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขผ่านตัวบทกฎหมายแรงงานเป็นหลัก แต่ระหว่างที่รอให้ภาคส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงนั้น ในฐานะคนทำงานสามารถทำอะไรเพื่อตนเองได้บ้างขณะที่ต้องทนอยู่ในองค์กรที่เราหมดใจ?

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ข้อจำกัดล่ามรั้งเราไว้ให้ทำงานต่อไปในองค์กรที่เราหมดใจ ถึงอย่างนั้นชีวิตก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป คำถามคือแล้วจะเดินหน้าต่อท่ามกลางสถานการณ์นี้อย่างไรดี? วันนี้ Mission To The Moon มีทางออกดีๆ จาก Harvard Business Review มาฝากกัน

1. ปรับเปลี่ยนมุมมองต่องานที่ทำ

หลายครั้งเราก็เลือกเส้นทางชีวิตให้เป็นแบบที่ต้องการไม่ได้ แทนที่จะมองว่างานคือสิ่งที่เราทำเพื่อค่าตอบแทนในการดำรงชีวิต หรืองานคือเป้าหมายชีวิตในระยะยาวเพียงอย่างเดียว การปรับมุมมองมามองหาว่างานที่เราทำสามารถสร้างหรือมอบคุณค่าอะไรให้กับโลกในบี้บ้างจะทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่กับมันในทุกๆ วันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

มีงานศึกษาถึงอิทธิพลของมุมมองต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานพบว่า คนสองคนสามารถทำงานเดียวกันได้ แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งสองคนแตกต่างกันคือมุมมองของพวกเขาต่องานนั่นเอง ดังนั้นการปรับมุมมองเพื่อลบเลือนความคิดแง่ลบจะช่วยให้เดินต่อไปข้างหน้าในเส้นทางเดิมนั่นเอง

2. กลับมาทบทวนตนเองอีกครั้ง

การติดอยู่ในกองงานมหาศาลอาจก่อให้เกิดความเครียดและรู้สึกไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ ถึงเวลานั้นลองพักเบรกสักครู่หนึ่งแล้วทบทวนตนเองว่าในบรรดางานที่ทำอยู่นั้น อะไรกันแน่ที่ทำให้เราไม่มีความสุข และอะไรบ้างที่สามารถสร้างความสุขให้เราได้

การแตกรายละเอียดองค์ประกอบที่ส่งผลกระทบกับตัวเราจะทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าต้องรับมือกับต้นเหตุของความสุขและการไม่มีความสุขนั้นอย่างไร เช่น การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ไม่มีความสุขและพยายามเอาตัวเองเข้าไปหางานหรือตัวแปรที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เรามากขึ้น เป็นต้น

3. ออกแบบชีวิตการทำงานใหม่

หลังจากที่ปรับมุมมองและทบทวนตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระบวนการสุดท้ายคือการออกแบบกิจวัตรการทำงานที่เหมาะสมกับคุณค่าที่เรายึดถือ ความต้องการและจุดแข็งของเรา ซึ่งผลงานที่ออกแบบใหม่นี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการหางานใหม่ให้เหมาะสมกับข้อจำกัดและความต้องการของตนเองอีกด้วย

แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ แต่การเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปตามสถานการณ์ก็เป็นหนึ่งในทักษะแห่งโลกยุคใหม่ที่ควรมีติดตัวไว้ สร้างความยืดหยุ่นทางใจให้เราสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขนั่นเอง


ที่มา
– Worker Mobility in Practice: Is Quitting a Right, or a Luxury?: Kathryn Anne Edwards, SSRN – https://bit.ly/4aArhBI
– How the cost-of-living crisis is fuelling job quits: Alex Christian, BBC – https://bbc.in/3RCm43D
– Why inflation could drive the next quitting wave: Jennifer Liu, CNBC Make It – https://cnb.cx/3TNbgCB
– When You’re Stuck in a Job You Can’t Quit: Neri Karra Sillaman, Harvard Business Review – https://bit.ly/41HMTry

#worklife
#workculture
#quittingprivilage
#thegreatresignation
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า