ในโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้ การมีทักษะ “เท่าเดิม” จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ในขณะที่หลายบริษัทประกาศเลิกจ้างพนักงานมหาศาล แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ใช่รายต่อไป?
แม้ว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะในปีต่อไปมีแนวโน้มว่าอัตราการว่างงานจะสูงขึ้น ตลาดหุ้นจะยังคงร่วงอย่างต่อเนื่อง ราคาบ้านก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นวงจร ตั้งแต่เงินเฟ้อทำให้เศรษฐกิจหดตัว อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ลดค่าใช้จ่าย จนสุดท้ายก็ก่อให้เกิดการเลิกจ้างพนักงาน
ยิ่งหยุดพัฒนา ยิ่งเสี่ยงตกงาน
ในช่วงที่ผ่านมา โลกการทำงานมีเทรนด์มากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) การลาออกแบบเงียบๆ (Quiet Quitting) และการไล่ออกแบบเงียบๆ (Quiet Firing) ทำให้ทั้งพนักงานและองค์กรต่างก็เผชิญความเสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ แต่สิ่งที่ทำให้พนักงานเริ่มกังวลมากขึ้นในช่วงนี้คือ “การโดนเลิกจ้าง” (Layoff) เนื่องจากหลายบริษัทได้ออกมาประกาศเลิกจ้างคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Meta, Twitter, Disney และอื่นๆ อีกมากมาย
และแน่นอนว่าคนที่เสี่ยงโดนเลิกจ้างมากที่สุดคือ “คนที่ไม่พร้อมต่อการทำงานในอนาคต” จากการศึกษาคน 3,000 คน โดย Amazon และ Workplace Intelligence พบว่า พนักงานกว่า 70% ไม่พร้อมต่อการทำงานในอนาคต นอกจากนี้ยังพบอีกว่า พนักงานกว่า 80% กลัวว่าตัวเองขาดทักษะ อีก 70% กลัวว่าตัวเองขาดการศึกษาในการพัฒนาอาชีพ และ 58% เชื่อว่าทักษะที่ตัวเองมีอยู่ล้าสมัยไปตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19
เพิ่มมูลค่าตัวเองในที่ทำงานด้วย “ทักษะ”
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า มีพนักงานหลายคนที่ยังไม่พร้อมก้าวเข้าสู่โลกการทำงานในอนาคต แต่ถ้ามัวแต่กลัวก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร สิ่งที่เราควรทำคือ ทำให้ตัวเองเป็นที่ต้องการสำหรับบริษัทต่อไป ด้วย “การพัฒนาทักษะ” ซึ่งทักษะที่ช่วยยกระดับความสามารถในการทำงานประกอบไปด้วยทักษะทางธุรกิจ ทักษะทางเทคนิค และทักษะส่วนบุคคล ดังต่อไปนี้
1. ทักษะทางธุรกิจ (Business Skills)
ทักษะทางธุรกิจเป็นทักษะที่ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคและองค์กรได้ นั่นหมายความว่ายิ่งเรามีทักษะเหล่านี้ ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมความสำเร็จของบริษัทได้ อีกทั้งทักษะนี้ยังเสริมประโยชน์ให้กับเราหลายๆ อย่าง เช่น ทำให้มีความรับผิดชอบในการทำงานมากขึ้น ได้รับความสนใจจากหัวหน้าได้มากขึ้น จนอาจทำให้มีโอกาสได้เลื่อนขั้นในอนาคต
บัญชีและการเงิน (Finance & Accounting)
ทักษะนี้เป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องจัดการเรื่องการเงิน เช่น เงินเดือนพนักงานและการเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน ความเสี่ยงในการลงทุน และการจัดสรรงบประมาณของบริษัทด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากบริษัทจะต้องการตัวคนที่มีทักษะนี้
ความเป็นผู้นำและการจัดการ (Leadership & Management)
คนที่มีความเป็นผู้นำสูงมีแนวโน้มที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น ผู้นำที่ดีจะสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและรวดเร็ว สิ่งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทีมงาน และลดความเสียหายจากสถานการณ์นั้นๆ ได้ ในทางกลับกัน ผู้นำที่ไม่ดีจะทำให้ธุรกิจต้องสูญเสียเงินไปอย่างสิ้นเปลือง ทักษะความเป็นผู้นำจึงยังเป็นที่ต้องการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจยุคปัจจุบัน
การตลาด (Marketing)
ทักษะการตลาดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะเป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงและรู้จักผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้ การลงทุนในทักษะทางการตลาดจึงถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะยิ่งลูกค้ารู้จักผลิตภัณฑ์ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการขาย
การจัดการโปรเจกต์ (Project Management)
การทำงานในโปรเจกต์หนึ่งมักจะมีกำหนดเวลา งบประมาณ และเป้าหมายเสมอ ทักษะนี้จะช่วยให้เราสามารถจัดการงานประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถติดตามความคืบหน้าโดยรวมของโปรเจกต์ได้ หากปราศจากความรู้และทักษะในด้านนี้จะทำให้การทำงานร่วมกันเป็นเรื่องยากลำบาก
การขาย (Sales)
“ลูกค้า” ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทยังคงก้าวต่อไปได้ องค์กรจึงต้องการผู้ที่มีความโดดเด่นเรื่องการขาย เพื่อรักษาและขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น
การจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resources)
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า “การสรรหาคนเก่ง” เป็นเรื่องท้าทายในตลาดแรงงาน ณ ขณะนี้ ดังนั้น องค์กรจึงต้องการคนที่มีทักษะด้านทรัพยากรบุคคลเก่งๆ เพื่อค้นหาและรักษาพนักงานดีๆ ที่ตรงกับความต้องการเอาไว้ให้ได้
2. ทักษะทางเทคนิค (Technical Skills)
ทักษะทางเทคนิค (Technical Skills) หรือสามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “Hard Skill” เป็นทักษะหรือความสามารถที่ใช้ในการทำงานเฉพาะทาง การมีชุดทักษะทางเทคนิค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทักษะด้านเทคโนโลยี” จะช่วยให้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากขึ้น เราสามารถเพิ่มข้อได้เปรียบทางการแข่งขันได้โดยการเพิ่มชุดทักษะทางด้านเทคนิคดังต่อไปนี้
คลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing)
หลายบริษัทหันมาใช้ระบบคลาวด์กันมากขึ้น เพราะมีความปลอดภัยสูง ความต้องการทักษะนี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science)
“วิทยาศาสตร์ข้อมูล” เป็นทักษะที่หลายบริษัทต้องการ เพราะเป็นทักษะที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการข้อมูล อีกทั้งยังเกี่ยวกับการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขโจทย์ต่างๆ ของบริษัทด้วย เช่น การนำยอดขายมาวิเคราะห์ดูว่ามีข้อมูลเชิงลึกอะไรที่น่าสนใจบ้าง เพื่อที่จะได้หากลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าต่อไป
การออกแบบ (Design)
ในปัจจุบันการออกแบบเว็บไซต์ (UX/UI) มีความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะ 42% ของผู้บริโภคบอกว่าจะกดออกจากเว็บไซต์ที่มีฟังก์ชันการทำงานไม่ดี และ 50% รู้จักแบรนด์จากเว็บไซต์ การออกแบบจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงลูกค้า
การพัฒนาโปรแกรม (Development)
ปัจจุบันองค์กรทั้งหลายต่างก็นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร ซึ่งเทคโนโลยีเกือบทั้งหมดถูกสร้างมาจากการเขียนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ ทักษะการพัฒนาโปรแกรมจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย Python เป็นทักษะด้านการพัฒนาโปรแกรมที่ใช้มากที่สุด และยังเป็นภาษาที่เหมาะกับคนที่เพิ่งเริ่มเขียนโปรแกรมด้วย หากใครอยากเริ่มพัฒนาทักษะด้านนี้จึงอยากแนะนำให้เริ่มจาก Python ก่อน
การปฏิบัติการด้านไอที (IT Operations)
ฝ่ายไอทีถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของบริษัท เพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลายอย่าง ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยของลูกค้า ใครมีทักษะนี้ได้เปรียบแน่นอน เพราะตอนนี้หลายบริษัท ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ ก็ต่างเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์กันอยู่
การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Office Productivity)
แน่นอนว่าเราทุกคนกำลังอยู่ในยุคดิจิทัล ทำให้จะต้องใช้โปรแกรมต่างๆ ในการทำงาน เพราะโปรแกรมเหล่านี้ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น คนทำงานจึงควรมีทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เช่น Excel, PowerPoint, Microsoft Word, G Suite, และอื่นๆ
3. ทักษะส่วนบุคคล (Personal Skill)
สำหรับใครที่เคยทำงานร่วมกับคนอื่นมาจะรู้ว่าเพื่อนร่วมงานมีหลายประเภท ตั้งแต่คนที่ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี ไปจนถึงคนที่พึ่งพาไม่ได้ ดังนั้น พนักงานคนใดที่มีทักษะส่วนบุคคลที่แข็งแกร่ง พนักงานคนนั้นย่อมเป็นที่ต้องการมากกว่า เนื่องจากคนเหล่านี้มีส่วนสนับสนุนวัฒนธรรมในที่ทำงานให้เป็นไปในเชิงบวก อีกทั้งยังมีความน่าเชื่อถือ และมีโอกาสทำงานได้สำเร็จลุล่วงมากกว่า มาดูกันว่าเราควรพัฒนาทักษะส่วนบุคคลอะไรบ้าง
การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
องค์กรต้องการพนักงานที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์และมีวิจารณญาณ นักคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นที่ต้องการในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่สายงานของการดูแลสุขภาพ วิศวกรรม ไปจนถึงภาคการศึกษา
การแก้ปัญหา (Problem Solving)
“ปัญหา” เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม แต่สิ่งที่พนักงานควรมีคือ “ทักษะในการแก้ปัญหา” โดยเฉพาะในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูงและความท้าทายก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้องค์กรให้ความสำคัญกับคนที่มีทักษะนี้มากกว่าที่เคย เพราะคนเหล่านี้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
ความน่าเชื่อถือและความยืดหยุ่น (Flexibility & Dependability)
พนักงานที่มีความยืดหยุ่นจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อล้มก็สามารถที่จะลุกขึ้นตั้งหลักใหม่ได้โดยใช้เวลาไม่นาน ทักษะนี้จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากในสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เช่นนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills)
ทักษะนี้เกี่ยวข้องกับวิธีการสื่อสารและการพูดคุยกับคนรอบข้าง ซึ่งบริษัทต่างก็ต้องการพนักงานที่สามารถเข้ากันได้กับตัวเอง เพื่อนร่วมงาน รวมถึงลูกค้าของบริษัท เพื่อส่งเสริมให้การทำงานร่วมกันนั้นมีประสิทธิภาพ จนสามารถนำองค์กรไปสู่จุดหมาย
แรงจูงใจภายใน (Intrinsically Motivated)
หลายองค์กรต่างก็กำลังแสวงหาคนที่มองโลกในแง่บวกและคนที่หลงใหลในงานที่ตัวเองทำจริงๆ เพราะคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมเรียนรู้จากความผิดพลาดและความล้มเหลวของตัวเอง
ภาษาต่างประเทศ (English Language)
ในปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติเกิดขึ้นมากมาย หรือแม้แต่บริษัทไทยเองก็มีลูกค้าต่างชาติ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เก่งภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ มักจะได้รับโอกาสในการทำงานมากกว่าคนที่ไม่ได้ภาษา
นอกจากเตรียมทักษะและความสามารถแล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้วย เพราะทุกสิ่งในโลกล้วนไม่แน่นอน เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะโดนเลิกจ้างหรือไม่ แต่เราสามารถเตรียมตัวรับมือเรื่อง “การเงิน” ไว้ก่อนได้ เช่น การประหยัดเงินให้ได้มากที่สุดและการสร้างกองทุนฉุกเฉิน เพราะหากตกงานแล้วยังใช้จ่ายเกินตัวก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการเงินหนักกว่าเดิม จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาได้
ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ไม่มีใครสามารถช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ หากไม่อยากเสี่ยงตกงาน อย่าลืมพัฒนาทักษะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ และตามทันกระแสที่เปลี่ยนไปได้
แปลและเรียบเรียง
– 2023 Workplace Learning Trends Report : Udemy – http://bit.ly/3hGoWOq
– 3 Steps That Will Save Your Job In A Recession : Ashley Stahl, Forbes – http://bit.ly/3UH6Drm
– 6 Business Skills You Need (And How to Improve Them) : Jamie Birt, Indeed – http://bit.ly/3hzY3vH
– 70% Aren’t Prepared For The Future Of Work: Demands For Upskilling Surge : Tracy Brower, Forbes – http://bit.ly/3AcOQQk
– 7 Top Technical Skills to Master in 2023 : Simplilearn – http://bit.ly/3EtNhjt
– Important Personal Skills That Employers Value : Alison Doyle, The Balance – http://bit.ly/3USbC7Z
#worklife
#reskill
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast