NEWSTrendsความสุขของเราคือสิ่งฟุ่มเฟือย? ทำไมตั๋วคอนเสิร์ตในประเทศไทยถึงมีราคา "แพง" เสมอ

ความสุขของเราคือสิ่งฟุ่มเฟือย? ทำไมตั๋วคอนเสิร์ตในประเทศไทยถึงมีราคา “แพง” เสมอ

เชื่อว่าปี 2024 คงเป็นปีที่เหล่าแฟนเพลงต้องนั่งกาปฏิทินรอช่วงเวลาแห่งความสุขของตัวเอง เพราะมีทั้งการแสดงคอนเสิร์ตและแฟนมีตของศิลปินไทย และศิลปินต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเกาหลี ศิลปินจีน รวมถึงศิลปินเพลงป๊อปจากตะวันตกมาสร้างความบันเทิงให้แฟนๆ ตลอดทั้งปี 2024

แม้ว่าค่าใช้จ่ายของการไปดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้งจะไม่ใช่จำนวนเงินที่น้อยๆ ทว่าเมื่อเทียบกับความสุขทางใจที่ได้รับกลับมา อีกทั้งนานๆ ทีเราถึงจะมีโอกาสพบเจอกับศิลปินที่ชอบ แฟนเพลงหลายคนก็มองว่าจำนวนเงินที่จ่ายไปนั้นนับว่าคุ้มค่าแล้ว และยินดีที่จะจ่าย แต่ก็ยังมีแฟนคลับบางส่วนมองว่าค่าใช้จ่ายที่เราเสียไปกับการดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้งมันสูงเกินไปหรือเปล่า

แล้วอะไรทำให้คอนเสิร์ตในประเทศไทยถึง ‘แพงเกินไป’ สำหรับคนไทยได้ขนาดนี้?

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเดี๋ยวนี้งานอดิเรก ไม่ว่าจะเป็นค่าหนังสือ ค่าตั๋วโรงหนัง ค่าเวิร์กช็อปกิจกรรมยามว่างประเภทต่างๆ รวมถึงค่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงในตลาดถึงมีราคาแพงมาก ถึงขนาดที่ว่าต่อให้เราเลือกตัวเลือกที่ถูกที่สุด แต่ก็ยังมีหลายคนรู้สึกว่าใช้เวลายามว่างไปกับสิ่งเหล่านั้นได้ไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไปอยู่ดี

คอนเสิร์ตเองก็เป็นความบันเทิงประเภทการแสดงสดที่มีต้นทุนสูง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตของศิลปินต่างชาติที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคอนเสิร์ตของศิลปินไทย ทั้งค่าตัวศิลปิน (Artist Fee) ค่าโปรดักชันคอนเสิร์ต (Production Fee) ค่าทีมงานดูแลศิลปินและดูแลงานคอนเสิร์ต (Staff Team) ค่าที่พักและการดูแลศิลปินและทีมงานของศิลปิน (Hospitality Fee) ค่าลิขสิทธิ์ (Copyright Fee) และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ถูกรวมอยู่ในราคาตั๋วคอนเสิร์ตที่แฟนคลับต้องจ่าย แต่ใช่ว่าแฟนคลับหนึ่งคนจะมีค่าใช้จ่ายแค่ ‘ตั๋วคอนเสิร์ต’ เพียงเท่านั้น มาดูกันว่าแฟนคลับส่วนใหญ่ต้องจ่ายอะไรบ้างเพื่อคอนเสิร์ตหนึ่งครั้ง

[ ] ค่าตั๋วคอนเสิร์ต
[ ] ค่าเดินทาง
[ ] ค่าที่พัก (ในกรณีที่เดินทางจากต่างจังหวัด หรือต้องเดินทางเพื่อไปคอนเสิร์ตในต่างประเทศ)

ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันในกลุ่มแฟนคลับที่สูงมากๆ เนื่องจากเงื่อนไขการกดบัตรที่ซับซ้อน การเปิดรอบกดบัตรของ Membership กับรอบปกติ และการเปิดให้ซื้อบัตรได้ทั้งคนในประเทศและคนต่างประเทศ ทำให้แฟนคลับส่วนใหญ่เลือกจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อสมัคร Membership และมีสิทธิ์ได้กดบัตรก่อนรอบปกติ

ยังไม่นับรวมธุรกิจการจ้างกดบัตรที่เริ่มขยับขยายมากขึ้น ทำให้เหล่าแฟนคลับต้องแข่งขันมากขึ้นไปอีก เพราะคนที่มีเงินมากกว่าก็จะเลือกจ้างกดบัตรที่รับประกันได้มากกว่าการกดบัตรเอง แต่นั่นก็ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเพิ่มขึ้นไปอีก

ทีนี้ลองมาดูกันว่าราคาตั๋วระหว่างคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในประเทศไทย กับคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในต่างประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างไร? จากบทความ Spotlight ของสื่ออมรินทร์ได้รายงานตัวเลขราคาตั๋วงาน ‘THE BORN PINK WORLD TOUR’ คอนเสิร์ตของวง Blackpink ดังนี้

[ ] ราคาตั๋วคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 1,200-9,600 บาท
[ ] ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยคือ 354 บาท
[ ] คนไทยต้องทำงานอย่างน้อย 27 วันถึงจะสามารถซื้อตั๋วคอนเสิร์ตราคาที่แพงที่สุดได้

[ ] ราคาตั๋วคอนเสิร์ตที่กรุงโซล อยู่ที่ประมาณ 4,000-6,000 บาท
[ ] ค่าแรงขั้นต่ำของคนเกาหลีอยู่ที่ประมาณ 76,960 วอน หรือประมาณ 4,600 บาท
[ ] คนเกาหลีทำงานแค่ 2 วันก็สามารถซื้อตั๋วคอนเสิร์ตในราคาที่แพงที่สุดได้

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังมีศูนย์กลางความบันเทิง และ Music Hub อยู่แค่ในกรุงเทพฯ ที่เดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ซึ่งมีความบันเทิงที่กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ และมีราคาที่สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้คนเกาหลีสามารถเข้าถึงความสุข และงานอดิเรกได้ง่ายกว่าคนไทย

ยังไม่นับคอนเสิร์ตของศิลปินตะวันตกซึ่งมีตลาดแฟนคลับที่กว้าง และมีการจัดคอนเสิร์ตถี่น้อยกว่าศิลปินเกาหลีมากนัก อีกทั้งในบางครั้งการทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชียของศิลปินตะวันตกยังไม่ครอบคลุมประเทศไทย แฟนเพลงบางส่วนจึงจำเป็นต้องบินไปต่างประเทศเพื่อรับชมคอนเสิร์ตจากนักร้องคนโปรดด้วยเงินที่สูงกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบผลงานของศิลปินที่หลากหลายรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อความสุขได้

Advertisements
Advertisements

แฟนคลับหลายคนกำลังตั้งคำถามว่าการไปดูราคาที่สูงเกินไป และคาดหวังว่าจะมีการตั้งเพดานราคา หรือมีมาตรการเพื่อบรรเทาภาระของผู้บริโภคบ้าง แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าความคาดหวังเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเต็มที่นัก เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าสูง และมีตลาดรองรับที่ใหญ่มาก ยิ่งไปกว่านั้น คอนเสิร์ตก็ยังถูกจัดว่าเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ อีกด้วย

สินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury Goods) หรือสินค้าที่ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แม้ไม่มีใช้ก็ไม่กระทบชีวิตประจำวัน แล้วยังเป็นสินค้าที่ยืดหยุ่นไปตามรายได้อีกด้วย กล่าวคือยิ่งมีรายได้สูงเท่าไร ก็ยิ่งซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในราคาที่แพงขึ้นมากเท่านั้น เช่น เครื่องประดับ สกินแคร์ เครื่องสำอาง สตรีมมิงภาพยนตร์หรือเพลง อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดที่มีราคาสูง และไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ รวมถึงคอนเสิร์ตเองก็ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีราคาสูง แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเพลงยุคหลังนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เล่นกับกระแส การโปรโมตผลงานเพลง และตารางงานของศิลปินยังถูกกำหนดตามกระแสความนิยมของผู้ฟังในตลาดอีกด้วย นี่อาจทำให้แฟนคลับหลายคนรู้สึกว่าตารางงานของศิลปินดำเนินอย่างรวดเร็วเกินไป ประกาศทัวร์คอนเสิร์ตเร็วเกินไป เปิดให้กดบัตรเร็วเกินไป จนแฟนคลับบางคนต้องตัดใจเพราะเก็บเงินไม่ทัน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ผลิตอย่างผู้จัดคอนเสิร์ต ต้นสังกัด และศิลปินมีอำนาจการต่อรองเหนือผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มแฟนคลับ และสามารถที่จะกำหนดราคาตั๋ว รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การสุ่มผู้โชคดีจากยอดสั่งซื้อ การเพิ่มราคาสำหรับรอบเข้าชมช่วง Sound Check สิทธิประโยชน์ที่ผู้ซื้อแต่ละราคาจะได้จากงาน ฯลฯ

นี่จึงกลายเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “ราคาตั๋วคอนเสิร์ตเดี๋ยวนี้แพงเกินไปหรือเปล่า?” เพราะในมุมมองของแฟนคลับบางคนอาจมองว่าค่าแรงสวนทางกับค่าตั๋วคอนเสิร์ตจริงๆ ในขณะเดียวกันก็มีแฟนคลับจำนวนไม่น้อยที่มีรายได้สูงพอที่จะซื้อความสุขจากสินค้าฟุ่มเฟือย และเงินจำนวนนี้อาจคุ้มค่าพอที่จะแลกกับความสุขกับศิลปิน พร้อมกับเพลงโปรดอย่างเต็มอิ่มตลอดทั้งวัน แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องเผชิญกับความยากลำบาก และต้องเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับไปเพราะข้อกำหนดของผู้จัด ศิลปิน หรือต้นสังกัด

ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาควรได้รับจากคอนเสิร์ตที่จัดในประเทศไทย การได้กดบัตรและเข้าถึงความบันเทิงได้ก่อนแฟนคลับชาวต่างชาติที่เดินทางมา รวมถึงความใส่ใจจากบริษัทผู้จัดชาวไทยในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งเช่นกัน

สำหรับคอนเสิร์ตต่างๆ ที่กำลังจะจัดขึ้นในประเทศไทยนี้ ทางฝั่งผู้จัด ฝั่งต้นสังกัดหรือศิลปิน รวมถึงฝั่งของแฟนคลับชาวไทยสามารถสื่อสารกันเพื่อหาจุดตรงกลางที่ทุกฝ่ายจะสามารถได้ เราก็อาจจะเห็นเทศกาลดนตรีสดที่มีรสชาติสดใหม่ และมีเอกลักษณ์ความสนุกสนานแบบไทยๆ ให้เห็นจนเป็นไวรัลก็ได้


อ้างอิง
– ‘It’s an insane amount of money’: fans feel shortchanged by K-pop ticketing as idols finally hit the UK : Molly Raycraft, The Guardian – https://bit.ly/3vPG4Ji
– Live music is finally back, but K-pop fans feel let down by pricing issues : Straitstimes – https://bit.ly/4aRnGOO
– ทำความรู้จัก “สินค้าฟุ่มเฟือย” เพราะอะไรสินค้านี้ถึงขายดิบขายดี? : LINE MyShop Team – https://bit.ly/49Aik9A
– เทียบราคาบัตรคอนเสิร์ตในเกาหลี-ไทย ทำงานกี่วันได้บัตรแพงสุด? : SPOTLIGHT – https://bit.ly/3Ub907U

#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า