NEWSTrendsเด็กจบใหม่รอให้คนป้อน VS รุ่นพี่หวงความรู้ไม่สอนงาน แค่สงครามความคิดต่างวัยจริงหรือ?

เด็กจบใหม่รอให้คนป้อน VS รุ่นพี่หวงความรู้ไม่สอนงาน แค่สงครามความคิดต่างวัยจริงหรือ?

จากกรณีถกเถียงบนแพลตฟอร์ม X (เดิมชื่อ Twitter) เกี่ยวกับ “ทักษะของเด็กจบใหม่” ยุคปัจจุบันที่ถดถอยและวัฒนธรรม “การสอนงาน” ที่ไม่เพียงพอของบริษัท เกิดเป็นชนวนคำถามว่าเด็กรุ่นใหม่ทักษะน้อยลงแต่ขอมากขึ้น หรือแท้จริงแล้วบริษัทต่างหากที่เอาแต่ประเมินคนเป็นตัวเลขกำไรขาดทุนจนตัดโอกาสผู้สมัครที่มีทักษะไม่ตรงตามความคาดหวังหรือไม่ยอมลงทุนกับการฝึกทักษะพนักงานใหม่

ฟังดูแล้วอาจเป็นคำถามที่แต่ละฝ่ายต่างมีคำตอบที่ตนเองคิดว่า “ถูกต้อง” ถึงอย่างนั้น Mission To The Moon อยากชวนทุกคนหยุดความคิดและถอยออกมามองมุมกว้าง รวมถึงมองหาทางออกของข้อถกเถียงนี้ไปพร้อมกัน

สำนักข่าวจำนวนมากในปี 2023 เช่น Forbes รายงานผลสำรวจที่แสดงให้เห็นความเห็นคนทำงานจากหลายเจเนอเรชันพบว่า Gen Z เป็นเจเนอเรชันที่ทำงานด้วย ‘ยาก’ ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติในการทำงาน ไปจนถึงการชอบ ‘เคลมสิทธิ์’ ของตนเองจนส่งผลให้ภาพรวมของวัฒนธรรมองค์กรสั่นคลอน

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Gen Z กลายเป็นเจเนอเรชันที่ถูก ‘จับผิด’ เป็นพิเศษเพราะความคาดหวังของสังคมว่าคนทำงานรุ่นใหม่จะต้องมีทักษะยุคใหม่ที่ครบครันทั้ง Soft Skills และ Hard Skills โดยความคาดหวังนี้ไม่ได้มาจากมุมมองของสังคมต่อเด็กรุ่นใหม่ในฐานะ “Digital Native” เท่านั้น แต่เป็นผลมาจากการเรียกค่าตอบแทนสูง ‘เกินเหตุ’ ของคนทำงานรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าคำว่าค่าตอบแทนสูงเกินเหตุจะสามารถเข้าใจได้จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ทว่าเหตุผลสำคัญที่เพิ่มความรู้สึก “ไม่สมเหตุสมผล” ของค่าตอบแทนที่คนรุ่นใหม่ขอไม่ใช่จำนวนแต่เป็น “ทักษะพื้นฐาน” ที่บริษัทคาดหวังต่างหาก

ผลสำรวจจาก Intelligent แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ขาด Soft Skills พื้นฐาน โดยเฉพาะ “ทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม” ไม่ว่าจะเป็นการหลบตาระหว่างการสัมภาษณ์งาน การเจรจาต่อรองค่าตอบแทนไม่สมเหตุสมผลกับประสบการณ์ ความไม่เหมาะสมของภาษาและการแต่งกาย การปฏิเสธการเปิดกล้องเมื่อสัมภาษณ์ออนไลน์ และกระทั่งการนำผู้ปกครองเข้ามาร่วมการสัมภาษณ์ด้วยเช่นกัน

ปรากฏการณ์ “การวางตัว” และ “การสื่อสาร” ที่สร้างความตกใจให้กับเจเนอเรชันก่อนหน้านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพราะผลสำรวจดังกล่าวเกิดจากการสำรวจผู้นำและผู้บริหารในสหรัฐอเมริกากว่า 800 คน แสดงให้เห็นว่าภาวะถดถอยทางการสื่อสารเกิดขึ้นเป็นภาพกว้าง

Diane M. Gayeski อาจารย์วิชาการสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ จากวิทยาลัยอิธากา (Strategic Communications, Ithaca College) ให้เหตุผลว่าปรากฏการณ์นี้ต้องศึกษาจากสภาพแวดล้อมการเติบโตของคนรุ่นใหม่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เพราะช่วงเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตส่งผลให้การพัฒนาทางสังคมและอาชีพของคนรุ่นใหม่ชะงัก

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงประเทศไทยที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาส่งผลให้ความสามารถในการเข้าสังคมและทักษะการสื่อสารแต่ละคนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดอยู่แล้ว การมีโควิด-19 เข้ามายิ่งก่อให้เกิดช่องว่างทางการเรียนรู้จนปะทุมาเป็นผลลัพธ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งทัศนคติต่อการเรียนรู้ ความรู้และทักษะพื้นฐาน ไปจนถึงความสามารถในการแสวงหาทรัพยากรความรู้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตามการจะด่วนสรุปว่าคนรุ่นใหม่ไม่พัฒนาทักษะเท่าที่ควรกลับไม่เป็นความจริง ผลการสำรวจของ Workforce Confidence Survey แสดงให้เห็นว่า 41% ของคนรุ่นใหม่เลือกเข้าเรียนในห้องเรียนสดเพื่อสร้างเสริมทักษะใหม่ๆ โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่เยอะกว่าเจเนอเรชันก่อนหน้าอย่าง Gen X และเจเนอเรชันบูมเมอร์

ขณะเดียวกันเสียงจากคนรุ่นใหม่ยังชวนให้ตั้งคำถามถึงคุณภาพการศึกษาปัจจุบัน โดยผลสำรวจจาก Gartner รายงานว่า 51% ของ Gen Z กล่าวว่าสถานศึกษาไม่มีการสอนหรือเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นแต่สถาบันการศึกษาทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไป

Advertisements

ขณะที่ฝั่งหนึ่งตั้งคำถามกับคนรุ่นใหม่ว่าเรียกร้องมากเกินกว่าที่ตนมี คนรุ่นใหม่เองก็ตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ “เป็นพิษ” กล่าวคือคาดหวังให้คนรุ่นใหม่เป็นงานทุกอย่างด้วยตนเองแต่ไม่ยอมสอนงานให้เป็นกิจจะลักษณะ

ผลพวงของปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากความคาดหวังของบริษัทในการพยายามบริหารคนให้ “คุ้มค่า” โดยผลสำรวจของ Intelligent พบว่าบริษัทยอมเพิ่มผลตอบแทนและสวัสดิการให้พนักงานเจเนอเรชันเก่าที่มีประสบการณ์แล้วมากกว่าที่จะสร้างระบบฝึกทักษะพนักงานใหม่และรับคนรุ่นใหม่เข้ามาฝึกตั้งแต่ต้น

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Reverse Ageism” ซึ่งปกติแล้วการเหยียดอายุมักเกิดขึ้นกับพนักงานอายุมากเนื่องจากถูกมองว่าสมรรถภาพและประสิทธิภาพไม่เต็มที่ กลับกันการเหยียดอายุแบบย้อนกลับคือการมองว่าคนรุ่นใหม่หรือพนักงานอายุน้อยไม่มีประสิทธิภาพเท่าคนมีประสบการณ์นั่นเอง

ผลกระทบคือนอกจากคนรุ่นใหม่จะต้องแบกรับความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริงขององค์กรแล้ว คนทำงานที่มีประสบการณ์แล้วยังต้องพบกับความคลุมเครือของบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในเนื้องานอีกด้วย เนื่องจากถูกคาดหวังให้ “มีประสบการณ์” และรับผิดชอบในหลายฝ่ายร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือการ “สอนงาน” พนักงานใหม่

จากเดิมที่งานของตนเองก็มากล้นมือและคลุมเครือจนแอบสงสัยว่าคุ้มกับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่บริษัทเพิ่มให้หรือไม่ ต้องมองหลังกลับมาเป็น “ระบบฝึกพนักงานจำเป็น” ให้องค์กรอีกด้วย จึงเกิดเป็นรอยร้าวระหว่างพนักงานเก่าที่ตนเองยังแทบจะหืดขึ้นคอ กับพนักงานใหม่ที่ตนเองก็ยังจะเดินไม่แข็ง จนเกิดเป็นความบาดหมางและช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างไปมากกว่าเดิม

บทสรุปสุดท้ายแล้วปัญหานี้จะต้องแก้ไขที่ใด? แน่นอนว่าระยะสั้นคนรุ่นใหม่ยังคงต้องแบกรับความคาดหวังและหันไปพัฒนาทักษะที่ตกหล่นไปในช่วงโควิด และคนเจเนอเรชันก่อนคงต้องใช้ความใจเย็นและความเข้าใจเพื่อผ่านมรสุมที่ทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญร่วมกันไปให้ได้ แต่สุดท้ายแล้วระยะยาวยังต้องตั้งคำถามกับท่าทีของบริษัทและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการศึกษาที่ควรจะตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในเร็ววัน


ที่มา
– Despite career optimism, Gen Z workers say they’re stressed about boss expectations : Carolyn Crist, HR DIVE – https://bit.ly/3wRwwgQ
– NEARLY 4 IN 10 EMPLOYERS AVOID HIRING RECENT COLLEGE GRADS IN FAVOR OF OLDER WORKERS : Intelligent – https://bit.ly/4aejIQ8
– A majority of workers are desperate to upskill, but Gen Z is more likely to head back to the classroom : Emma Burleigh, Yahoo! Finance – https://yhoo.it/4clS2La
– 9 Future of Work Trends For 2023 : Emily Rose McRae and Peter Aykens – https://gtnr.it/4cc5JvU

#trend
#worklife
#generationgap
#onboarding
#organizationalculture
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า