ยินดีต้อนรับสู่ช่วงปีใหม่ ช่วงเวลาที่ใครๆ ต่างตื่นเต้นและกระตือรือร้นกับการจินตนาการถึงเป้าหมายที่อยากจะเติมเต็มให้สำเร็จ แค่คิดว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นคนแบบที่ตั้งใจไว้ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ตั้งปณิธาน
ปณิธานปีใหม่หรือ “New Year Resolution” ที่หลายคนคุ้นหูคือการตั้งมั่นที่จะทำบางสิ่งบางอย่างตลอดทั้งปี คลับคล้ายกับการตั้งเป้าหมายของปีนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น จะลงคอร์สออนไลน์เสริมทักษะ 3 คอร์ส จะออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง เป็นต้น
แน่นอนว่าการตั้งเป้าหมายเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการเปลี่ยนแปลง เพราะเป้าหมายจะเป็นทั้งแรงบันดาลใจ แรงผลักดัน รวมถึงจุดประสงค์ในการดำเนินชีวิตที่ขับเคลื่อนให้พัฒนาเป็นคนที่อยากเป็นได้สำเร็จด้วยดี แต่บางครั้งการผูกมัดตัวเองไว้กับคำมั่นสัญญาอาจสร้างแรงกดดันมากกว่าแรงผลักดันก็เป็นได้
ปฏิทินเปลี่ยนแต่คนยังไม่เปลี่ยน
“หลายครั้งที่สภาพจิตใจของคนเรายังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แต่เพราะวันในปฏิทินเปลี่ยนไปแล้ว เราเลยรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว” Amy Morin นักจิตบำบัดและบรรณาธิการจาก VeryWell Mind กล่าว
การต้านทานกระแสแห่งการเริ่มต้นใหม่และการเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเรื่องยาก รู้ตัวอีกทีก็พบว่าตนเองอยู่ท่ามกลางความกดดันจากการตั้งเป้าหมายตามกระแสสายธารเหล่านั้น ทั้งที่ใจจริงแล้วยังอยากใช้เวลาไปกับการปรับตัวหรือการดื่มด่ำกับเป้าหมายเดิมอีกสักพัก
ผลสำรวจการตั้งปณิธานปี 2024 จาก Forbes เผยให้เห็นว่าผู้คนกว่า 62% รู้สึกกดดันกับการตั้งปณิธานปีใหม่ โดยพบว่าผู้หญิง (64%) มีความกดดันมากกว่าผู้ชาย (60%) ด้วยปัจจัยด้านสังคมและสภาพแวดล้อมอีกมากมาย
นอกจากการตั้งปณิธานจะเป็นแรงกดดันมหาศาลในช่วงปีใหม่แล้ว แรงกดดันนั้นอาจมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อพบว่าตนเองไม่สามารถทำตามปณิธานที่ตั้งใจหรือวางแผนไว้ได้ สถิติที่น่าสนใจจาก Forbes แสดงให้เห็นว่ามีเพียง 20% ของคนที่ตั้งปณิธานในปี 2023 เท่านั้นที่สามารถดำเนินตามความตั้งใจที่วางไว้ได้
เรียกได้ว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ผู้สำรวจถึง 77% สามารถบรรลุเป้าหมายของตนเองได้สำเร็จ แม้จะยังไม่มีคำอธิบายของสาเหตุการเปลี่ยนแปลงเชิงสถิตินี้แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ควรระวังว่าปัจจัยภายนอกอาจมีผลกับการเดินทางสู่เป้าหมายมากกว่าที่คิด
Jenny Koning นักจิตบำบัดจากแพลตฟอร์มสุขภาพจิต PlushCare กล่าวว่าความรู้สึกกดดันว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงสามารถพาเราไปสู่ความล้มเหลวแทนที่จะเป็นความสำเร็จได้ ยิ่งไปกว่านั้นความกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นอาจนำไปสู่ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
ไม่เพียงแค่สร้างความกดดันให้ต้องวางแผนและกำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงโดยที่ยังไม่พร้อม หรือกดดันว่าจะไม่สามารถเดินตามความตั้งใจได้สำเร็จเท่านั้น การวางปณิธานปีใหม่อาจนำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวังและล้มเหลวเมื่อพยายามจะไขว่คว้าเป้าหมายที่ไม่มีวันไปถึง
ยกตัวอย่างเช่น การตั้งปณิธานว่า ‘ปีหน้าฉันจะมีความสุขมากขึ้น’ หรือ ‘ฉันอยากสุขภาพดีขึ้น’ แม้ฟังดูเป็นความตั้งใจที่ดีแต่ก็เป็นการเดินทางที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ที่สำคัญคือไม่สามารถนำมาสร้างแนวทางการปฏิบัติตนที่เป็นรูปธรรมได้ เป็นต้น
แม้การตั้งเป้าหมายไม่ชัดเจนจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้แล้ว ยังมีปัจจัยทางจิตวิทยา สังคมวิทยาและมิติด้านอื่นๆ ที่ทำให้ปณิธานกลายเป็นแรงกดดัน หนึ่งในนั้นคือ ‘สไตล์การตั้งเป้าหมาย’ ที่แตกต่างกันนั่นเอง
ผู้หญิงกดดันกับเป้าหมายมากกว่าผู้ชาย
จากการศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศในการตั้งเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายส่วนรวมพบว่าเพศก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สไตล์การตั้งเป้าหมายแตกต่างกัน และยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแสดงศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายอีกด้วย
ผลการศึกษาพบว่าเมื่ออยู่ในที่สาธารณะผู้ชายสามารถแสดงศักยภาพได้ดีกว่า ไม่ว่าเป้าหมายที่ดำเนินการอยู่จะเป็นเป้าหมายส่วนตัวหรือส่วนรวม แม้แต่บริบทที่ไร้เป้าหมายก็ยังคงแสดงศักยภาพได้ตามปกติ ขณะที่ผู้หญิงจะแสดงศักยภาพได้น้อยลงเมื่อต้องดำเนินตามเป้าหมายในที่สาธารณะ
ตรงกันข้ามเมื่ออยู่ในบริบทการตั้งเป้าหมายในพื้นที่ส่วนตัว (Self-set goals) ผู้หญิงจะสามารถตั้งเป้าหมายได้ดีกว่าผู้ชายทั้งเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายส่วนรวม โดยผู้หญิงมีประสิทธิภาพเฉลี่ย 67% ในการตั้งเป้าหมายส่วนตัวและ 43% ในการตั้งเป้าหมายส่วนรวม ขณะที่ผู้ชายมีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% และ 39% ตามลำดับ
ท่ามกลางความแตกต่างก็ยังมีความเหมือนกัน นั่นคือทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะตั้งเป้าหมายส่วนตัวโดยอิงกับพื้นฐานของความเป็นจริงมากกว่า และทั้งสองเพศจะมีความทะเยอทะยานมากขึ้นเมื่อต้องตั้งเป้าหมายส่วนรวม
การวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘ภาพลักษณ์ในที่สาธารณะ’ ที่ส่งผลต่อการคิดและดำเนินกิจกรรมของแต่ละเพศ โดยภาพลักษณ์ในที่สาธารณะดังกล่าวทำให้เกิดการกังวลว่าจะถูกจดจำเป็นผู้มีความสามารถและทะเยอทะยานหรือเป็นผู้ล้มเหลว
นอกจากนี้ผลงานวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากปัจจัยด้านสังคมและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อความมั่นใจและประสิทธิภาพการดำเนินงานของเพศหญิงและเพศชายแตกต่างกัน สอดคล้องกับงานวิจัยและการศึกษาเรื่องสังคมและเพศอื่นๆ
กล่าวคือที่สาธารณะมีการคาดหวัง รับรู้ และให้ความสำคัญกับการกระทำของแต่ละเพศแตกต่างกัน การศึกษานี้ไม่เพียงแต่ยืนยันว่าพื้นที่สาธารณะไม่เป็นมิตรต่อการแสดงศักยภาพของผู้หญิงแล้ว ยังยืนยันผลงานวิจัยอื่นๆ ที่กล่าวถึงข้อได้เปรียบของการเป็นผู้ชายในพื้นที่สาธารณะอีกด้วย
แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในบางด้าน แต่ความจริงที่ว่าผู้คนไม่ว่าจะเพศใดต่างกดดันกับการตั้งปณิธานปีใหม่หรือการตั้งมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงทั้งที่ยังไม่พร้อมก็ยังเป็นเรื่องจริง เริ่มต้นปีใหม่นี้คงจะดีถ้าเรากลับมาถามและให้ความสำคัญกับตนเองก่อนจะปล่อยตนเองไหลไปตามกระแสธารของการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
ที่มา
– New Year’s Resolutions Statistics 2024: Sarah Davis, Forbes Health – https://bit.ly/4auM7Cm
– Women Set Goals Differently than Men. This is How You Can Use It to Set Better Goals this Year… : The Corporate Sister – https://bit.ly/3tyjxzw
– Rethink your resolutions for the new year by making intentions instead: Sara M Moniuszko, USA Today – https://bit.ly/47bipQ4
#trend
#mentalhealth
#newyearresolution
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast