NEWSTrendsรู้จัก ‘Climate Quitting’ คลื่นการลาออกยุคใหม่ที่บอกว่า องค์กรต้องหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

รู้จัก ‘Climate Quitting’ คลื่นการลาออกยุคใหม่ที่บอกว่า องค์กรต้องหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

หลังจากคลื่นการลาออกครั้งใหญ่หรือ ‘The Great Resignation’ ตลาดแรงงานก็มีการเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ ‘Quiet Quitting’ ที่พนักงานเลิกทำงานเกินหน้าที่ ขยับมาเป็น ‘Quiet Hiring’ ที่องค์กรเลือกจะอุดช่องว่างคนที่ลาออกไปด้วยการโยกย้ายตำแหน่งพนักงานที่ยังอยู่

หลังจากคลื่นยุคแห่งความเงียบงันพัดผ่านไปก็เป็นคราวของ ‘Loud Quitting’ หรือเทรนด์ที่พนักงานเลือกจะวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความไม่พอใจในการกระทำหรือการตัดสินใจขององค์กรให้กับคนในองค์กรเอง และบางครั้งก็ลามไปถึงคนนอกองค์กรด้วย นับว่าเป็นการโต้กลับของพนักงาน ต่อการเพิกเฉยของบริษัทที่ส่งผลเสียหายกันมานักต่อนัก

ทว่าความผันผวนในตลาดแรงงานยังคงไม่หยุดนิ่ง เมื่อปีที่ผ่านมาตลาดแรงงานแสดงให้เห็นสัญญาณของคลื่นการลาออกครั้งใหม่ที่เรียกกันว่า “Climate Quitting” หรือการลาออกเนื่องจากแนวทางการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมขององค์กรไม่ตรงกับคุณค่าที่พนักงานยึดถือนั่นเอง

‘Climate Quitting’ คลื่นระลอกใหม่ที่กำลังคืบคลาน

ย้อนกลับไปปี 2022 แครอลีน เด็นเน็ต (Caroline Dennette) โพสต์วิดีโอลงบนแพลตฟอร์ม LinkedIn แจ้งการยุติสัญญาการเป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยประจำสำนักงานใหญ่ที่สหราชอาณาจักรของบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Shell’ หลังจากจบสัญญา 11 ปี

เนื้อหาของวิดีโอเป็นการแจ้งลาออกพร้อมเหตุผลที่ว่าบริษัทเชลล์นั้น “เพิกเฉยต่อความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” และล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายทางความปลอดภัยที่จะ “ไม่สร้างความเสียหาย” ด้านสิ่งแวดล้อม

วิดีโอดังกล่าวมีผู้มีส่วนร่วมกว่า 17,000 คน และมีการรีโพสต์กว่า 1,800 ครั้ง พร้อมกับคอมเมนต์ที่มากกว่า 1,500 คอมเมนต์เมื่อนับจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้เธอยังอีเมลถึงพนักงานในองค์กรเดียวกันกว่า 1,400 คนแจ้งการลาออกและสาเหตุเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง

เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับจาก ‘Loud Quitting’ อย่างเป็นทางการ สร้างความเสียหายด้านภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อองค์กรอย่างสาหัส ขณะเดียวกันก็สร้างกระแสการตื่นตัวต่อปัญหาสภาพอากาศในหมู่พนักงาน โดยการตัดสินใจและการกระทำของเธอมอบความกล้าหาญในการลุกขึ้นมากดดันองค์กรผ่านเทรนด์การลาออกจนเกิดเป็นคลื่น ‘Climate Quitting’

การตื่นรู้ดังกล่าวส่งผลต่อการยึดถือคุณค่าและพฤติกรรมของคนทำงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยผลสำรวจจากปี 2023 พบว่าพนักงานกว่า 51% ลงความเห็นว่าจะคิดเรื่องลาออกหากแนวทางปฏิบัติขององค์กรต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่สอดคล้องกับคุณค่าที่ตนเองยึดถือ โดย 35% ของพนักงานในสหราชอาณาจักรกว่า 2,000 คนกล่าวว่าจะลาออกอย่างแน่นอนหากเป็นเช่นนั้น

ผลสำรวจจาก Net Positive Employee Barometer นำโดยพอล โพลแมน (Paul Polman) ผู้ก่อตั้ง Unilever ที่สอบถามพนักงานกว่า 4,000 คนทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่สอดคล้องกันของค่านิยมและพฤติกรรมการลาออกของพนักงาน

กล่าวคือ 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ โดย 61% กล่าวว่าต้องการเห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและแข็งแรงหรือสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อปัญหาดังกล่าวมากกว่านี้ ขณะที่มีเพียง 35% กล่าวว่าที่องค์กรดำเนินการอยู่นั้นเพียงพอแล้ว

Advertisements

ไม่ใช่แค่กระแสแต่กำลังกลายเป็นวิถีชีวิต

ท่ามกลางตัวเลขการลาออกที่เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลด้านปัญหาสภาพอากาศ กว่า 44% เป็นเจเนอเรชัน Z และเจเนอเรชัน Millenial โดยพวกเขายอมที่จะได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่น้อยลงเพื่อเข้าทำงานในองค์กรที่มีการยึดถือคุณค่าเดียวกัน

แสดงให้เห็นว่าแนวทางการรับมือกับปัญหาสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศไม่ใช่เพียงเหตุผลในการลาออกเท่านั้น แต่ยังเป็นเกณฑ์ในการมองหาองค์กรที่พนักงานพร้อมจะทุ่มแรงกายแรงใจเพื่อส่งเสริมคุณค่านั้นให้เติบโตขึ้นพร้อมกับองค์กรด้วยเช่นกัน

โดย 77% ของเจเนอเรชัน Z และ Millenial กล่าวว่าพันธะขององค์กรต่อปัญหาสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเข้าทำงานในบริษัทนั้นๆ ขณะที่เจเนอเรชัน X ที่ดูจะให้ความสนใจปัญหาดังกล่าวน้อยกว่าแต่ก็ปรากฏตัวเลขถึง 69% เลยทีเดียว

นอกจากนี้งานศึกษาของ KMPG เมื่อปี 2023 ที่มีผู้เข้าร่วมสำรวจกว่า 6,000 คนจากสหราชอาณาจักรพบว่า 20% เลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอของบริษัทหากหลักการขององค์กรด้าน ESG (Environmental, Social, Coporate Governance) ไม่ตรงกับคุณค่าที่ตนยึดถือ โดยตัวเลขสถิติเพิ่มสูงขึ้นเป็น 33% เมื่อเจาะกลุ่มลงไปที่คนทำงานอายุ 18-24 ปี

เรียกได้ว่าคลื่นความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เพียงแค่สร้างความเสียหายด้านการสูญเสียบุคลากรมากความสามารถหรือบุคลากรผู้มาพร้อมความคิดใหม่ๆ ที่มีอยู่ แต่ยังลามไปถึงการสูญเสียโอกาสที่จะได้พบกับผู้มีความสามารถอีกจำนวนมากที่เลือกจะปฏิเสธข้อเสนอด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม

คลื่น ‘Climate Quitting’ นี้เป็นเพียงคลื่นระลอกเล็กที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ใต้ผืนน้ำ นั่นคือ “Concious Quitting” ที่หมายถึงกระแสการลาออกเพื่อมองหาองค์กรที่ตอบโจทย์ด้านคุณค่าทางสังคมและสภาพแวดล้อมมากกว่า

กระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวทางตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคุณค่าที่สังคมยึดถือไม่ได้มีเพียงเรื่องของค่าเงินอีกต่อไป แต่ยังลุกลามไปถึงการอยู่ร่วมกับคนในสังคมและสิ่งมีชีวิตนานาชนิดอย่างยั่งยืน อาจจะถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องลุกขึ้นมาทบทวนแนวทางของตนเองอย่างจริงจังก่อนจะเสียโอกาสอีกมากมายไป

ที่มา
– As workers prioritize the environment, companies must ‘get on board’ or deal with ‘climate-quitting,’ experts say: Ece Yildirim, CNBC Make It – https://cnb.cx/3vIHULk
– The ‘climate quitters’ ditching corporate roles: Deborah Nicholls-Lee, BBC – https://bbc.in/3tV8Bfq

#trend
#socialissues
#climatequitting
#climatechange
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า