“อี๋…ทำไมเสียงเราเป็นแบบนั้นอะ”
ประโยคนี้คงเป็นปฏิกิริยาแรกของใครหลายคนเมื่อต้องได้ยินเสียงตัวเองผ่านเครื่องบันทึกเสียงหรือในวิดีโอเป็นครั้งแรก แล้วพบว่าเสียงของตัวเรานั้น มันไม่เหมือนกับเสียงที่เรารู้จักและได้ยินเวลาที่ตัวเองพูดมาตลอดทั้งชีวิตเลย
เสียงของตัวเรามันแปร่งและแปลกออกไป บางทีก็บอกไม่ได้หรอกว่ามันแปลกไปอย่างไร แต่ที่รู้ก็คือว่าเราไม่ชอบเสียงของตัวเองเลยเมื่อได้ยินมันผ่านไมโครโฟนหรือวิดีโอ ทำไมกันนะ? เพราะอะไรเสียงของเราถึงประหลาดออกไป ทั้งๆ ที่เสียงของคนอื่นก็ยังเหมือนเดิม
อันที่จริงแล้ว เสียงของตัวเราเองนั้น เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทุกๆ คนมีความคุ้นชินมากที่สุดในร่างกายของตัวเอง มันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราเพียงหนึ่งเดียวของโลกที่ใครก็ไม่สามารถขโมยมันไปจากเราได้ เสียงของเราเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สร้างตัวตนของเราขึ้นมาตั้งแต่เด็กจนโต
เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าเกิดว่าพอเรามาฟังเสียงของตัวเองในวิดีโอแล้วรู้สึกไม่ชอบหรือเกิดความรู้สึก “เขินอาย (Cringe)” ในเสียงของตัวเองผ่านเครื่องบันทึกต่างๆ แถมอันที่จริงแล้ว การไม่ชอบเสียงของตัวเองนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาเสียจนมีคำนิยามของมันโดยเฉพาะว่า Voice Confrontation หรือ “การเผชิญหน้ากับเสียงของตัวเอง” เลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุกคนสามารถเป็น Creator ได้อย่างอิสระ ขอเพียงแค่มีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนเครื่องเดียว เราก็สามารถทั้งทำรายการพอดแคสต์และรายการวิดีโอตัวเองไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ได้ ดังนั้นการที่เราได้ยินเสียงตัวเองแล้วเกิดไม่ชอบขึ้นมาก็อาจจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจของเหล่าครีเอเตอร์มือใหม่หลายๆ คนได้ ดังนั้นเรามาลองสำรวจกันดีกว่าว่า เพราะเหตุใดเสียงของเราจึงแปลกออกไปจากที่เราเคยได้ยิน แล้วมีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้เรากลับมา “ชอบ” เสียงของตัวเองอีกครั้งได้
ทำไมเสียงของเราถึงแปลกออกไป ทั้งที่เสียงของคนอื่นยังเหมือนเดิม?
อันดับแรกสุดที่พวกเราทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมเราถึงรู้สึกว่าเสียงของเราถึงแปลกออกไปเวลาอยู่ในเทปหรือวิดีโอก็เพราะว่า “เราได้ยินเสียงตัวเองต่างจนคนอื่น”
โดยปกติแล้ว เมื่อเราได้ยินคนอื่นพูด คลื่นเสียงจะเคลื่อนที่ผ่านอากาศและเข้าสู่หูของเรา ทำให้กระบอกหูของเราสั่นสะเทือน แล้วสมองของเราก็จะเปลี่ยนการสั่นสะเทือนเหล่านั้นให้กลายเป็นเสียง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเป็นฝ่ายพูด เส้นเสียงและทางเดินหายใจของตัวเราเองก็จะสั่นไปด้วย นั่นหมายความว่าตัวเรานั้นจะได้รับเสียงจากสองแหล่งด้วยกัน แหล่งแรกก็คือคลื่นเสียงที่เดินทางเข้าสู่หูของเราจากเสียงของเราเอง ส่วนแหล่งที่สองก็คือเสียงที่เกิดจากการสั่นของเส้นเสียงของเรานั่นเอง
โดยทาง Martin Birchall ศาสตราจารย์ด้านกล่องเสียง ที่ University College London ได้อธิบายหลักการนี้อย่างง่ายเอาไว้ว่า เมื่อตัวเราเป็นฝ่ายพูด ก็เหมือนว่าทุกคนได้ยินเสียงผ่านลำโพง แต่ตัวเรานั้นจะได้ยินเสียงของตัวเองผ่านถ้ำที่ซับซ้อนในหัวของเราเอง
“เสียงจะดังไปทั่วรูจมูกของเรา พื้นที่ว่างทั้งหมดในหัวของเรา และส่วนกลางของหู ซึ่งเปลี่ยนวิธีที่เราได้ยินเสียงเมื่อเทียบกับเสียงที่คนอื่นได้ยิน” Martin Birchall กล่าวกับนิตยสาร TIME
สรุปก็คือ พวกเราทุกคนนั้นได้ยินเสียงของตัวเองผ่านการผสมผสานระหว่างสองเสียง (ปากและคอ) แต่คนอื่นๆ ได้ยินแค่เสียงที่ออกมาจากปากของเราเท่านั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเวลาเราได้ยินเสียงของตัวเองในเครื่องบันทึกแปลกออกไป เสียงของตัวเองที่เราได้ยินจึงแตกต่างจากเสียงที่เราคุ้นเคยนั่นเอง
ด้วยเหตุผลนี้ คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่าเสียงที่แท้จริงของตัวเองนั้นมีความลุ่มลึกและหนักแน่นกว่า เมื่อเทียบกับเสียงที่บันทึกแล้ว เสียงที่ได้จะบางกว่าและแหลมสูงกว่า ทำให้หลายคนเกิดอาการอาย (Cringe) ในเสียงของตัวเอง
แล้วทำไมเราถึงไม่ชอบเสียงของตัวเอง?
Neel Bhatt ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โสตศอนาสิกวิทยา (Otolaryngology) UW Medicine มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน การวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติของหู, จมูก, กล่องเสียงหรือช่องคอ, ศีรษะ และคอ ได้อธิบายถึงเหตุผลดังกล่าวอย่างเรียบง่ายเอาไว้ว่า
“เป็นเสียงใหม่จริงๆ เสียงที่แสดงความแตกต่างระหว่างการรับรู้ตนเองกับความเป็นจริง เนื่องจากเสียงของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นองค์ประกอบสำคัญในตัวตนของเรา (Self-Identity) ซึ่งความไม่ตรงกันนี้อาจทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจได้ เนื่องจากมันเป็นการทำให้เราตระหนักได้ทันทีว่า คนอื่นได้ยินเสียงเราเป็นอย่างอื่นมาโดยตลอด”
กล่าวโดยง่ายคือ เพราะเสียงของเราที่ถูกอัดผ่านเครื่องบันทึกเสียงหรือวิดีโอของเราไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังว่าจะได้ยิน ดังนั้นเราจึงไม่ชอบมัน
เรียนรู้ที่จะรักเสียงของตัวเอง
แต่การที่เราไม่ชอบเสียงของตัวเองนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องรู้สึกแย่กับเสียงของตัวเองไปตลอดชีวิต โดยเราสามารถค่อยๆ ฝึกฝนและปรับวิธีการพูดของตัวเองได้ เพื่อที่ว่าครั้งต่อไปที่เราต้องไปถือไมค์พูดหน้ากล้อง เราจะได้ย้อนกลับมาฟังเสียงของตัวเองแบบไม่กระมิดกระเมี้ยนจนเกินไปนั่นเอง
1. ฝึกวิเคราะห์เสียงของตัวเอง
ลองตั้งใจวิเคราะห์ฟังเสียงของตัวเองผ่านเทปบันทึกหรือวิดีโอ ลองดูว่ามีจุดไหนบ้างที่เราไม่ชอบและอยากจะปรับปรุงให้ดีขึ้น แถมการตั้งใจฟังเสียงของตัวเองซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้เราเกิดความคุ้นชินต่อเสียงของเราได้จนเราไม่เขินอายอีกต่อไป
2. ลดความเป็นทางการให้น้อยลง
เวลาเราอยู่หน้ากล้องหรือกำลังถือไมโครโฟนอยู่ หลายคนที่ไม่ชินก็มักจะพยายามพูดจาให้สุภาพและชัดถ้อยชัดคำมากเกินไป ทำให้มีอาการเกร็งเกินไปจนเรามารู้สึกแปลกๆ เอาภายหลัง ดังนั้นลองเน้นไปที่การพูดอย่างเป็นธรรมชาติโดยใช้คำที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแทน เพราะถึงแม้ว่าจะมีเราที่ได้ยินอยู่คนเดียว แต่การใช้คำศัพท์แบบธรรมชาตินั้นจะช่วยให้เรารู้สึกเขินน้อยลงเมื่อมาได้ยินเสียงตัวเองในภายหลัง
3. ลดความเร็วให้ช้าลง
เหมือนกับข้อก่อนหน้านี้ เวลาที่คนเราจำเป็นจะต้องถือไมค์หรือรู้ว่ากำลังมีกล้องถ่ายเรารู้นั้นมักจะทำให้เรารู้สึกประหม่าหรืออ่านสคริปต์เร็วกว่าปกติจนทำให้เสียงของเรานั้นแปลกออกไป เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามลดความเร็วในการพูดของเราให้ใกล้เคียงกับจังหวะการพูดปกติของเราให้ได้มากที่สุด ซึ่งเมื่อเราพูดอย่างผ่อนคลายตามจังหวะของตัวเองนั้น เสียงที่แท้จริงของเราก็จะถูกเปล่งออกมานั้นเอง
ในท้ายที่สุดนี้ ถ้าหากใครก็ตามที่กำลังมีปัญหาเรื่องความมั่นใจในเสียงของตัวเองอยู่ละก็ พยายามฝึกฝนวิธีการพูดให้เยอะ เพื่อที่ว่าเราจะได้คุ้นชินกับเสียงของตัวเองเวลาที่ต้องอัดเสียงหรือวิดีโอต่างๆ และอย่าลืมว่าบางที ความกังวลที่ตัวเรากำลังมีอยู่นี้ อาจจะเป็นเพียงเสียงภายในจิตใจ ที่ตัวเรา “คิดไปเอง” ก็เป็นได้ ดังนั้นมั่นใจเข้าไว้
อ้างอิง:
– Why do we hate the sound of our own voices? : Neel Bhatt, The Conversation – http://bit.ly/3JVyVve
– The real reason the sound of your own voice makes you cringe : Phillip Jaekl, The Guardian – http://bit.ly/3n79Rs9
– Why Do I Hate the Sound of My Own Voice? : Kate Samuelson, TIME – http://bit.ly/3JvW9Xe
– Why You Hate the Sound of Your Own Voice (And Tips To Get Used to It) : Rev – http://bit.ly/3lxjMXx
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast