ใครเป็นชาว Gen Z ยกมือขึ้น!
นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่มีความเครียดมากที่สุดในที่ทำงาน!
ถึงแม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนทุกช่วงวัยจะเผชิญกับ “Permacrisis” หรือช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง แต่อยากให้ลองนึกภาพตามว่า ก่อนที่จะเรียนจบชาว Gen Z นั้นต้องนั่งเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และไม่ได้พบเจอหน้าเพื่อนมาเป็นปีๆ
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อถึงเวลาต้องก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน ก็กลายเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีก ทำให้การหางานที่เป็นเรื่องยากสำหรับเด็กจบใหม่อยู่แล้วก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว
จากผลการสำรวจพนักงานเกือบ 12,000 คนทั่วโลก ในปี 2023 ของ Cigna International Health พบว่า 91% ของคนอายุ 18-24 ปี กำลังเผชิญกับความเครียดกันอยู่ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ชี้ว่า Gen Z เป็นกลุ่มวัยที่มีความเครียดมากที่สุดในที่ทำงานและกำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรับมือกับภาวะนี้อย่างหนัก แล้วยังชี้อีกว่า ชาว Gen Z จำนวน 98% กำลังเผชิญกับอาการหมดไฟ
เมื่อชีวิตคน Gen Z เต็มไปด้วยปัญหารอบด้าน
ในช่วงที่ผ่านมามีพนักงานบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากการปรับรูปแบบการทำงาน เช่น การเปลี่ยนจากการทำงานที่ออฟฟิศมาเป็นการทำงานออนไลน์หรือไฮบริด เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นขึ้น แต่หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น นายจ้างก็เริ่มเรียกร้องให้คนทำงานกลับเข้าออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ความยืดหยุ่นที่มีหายไปและค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น ประกอบกับตอนนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน รวมถึงบริษัทต่างๆ ปลดพนักงานออกเรื่อยๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนทำงานหลายคนจะยังรู้สึกกังวลอยู่
จากข้อมูลโดย Workhuman บริษัทซอฟต์แวร์ด้านทรัพยากรบุคคล ชี้ให้เห็นว่า 84% ของพนักงานในสหราชอาณาจักรนั้นกำลังเครียดและวิตกกังวล เนื่องจากวิกฤตเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา ไอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งประเทศไทยของเราเองก็ตาม
ซึ่งจากข้อมูลโดย McKinsey and Company ชี้ว่า ชาว Gen Z นั้นรู้สึกว่าค่าจ้างที่ได้รับไม่ได้ช่วยให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน คนวัยนี้จึงต้องใช้เงินน้อยลง ประหยัดเงินมากขึ้น และต้องพยายามมากกว่าคนรุ่นอื่นถึงจะเดินไปสู่เป้าหมายสำคัญที่ตั้งไว้ได้ เช่น การมีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นต้น
ปัญหานี้ส่งผลอย่างไรกับคน Gen Z ?
ในระยะสั้น ความเครียดของคน Gen Z จะทำให้เกิดอาการหมดไฟ จนทำให้เลิกทุ่มเทกับการทำงาน ซึ่งจากข้อมูลของ Gallup ในปี 2022 ก็พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่ไม่มีส่วนร่วมในที่ทำงานมากที่สุด
ในระยะยาว ความเครียดและอาการหมดไฟจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและการเติบโตในหน้าที่การงานของชาว Gen Z เอง และถ้ามองในฝั่งขององค์กรแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า พนักงาน Gen Z นั้นมีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่ทั้งองค์กรและตัวชาว Gen Z เอง จะต้องหาวิธีรับมือร่วมกันต่อไป และที่สำคัญคือภาครัฐเองก็ควรยื่นมือเข้ามาสนับสนุนคนกลุ่มนี้ด้วย เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันน้อยลง
อ้างอิง
Are Gen Z the most stressed generation in the workplace?: Megan Carnegie, BBC – http://bit.ly/3IgryMQ
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast