Mission to the Moon EP.38: เรื่องเล่าให้เล่าเรื่อง

1492
รูปภาพจาก | toystory.disney.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง ทอยสตอรี่ 2 ถูกรื้อและเขียนขึ้นใหม่ภายในเวลา 9 เดือน เนื่องจากโครงเรื่องเก่านั้นเดาทางได้และไม่มีความตึงเครียดใดๆ
  • จอห์น ลาสซีเตอร์ ผู้กำกับของพิกซาร์รู้ดีว่าการที่หนังจะขายได้ เรื่องราวต้องจับใจคนดู ตัวหนังต้องมีพลัง การตัดสินใจต่างๆ ของตัวละครต้องมีน้ำหนักที่มากพอ

ในทุกบริษัท ทุกแบรนด์ และทุกบุคคล เรื่องราวหรือ story คือหัวใจสำคัญ

และเรื่องราวของทอยสตอรี่ 2 (Toy Story 2) ที่ผมอ่านมาจากหนังสือที่ชื่อว่า ทุกสิ่งเริ่มต้นที่ไอเดีย | Creativity Inc. หนังสือที่เขียนโดยเอ็ด แคทมูลล์ (Ed Catmull) ประธานของพิกซาร์แอนิเมชัน (Pixar Animation) และดิสนีย์แอนิเมชัน (Disney Animation) ยิ่งทำให้ผมเชื่ออย่างนั้นครับ

เรื่องนี้เริ่มต้นจากความสำเร็จอย่างถล่มทลายของหนังเรื่องแรกที่เปิดตัวจากพิกซาร์เรื่องทอยสตอรี่ (Toy Story) ที่ทำรายได้ไปถึง 354 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นภาพยนต์เรื่องแรกที่ทำจากคอมพิวเตอร์ล้วนๆ หนังเรื่องนี้ทำรายได้มหาศาลใน Box Office พร้อมกับได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างถล่มทลาย

เบื้องหลังของความสำเร็จนั้นแน่นอนว่า เต็มไปด้วยผู้คนที่อยู่เบื้องหลังมากมาย แต่คนที่ต้องเอ่ยถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้กำกับอย่าง จอห์น ลาสซีเตอร์ (John Lasseter) ซึ่งเติบโตมาพร้อมๆ กับ เอ็ด แคทมูลล์ ตั้งแต่พิกซาร์ยังเป็นแค่สตาร์ทอัพเล็กๆ

หลังจากความสำเร็จอย่างถล่มทลายของทอยสตอรี่ บริษัทพิกซาร์ก็เดินหน้าสร้าง A Bug’s Life ต่อในทันที

ถึงเวลาของทอยสตอรี่ 2

หลังจาก A Bug’s Life ถูกสร้างไปไม่นาน ดิสนีย์ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ในการสร้างหนังของพิกซาร์ก็มาพร้อมกับไอเดียว่าพิกซาร์ควรรีบสร้างทอยสตอรี่ 2 ได้แล้ว แต่มันคงไม่ใช่งานที่ง่ายสักเท่าไร เพราะเหล่าทีมงานครีเอทีฟทั้งหลายกำลังวุ่นวายกับ A Bug’s Life รวมถึงตัวจอห์นเองด้วย

ทีมที่ทำทอยสตอรี่ 2 จึงต้องเป็นทีมใหม่ และผู้บริหารของพิกซาร์เองก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะโครงสร้างหลักๆ ของหนังได้รับการรีวิวจากจอห์นแล้ว รวมถึงทีมผู้กำกับและทีมแอนิเมชันก็เป็นทีมที่มีประสบการณ์สูงทั้งคู่ หนังเรื่องนี้จึงได้รับการอนุมัติให้สร้างในทันที

ทอยสตอรี่ 2 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวู้ดดี้ (Woody) ตัวละครหลักที่เป็นตุ๊กตาคาวบอย จะต้องถูกขายไปให้กับนักสะสมของเล่น เพื่อเก็บเข้าคอลเลคชั่นวู้ดดี้ก็จะไม่ได้รับการเล่นด้วยอีกต่อไป แถมยังถูกส่งไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในญี่ปุ่นอีกตั้งหาก เป็นเรื่องราวที่คนดูต้องเอาใจช่วยให้วู้ดดี้หาทางกลับมาหาเจ้าของให้ได้

สิ่งที่ผู้บริหารพิกซาร์คิดคือ ตัวละครเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว หนังภาคแรกก็โด่งดังมาก ทีมงานก็เข้าใจกระบวนการในการทำหนังเป็นอย่างดี และพิกซาร์ก็เป็นผู้นำด้านการทำหนังแอนิเมชันด้วย ทอยสตอรี่ 2 ดูน่าจะออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบไม่มีปัญาอะไร เหมือนกับที่ทอยสตอรี่ภาคแรกเคยทำได้มาแล้ว แต่พวกเขาคิดผิดถนัด!

รื้อเรื่องใหม่

วันหนึ่งหลังจากผ่านไปหลายเดือน เมื่อ A Bug’s Life เสร็จสมบูรณ์ ผู้กำกับจอห์น ลาสซีเตอร์ก็ได้มีโอกาสมานั่งดูหนังทอยสตอรี่ 2 ซึ่งยังเป็นเวอร์ชั่นแบบดราฟท์อยู่ หลังจากนั่งดูอยู่หลายชั่วโมง

จอห์นเดินเข้ามาในห้องของเอ็ดพร้อมปิดประตูและบอกว่า “มันคือหายนะ”
“หนังมันกลวง เดาทางได้ ไม่มีความตึงเครียด และมุกตลกก็ยังฝืดสุดๆ”
นั้นหมายความว่าพวกเขาต้องทำมันใหม่ทั้งหมด
และพิกซาร์มีเวลาแค่ 9 เดือน

จะว่าไปแล้วมันเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว ดังนั้นสิ่งแรกที่จอห์นทำคือเปลี่ยนตัวผู้กำกับหนังโดยเขาลงไปกำกับหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แม้มันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่มันเป็นสิ่งจำเป็น จอห์น ลาสซีเตอร์ รู้ว่า เหนือกว่าสเปเชียลเอฟเฟกต์ เหนือกว่าคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ หรือเทคนิคใดๆ หนังจะขายได้ “เรื่องราวต้องจับใจคนดู”

เขาจึงเขียนเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่

ทอยสตอรี่ 2 เวอร์ชั่นใหม่ จะยังคงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวู้ดดี้ตุ๊กตาคาวบอยที่ต้องตกไปอยู่กับนักสะสมของเล่น เพราะความผิดพลาดบางอย่าง

แต่หนังโฟกัสไปที่ทางเลือกของวู้ดดี้ที่จะต้องเลือกระหว่างสองเส้นทาง

ทางเลือกแรก คือ การไปอยู่ในที่ที่จะได้รับการดูแลอย่างดี มีชีวิตที่สะดวกสบายในพิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่น และที่นี่เขาจะเป็นสิ่งที่ทุกคนชื่นชม แต่เขาจะไม่ได้รับการเล่นด้วยอีกเลย

Advertisements

ทางเลือกที่สอง คือ หาทางกลับไปหา แอนดี้ ผู้เป็นเจ้าของวู้ดดี้

ซึ่งการที่จะทำให้หนังนั้นมีพลัง คนดูต้องเชื่อว่าสองทางเลือกนี้ เป็นทางเลือกที่มีน้ำหนักพอๆ กันทั้งคู่สำหรับวู้ดดี้

การเลือกกลับไปหาแอนดี้ที่วันหนึ่งเขาจะต้องเติบโตไปเป็นหนุ่ม และในที่สุดแอนดี้ก็จะไม่สนใจของเล่นอย่างวู้ดดี้อีกต่อไป ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่ากลัวไม่น้อย แต่การเลือกอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแต่ไม่มีคนเล่นด้วยอย่างพิพิธภัณฑ์ ก็ดูเหงาและโดดเดี่ยวเช่นกัน

สิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการคือ คนดูต้องเชื่อว่าวู้ดดี้อยู่ที่ทางแยกของทางเลือกจริงๆ

Toy Story 2 p.2
รูปภาพจาก | toystory.disney.com

สิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการคือ ดราม่า

หนังเริ่มต้นจากวู้ดดี้เตรียมตัวที่จะไปแคมป์กับแอนดี้ แต่แขนของวู้ดดี้ดันมาขาดเสียก่อน เขาจึงต้องถูกทิ้งไว้บนชั้น

และที่ชั้นนี้เอง วู้ดดี้ได้พบพับวีซี่ (Wheezy) ซึ่งเป็นเพนกวิน วีซี่บอกกับวู้ดดี้ว่ามันถูกทิ้งอยู่บนชั้นนี้มาหลายเดือนแล้วเพราะเป็นของเล่นที่ชำรุด ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับวู้ดดี้ก็ได้

หนังยังเสริมความดราม่าเข้าไปอีกด้วยการเพิ่มตัวละครชื่อ เจสซี่ ซึ่งเป็นคาวเกิร์ลที่มีบทบาทโดดเด่น เจสซี่รักเจ้าของที่เป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งของเธอมาก เหมือนกับที่วู้ดดี้รักแอนดี้ แต่เมื่อเด็กผู้หญิงคนนี้โตขึ้น เธอก็ทิ้งเจสซี่อย่างไม่แยแส

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ เจสซี่ มันสื่อถึงวู้ดดี้ว่าเขาก็คงจะถูกแอนดี้ทิ้งเข้าสักวันหนึ่งเหมือนกัน มาถึงจุดนี้หนังได้ทำให้คุณเริ่มฉุกคิดแล้วว่า บางทีการไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นก็ไม่เลวเหมือนกันนะ

และนี่แหละคือดราม่า เพราะทางเลือกที่วู้ดดี้กำลังเจออยู่นั้นเป็นทางเลือกจริงๆ และเป็นปัญหาของจริงที่คนดูรู้สึกอินตามไปด้วย แต่ในที่สุดวู้ดดี้ก็เลือกกลับบ้านทั้งๆ ที่รู้ว่าวันหนึ่งแอนดี้ก็คงจะต้องทิ้งเขาไปแน่ๆ

โดยวู้ดดี้บอกว่า

ฉันห้ามแอนดี้ไม่ให้เติบโตขึ้นไม่ได้หรอก แต่ฉันจะไม่พลาดมันแน่นอนWoody, Toy Story 2

เมื่อได้บทแบบนี้แล้ว จอห์นก็รู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้ต้องสำเร็จแน่นอน

Story is king

ทีมงานของพิกซาร์ใช้เวลาอีก 9 เดือนในการเข็นทอยสตอรี่ 2 ออกมา และมันก็เสร็จได้ทันเวลาพอดี เป็นการทำงานที่หฤโหดสำหรับทุกคนในทีม และแน่นอนมันเป็นการทำงานหนักที่คุ้มค่ามาก

ทอยสตอรี่ 2 เป็นหนังภาคต่อที่เปิดตัวได้อย่างยิ่งใหญ่ ประสบความสำเร็จมากกว่าหนังภาคแรก และสามารถกวาดรายได้ไปมากถึง 500 ล้านเหรียญ นี่เป็นการพิสูจน์แล้วว่า เทคนิคก็สำคัญ แอนิเมชั่นก็สำคัญ

แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ “เรื่องราว”

ซึ่งแม้แต่ราชาแห่งการเล่าเรื่องอย่าง จอห์น ลาสซีเตอร์ ยังเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่