เคยสังเกตไหมว่าคนทั่วไปมักจะชื่นชอบคนประเภทหนึ่งเหมือนกันหมด…
คนที่อารมณ์ดี พูดเก่ง เข้าหาคนเก่ง ยิ้มเก่ง รับฟังคนอื่นเก่ง และเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ คนประเภทนี้มักจะเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มเพื่อน ในบริษัท หรือแม้กระทั่งดึงดูดความสนใจของคนแปลกหน้าที่เดินผ่านไปผ่านมาได้เป็นอย่างดี
งานวิจัยหลายงานสนับสนุนว่า คนที่ชอบแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้า (Emotional Expression) มักจะเป็นคนที่น่าดึงดูด เหมือนการที่เราชื่นชอบละครที่นักแสดงเล่นได้อย่างถึงพริกถึงขิง เห็นได้จากบทพูดที่กลายเป็นมีมดัง จนมีคนเอาไปเล่นตามกันทั้งโลกโซเชียลมีเดีย
แต่อีกมุมหนึ่ง หากพูดถึงสถานที่ทำงาน คนที่อาจมีบุคลิกไม่ได้โดดเด่นมาก พูดน้อย และดูนิ่งกว่าก็น่าดึงดูดไม่ต่างกัน แล้วยังดูมีความเป็นผู้นำมากกว่าอีกด้วยในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่คาดคิด พนักงานที่ชอบแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้ามักจะเสียอาการ และเผลอแสดงสีหน้า หรือท่าทางออกมาโดยไม่รู้ตัว
ไม่ว่าจะเป็นการทำสายตาหลุกหลิกลอกแลก พูดวกไปวนมา หลบตาคู่สนทนาเพราะขาดความมั่นใจ กล้ามเนื้อใบหน้าที่เกร็งทั้งตึง ยิ่งทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ยากขึ้น และอาจสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจไปเลยก็ได้ ในขณะที่พนักงานบางคนที่นิ่งกว่า กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ หรือสีหน้า (Emotional Control) ที่ได้กล่าวไปนั้นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Poker Face” มาจากการเล่นไพ่โป๊กเกอร์ ที่ต้องใช้ทักษะทางจิตวิทยาสูงมาก ในการอ่านใจโดยอาศัยสีหน้า เพื่อคาดเดาไพ่ในมือของคู่ต่อสู้ ในขณะเดียวกันก็ต้องวางสีหน้าไม่ให้คู่ต่อสู้อ่านเราออกอีกด้วย
ทักษะการควบคุมอารมณ์ไม่ให้แสดงสีหน้ามากเกินไปเป็นประโยชน์มากในที่ทำงาน ช่วยสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า และเสริมบุคลิกพนักงานให้น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะตอนที่เราเกิดความรู้สึกลบๆ เช่น อารมณ์โกรธ ผิดหวัง เสียใจ หรือเมื่อเราทำตัวไม่ถูกต่อหน้าลูกค้า Poker Face จะช่วยให้เราควบคุมสถานการณ์ตรงหน้าได้มากกว่าคนที่แสดงสีหน้าออกมาอย่างไม่เก็บความรู้สึกเอาไว้
อย่างไรก็ตาม Poker Face ในที่ทำงาน ไม่ได้หมายถึงการทำหน้านิ่งไร้อารมณ์ หรือตีหน้าซื่อ แต่เป็นการควบคุมสีหน้าไม่ให้เผลอแสดงอารมณ์ลบๆ ออกไปจนคู่สนทนารู้สึกแย่ไปด้วย และที่สำคัญเลยคือ Poker Face ก็ใช่ว่าจะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบ สถานการณ์ให้รอบคอบก่อนทุกครั้ง และฝึกฝนตามข้อแนะนำต่อไปนี้ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการใช้ Poker Face อย่างชาญฉลาด
1. รับรู้จุดอ่อนของตัวเอง
โดยปกติแล้ว การตอบสนองของร่างกายจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ และแต่ละคนก็จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นแตกต่างกันไปตามประสบการณ์เช่น หากเราต้องเผชิญกับความมืด ทะเลลึก ที่แคบ หรือสถานการณ์ที่เครียด ความกดดัน ร่างกายจะตอบสนอง และรับมือต่อสิ่งเร้าเหล่านั้นด้วยท่าทางต่างๆ ซึ่งท่าทางที่แสดงออกมานั้นก็มีทั้งคนที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว
ลองสังเกตดูว่าสีหน้าและท่าทางของเราเป็นอย่างไร เมื่อเจอกับสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น ตอนเครียด กังวล หรือตอนที่รู้สึกประหม่า อาจจะถามเพื่อนร่วมงาน หรืออัดวิดีโอเอาไว้ รวมถึงการบอก หรือระบายความรู้สึกให้คนสนิทฟังก็ถือเป็นวิธีที่ดี ที่ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกในใจให้โล่งขึ้นได้บ้าง
2. ระมัดระวังสีหน้าและท่าทาง
อารมณ์และปฏิกิริยาทางร่างกายเป็นสิ่งเชื่อมโยงกัน เมื่อเรากลัว ตื่นเต้น สมองจะประมวลผลได้ไม่ดีเท่าเวลาปกติ จึงทำให้พูดไม่รู้เรื่อง เนื้อหาวกไปวนมา หรือเวลาที่เราเสียใจ กล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานหนัก ทำให้เราเจ็บที่หัวใจ หรือตอนที่เราตกหลุมรัก ร่างกายจะหลั่งสารที่ทำให้ตื่นตัว เลือดสูบฉีด ทำให้เราหน้าแดง และรู้สึกมีความสุข
ดังนั้นการควบคุมอารมณ์ที่ได้ผลดีต้องควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย หากว่าควบคุมการแสดงสีหน้าได้ แต่ว่าตอนคุยงานกับลูกค้ากลับเสียงสั่น ปากสั่น ตัวสั่นไปหมดก็อาจส่งผลเสียต่องานได้
3. ข่มอารมณ์ ควบคุม Reaction
เมื่อความรู้สึกของเรามันท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ เราเผลอแสดงออกโดยไม่ทันระมัดระวัง หรือตอบกลับด้วยท่าทางที่ซื่อตรงมากเกินไป เช่น เหม่อลอยเมื่อกำลังครุ่นคิดอะไรสักอย่าง แสดงอาการเสียใจเมื่อถูกปฏิเสธ หรือแสดงน้ำเสียงต่อต้านเมื่อมีคนเห็นต่าง
การข่มอารมณ์ให้รู้สึก และแสดงออกมาอย่างพอดี สามารถฝึกได้ด้วยการมีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา ฝึกได้ด้วยการนั่งสมาธิเป็นประจำ แค่วันละ 10 นาทีก็ทำให้เรานิ่งขึ้น มีสติมากขึ้นได้ หรืออาจจะฝึกควบคุมอารมณ์ด้วยการนับเลข รวมถึงการจินตนาการภาพของความสงบสุข เช่น ภาพวิวทะเล ป่าฝนที่แสงแดดส่องถึง หรือทุ่งหญ้า
แม้ในสถานการณ์ที่เราโกรธมากจนแทบอยากกรี๊ดออกมา ก็สามารถดับอาการหัวร้อนได้ด้วยวิธี “เอาน้ำเย็นเข้าลูบ” เพียงแค่สัมผัสกับสิ่งของเย็นๆ แก้วเครื่องดื่มเย็นๆ หรือหลบไปล้างหน้าล้างตาในห้องน้ำ สงบสติอารมณ์สักครู่ แล้วกลับมาลุยงานต่อด้วยความมั่นใจ
4. พิจารณาสถานการณ์ก่อนใช้ Poker Face
Poker Face ดีต่อการทำงานก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าจะใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เมื่อเราเริ่มควบคุมอารมณ์ได้แล้ว ก่อนใช้ก็ต้องพิจารณาว่าเราต้องแสดงออกอย่างไร บางทีลูกค้าก็ต้องการเห็นท่าทีของเราเพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือสนับสนุนความคิดของลูกค้า การใช้ Poker Face อาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องการความเห็นที่จริงใจ
วัฒนธรรมขององค์กรก็สำคัญต่อการแสดงความรู้สึก ในบางบริษัทอาจมีบรรยากาศที่พนักงานสนิทกันมากๆ และสนับสนุนกันอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องเก็บอารมณ์ความรู้สึกมากนัก แต่ถ้าบริษัทมีความเป็นทางการ มีบรรยากาศที่เน้นความเป็นมืออาชีพ Poker Face ก็ถือว่าเป็นทักษะที่จำเป็นไม่น้อย
Poker Face ยังจำเป็นในการนำองค์กร หรือนำประชุมด้วย โดยเฉพาะการประชุมที่ต้องแสดงความคิดเห็น หรือระดมความคิด เราอาจจะเผลอแสดงท่าทีเมื่อถูกติติง หรือมีคนเห็นต่าง ทักษะของการควบคุมอารมณ์จึงสามารถกลบความคิดลบๆ ของเรา ณ เวลานั้นได้ทันที
อย่างไรก็ดี ทักษะการควบคุมอารมณ์ และการใช้ Poker Face ในที่ทำงานไม่ได้หมายความว่าพนักงานห้ามแสดงความรู้สึก หรือห้ามบอกความในใจให้ใครรู้ แต่เป็นทักษะการแสดงอารมณ์และสีหน้าอย่างมืออาชีพ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า สร้างบุคลิภาพที่น่าเชื่อถือ พึ่งพาได้ให้แก่พนักงานและองค์กร รวมถึงสร้างบรรยากาศดีๆ ภายในองค์กรได้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
– The Power of a Poker Face : Adam Khan, HealthyPlace – https://bit.ly/3NCBnan
– “Can’t Read My Poker Face”: Personality Type and Masking Emotion :
16 Personalities – https://bit.ly/3NHhIpZ
– When — and How — to Keep a Poker Face at Work : Melody Wilding, HBR – https://bit.ly/4496kdB
#softskill
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast