เป็นบอสก็มีหัวใจ! จะทำอย่างไรเมื่อหัวหน้า Burnout เสียเอง

1193
หัวหน้า Burnout

‘สัญญาณเตือนว่าลูกน้องของคุณกำลังจะจากคุณไป’

‘พฤติกรรมอันตรายของหัวหน้าที่ทำให้ลูกน้อง Burnout’

ฯลฯ

Advertisements

เมื่อพูดถึงอาการ Burnout หรือ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” เรามักจะเจอบทความเนื้อหาทำนองนี้อยู่มาก เห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองของ ‘พนักงานตัวเล็กๆ’ และทางออกระยะยาวที่มักเสนอแนะคือ การสื่อสารกับหัวหน้า หรือไม่ก็แนะนำให้หัวหน้าใส่ใจและช่วยประคับประคองสภาพจิตใจของพนักงาน 

ลูกน้อง Burnout ก็มาปรึกษาหัวหน้าได้ แต่ถ้าเราเป็น “หัวหน้า” แล้วเกิดอาการ Burnout เสียเองล่ะ จะไปปรึกษาใคร!?!

1) หัวหน้าก็มีหัวใจ Burnout ได้เหมือนกันนะ!

แม้ความเครียดกับภาวะ Burnout จะเกี่ยวเนื่องกัน แต่ทั้งสองก็ไม่ได้เหมือนกันโดยสิ้นเชิง องค์กรอนามัยโลกระบุไว้ว่าภาวะ Burnout เป็นภาวะอ่อนล้าทางอารมณ์ที่เกิดจากความเครียดสะสมจากการทำงาน อาการนี้เกิดขึ้นได้กับพนักงานทุกคน ตั้งแต่ตำแหน่งแรกเข้าไปจนถึงผู้บริหาร

งานวิจัยจากบริษัท FlexJobs และ Mental Health America เผยว่าผู้บริหารกว่า 37% ทำงานเยอะกว่าที่เคยทำในช่วงก่อนโควิด-19 มาก และกว่า 75% รู้สึกกังวลเรื่องสุขภาพจิตและสุขภาพกายเพราะทำงานหนัก

ในทำนองเดียวกัน การสำรวจของ Development Dimensions International (DDI) หรือบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก พบว่า 60% ของหัวหน้ารู้สึก ‘หมดพลัง’ อย่างมากเป็นพิเศษในช่วงหมดวัน โดยการสำรวจนี้ได้สำรวจหัวหน้ากว่า 15,000 คนในองค์กรกว่า 1,740 องค์กรจากทั้งหมด 24 อุตสาหกรรมทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์จนถึงกรกฎาคมปี 2020

ที่น่ากังวลคือ เมื่อหัวหน้า Burnout ผลกระทบไม่ได้มีแค่เฉพาะต่อ ‘ร่างกาย’ และ ‘จิตใจ’ ของหัวหน้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ โดยรวมอีกด้วย

Herbert J. Freudenberger นักจิตวิทยาจากนิวยอร์กสังเกตเห็นว่า เมื่อเกิดอาการ Burnout นอกจากจะมีอาการปวดหัวควบคู่แล้ว ยังมีอาการฉุนเฉียวและเคลือบแคลงใจผู้อื่นได้ง่ายๆ หัวหน้าที่ Burnout อาจต่อว่าเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือคนในครอบครัวอย่างรุนแรงเกินความจำเป็น อาจทำตัวเย็นชาใส่คนที่คอยให้กำลังใจเขา อาจกดดันคนรอบตัว หรือเคร่งเรื่องงานเป็นพิเศษจนคนรอบข้างพลอยเครียดตาม

แน่นอนว่าเมื่อบรรยากาศการทำงานเปลี่ยนไป ลูกน้องก็ไม่สนุกกับการทำงานและหมดไฟไปตามๆ กัน

2) สาเหตุแห่งภาวะ Burnout ในหมู่ผู้บริหาร

ใครๆ ก็หมดไฟได้ แต่ผู้บริหารหรือหัวหน้าทีมมีแนวโน้มที่จะหมดไฟสูงไม่แพ้ใคร เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดภาวะ Burnout และพวกเขาดันหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ เช่น ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง ความกดดันจากบอร์ดบริหาร ความคาดหวังจากลูกน้อง ความเครียดเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ เป็นเวลานาน มาตรฐานที่ต้องรักษา ไปจนถึงความคาดหวังให้เป็น ‘มืออาชีพ’ ไม่แสดงอารมณ์ ไม่อ่อนไหวง่าย 

ซ้ำร้าย เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา ผู้นำจะถูกคาดหวังอย่างมากให้แก้ปัญหา พาบริษัทออกจากสถานการณ์ยากๆ ให้ได้โดยให้โดนผลกระทบน้อยที่สุด แม้พวกเขาจะตัดสินใจอย่างรอบคอบเท่าที่จะทำได้ ผลจากการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ นั้นก็ไม่อาจพึงพอใจทุกฝ่ายได้ ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ที่ตามมาอีก

ผลสำรวจจาก Harvard Bussiness Reivew พบว่าเมื่อเจอกับความเครียดที่กล่าวมาข้างต้น หัวหน้ามักจะรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกผิด รู้สึกไร้ความสามารถ และกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตน

งานวิจัยอีกงานยังพบว่า หัวหน้าหรือผู้จัดการที่เผชิญภาวะหมดไฟ มักจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการผู้คน เพราะการจัดการผู้คนพาปัญหามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับลูกน้องที่ระดับความสามารถต่างกัน การคอยสังเกตและช่วยเหลือพนักงานที่มีปัญหาส่วนตัวเยอะ หรือไม่มีความสุข การจับตามองพนักงานที่ทำตัวน่าสงสัย สร้างศัตรู หรือเอาแต่ใจตนเอง ผู้จัดการต้องจัดการทั้งปัญหาในตัวบุคคลและระหว่างบุคคล ต้องให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจให้ทีม ย้ำทีมถึงจุดมุ่งหมายของงาน แก้ปัญหาระหว่างกันและกัน ปัญหาที่ว่าโดยอารมณ์ คน และความสัมพันธ์นี้เองเป็นตัวการนำไปสู่ภาวะหมดไฟ

3) ป้องกันไม่ให้ Burnout อย่างไรดี

ในฐานะหัวหน้าหรือผู้จัดการ เราพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทางไม่ให้ลูกน้องหมดไฟ แต่ถ้าถึงวันที่เราไม่ไหวจริงๆ ต้องทำอย่างไรดี

Advertisements

3.1) ให้ความสำคัญกับสุขภาพตัวเอง 

ไม่ว่าจะสุขภาพจิตหรือสุขภาพกาย เราควรบริหารเวลาให้ดีและมีเวลาให้ตัวเองบ้าง จริงอยู่ที่สิ่งนี้ทำได้ยาก แต่มันก็เป็นเกราะป้องกันการ Burnout ที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ดังนั้นก่อนจะไปจัดการความเครียดใคร จัดการความเครียดของตัวเองให้ได้ก่อน อาจเริ่มด้วยการทานอาหารที่ดี คุณประโยชน์ครบถ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ อย่ามองว่า ‘การได้พัก’ เป็นการตามใจตัวเอง แต่มองว่าเป็นการรักษาตัวเองจะดีกว่า

การให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนในทีมอีกด้วย ลองจินตนาการถึงหัวหน้าทีมที่ทุ่มเท ทำงานไม่หยุดไม่หย่อนดูสิ นอกจากสุขภาพจะแย่แล้วยังเป็นการกดดันลูกน้องกลายๆ ว่าการทำงานเยอะจนไม่มีเวลาพักนั้นดี  ทั้งๆ ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น เราควรแสดงให้คนในทีมเห็นว่าเราควรใส่ใจสุขภาพของตัวเองไม่แพ้กับการทำงานด้วย ในส่วนนี้อาจเริ่มง่ายๆ ด้วยการสนับสนุนให้ใช้แอปฯ แชตสำหรับองค์กรโดยเฉพาะ และเชิญชวนการตั้งโหมด ‘ห้ามรบกวน’ หลังเวลาเลิกงาน

3.2) แก้เครียดกันแบบยกทีมไปเลย!

ถ้าเราเครียดและสัมผัสได้ว่าลูกน้องก็เครียดด้วย ลองหากิจกรรมดูแลตัวเองทำพร้อมกันทั้งทีมดู นอกจากจะช่วยให้คลายเครียดแล้ว ยังกระชับความสัมพันธ์ได้ดี ยกตัวอย่างเช่น การจ้างโค้ชมาสอนโยคะ หรือ การนั่งสมาธิแบบกลุ่ม อย่างไรก็ตาม อย่า ‘บังคับ’ ให้ทุกคนเข้ากิจกรรม หากใครไม่อยากเข้าร่วมก็ไม่เป็นไร และไม่ต้องกลัวว่าพอลูกน้องไม่ร่วมแล้วจะเครียด การมีอำนาจในการตัดสินใจเอง (Autonomy) นี่แหละ ช่วยให้ลูกน้องรู้สึกควบคุมชีวิตตัวเองได้และลดการ Burnout

3.3) ตามหาคำว่า “ทำไม” ของเราอีกครั้ง

อาการและสาเหตุที่เห็นได้เป็นประจำของภาวะ Burnout คือสิ่งที่เราให้คุณค่าไม่ได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราทำ จนเราต้องถามตัวเองว่า ‘ที่ทำอยู่.. ทำไปทำไมนะ’ ด้วยภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของผู้นำ แม้จะเครียดแค่ไหนแต่เราก็ได้แต่ทำงาน ทำงาน และทำงานต่อไปเรื่อยๆ ราวกับเครื่องจักร เมื่อผ่านไปสักระยะเราลืมไปหมดแล้วว่า ‘ทำไม’ งานของเราถึงมีคุณค่า— ‘ทำไม’ เราถึงอยากทำงานนี้ตั้งแต่แรก— และ ‘ทำไม’ ภารกิจที่ทำอยู่ถึงสำคัญกับองค์กร 

หากไม่รู้จะเริ่มต้องไหน  อาจเริ่มจากการถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้

  • อะไรที่สำคัญสำหรับเรามากที่สุด
  • เราชอบอะไรในงานที่ทำ
  • เราทำงานไหนได้ดี
  • ในการทำงาน อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณ ‘เหนื่อยที่สุด’ และ ‘เครียดที่สุด’
  • แล้วงานดังกล่าว สามารถแต่งตั้งให้คนอื่นหรือตั้งทีมมาทำแทนได้ไหม
  • ความสามารถและจุดแข็งของคุณมีอะไรบ้าง และมีทักษะไหนที่เอามาใช้ในงานที่ทำอยู่ได้
  • ทำอย่างไรถึงจะกำจัดสิ่งที่ดูดพลังงานในการทำงานทิ้งไปได้

ก่อนจะนำทีมไปสู่ ‘เป้าหมาย’ เราคงจะต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าทำไม

บางครั้งเมื่อตำแหน่งสูงขึ้น ภาระหน้าที่ ความเครียด และความรับผิดชอบก็เพิ่มขึ้นตาม เราอาจต้องทำงานไม่หยุดไม่หย่อนยิ่งกว่าเดิม ในฐานะผู้นำ การรับมือกับงานที่รับผิดชอบให้ได้ดี คือสิ่งที่เราทำเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว แต่อีกสิ่งที่ผู้นำควรริเริ่มทำให้คนอื่นทำตาม คือการชวนให้ทุกคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ทั้งของตนเองและคนรอบข้าง หรือพูดง่ายๆ คือการนำ ‘ความเป็นมนุษย์’ กลับมาในสังคมการทำงานนั่นเอง

อ้างอิง
https://bit.ly/3lsO8HA
https://bit.ly/3EgnWXH
https://bit.ly/3IdEVww

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่