เตรียมพร้อมเข้าสู่โลกแห่งอนาคต ด้วยการสร้าง “Future Skills”

1527
AGC Future Talk Article_1920x1080

Mission To The Moon x AGC

“Future Skills”

ถึงแม้ว่าคำว่า “ทักษะแห่งอนาคต” จะประกอบไปด้วยคำว่า “อนาคต” ที่หมายถึงช่วงเวลาในภายภาคหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องรอเวลา ที่จะสร้างทักษะเหล่านี้เมื่อเวลานั้นมาถึง

Advertisements

แต่เราสามารถที่จะ “สร้าง สะสม และเตรียมพร้อม” ทักษะเหล่านี้ ที่เมื่ออนาคตมาถึง เราจะสามารถหยิบทักษะมาใช้ และสามารถที่จะเฉิดฉายในโลกของการทำงาน

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทาง Mission To The Moon ร่วมกับ AGC หนึ่งในผู้นำด้านการผลิตกระจก เคมีภัณฑ์ และนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ได้จัดงาน Future Talk by AGC ภายใต้หัวข้อ “Future Skills สกิลดีสร้างอนาคตให้เป็นจริง” ที่ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต เพื่อตอบโจทย์โลกการทำงานยุคใหม่ของคนทุกคน

ในบทความนี้เราก็เลยจะมาสรุปประเด็นสำคัญในงาน Future Skills ที่ถูกถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน อย่าง คุณเอ็ม – ธีรยา ธีรนาคนาท Co-Founder & CEO CareerVisa Digital, คุณเฟื่องลดา – สรานี สงวนเงิน CEO & Founder of Flourish Digital และอาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท Landprocess ที่ได้มาแชร์เรื่องราว ความเห็น และ Insights ดีๆ เกี่ยวกับเรื่องของ ‘การเตรียมความพร้อมและทักษะ’ จากประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรมที่ตัวเองอยู่

‘5 Shades of Life’ ค้นหาทักษะสำคัญสำหรับการทำงานในโลกอนาคต : คุณเอ็ม – ธีรยาธีรนาคนาท

เชื่อว่าหลายๆ คนที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย หรือกำลังที่จะเรียบจบและเข้าสู่โลกแห่งการแบบเต็มตัว หรือแม้แต่คนที่ทำงานแล้ว ก็ยังแทบจะไม่รู้เลยว่า “ชีวิตเราต้องการอะไร งานแบบไหนที่เราอยากจะทำจริงๆ” เราหลายๆ คนแทบจะไม่รู้จักตัวเองเลยจริงๆ

หลายๆ คนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า การรู้จักตัวเองสำคัญกับขนาดนั้นเลยหรือ?

ลองย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกันบ้าง ในปัจจุบัน หลายคนมีหน้าที่การงานที่ดี รายได้ดี แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ บ้างก็ทำไปเพราะคนอื่นบอกให้ทำ บ้างก็ทำไปเพราะเป็นสิ่งที่คนรอบตัวเราทำ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่เราไม่รู้จัก “คุณค่าที่ตัวเองยึดถือ” นั่นเอง จนเราไม่สามารถหาอาชีพที่ “ใช่” ให้กับตัวเองได้

แล้วเราจะหาคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ (Personal Core Values) ได้อย่างไร?

ทาง CareerVisa จึงได้พัฒนาหลักสูตร Career Design โดยได้สร้าง Framework “5 Shades of Life” ขึ้นมา ซึ่งมี Personal Core Values เป็นหนึ่งใน 5 ด้านที่ตัวเราต้องค้นหา เพื่อที่จะประเมินความเหมาะสมทางอาชีพได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น ไปดูกันเลยว่าทั้ง 5 ด้าน มีอะไรบ้าง

โดยด้านที่ 1 เรื่องของ “ทักษะและสิ่งที่สนใจ” แน่นอนว่าถ้าเราไม่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง เราก็จะไม่สามารถทำงานนั้นๆ ได้อยู่แล้ว ลองกลับมาสังเกตว่าตัวเองมีทักษะอะไรบ้าง ผ่านสิ่งที่เราทำได้ดี ผ่านหน้าที่ที่มักได้รับมอบหมายจากเพื่อนบ่อยๆ นอกจากทักษะแล้ว ความสนใจของเราก็สำคัญเช่นกัน ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องไปทำงานด้านเศรษฐกิจ แต่เรากับไม่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจเลย ก็คงจะเหนื่อยและไม่มีความสุขสักเท่าไหร่ ดังนั้น การมีความสนใจที่ตรงกับสิ่งที่เราทำจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความพึงพอใจในงานที่มากขึ้นเช่นกัน

ด้านที่ 2 “บุคลิกภาพและสังคม” ยกตัวอย่างว่าถ้าเราเป็นคน Introvert ที่ไม่ค่อยชอบพบปะผู้คน แต่ต้องไปทำงานที่ต้องมีการ Networking บ่อยๆ หรือติดต่อคนอยู่ตลอด ก็คงจะฝืนใจไม่น้อย นอกจากนี้ ถ้าเราอยากที่จะเป็นคนแบบไหน ก็ต้องเอาตัวเองไปอยู่ในที่นั้นๆ เพราะเราใช้ชีวิตกับการทำงานมากกว่าใช้ชีวิตส่วนอื่นๆ เสียอีก ทำให้สังคมที่เราอยู่มีส่วนในการ Shape เราไม่น้อย ดังนั้น เราต้องมาดูว่าเรามีบุคลิกแบบไหน และอยากที่จะเป็นคนแบบไหน เพื่อที่จะหางานที่เหมาะกับตัวเองมากยิ่งขึ้น

ด้านที่ 3 “เงื่อนไขในการทำงาน” แต่ละคนมีความชอบในการทำงานแตกต่างกัน บางคนชอบทำงานคนเดียว บางคนชอบทำงานที่บ้าน บางคน Productive ตอนกลางคืน ลองเอาเงื่อนไขการทำงานเหล่านี้ไปดูกับเนื้องานที่เราสมัคร ว่ารูปแบบการทำงานในตำแหน่งนี้เป็นอย่างไร มีความยืดหยุ่นในการทำงานหรือไม่ และ Match กับสิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า

ด้านที่ 4 “วิถีชีวิต” เราต้องกลับมาดูว่าชีวิตของเราต้องการอะไร ต้องการมีไลฟ์สไตล์แบบไหน ถ้าเราอยากมีไลฟ์สไตล์ที่ Luxury แน่นอนว่าเราก็อาจจะอยากได้งานที่ได้เงินเยอะที่สุด เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ หรือใครอยากที่จะมีเวลาของตัวเองเยอะๆ อยากมี Work Life Balance การทำงานที่กลืนทั้งชีวิตไปก็คงจะไม่เหมาะสักเท่าไหร่

ด้านที่ 5 “Personal Core Values” ด้านที่เราได้กล่าวถึงไปในตอนต้น ซึ่งเป็น Shade ที่หายากที่สุดในทั้ง 5 Shades ที่ได้กล่าวมา เพราะมันเป็นการถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เรายึดถือ โดยอิงจากหนังสือ From Values to Actions การหา Personal Core Values สามารถทำได้จากการสะท้อนความคิดของตัวเองในแต่ละสัปดาห์ว่าใน 7 วันที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งที่ตัวเองทำแล้วภูมิใจ อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วละอายใจ และเราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราทำแล้วละอายใจได้อย่างไรถ้าเราสามารถย้อนเวลากลับไปได้ เมื่อทำสิ่งเหล่านี้แล้ว เราก็จะเห็นแพทเทิร์นของเหตุผลในสิ่งที่เราภูมิใจ และสิ่งที่เราละอายใจ ซึ่งนี่แหละคือ Personal Core Values หรือคุณค่าที่เรายึดถือนั่นเอง

หลังจากได้รู้ว่า Personal Core Value ของตัวเราเองคืออะไร และทักษะความสามารถของเราคืออะไร เราก็ต้องนำมาผนวกกับ Global Trend หรือเทรนด์ของโลกด้วย เพราะการเลือกเส้นทางให้สอดคล้องกับ Personal Core Values นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องสวนทางกับกระแสโลก ในทางตรงกับข้าม เราควรต้องเดินไปพร้อมกับเทรนด์ต่างๆ ด้วยซ้ำ เพราะโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน ตามมาด้วยโอกาสใหม่ๆ ในขณะเดียวกันสิ่งเดิมๆ ก็อาจค่อยๆ ลดความนิยมลง จนไม่สามารถสร้างรายได้และทำเป็นอาชีพอีกต่อไป

และเมื่อเราได้ลองค้นหา 5 Shades of Life ออกมาแล้ว สิ่งที่เราจะได้คือการ ‘ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น’ ได้พิจารณาถึงเงื่อนไขด้านต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความชอบ ความสนใจ ทักษะที่มี ความต้องการ ไลฟ์สไตล์ และท้ายที่สุดคือการได้ค้นพบคุณค่าที่เราให้ความสำคัญในชีวิต จากนั้นก็ลองนำมาผนวกกับเทรนด์ของโลกดู เราก็จะมั่นใจมากขึ้นในการเลือกทางเดินของตัวเองในอนาคต

Advertisements

‘Digital Mindset’ ทักษะเทคโนโลยีที่ช่วยต่อยอดความฝันให้สำเร็จ : คุณเฟื่องลดา – สรานีสงวนเรือง

ชีวิตเราจะเป็นแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าเรามีทัศนคติอย่างไร

ในปัจจุบัน เรามักจะได้ยินทัศนคติสองประเภทที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือ Fixed Mindset และ Growth Mindset

Fixed Mindset คือ คนที่เชื่อว่าทางมันมีแต่แบบเดิมๆ มีได้แค่ทางนี้ทางเดียว เคยเป็นอย่างไหนก็ต้องเป็นอย่างงั้น ไม่มีหนทางอื่น ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ยอมรับความผิด ไม่มองโลกตามความเป็นจริง ยึดติดกับอคติส่วนบุคคล

ในขณะที่ Growth Mindset จะเป็นสิ่งตรงกันข้าม เพราะคนที่มีทัศนคติแบบนี้จะแสวงหาทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา เชื่อว่าทุกอย่างมีหนทาง เชื่อว่าการเรียนรู้และเติบโตไม่มีที่สิ้นสุด ยอมรับ เปิดใจ ยินดีที่ปรับ เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การที่เรามี Fixed Mindset คงทำให้เราก้าวไม่ทันคนอื่นอย่างแน่นอน แต่การมี Growth Mindset นี่แหละที่จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และพร้อมที่จะรับ Mindset อีกแบบที่สำคัญต่อโลกในปัจจุบันนี้เข้ามาปรับใช้ ซึ่งนั่นก็คือ ‘Digital Mindset’ นั่นเอง

เพราะในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำคัญของการมีทัศนคติแบบดิจิทัลยิ่งทวีคูณมากขึ้นหลายเท่า ถือว่าเราหลายๆ คนยังโชคดีมากๆ ที่ในยุคนี้มีความพร้อมทางเทคโนโลยีและดิจิทัล ที่ช่วยเข้ามาขับเคลื่อนชีวิตเราในทุกๆ ด้าน และช่วยลดข้อจำกัดต่างๆ ลง เช่น การพูดคุยแบบออนไลน์ ที่ลดข้อจำกัดในการเดินทางลง เราเริ่มที่จะเห็นแล้วว่า การมีอยู่ของเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตการทำงานของเราง่ายขึ้น และมีความสุขมากยิ่งขึ้น ทำให้เราต้องอาศัยการมี Digital Mindset เป็นตัวช่วยให้เราเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และผสานชีวิตเข้ากับเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น

อย่างทางคุณเฟื่องเองตั้งแต่เข้าวงการไอทีมาก็มีการนำ Growth Mindset มาปรับใช้ เมื่อจัดตั้งบริษัทของตัวเองแล้ว ก็ได้นำ Digital Mindset เป็นที่ตั้ง แล้วนำเครื่องมือซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามาช่วยให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงของการทำ Work From Anywhere ที่ให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งเครื่องมือที่ทางคุณเฟื่องได้ใช้และนำมาแนะนำ ที่ช่วยให้การทำงานในยุคดิจิทัล ก็จะมีเครื่องมืออยู่ 4 ประเภทหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

1. เครื่องมือติดต่อสื่อสาร : Slack
2. เครื่องมือจัดตารางงาน : Asana, Trello และ Clickup
3. เครื่องมือใช้ทำพรีเซนต์เทชัน : Canva
4. เครื่องใช้ในการทำงานแบบ Visual : Gather Town

แน่นอนว่าในโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม โลกของเราก็ต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ กำเนิดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา และอาจจะมีความยากกว่าเดิม ซับซ้อนกว่าเดิม แต่ถ้าเรามี Growth Mindset มีหัวใจในการเรียนรู้ และพร้อมเติบโต เทคโนโลยีก็จะเป็นเหมือนเพื่อนคู่ใจ ที่จะช่วยเหลือและทำความฝันของเราให้เป็นจริง

‘Design for Better Living’ ทักษะการออกแบบเพื่อชีวิตที่ดี – อ.กชกร วรอาคม

ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่เริ่มที่จะไม่พอใจกับคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ความไม่พอใจในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องของงาน ไม่ได้หมายถึงเรื่องของความมั่งคั่ง แต่หมายถึงเรื่องของความกลัวในเรื่องของ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั่นเอง เพราะสิ่งที่คนรุ่นก่อนๆ ได้ทำมาได้สะสมมา จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้สิ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องแก้ไขให้ได้

ทางคุณกชกรเอง ก็เป็น “ภูมิสถาปนิก” ที่เป็นหนึ่งในคนที่สร้างดีไซน์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของทุกคน เพื่อที่จะช่วยโลกของเรา ให้เราทุกคนได้มี “Better Living”

คุณกชกรได้เล่าว่า ตัวเองไม่อยากที่จะออกแบบคาสิโน หรือรีสอร์ต เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เติมเต็มชีวิตของตัวเอง แต่ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณกชกรใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ทำให้คุณกชกรจะต้องกลับมานั่งคิดอีกทีว่าจะตัดสินใจทิ้งสิ่งที่ใฝ่ฝันไว้ มาทำสิ่งที่สร้างให้เกิด Better Living จริงๆ ต่อสังคมที่ไทยดีไหม

แต่สุดท้ายเมื่อได้คำตอบ คุณกชกรก็ได้กลับมาเมืองไทย ได้เห็นปัญหาต่างๆ อย่าง PM 2.5 หรือน้ำท่วม ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เราต้องทนอยู่กับมันจริงๆ หรือ แต่สุดท้ายทางออกก็คือ “เราสามารถที่จะช่วยให้มันดีขึ้นได้”

ในช่วงที่น้ำท่วมหนักๆ ในประเทศไทย ทางคุณกชกรก็ได้กลับมาประเทศไทย ซึ่งทางคุณกชกรอยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้าง Better Living ให้กับผู้คน จึงได้ทำการออกแบบในหลายๆ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” ซึ่งในปี 2011 พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงมาก รวมถึงโครงการ “อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี” ซึ่งเป็นสองโครงการที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก เนื่องจากมีโซลูชันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ดี

สิ่งที่สำคัญคือ สองโครงการนี้เป็นโครงการที่ทำกับมหาลัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับเด็กรุ่นใหม่ที่สุด เป็นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นว่าเราทำได้ ในการที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานอะไรบางอย่าง เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา และถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ต่อๆ ไปให้พวกเขาในอนาคต

เมื่อเราต้องเตรียมพร้อม เข้าสู่โลกใหม่

แน่นอนว่าอนาคต เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่ในปัจจุบัน เราก็ต้องขอบคุณความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมสู่อนาคตจึงสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการตามหาตัวตนให้เจอผ่าน 5 Shades of Life ของคุณเอ็ม หรือจะเป็นการเตรียมทัศนคติแห่งดิจิทัล เพื่อเตรียมรับกับโลกแห่งเทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึงของคุณเฟื่องลดา รวมถึงการสร้างพื้นฐานทางสังคมของคุณกชกร ที่จะช่วยสร้าง Better Life ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต

สามารถรับชม Future Talk by AGC ภายใต้หัวข้อ “Future Skills สกิลดีสร้างอนาคตให้เป็นจริง” แบบเต็มได้ที่
Youtube : https://bit.ly/3d2wmGi
Facebook : https://bit.ly/31i4TxS

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่