อยากให้ผลงานออกมาดีกว่าเดิมไหม? รู้จัก The Fresh Face Effect ลองเพิ่ม ‘คนหน้าใหม่’ เข้าทีมดูสิ!

358
The Fresh Face Effect

การมีเพื่อนร่วมงานคนใหม่เข้ามาในทีม อาจทำให้ทั้งพนักงานเดิมและหัวหน้ากังวลอยู่ไม่น้อย เราไม่แน่ใจว่าคนที่พึ่งเข้ามาจะทำงานเข้ากับเราไหม งานจะติดขัดไหม และผลงานจะออกมาได้มาตรฐานเดิมหรือเปล่านะ

เรารู้สึกเช่นนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เราไม่ชอบเท่าไรนัก ถ้าเลือกได้เรามักเลือกสิ่งเดิมๆ ที่ทำให้เราสบายใจมากกว่า และหากไม่จำเป็น คงไม่อยากปรับอะไรเพราะ “ที่เป็นอยู่ ก็ดีอยู่แล้ว”

แต่รู้หรือไม่ว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เช่น การให้โอกาส ‘คนใหม่ๆ’ เข้ามาทำงาน สามารถนำไปสู่ความสำเร็จแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนได้!

Advertisements

รู้จักกับ The Fresh Face Effect เพราะหน้าใหม่ๆ ช่วยอะไรได้เยอะ!

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งต้องการศึกษาว่าคนหน้าใหม่ช่วยกระตุ้น ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ในองค์กรได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในสายงานที่ต้องผลิตผลงานน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนหน้าใหม่ ณ ทีนี้ครอบคลุมทั้ง ‘พนักงานเดิม’ ที่ย้ายเข้าทีมใหม่ และ ‘พนักงานใหม่’ ที่พึ่งเข้าบริษัท

งานวิจัยเลือกสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ทีมเบื้องหลัง’ ของผู้ผลิตซีรีส์ Doctor Who และเรตติ้งของแต่ละตอน สาเหตุที่พวกเขาเลือก Doctor Who เป็นเพราะซีรีส์เรื่องนี้มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ ค.ศ.1963 จนถึงปัจจุบัน และมีการเปลี่ยนแปลงทีมเบื้องหลังอยู่ตลอด (แม้จะหยุดฉายไปช่วงปี ค.ศ.1989-ค.ศ.2005)

ทีมงานดังกล่าวประกอบด้วยผู้กำกับและเหล่าคนเขียนบท โดยนักวิจัยได้ศึกษารายชื่อทีมงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำ และแบ่งผลงานออกเป็น 2 ประเภท คือตอนที่ใช้ทีมงานเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และตอนที่มี ‘ทีมงานใหม่’ เข้ามา หรือตอนที่มีพนักงานเดิม แต่พึ่งเคยทำงานด้วยกันเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงเชิญนักวิจารณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านรายการทีวีในสหราชอาณาจักรมารับชมซีรีส์ Doctor Who ทั้งหมด 273 ตอน โดยนักวิจารณ์ต้องให้คะแนนแต่ละตอนไว้ด้วย

ผลงานวิจัยพบว่าตอนที่ผลิตโดยทีมงานเดิมๆ ผลตอบรับมักจะอยู่ระดับกลางๆ แต่ที่น่าสนใจคือ ตอนที่มี ‘คนหน้าใหม่’ ร่วมทีมเบื้องหลังนั้นทำคะแนนได้ดีกว่ามาก!

การมีพนักงานใหม่ในทีมสร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ได้อย่างไรกัน?

เพราะความต่าง ช่วยสร้างความแปลกใหม่

ความหลากหลายถือเป็นเรื่องดีในที่ทำงาน งานวิจัยหลายๆ งานพบว่า ‘ความหลากหลาย’ ของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ หรืออายุ ช่วยนำไปสู่ความสำเร็จได้

จริงอยู่ที่การร่วมงานกับคนหน้าเดิมๆ เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน เพราะต่างฝ่ายต่างได้ใช้เวลาด้วยกันจนเข้าใจขั้นตอนการทำงาน และรู้นิสัยของกันและกันหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะฟังดูมีเสถียรภาพ แต่การทำงานตามรูปแบบซ้ำเดิมเช่นนี้เป็นเวลานาน ประกอบกับความคิดของคนในทีมที่นานวันเข้าเริ่มมีความคล้ายคลึงกัน อาจทำให้ผลงานที่ออกมา ‘จืดชืด’ โดยที่เราไม่รู้ตัว

“ยิ่งทำงานด้วยกันไปนานๆ ความคิดก็เหมือนกันเข้าไปทุกวัน ต่างฝ่ายต่างเห็นด้วยในเรื่องเดียวกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์การ (Organizational Behavior) ท่านหนึ่งกล่าว เขามองว่าความเห็นพ้องเป็นเรื่องดีในแง่ความแข็งแรงและความสัมพันธ์ขององค์กร แต่สิ่งนี้ถือเป็นหายนะของความคิดสร้างสรรค์!

ในทางกลับกัน การทำงานกับเพื่อนร่วมงานใหม่ช่วยให้คนในทีมได้แลกเปลี่ยน ‘มุมมอง’ ที่ต่างไปจากเดิม และหากพวกเขาเหล่านั้นมาพร้อมกับ ‘ทักษะ’ ใหม่ๆ ยิ่งเป็นเรื่องดีสำหรับทีม เพราะสิ่งเหล่านี้อาจนำมาสู่นวัตกรรม แนวคิด และผลงานที่ยอดเยี่ยมไม่ซ้ำใคร

Advertisements

แน่นอนว่าการรื้อพนักงานยกแผนกไม่ใช่เรื่องดี แต่การสลับสับเปลี่ยน หรือเพิ่มคนหน้าใหม่สักคนอาจส่งผลดีเกินคาด

เพราะความ ‘คุ้นเคย’ นำมาสู่การ ‘มองข้าม’ ข้อผิดพลาด

จริงๆ แล้วการมีพนักงานใหม่เข้ามาในทีมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยที่เขาคนนั้นไม่จำเป็นต้องมีแนวคิดแตกต่าง หรือทักษะแปลกใหม่เลย เพราะในการรับใครสักคนเข้ามานั้น คนในทีมต้อง ‘อธิบาย’ ขั้นตอนการทำงานให้ฟัง

หากเราต้องอธิบายสิ่งที่เราทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การหายใจ หรือ การเดิน ให้ใครสักคนฟัง แน่นอนว่าเราต้องหยุดคิดสักพักใหญ่เลย เพราะเราทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความคุ้นเคยจนไม่ได้นึกถึงวิธีการทำงานของมัน เช่นเดียวกับการอธิบายงานให้น้องใหม่ฟัง เราต้องคิดอย่างมีสติก่อนจะอธิบายออกมาเป็นขั้นเป็นตอน

และในระหว่างนี้เอง เราอาจตระหนักได้ว่าบางอย่างมัน ‘ไม่เวิร์ก’ นี่นา!

บ่อยครั้งเราเผลอคิดว่าที่เป็นอยู่ก็ดีแล้ว ทั้งๆ ที่จริงเราแค่คุ้นชินกับวิถีเดิมๆ และสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไร ความสบายใจนี้ทำให้เราคิดไปเองว่าขั้นตอนการทำงานของเรานั้นดี จนกระทั่งคนหน้าใหม่ ‘ตั้งคำถาม’ หรือชวนให้เราฉุกคิดระหว่างการสอนงาน เราถึงได้เห็นข้อผิดพลาด

จะเห็นได้ว่าบางครั้งที่เราไม่ได้ซ่อม ไม่ใช่เพราะของมันไม่พัง แต่เราแค่มองไม่เห็น

mm2021

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ทฤษฎีนี้ได้ทำการทดลองในอุตสาหกรรมที่มีผลงานออกมาถี่ๆ จำนวนมากเท่านั้น เช่น สื่อบันเทิง งานเขียน หรืองานออกแบบ แต่งานชิ้นใหญ่ที่ใช้ระยะเวลาทำนานเป็นปีอย่างการให้คำปรึกษา (Consulting) ยังไม่สามารถวัดผลได้ว่าการเพิ่มคนหน้าใหม่ในทีมจะได้ผลหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงบุคลากรฟังดูเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก เพราะความมั่นคงในองค์กรก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่บางทีเด็กใหม่ไฟแรงก็อาจพาทีมทะยานไปอีกขึ้น และทำสิ่งที่เราคิดว่า ‘ดีอยู่แล้ว’ ให้ ‘ดีกว่าเดิม’ ก็ได้นะ


อ้างอิง
https://bbc.in/3jE3bxM

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements