self developmentเปิดก่อนได้เปรียบกว่าจริงไหม? รวมเคล็ดลับ “การต่อรอง” ให้ได้ทุกอย่างที่ต้องการ

เปิดก่อนได้เปรียบกว่าจริงไหม? รวมเคล็ดลับ “การต่อรอง” ให้ได้ทุกอย่างที่ต้องการ

เมื่อพูดถึงการต่อรอง เราอาจนึกถึงสงครามการถกเถียงที่ทั้งสองฝ่ายต่างห้ำหั่นกันอย่างไม่ลดละ อีกทั้งยังต้องมีความเจ้าเล่ห์และรู้เท่าทันเกมของอีกฝ่าย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการและสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น

แต่การต่อรองควรเป็นดังภาพที่กล่าวมาจริงหรือเปล่า

หากจะเปรียบการต่อรองในความเป็นจริงให้เห็นภาพ ก็ต้องบอกว่ามันเหมือนการเต้นรำเสียมากกว่า ทั้งสองฝ่ายผลัดกันนำ ผลัดกันตาม โยกย้ายอย่างลื่นไหลและเป็นจังหวะเดียวกัน โดยในตอนท้ายต่างก็มีทั้งส่วนที่ได้และเสีย (หรืออาจจะได้มาก ไม่ก็ได้น้อย)

“การต่อรองก็เหมือนการเกี้ยวพาราสี เหมือนการเต้นรำ” ไมเคิล วีลเลอร์ เจ้าของหนังสือเรื่องการต่อรองชื่อ The Art of Negotiation: How to Improvise Agreement in a Chaotic World และศาสตราจารย์แห่ง Harvard Business School กล่าว “แต่แน่นอนว่าเราไม่ต้องประนีประนอมและยอมอ่อนข้อเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเสมอไป”

ฟังดูอาจเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ถ้าหากคิดดูดีๆ แล้วจะพบว่า การต่อรองนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การขอขึ้นเงินเดือน การขอเวลาเพิ่มในการทำโปรเจกต์ ไปจนถึงการตกลงกับแฟนว่าคืนนี้จะดูหนังเรื่องอะไร ทุกอย่างล้วนอาศัยทักษะการต่อรองทั้งสิ้น ดังนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเราไม่น้อย หากเราได้พัฒนาทักษะนี้ให้ดีกว่าเดิม

มาดูกันว่าเราจะต่อรองอย่างไรให้ได้สิ่งที่ต้องการ โดยเรียนรู้ที่จะไม่ห้ำหั่น แต่ทำอย่างสุภาพและนุ่มนวลเหมือนการเต้นรำ รักษาความสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กับได้ผลประโยชน์ที่เราต้องการอยู่

1) เข้าใจหัวใจของการต่อรอง

ก่อนจะลงสนามอย่าคิดเสียแต่จะเอาชนะ ให้มองการต่อรองเป็นเหมือนการเพิ่มพื้นที่ในแผนภูมิวงกลม (หรือส่วนแบ่งการตลาดนั่นแหละ) ให้ได้มากที่สุดสำหรับทั้งคู่มากกว่า โดยไม่ลืมว่าในความสัมพันธ์นี้จะมีทั้งฝ่ายที่ได้เปรียบมากและฝ่ายที่ได้เปรียบน้อยกว่า แต่อย่างไรมันก็สร้างประโยชน์มากกว่าการไม่ร่วมมือกันเลย

2) ก่อนจะรู้เขา รู้เราเสียก่อน

หากเราไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร ในการพูดคุยที่ยาวนานและสับสน เราอาจจะหลงทางเอาได้ บทความ How To Negotiate Effectively จากนิตยสาร Forbes แนะนำว่าสิ่งที่เราต้องระบุให้ได้ก่อนเริ่มการเจรจา คือ

[ ] จุดแจ็กพอต : ถามตัวเองว่าเราอยากให้การเจรจาออกมาแบบไหน ถึงจะเรียกได้ว่า “ประสบความสำเร็จแบบพลุแตก” โดยจุดแจ็กพอตนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าปลายทางสูงสุดของเราคืออะไร (โดยที่ไม่ลืมว่า Likely Outcome หรือความเป็นไปได้นั้นอาจต่ำกว่าแจ็กพอตเราคาดหวังไว้อยู่แล้ว)

[ ] จุดเดินหนี : การเจรจาต้องมีการเทรดออฟ (Trade Off) หรือการยอมแลกอยู่แล้ว ดังนั้นก่อนเริ่มเจรจา เราควรรู้ว่าอะไรที่เราแลกได้ อะไรที่เราแลกไม่ได้ และจุดไหนที่เราควรจะ “ยุติการเจรจา” มิเช่นนั้นเราอาจจะตกอยู่ในการพูดคุยไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเสียเปรียบมากกว่าที่เราคิดเสียอีกเพราะไม่เดินออกมาเสียที

Advertisements

3) หาข้อมูลมาก่อนเสมอ

ไม่ว่าจะเจรจาเรื่องอะไรการหาข้อมูลมาก่อนจะช่วยให้เราได้เปรียบเสมอ เพราะมันช่วยให้เราเข้าใจอีกฝ่ายได้ดีขึ้น ว่าจุดประสงค์ จุดอ่อน และจุดแข็งของฝ่ายตรงข้ามคืออะไร หรือภาพรวมทั้งหมดของตลาดเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่นในการขอขึ้นเงินเดือน หากเราเอ่ยตัวเลขที่ต้องการขึ้นมาเฉยๆ อีกฝ่ายอาจมองว่าเราเสนออะไรตามอำเภอใจ แต่หากเราทำการศึกษาหาค่าเฉลี่ยของเงินเดือนในตำแหน่งเดียวกับเรา และนำตัวเลขนั้นมาใช้ในการอ้างอิง อาจช่วยให้การต่อรองของเรามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

4) เตรียมสภาพจิตใจมาให้ดี

การต่อรองเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราต้องเผชิญทั้งความกังวลก่อนเริ่ม ความเครียดและความโกรธระหว่างทาง หรือความผิดหวังหลังจากการเจรจา ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะเว้น “ระยะห่างทางอารมณ์” ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ไม่โมโหตามเมื่ออีกฝ่ายขึ้นเสียง ไม่คล้อยตามคำยั่วยุ และไม่ปล่อยให้ผลลัพธ์เป็นตัวกำหนดคุณค่าของเรา

อีกแนวคิดที่พอจะช่วยให้เราเผื่อใจกับผลลัพธ์ได้ก็คือแนวคิดแบบ Defensive Pessimism หรือการยอมรับไว้ล่วงหน้าว่าความล้มเหลวอาจขึ้น การเจรจาอาจไม่เป็นดั่งที่เราคิด

5) เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ในกรณีที่อีกฝ่ายยื่นข้อเสนอมาต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ พยายามอย่าถือสาว่าการกระทำหรือข้อเสนอของอีกฝ่ายนั้นมีจุดประสงค์ไม่ดีต่อเรา เพราะแต่ละคนก็มีเป้าหมายและความกดดันเป็นของตัวเอง

เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ HR เสนอเงินเดือนให้เราต่ำกว่าที่คิด นั่นไม่ได้หมายความว่า HR คนนั้นดูถูกความสามารถของเราแต่อย่างใด แต่อาจเป็นเพราะงบประมาณที่มีจำกัดหรือถูกกำหนดมาแล้ว

Advertisements

6) ถามคำถาม

เรายังใส่ใจอีกฝ่ายได้ด้วยการถามคำถามและตั้งใจฟังอย่างแท้จริงเมื่ออีกฝ่ายพูด นอกจากจะเป็นการใส่ใจความต้องการของอีกฝ่ายแล้ว การถามยังช่วยนำไปสู่การหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

7) เน้นคำว่า “พวกเรา”

การเน้นคำว่า “พวกเรา” (We) แทนคำว่า “ฉัน/เรา” (I) จะช่วยให้การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายดูเบาลง และมองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากได้ข้อตกลงนั้นจะเป็นการทำงานร่วมกันและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการแสดงความคิดเห็นหรือทางออกให้แก่ปัญหาที่ถูกพูดถึงอีกด้วย

8) พูดคุยสัพเพเหระบ้าง

งานวิจัยพบว่าการคุยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ (Small Talk) ก่อนการเริ่มเจรจานั้นจะหาข้อตกลงร่วมกันได้ง่ายกว่า เพราะมันจะช่วยสร้างความเห็นอกเห็นใจและความเชื่อใจ ดังนั้นก่อนจะเข้าประเด็น ลองถามไถ่อีกฝ่ายดูบ้างว่าพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง

นอกจากเทคนิคเหล่านี้แล้ว หลายๆ คนอาจเคยได้ยินเรื่องอื่น เช่น ‘การเริ่มก่อนช่วยให้ได้เปรียบกว่า’ หรือ ‘การเจรจาตอนเช้าได้ผลกว่าตอนเย็น’ และอาจสงสัยว่าเทคนิคเหล่านี้จริงแท้อย่างไร

ในเรื่อง “เวลา” ของการเจรจานั้น การศึกษาต่างก็ให้ความเห็นแตกต่างกันออกไป บางการวิจัยพบว่าช่วงเช้าดีกว่า แต่บ้างก็สรุปว่าช่วงบ่ายดีกว่า จึงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เช่นเดียวกับ “การเปิดก่อน-หลัง” ที่ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดเช่นกัน ว่าเริ่มก่อนหรือหลังดีกว่า

นอกจากเทคนิคที่กล่าวไปแล้ว บางครั้งสิ่งที่ต้องเจอในการเจรจาคือ “ความไม่เป็นมิตร” หรือความพยายามในการกลั่นแกล้งจากอีกฝ่าย (Bullying) บางทีอาจถึงขั้นเจอ “คำขู่” เสียด้วยซ้ำ

สิ่งแรกที่จะช่วยเราในการรับมือ คือ “การตั้งคำถาม” เช่น หากเราถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นมิตรว่า ‘ข้อเสนอนี้มันเอาเปรียบกันชัดๆ!’ แทนที่จะเถียงกลับ เราควรถามไถ่อีกฝ่ายว่า ทำไมเขาถึงมองว่าเป็นการเอาเปรียบ นอกจากเราจะได้ฟังคำอธิบายจากมุมมองของอีกฝ่ายแล้ว เราจะได้ใช้ช่วงเวลาที่อีกฝ่ายอธิบายในการตั้งตัวอีกด้วย

อีกเทคนิคที่จะช่วยลดความไม่เป็นมิตรคือ “การกล่าวออกมาตรงๆ” เช่น เมื่อเรารู้สึกว่าการเจรจามีการขึ้นเสียงหรือใช้อารมณ์กันเกินไปหน่อย เราอาจพูดตรงๆ เลยว่า “รู้สึกว่าตอนนี้ค่อนข้างตึงเครียดกันทั้งสองฝ่ายเลย ลองพักกันสัก 5 นาทีค่อยมาหาข้อสรุปต่อไหม” เป็นต้น

การอยู่เหนืออีกฝ่ายเป็นชัยชนะที่หอมหวาน แต่อย่าลืมไปว่าเป้าหมายของการทำงานร่วมกันตั้งแต่แรก คือผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของทั้งคู่ ดังนั้นแทนที่จะปล่อยตามอารมณ์และโฟกัสแต่การเอาชนะ ลองนำ 8 เทคนิคที่เราได้แนะนำไปใช้ในการเจรจาคราวถัดไปดูไหม คุณอาจพบว่าการต่อรองก็ทำให้ราบรื่นได้ แถมอาจลงเอยแบบ Win-Win ทั้งสองฝ่ายได้อีกด้วย

อ้างอิง
– 3 steps to getting what you want in a negotiation – TED : https://bit.ly/3KJFIXR
– How To Negotiate Effectively – Forbes : https://bit.ly/3L8IhnR
– How to Negotiate Nicely Without Being a Pushover – HBR : https://bit.ly/41Gm469

#missiontothemoon

#missiontothemoonpodcast
#selfdevelopment
#softskill

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า