รู้จักกับอาการ Imposter Syndrome แก้ปัญหาอย่างไรดี? เมื่องานที่ทำยิ่งทำให้รู้สึกว่า “เราเก่งไม่พอ”

3628
Imposter Syndrome

หลายปีที่ผ่านมานี้มีการพูดถึง “Imposter Syndrome” (หรืออาการที่เรารู้สึกว่าเราไม่เก่ง) กันมากมายโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ หลายคนเริ่มตระหนักได้ว่าความรู้สึก ‘ฉันดีไม่พอ’ ที่เรารู้สึกนี่แหละ มีสาเหตุมาจาก Imposter Syndrome ชัดๆ!

พอเริ่มมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาการนี้มากขึ้น เราก็พอจะรู้แล้วว่าจะรับมือกับความรู้สึกนี้อย่างไร แต่บางทีการแก้ปัญหาที่ตัวเราก็ดูจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก เมื่อปัจจัยภายนอกอย่าง ‘การทำงาน’ ทำให้เรารู้สึกว่าอาการนี้มันยิ่งแย่

จะหาทางออกอย่างไรเมื่อการทำงานยิ่งทำให้เราสงสัยในความสามารถของตัวเอง?

Advertisements

Imposter Syndrome ฉบับพอสังเขป

สำหรับคนที่ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน ‘Imposter Syndrome’ คืออาการที่เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้เก่งอะไรเลย ที่ประสบความสำเร็จได้นี้ก็เพราะโชคดีล้วนๆ และเรากลัวเหลือเกินว่าคนอื่นจะรู้ความลับนี้เข้า!

แม้จะนิยมเรียกกันว่า Syndrome แต่จริงๆ แล้วอาการนี้ก็ไม่เข้าข่ายว่าเป็นโรคเสียทีเดียว เพราะถ้าหากขึ้นชื่อว่า Syndrome แล้วต้องวินิจฉัยได้ ในงานวิจัยต่างๆ จึงมักเรียกความรู้สึกนี้ว่า ‘Imposter Phenomenon’ เสียมากกว่า

ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร อาการนี้ก็เกิดขึ้นกับมนุษย์เราจริงๆ และเราไม่ได้คิดไปเอง งานวิจัยหนึ่งพบว่ากว่า 70% ของคนเราจะรู้สึกถึงอาการ ‘เราไม่เก่ง’ ในช่วงหนึ่งของชีวิต

แล้วผลเสียที่ตามมาคืออะไร?

ความข้องใจในตัวเองนี้ส่งผลออกเป็นสองประเภท คือแบบ Overachievement กับ Underachievement

ชาว Overachiever (คนที่ประสบความสำเร็จมากๆ) ที่มีอาการ Imposter Syndrome มักจะข้องใจในความสามารถของตัวเองตลอด ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด 

และในการทำอะไรบางอย่าง พวกเขาจะเตรียมตัวแบบทั้งวันทั้งคืนจนเกินพอดี เพราะอยากให้ออกมา ‘สมบูรณ์แบบ’

แม้จะฟังดูดีเพราะการเตรียมพร้อม ย่อมดีกว่าไม่เตรียมอะไรเลย แต่อย่าลืมว่าระหว่างทาง พวกเขาเหล่านี้ต้องเสียสุขภาพจิตและสุขภาพกายไปด้วย

ส่วนกลุ่ม Underachiever คือกลุ่มคนที่มักกลัวว่าการกระทำบางอย่าง จะเป็นการเปิดเผยให้คนอื่นรู้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่เก่ง หรือไม่ก็กลัวว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขาจึงเลือก ‘ไม่ทำ’ เลยดีกว่า คนเหล่านี้จึงไม่ค่อยได้พัฒนาตัวเองในด้านใหม่ๆ เพราะมักจะติดอยู่ใน Comfort Zone

ไม่ว่าสุดท้ายเราจะกลายเป็นชาว Overarchiever หรือ Underarchiever ความข้องใจในตัวเองนี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตทั้งนั้น หลายงานวิจัยบ่งชี้ว่า Imposter Syndrome เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า

mm2021

เมื่อการทำงานยิ่งกระตุ้นให้เกิด “Imposter Syndrome”

ทำงานหนัก เตรียมตัวเยอะ พยายามจนไม่พักไม่ผ่อน ไม่มีใครได้ประโยชน์จากอาการเหล่านี้ของ Imposter Syndrome ไปมากกว่า ‘โลกของการทำงาน’

หลายบริษัทคาดหวังให้พนักงานทำงานแบบ ‘Exceed Expectation’ หรือทำงานออกมาดีเหนือความคาดหมาย แม้จะไม่ได้มีการพูดตรงๆ แต่เราย่อมรู้ดีว่าพนักงานที่ทำงานออกมากลางๆ ตามมาตรฐาน คือพนักงานที่ไม่ได้โบนัส

เงินรางวัล ค่าคอมมิชชัน หรือค่า Incentive สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างมาเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานหนักยิ่งขึ้น ความกดดันและการแข่งขันในที่ทำงานนี้เองทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ

ในฐานะพนักงาน เราจะดูแลตัวเองได้อย่างไร

Imposter Syndrome ทำให้เรามองข้าม ‘ความสำเร็จ’ ที่ทำมาทั้งหมดไปอย่างไม่มีเหตุผล ดังนั้นสิ่งที่ช่วยให้เราต่อต้านความรู้สึกนี้ได้คือการย้ำเตือนตัวเองเป็นประจำ อย่างการจดบันทึกทุกความสำเร็จ ทุกความพยายามและสิ่งที่เราภูมิใจในตัวเองไว้ 

อีกวิธีที่จะช่วยได้คือการใส่ใจตัวเอง (Self-care) สำหรับคนที่เป็น Imposter Syndrome นั้น ‘ตัวเอง’ อยู่อันดับท้ายในลิสต์สิ่งที่ต้องดูแลเสมอ เราตกอยู่ในวังวนของความรู้สึกไม่เก่ง จึงทำงานหนักให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่ก็จบลงด้วยความรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอเช่นเดิม หากเราไม่ใส่ใจตัวเอง เราจะวิ่งวนไปวนมาเช่นนี้จนสุขภาพย่ำแย่เอาได้

Advertisements

เราควรหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้นเหมือนที่เราใส่ใจงานหรือใส่ใจคนอื่น หัดสังเกตว่าอะไรที่กระตุ้นให้เรารู้สึกดีไม่พอ และจะดูแลตัวเองอย่างไร หรือเมื่อไรคือเวลาที่ต้องยื่นมือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

แล้วบริษัทจะช่วยพนักงานอย่างไรได้บ้าง

บริษัทต้องใส่ใจพนักงานมากขึ้นทั้งในด้านของสุขภาพกายและใจ อาจเริ่มด้วยการสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ดี ลดการแข่งขัน ลดความกดดันและแสดงให้พนักงานเห็นเป็นตัวอย่างว่าเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ มีขึ้น มีลง และมีการทำผิดพลาดกันทั้งนั้น

การใส่ใจฟังความรู้สึกของพนักงานก็สำคัญ บางครั้ง ‘ภาษา’ ที่ใช้ในการทำงาน อย่างกฎใหม่ๆ แนวคิดของบริษัท หรือคำพูดให้กำลังใจก็กดดันพนักงานโดยที่เราไม่รู้ตัว (เช่น “บริษัทเรามุ่งหน้าตามหาความสมบูรณ์แบบ” หรือ “เราสร้างแต่สิ่งที่ดีที่สุด”)

การออกมาแสดงความรับรู้เรื่อง ‘อคติ’ ในที่ทำงานก็สำคัญ เราทราบกันดีว่าแม้ปัจจุบันจะมีความเท่าเทียมมากขึ้นในที่ทำงาน แต่เพศ เชื้อชาติ และอายุ ก็ยังส่งผลต่อการถูกปฏิบัติอยู่ดี

ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้าที่เป็นผู้ชายมักจะมีความรู้สึกกดดันน้อยกว่าหัวหน้าที่เป็นผู้หญิง เพราะในโลกของการทำงาน มี Role Model ชายให้เลือกเอาเป็นแบบอย่างจำนวนมาก ตั้งแต่อดีต CEO เจ้าอารมณ์ของ Microsoft อย่าง Steve Ballmer หรือ CEO พูดน้อยเรียบร้อยของ Google อย่าง Sundar Pichai ไปจนถึง CEO สายชิวอย่าง Mark Zuckerberg ที่เรารู้กันดีว่าชอบสวมฮูดดี้กับกางเกงยีนไปทำงาน 

ความหลากหลายนี้ทำให้ CEO ชายมีอิสระในการเลือกรูปแบบการทำงานหรือการวางตัว ในขณะเดียวกันภาพจำของ CEO หญิงกลับมีแบบเดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือหญิงมั่นในชุดสูทสุดเนี้ยบและรองเท้าส้นสูง มือซ้ายถือ Starbucks ส่วนมือขวาถือ Macbook

ด้วยข้อจำกัดที่มาพร้อมเพศ เชื้อชาติ หรืออายุ ทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกกดดันกว่าคนอื่น อย่างน้อยที่บริษัทจะช่วยได้คือการให้กำลังใจ และทำความเข้าใจต่อความท้าทายที่คนกลุ่มนี้ต้องเจอ

เราใช้เวลาในชีวิตไปกับการทำงานเป็นจำนวนมาก หากช่วงเวลาเหล่านี้ไม่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘เราเก่งไม่พอ’ คงจะดีไม่น้อยและความสุขโดยรวมของชีวิตคงเพิ่มขึ้น ดังนั้นอย่าลืมใส่ใจความรู้สึกตัวเองให้มากขึ้นและพาตัวเองให้ห่างไกลจาก Imposter Syndrome กันเถอะนะ

นอกจากให้กำลังใจตัวเองแล้ว อย่าลืมให้กำลังใจคนรอบข้างด้วย

เพราะไม่มีใครอยากรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอหรอก มาคอยย้ำเตือนกันและกันดีกว่า ว่าจริงๆ แล้วพวกเราน่ะเก่งแค่ไหน

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:

เช็ก 7 นิสัย ที่ทำคุณเสียความมั่นใจและมี Low Self-esteem โดยไม่รู้ตัว

อ้างอิง:
https://bit.ly/3j9pDOP
https://bit.ly/3y5sYm1
https://bit.ly/3kalJEA

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements