ว่าด้วยเรื่องของ “ความลำบาก” เชื่อว่าไม่มีใครอยากที่จะลำบาก พ่อแม่ก็ไม่อยากจะให้ลูกต้องลำบากเช่นกัน ดังนั้นผู้ใหญ่หลายคนจึงเลี้ยงลูกมาแบบปกป้อง เอาใจ จนบางครั้งมากเกินความพอดี ซึ่งส่งผลให้เด็กมีนิสัยไม่รู้จักความลำบาก ติดตัวมาจนโต
การเติบโตมาโดยไม่รู้จักความลำบาก ทำให้หลายคนมีนิสัยเอาแต่ใจ ชอบคิดว่าทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างใจนึก หรือแม้แต่มีระดับความอดทนต่ำ ประมาณว่าไม่ได้ลำบาก ก็บอกว่าตัวเองลำบาก ทั้งนี้เพราะ “ขาดภูมิคุ้มกัน” ต่อความเป็นจริงของโลกใบนี้ ที่ไม่ได้หมุนรอบตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในเวลาที่ต้องออกไปใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคม
อะไรคือสิ่งที่ทำให้หลายคนขาดความอดทน ไม่รู้จักคำว่าลำบาก?
ปัจจัยที่สร้างนิสัยดังกล่าว มี 5 สาเหตุที่เด่นชัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง
1) นิสัยส่วนตัว
พื้นฐานด้านอารมณ์ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กมีความ “เอาแต่ใจ” และยิ่งถูกตามใจมากขึ้นโดยครอบครัว ก็จะส่งเสริมให้เด็กไม่รู้จักความลำบาก อดทนไม่ได้ รอไม่เป็น อยากได้อะไร ต้องได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมชวนเบื่อหน่ายสำหรับคนรอบข้าง
2) ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว
ในโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ที่เปรียบเสมือนอวัยวะอันดับที่ 33 ของมนุษย์ ทำให้คนไกลนั้นใกล้ขึ้น แต่คนใกล้ กลับไกลออกไป
ยิ่งกับสังคมแบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันสูง ทุกคนต้องเร่งรีบไปทำงาน รีบทำงานให้ตามเป้า โดยแข่งกับเวลา เพราะหากพ่ายแพ้ในการแข่งขันนี้ อาจหมายถึงการ “ตกงาน” ผู้ปกครองก็เลยต้องทุ่มเวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน จนเด็กๆ ในบ้านถูกละเลย
เมื่อเด็กถูกละเลย ก็มีแค่โลกในโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ที่เขาจะสามารถพูดคุยกับใครๆ ได้ เด็กจึงขาดการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น เพราะถูกผลักเข้าสู่สังคมใหญ่ (โลกโซเชียล) เร็วเกินไป แถมยังอาจเลียนแบบพฤติกรรมไม่ดีจากในโลกออนไลน์ด้วย
3) สบายจนชิน ทำอะไรเองไม่เป็น
เด็กในบ้านที่มีฐานะส่วนใหญ่ มักจะมีแม่บ้านคอยให้บริการ ไม่ว่าจะทำความสะอาด ทำกับข้าว ซึ่งเด็กก็จะไม่เคยหัดทำอะไรเอง เพราะมีคนทำให้ทุกอย่างตลอดเวลา
แต่พอโตมาแล้วต้องทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง เช่น ล้างห้องน้ำ ทำอาหาร โดยเด็กอาจคิดว่า “ทำไมฉันต้องมาลำบากทำเอง?” ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องปกติที่เราควรจะต้องทำเองได้
4) ปกป้องลูกมากเกินไป
การปกป้องลูก คือสัญชาตญาณของคนเป็นพ่อแม่ ยิ่งบนโลกที่โหดร้าย ทุกวันเต็มไปด้วยข่าวปล้น ฆ่า ลักพาตัว ก็คงไม่แปลกที่จะอยากปกป้องลูกจากโลกภายนอกให้มากขึ้น แต่การเก็บลูกไว้อยู่แต่ในบ้าน คือการสร้าง “นิสัยติด Comfort Zone” ให้กับเด็ก จนขาดการเรียนรู้ในสังคมภายนอก ซึ่งยิ่งอันตรายเมื่อต้องออกไปเผชิญโลกจริงๆ
5) ถูกตามใจในทุกเรื่อง
ลูกดื้อ เอาแต่ใจ ถ้าไม่ได้ดั่งใจก็จะร้องโวยวาย เป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ปกครองมักจะต้องเผชิญ แต่บางครั้งอาจจัดการไม่ถูกวิธี เช่น เวลาเด็กร้องจะเอาของเล่น กระทืบเท้าชักดิ้นชักงอลงไปกองที่พื้นห้าง ด้วยความอายก็จะทำให้พ่อแม่ยอมซื้อให้ ซึ่งเป็นการฝึกนิสัยเอาแต่ใจให้ลูก พอเด็กเห็นว่าทำแล้วได้ ก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ
จริงอยู่ว่าลำบากของแต่ละคน ไม่เท่ากัน และไม่ควรมีใครต้องลำบาก แต่ต้องมองให้รอบด้าน ก่อนจะตีโพยตีพายว่าสิ่งที่ตนเรียกว่าลำบากนั้น มันลำบากจริงๆ หรือแค่คิดไปเองว่าตัวเองลำบากเพราะไม่เคยรู้จักคำว่าลำบากกันแน่?
การเลี้ยงดูของครอบครัวเลยเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ปกครองควรให้ลูกสามารถเผชิญกับโลกกว้าง เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ลองลำบากบ้าง ล้มลุกคลุกคลานดูบ้าง เพราะมันจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับพวกเขาในวันที่ไม่มีผู้ปกครองคอยโอ๋อีกต่อไปแล้ว
อ้างอิงจาก :
https://bit.ly/3sTaeFH
https://bit.ly/3sFLlgk
#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
#society
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/entertainment/