รู้จัก Google Effect ไม่ได้ขี้ลืม แต่ความจำแย่ก็เพราะดิจิทัล!

924
Google Effect

คุณกำลังมีปัญหาเช่นนี้อยู่หรือเปล่า?

ช่วงนี้คุณดูเป็นคนขี้ลืม ชอบลืมนู่นนั่นนี่อยู่บ่อยๆ เมื่อกี้คิดจะทำอะไร ตอนนั้นทำอันนี้ไปแล้วหรือยัง จำอะไรไม่ค่อยได้เลย บางทีก็กลับมาคิดว่า “นี่ความจำเรากำลังแย่ลงอยู่หรือเปล่า?”

ไม่ใช่แค่นั้น นอกจากจะกลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมแบบนี้แล้ว คุณรู้สึกไหมว่า ช่วงนี้คุณกำลังใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มากจนเกินไป ทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก แถมแท็บเล็ตไว้จดงานอีกเครื่อง พอมีอะไรก็เสิร์ชหาเอาใน Google จะทำอะไรก็จดบันทึกไว้ในแอป Memo หรือแม้แต่คิดเลขแค่สองหลักก็ยังต้องใช้แอปพลิเคชันเครื่องคิดเลข จนตอนนี้แทบไม่ได้ใช้ ‘ความจำ’ จากสมองตัวเองจริงๆ เลยสักที 

Advertisements

ถ้าคุณมีคุณสมบัติครบทั้ง 2 ประการนี้ บางทีตอนนี้คุณอาจกำลังได้รับผลกระทบจาก ‘Google Effect’ อยู่ก็ได้นะ!

เพราะ Google ทำให้คนความจำแย่ลง?

Google Effect หรือที่เรียกว่า Digital Amnesia คือ ภาวะความสามารถด้านความจำของสมองเริ่มถดถอย เนื่องจากการพึ่งพาเทคโนโลยีที่มากเกินไป เริ่มต้นมาตั้งแต่การมาของ Search Engine อย่าง Google พอคนเริ่มใช้เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้จนเคยชิน เลือกที่จะจัดเก็บข้อมูลหรือไม่จำอะไรเลย เพราะคิดว่าค่อยเก็บไว้ค้นหาผ่าน Google ทีหลังก็ได้ 

ทำให้คนเลือกที่จะฝากความจำส่วนใหญ่ไว้กับเทคโนโลยี และมีแนวโน้มที่จะลืมหรือเลือกที่จะไม่จำข้อมูลที่เรารู้อยู่แก่ใจว่ายังไงมันก็มีอยู่แล้วในอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น เบอร์โทรศัพท์มือถือคนสนิท จนเกิดเป็นปัญหา อย่างเวลาแบตหมด ก็ไม่สามารถติดต่อใครได้เลยเพราะจำเบอร์ใครไม่ได้ นอกจากเบอร์ตัวเอง แม้แต่วันเกิดเพื่อนสนิททุกวันนี้ก็ยังจำกันแทบไม่ได้ ถ้าไม่มีแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาบอกว่าวันนี้วันเกิดใครบ้าง หรืออย่างการสะกดคำศัพท์ง่ายๆ พอต้องมาเขียนศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำเอง ก็ต้องมานั่งนึกว่าสะกดยังไงกันแน่ อย่างคำว่า Opportunity ต้องมี p กี่ตัวกันนะ?

การเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายเกินไป ส่งผลต่อการรับรู้ด้านความจำ

แม้เทคโนโลยีจะทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นก็จริง แต่ก็เป็นเหมือนดาบสองคม เมื่อความสะดวกสบายนี้ ทำให้คนหลงลืมการใช้ความสามารถของตัวเอง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายบางอย่างแย่ลง อย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ในเรื่องของ ‘ความจำ’

ถ้าอย่างนั้น ลองมาทำแบบทดสอบวัดระดับความจำผ่านแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า The Stroop Color and Word Test (SCWT) หรือ Stroop Test ซึ่งเป็นการทดสอบการประสานการทำงานของสมองส่วนหน้า ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา หากมีการฝึกฝนผ่านแบบทดสอบนี้บ่อยๆ จะสามารถช่วยพัฒนาเรื่องการจดจำ ทำให้สามารถจำสิ่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย โดยแบบทดสอบนี้มีกติกาง่ายๆ คือ ให้บอกชื่อ ‘สีของตัวอักษร’ ที่เห็นให้เร็วที่สุด เช่น ถ้าสีตัวอักษรเป็นสีแดง ต่อให้คำนั้นเขียนว่าสีฟ้า ก็ต้องอ่านออกมาตามสีตัวอักษรว่า ‘สีแดง’ 

ว่าแล้วก็ไปลองอ่านแบบทดสอบในรูปประกอบข้างบนกับสมมูนกันได้เลย!

.

.

.

ใครที่ลองทำเสร็จแล้ว ถ้ารู้สึกติดๆ ขัดๆ พูดผิดๆ ถูกๆ สลับกันไปมาตลอดเลยล่ะก็ แสดงว่าตอนนี้ความสามารถเรื่องการจำของคุณเริ่มมีปัญหาแล้วนะ!

Advertisements

ความจำแย่ แก้ยังไง?

ถ้าความจำแย่เพราะการใช้ดิจิทัลมากไปแบบนี้ จะบอกให้เลิกใช้เทคโนโลยีกันไปเลยก็ไม่ได้ ยังไงสมองเราก็จดจำได้ไม่ดีเท่าเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ด้วยประสิทธิภาพในการจดจำทั้งด้านปริมาณและด้านความรวดเร็วในการจัดเก็บข้อมูล ไม่ว่าอย่างไรเราก็ยังคงต้องพึ่งพาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เพื่อช่วยจดจำข้อมูลมหาศาลที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่บางครั้ง เราก็ควรที่จะแบ่งพื้นที่ให้สมองตัวเองได้ทำงานบ้าง โดยลดการใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ลง ก่อนจะเลือกกดปลดล็อกหน้าจอแล้วเข้าไปเสิร์ชหาข้อมูลในกูเกิล ลองใช้ความจำตัวเองแทน ในการจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของคนรอบตัวดูว่ามีอะไรบ้าง เช่น เบอร์โทรศัพท์คนในครอบครัว หรือวันเกิดเพื่อนสนิท

อย่างเช่นวันเกิดเพื่อนคราวหน้า ก็ลองทักไปแฮปปี้เบิร์ธเดย์เพื่อนก่อนโดยที่ไม่ต้องรอแจ้งเตือนเด้งก็น่าจะทำให้เพื่อนประทับใจยิ่งขึ้นได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

แถมยังช่วยให้สมองไม่เสื่อมเร็วอีกด้วยนะ!



อ้างอิง:

https://bit.ly/3yP08qV

https://bit.ly/36udgWa

https://bit.ly/3r4TYQS

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#selfimprovement

#behavior

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements