SOCIETY‘Financial Anxiety’ ปัญหาเงินน้อย เครียดหนัก ที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ

‘Financial Anxiety’ ปัญหาเงินน้อย เครียดหนัก ที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ

‘ความเครียด’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดเล็กๆ อย่างโดนเพื่อนทักว่าหน้าโทรม หรือความเครียดใหญ่ๆ อย่างการหย่าร้างหรือการถูกไล่ออกจากงาน และเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น แน่นอนว่าวันนั้นของเราก็จะกลายเป็นวันแย่ๆ ถึงแม้ว่าอากาศจะสดใสแค่ไหน เราก็มองเห็นแค่โลกสีเทาๆ หม่นๆ ตรงหน้า

อย่างไรก็ดี ตอนนี้มีบทความออกมามากมายว่า “คน Gen Z นั้นเครียดที่สุดในที่ทำงาน” เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว หลายคนก็อาจจะมองว่า “คนวัยไหนก็เครียดกันทั้งนั้น” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกคน

แต่ในบทความนี้ เราจะชวนทุกคนมาเจาะลึกเรื่องราวความเครียดที่เกิดขึ้นกับคน Gen Z ที่นอกเหนือไปจากเรื่องการทำงาน นั่นก็คือ ‘Financial Anxiety’ หรือ ‘ความเครียดทางการเงิน’

การเงินไม่ดี ชีวิตไม่มีความสุข

เรื่อง ‘การเงิน’ ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าการเงินของเราไม่ดี นอกจากจะต้องมาเครียดเรื่องเงินแล้ว ยังต้องเครียดเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เครียดเพราะไม่ได้ทานอาหารดีๆ เครียดเพราะไม่มีเงินส่งทางบ้าน หรือเครียดเพราะไม่มีเงินออกไปใช้ชีวิตหรือสังสรรค์กับเพื่อนและแฟน

และเมื่อเราเครียดแล้ว ก็จะทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างตามมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพกายและใจ ซึ่งพอเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ในที่สุด ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นเราจึงควรมาทำความเข้าใจเรื่อง ‘Financial Anxiety’ กันก่อน เพื่อที่จะได้หาทางรับมือกันต่อไป

‘Financial Anxiety’ คืออะไร? ก็ตามชื่อเลย เป็นความตึงเครียดทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินโดยเฉพาะ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นได้บ่อยกับคนที่มีรายได้น้อย โดยคำว่า ‘น้อย’ ในที่นี้คือไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของเรา เช่น ไม่พอจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าของใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

และอย่างที่กล่าวไปว่า ‘Financial Anxiety’ เกิดขึ้นแล้วกับคน Gen Z โดยตามรายงานของ 2023 EY Gen Z Segmentation Study ที่ทำการสำรวจคน Gen Z กว่า 1,500 คนในสหรัฐฯ พบว่า Gen Z กำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่องสุขภาพจิตอยู่ เพราะคนวัยนี้เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างเกิดขึ้น รวมทั้งยังต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอีกด้วย

อีกทั้งผลสำรวจนี้ยังชี้อีกว่า มี Gen Z เพียง 31% เท่านั้นที่รู้สึกมีความมั่นคงทางการเงิน ส่วนอีกมากกว่าครึ่ง (52%) รู้สึกกังวลเรื่องการมีเงินไม่พอใช้เป็นอย่างมาก ซึ่งหากดูตัวเลขความเครียดเรื่องการเงินของชาว Gen Z แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า
[ ] 39% เครียดมากกับการตัดสินใจเรื่องการเงินแบบผิดๆ
[ ] 32% ให้คะแนนสถานการณ์การเงินปัจจุบันของตัวเองว่า แย่หรือแย่มาก และ 69% ให้คะแนนว่า อยู่ในขั้นกลางๆ หรืออาจจะแย่ลงมาหน่อย

นอกจากนี้ รายงานนี้ยังสรุปไว้อีกว่า สำหรับคน Gen Z แล้ว เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายงานนี้จะสำรวจแค่เฉพาะชาว Gen Z ในสหรัฐฯ แต่ก็เชื่อว่ามี Gen Z หรือคนอีกหลายๆ วัยในประเทศไทยที่กำลังประสบกับ Financial Anxiety เช่นกัน เพราะถ้าเราพิจารณาตามตัวเลขการออมเงินของคนไทยที่ ธปท. เผยออกมา ก็จะเห็นได้เลยว่า 88% ของคนไทยมียอดเงินในบัญชีออมทรัพย์ไม่ถึง 50,000 บาท นั่นหมายความว่าคนไทยส่วนใหญ่ออมเงินน้อย และอาจมีปัญหาการเงินในระยะยาวได้ ซึ่งพอมีปัญหาเรื่องการเงิน Financial Anxiety ก็จะตามมานั่นเอง

Advertisements

วิธีรับมือกับ Financial Anxiety

ถ้าพูดกันตามตรงแล้ว ความเครียดเรื่องการเงินเกิดขึ้นได้กับทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเกิดขึ้นน้อยหรือมาก ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ปัญหานี้รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิตเพราะต้องมานั่งเครียดเกี่ยวกับเงิน ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ไม่เช่นนั้นความเครียดนี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่ใหญ่กว่า อย่างเช่น ‘โรคซึมเศร้า’ มาดูกันว่าเราสามารถจัดการกับปัญหา Financial Anxiety อย่างไรได้บ้าง

1. คุยกับใครสักคน

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น บางคนพยายามรับทุกอย่างไว้ตัวคนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องเงินแล้วก็คงจะไม่กล้าพูดคุยกับใคร เพราะถือเป็นเรื่องที่วัดใจกันพอสมควร แต่ถ้าสุดท้ายแล้วมันไม่ไหวจริงๆ เราก็ควรพูดคุยกับใครสักคน เช่น เพื่อนที่ไว้ใจได้หรือครอบครัว เพราะเราจะได้รับคำแนะนำในมุมต่างๆ จากคนรอบตัว อีกทั้งยังได้พูดคุยเพื่อระบายความกังวลออกมาด้วย

2. จดบันทึกรายการการเงินของตัวเองโดยละเอียด

บางคนพอเครียดเรื่องเงิน ก็พยายามหนีออกจากความเป็นจริง เช่น ไม่สนใจใบแจ้งยอดจากธนาคารและบัตรเครดิต หรือไม่รับสายเจ้าหนี้ เพราะคิดว่าจะช่วยให้เครียดน้อยลงได้ แต่การทำแบบนี้มีแต่จะทำให้เรื่องราวแย่ลง สิ่งที่เราควรทำจริงๆ เป็นอันดับแรกคือ การแจกแจงรายละเอียดรายได้ หนี้สิน และการใช้จ่ายของเราในช่วงเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนนี้ แล้วต้องคอยติดตามการใช้เงินของตัวเองตลอดด้วย เช่น เก็บใบเสร็จต่างๆ ไว้

การทำเช่นนี้จะทำให้เรารู้ว่าตอนนี้เรายืนอยู่จุดไหน และจะทำให้เรารู้สึกควบคุมสถานการณ์ตรงหน้าได้อีกครั้ง เช่น พอเราติดตามการใช้จ่ายของตัวเองแล้วเห็นว่าบางค่าใช้จ่ายเราลดได้ ก็จะช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากขึ้น ถ้าเราอยากกลับมาสบายใจเรื่องการเงินมากขึ้น บางครั้งเราก็ต้องยอมแลกกับการเสียความสุขเล็กๆ น้อยๆ ไป

และอย่าลืมว่าการที่เราจะจัดการปัญหาการเงินได้ในระยะยาว เราจะต้องหาให้เจอว่า อะไรเป็นต้นตอที่ทำให้เงินไม่พอใช้จนก่อเกิดเป็นความเครียดกันแน่ เช่น บางคนอาจจะติดพนัน หรือมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างไบโพลาร์ ก็สามารถทำให้มีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้เช่นกัน ให้ลองหาต้นตอของปัญหา และแก้ตั้งแต่ต้นลม

3. วางแนวทางในการแก้ไขปัญหา

วิธีการแก้ปัญหาเรื่องความเครียดทางการเงินมีหลายวิธี ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เพราะปัญหาที่เราพบเจอนั้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะวางแผนจำกัดงบประมาณ ลดการช็อปปิงออนไลน์ หรือหางานใหม่เพื่ออัปเงินเดือน พูดง่ายๆ ก็คือให้พยายามควบคุมในสิ่งที่ตัวเองสามารถควบคุมได้

ถ้าใครลองลดการใช้จ่ายเงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลังแล้วพบว่า รายจ่ายยังคงมากกว่ารายได้อยู่อีก ก็มี 3 ทางเลือกที่เราสามารถทำได้ คือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย หรือทั้งสองอย่าง ซึ่งการที่เราจะทำตามวิธีเหล่านี้ได้สำเร็จ เราต้องอาศัยการวางแผนและคอยทำตามแผนนั้นอย่างสม่ำเสมอ

4. วางแผนการเงินรายเดือน

อีกวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงิน ก็คือการวางแผนการเงินรายเดือน โดยให้รวมค่าใช้จ่ายประจำวันทุกอย่างไว้ในงบประมาณรายเดือน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่า และค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น และอย่าลืมจัดลำดับความสำคัญการใช้จ่ายของตัวเอง ส่วนถ้าใครมีหนี้บัตรเครดิต ก็ควรตั้งค่าแอปฯ ธนาคารให้ตัดเงินอัตโนมัติ เพื่อให้แน่ใจว่าเราชำระบิลตรงเวลา จะได้ไม่โดนค่าปรับหรือดอกเบี้ย

ถ้าเป็นไปได้ ควรเก็บเงินก้อนสำหรับฉุกเฉินไว้ด้วย เช่น ค่ารักษาพยาบาลหรือค่ายาเวลาล้มป่วย

5. จัดการกับความเครียดของตัวเอง

แน่นอนว่าปัญหาการเงินไม่สามารถแก้ไขได้ภายในชั่วข้ามคืน แต่เราสามารถจัดการความเครียดของตัวเองได้เลยทันที โดยสามารถเริ่มได้จากการขยับตัว เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยลดความเครียด ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น และภูมิใจในตัวเองมากขึ้นได้ ตั้งเป้าไว้ที่ 30 นาทีต่อวันก็ถือว่าโอเคแล้ว

หลังจากนั้นก็ดูแลตัวเองด้านอื่นๆ ด้วย เช่น 
[ ] นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ตัวเองได้ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ
[ ] หาเวลาผ่อนคลายและพักสมองจากความกังวล ผ่านการทำสมาธิหรือการฝึกหายใจ
[ ] เพิ่ม Self-Esteem ให้กับตัวเอง ผ่านการช่วยเหลือผู้อื่น เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือใช้เวลากับคนที่เห็นคุณค่าในตัวเรา
[ ] ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยผักผลไม้และโอเมก้า 3 เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีพลังงานมากขึ้น
[ ] ขอบคุณสิ่งดีๆ ในชีวิต เช่น การชมความสวยงามของพระอาทิตย์ตกดิน และการขอบคุณสัตว์เลี้ยง เพื่อน หรือครอบครัวที่คอยอยู่ข้างๆ เพื่อสร้างอารมณ์เชิงบวก

ความเครียดไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเรา หากใครกำลังเผชิญอยู่กับ Financial Anxiety ก็ต้องบอกว่ามันมีทั้งสิ่งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ให้พยายามจัดการสิ่งที่เราควบคุมได้

สุดท้ายนี้ก็อยากจะบอกว่า อย่าลืมว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียว เรายังมีเพื่อน คนรัก ครอบครัว หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง คอยอยู่เคียงข้างเสมอ ขอให้ทุกคนผ่านพ้นความเจ็บปวดครั้งนี้ไปให้ได้โดยเร็ว

อ้างอิง
– Financial Stress: How to Cope : Elizabeth Scott, PhD, Verywell Mind – https://bit.ly/3saaaoW
– Financial worry is a top driver of anxiety among Gen Z, new EY study finds : Jennifer Hemmerdinger, EY – https://bit.ly/3tQjoY5
– Coping with Financial Stress : HelpGuide.org – https://bit.ly/3FxndDN

#society
#financialanxiety
#genz
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า