โอ๊ะโอว
น้ำมันก็แพงต้องเปลี่ยนเป็นแก๊สกันหมดเมือง
นักเรียนตีกันไม่พอยังถูกแฟนทิ้งประสาทเสีย
เรื่องเงินคนรวยยังซวยไปจนแม่ค้าส้มตำ
โอ๊ะโอว ชีวิตช่างวุ่นวาย
ส่วนหนึ่งของบทเพลง “ยิ้มเข้าไว้” ของอีกวงร็อกในตำนานอย่าง Clash ที่เหล่าอดีตวัยรุ่น y2k หลายคนแค่อ่านเนื้อร้อง ทำนองก็เข้ามาในหัวโดยอัตโนมัติ
เนื้อหาของเพลง “ยิ้มเข้าไว้” นี้ก็เหมือนเป็นการให้กำลังใจผู้คนมากมายที่กำลังฝ่าฟันนอุปสรรคที่ชีวิตโยนเข้ามาแบบไม่ให้พัก ตั้งแต่ปัญหาสังคมไปจนถึงปัญหาส่วนตัวเช่น น้ำมันแพง เงินไม่พอใช้ ไปจนถึงแฟนทิ้ง ซึ่งในท้ายที่สุดเพลงนี้ก็ได้บอกกับทุกคนว่าไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องเครียดเกินไป และจงยิ้มเข้าไว้
โดยปกติแล้ว “การยิ้มสู้” ไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ดูเหมือนจะเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของคนไทย จนทั่วโลกได้มอบสมญานาม “สยามเมืองยิ้ม” ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าพวกเราหลายคนเคยถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่ารอยยิ้มคือสิ่งที่ดี เราควรยิ้มเยอะๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องยิ้มสู้เข้าไว้ และมองหาข้อดีจากทุกๆ สิ่งให้ได้ ถึงแม้ว่าภายในใจเราจะเจ็บช้ำแค่ไหนก็ตาม
แน่นอนว่ารอยยิ้มหวานๆ บนใบหน้าของผู้คนมากมายย่อมไม่เคยทำร้ายใคร แต่สิ่งสำคัญที่เราไม่อาจมองข้ามได้เลยก็คือ รอยยิ้มที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการฝืนใจนั้นอาจกำลังกัดกร่อนจิตใจของเจ้าของรอยยิ้มดังกล่าวไปอย่างช้าๆ
ภัยอันตรายของการ “ยิ้มสู้”
แน่นอนว่าในบริบททั่วไปการยิ้มนั้นเป็นสิ่งที่ดี มันเป็นการแสดงออกว่าตัวเรากำลังมีความสุข แต่เมื่อใดก็ตามที่รอยยิ้มได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่คอยใช้กลบเกลื่อนความรู้สึกที่แท้จริงภายในจิตใจของเราเมื่อใดละก็ รอยยิ้มนั้นจะสร้างปัญหาระยะยาวให้กับตัวเราในภายหลัง
อันที่จริงแล้วการยิ้มก็ไม่ใช่ปัญหา รอยยิ้มนั้นสามารถมอบสิ่งดีๆ ให้เรากับได้มากมาย มีการศึกษาวิจัยมากมายที่บอกถึงประโยชน์ของการยิ้มเช่น เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของเราไปจนถึงมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการที่เรากำลังใช้รอยยิ้มนั้นมันกำลังกดทับความรู้สึกที่แท้จริงของเราต่างหาก
Gabor Maté นักเขียนเจ้าของหนังสือ Bestsellers ของ New York Times เรื่อง The Myth of Normal: Trauma, Illness and Healing in a Toxic Culture กล่าวว่า การทำตัวดีและทำให้ผู้อื่นพอใจอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้ง มักจะได้รับเสียงเชิดชูและปรบมือจากสังคมอยู่บ่อยๆ แต่อันที่จริงแล้วการทำอย่างนั้นบ่อยๆ อย่างเช่น การแสร้งยิ้ม พยายามไม่แสดงความรู้สึก หรือแสร้งทำเป็นด้านชา อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราได้
Gabor Maté ยังบอกต่ออีกว่า การเพิกเฉยหรือเก็บกดความรู้สึกและสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะทำโดยตั้งใจหรือไม่รู้ตัว จะส่งผลให้ร่างกายมีอาการเครียดสูง ทำให้ร่างกายเกิดอาการอักเสบง่ายขึ้น ไปจนถึงทำลายระบบภูมิคุ้มกันของเราต่ำลงอีกด้วย
ไม่มีใครหรอกที่ตื่นเช้ามาแล้วบอกกับตัวเองว่า “วันนี้ฉันจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนอื่นเหนือความรู้สึกของตัวฉันเอง” ธรรมชาติของมนุษย์นั้นถูกออกแบบมาให้ตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่แน่นอนว่าเมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น เราคงไม่สามารถที่จะแสดงออกอารมณ์ความรู้สึกของเราออกมาได้อย่างเต็มที่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งนั้นเมื่อทำไปนานๆ เข้าโดยไม่ได้มีการปลดปล่อยอารมณ์ของตัวเองออกมา ก็ย่อมส่งผลกระทบอะไรบางอย่างภายในจิตใจของเราแน่นอน
โดยจิตแพทย์ Randolph Nesse ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง Center for Evolution and Medicine แห่ง Arizona State University ได้บอกเอาไว้ว่า เราถูกออกแบบมาให้รู้สึกและปฏิบัติตามอารมณ์ของตัวเอง เพราะว่ามันเป็นระบบเตือนภัยธรรมชาติภายในตัวของเราเพื่อเอาชีวิตรอดจากอันตราย
ไม่ว่าจะเป็น ความโกรธ ความอับอาย ความกังวล ความรู้สึกผิด หรือความเศร้าโศก อารมณ์เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ในการช่วยให้เราเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา เราโกรธเมื่อถูกกระทำผิดใส่ เราเสียใจเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้น เรากังวลต่ออนาคตที่ไม่อาจรู้ได้ สิ่งเหล่านี้เองก็มีส่วนที่จะช่วยให้เราอยู่รอดอย่างปลอดภัยและพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นเราจึงไม่ควรไปนิยามอารมณ์ในแง่ลบเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีที่ไม่ควรแสดงออกมาให้ใครเห็นและกดทับมันเอาไว้ แต่ควรจะปลดปล่อยมันออกมาในระดับที่เหมาะสมต่อกาลเทศะเสียมากกว่า
อารมณ์จะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อแสดงมันออกมาอย่างเหมาะสม
แน่นอนว่านี่อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน แต่การแสดงอารมณ์ของเราออกมาอย่างเหมาะสมนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เพราะความผิดแปลกและฝืนธรรมชาติอย่างแท้จริงก็คือการกักเก็บอารมณ์ทั้งหมดของเราเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว
Liz Wilson, PhD, นักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มพัฒนาสังคมออนไลน์อย่าง Include Inc. ได้บอกเอาไว้ว่า มีนักวิจัยมากมายได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อคนคนหนึ่งต่อต้าน ระงับ หรือเพิกเฉยต่ออารมณ์ของตน อาจนำไปสู่ภาวะสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล และความเจ็บป่วยทางกาย เช่น โรคหัวใจ โรคแพ้ภูมิตัวเอง รวมถึงมีปัญหาระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
“การซ่อนอารมณ์ไม่ได้ทำให้พวกมันหายไป ความจริงแล้ว อารมณ์สามารถถูกทวีความรุนแรงขึ้นได้จากการถูกกดทับบ่อยๆ และจากเราอาจกำลังสร้างพฤติกรรมในแง่ลบใหม่ๆ ที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราได้ แล้วสุดท้ายอารมณ์ทั้งหมดก็จะระเบิดออกมาในรูปแบบที่ไม่ดีต่อสุขภาพและสามารถส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อผู้คนรอบข้างเราได้อีกด้วย” Liz Wilson, PhD กล่าว
แน่นอนว่าเราไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถหาวิธีที่ดีในการจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ ซึ่งจะทำให้คุณมีพลังมากขึ้นในการจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นเมื่อมันมาถึง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการทำสมาธิ การจดบันทึกด้วยการเขียน พูดคุยกับเพื่อนฝูง หรือการบำบัดกับอาชีพ ก็ล้วนแต่เป็นทางเลือกที่ดีที่จะทำให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง
ต่อมาก็คือการทำให้อารมณ์ทั้งหมดให้เป็นเรื่องปกติ (Normalize) ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เชิงบวกหรือลบ ก็ถือว่าเป็นวิธีการฝึกฝนที่พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกๆ ที่กำลังมีปัญหาในการจัดการอารมณ์ของตัวเอง โดยพ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกว่าสามารถแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาได้ ซึ่งในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ไม่ควรกลัวที่จะร้องไห้ต่อหน้าลูกๆ และช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการแสดงออกในอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองคือส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด
สังคมนั้นมักนิยามและผูกติดความเข้มแข็งเข้ากับการไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ออกมา พวกเรามักรู้สึกชื่นชมเหล่าผู้คนที่แสดงความอดทนบากบั่นต่ออุปสรรคต่างๆ ต่อชีวิต สงบนิ่งไม่แยแสต่อสิ่งเร้าใดๆ แต่แท้จริงแล้ว ความแข็งแกร่งที่แท้จริงมันควรจะเป็นความสามารถในการแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม แม้จะต้องเผชิญหน้าต่ออุปสรรคต่างๆ และสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในชีวิตมากกว่าหรือไม่
โชคดีที่สังคมปัจจุบันนั้นเริ่มมีการเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับการดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ร่วมกัน การจัดการอารมณ์ได้ช่วยคนที่กำลังเผชิญกับความผิดปกติของสุขภาพจิตได้ดี และสำหรับคนที่ต้องการรับมือกับอดีตที่เจ็บปวดหรือบาดแผลภายในใจ การรู้จักบริหารจัดการอารมณ์ก็ถือว่าช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเยียวยาบาดแผลของตัวเองได้ดีขึ้น
ดังนั้น พวกเราทุกคนเองก็ที่จะสนับสนุนให้เหล่าคนที่เรารักนั้นแสดงอารมณ์ของตัวเองออกมาให้มากขึ้น ชีวิตนั้นสั้นเกินกว่าที่จะมานั่งปกปิดความรู้สึกของตัวเองแล้วเสียใจเอาภายหลัง
ถ้าเรามีความสุขก็จงยิ้ม ถ้าเราเสียใจก็จงร้องไห้ ไม่มีอารมณ์ไหนควรเป็นผู้ร้ายในจิตใจเรา เพียงแต่ว่าเราจะสามารถแสดงมันออกมาได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ นั่นแหละคือสิ่งสำคัญ
ที่มา:
– Smiling to Death: The Hidden Dangers of Being ‘Nice’ : Joanna Cheek M.D., Psychology Today – https://bit.ly/43TbQBm
– A Friendly Reminder: Showing Your Emotions Is Not a Sign of Weakness : LaKeisha Flemming, VeryWellMind – https://bit.ly/41HzsYd
– Why Smiling Too Much May Be Bad for You : Agata Blaszczak-Boxe, Livescience – https://bit.ly/3KS2T2t
#selfdevelopment
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast