PODCASTMISSION TO THE MOONThe Loneliest Generation เมื่อเด็กรุ่นใหม่ แบกความเหงาตัวเท่าบ้าน

The Loneliest Generation เมื่อเด็กรุ่นใหม่ แบกความเหงาตัวเท่าบ้าน

เมื่อพูดถึงวัยรุ่นเราจะคิดถึงอะไรกัน? วัยที่เต็มไปด้วยพลังงานและห้วงอารมณ์หลากหลาย ได้พบปะและจากลากับผู้คนมากมายจนกลายเป็นความทรงจำที่สอดแทรกรสขมอมหวาน เป็นช่วงเวลาที่จะได้ทำอะไรมากมายจนไม่มีเวลามานั่งเหงา

ด้วยเหตุนี้เองการ์ตูนมากมายจึงมักมีตัวละครหลักเป็นวัยรุ่นอย่างนักเรียนมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย เพราะเป็นวัยของการสร้างเรื่องราวของตนเองและยังอัดแน่นไปด้วยมิตรภาพ ความหวัง ความฝัน แรงบันดาลใจ และแรงผลักดัน

กลับกันเมื่อพูดถึงความเหงา เรามักคิดถึงผู้สูงอายุที่ลูกจะต้องออกไปทำงาน หลานจะต้องออกไปเรียน ท่ามกลางสภาพร่างกายที่เมื่อเอื้อให้ทำกิจกรรมได้มากกว่า ขณะเดียวกันคนที่เรียกว่าเพื่อนก็หายออกจากชีวิตไปจนเกือบหมด ทำให้วัยสูงอายุเหลือเพียงตนเองกับความทรงจำเก่าๆ เพียงเท่านั้น

ทว่าภาพที่เราคุ้นชินเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนไป เมื่อผลสำรวจมากมายแสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นยุคใหม่หรือ Generation Z กลายเป็นกลุ่มวัยที่เหงาที่สุดในโลก (ผู้ที่เกิดปี 1997 – 2013) แซงหน้ากลุ่มวัยผู้สูงอายุ (ช่วงอายุ 65 – 74 ปี) ถึง 3 เท่า

เหงาแล้วมันยังไง ทำไมต้องสนใจความเหงา?

ความเหงานี้ร้ายแรงกว่าที่เราคิด เพราะความเหงาที่ว่านี้ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตของวัยรุ่นโดยตรง โดย วูลฟ์กัง ครูเกอร์ (Wolfgang Kruger) นักจิตบำบัดและนักเขียนหนังสือชื่อ “The Difficult Luck of Friendship” ได้กล่าวไว้ว่า “คนที่มีเพื่อนน้อยหรือไม่มีเลยมีแนวโน้มจะต้องรับมือกับความกังวล ภาวะซึมเศร้า และป่วยบ่อยกว่า และการศึกษาระยะยาวยังพบว่าช่วงชีวิตของคนกลุ่มนี้มีระยะเวลาลดลง 20% อีกด้วย”

ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจจากสำนักข่าว TIME ยังเผยให้เห็นว่ามี Gen Z เพียง 45% ที่เลือกระดับสุขภาพจิตว่า “ยอดเยี่ยม” ถึง “ดีมาก” ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำที่สุดเทียบกับช่วงวัยอื่นที่ตอบแบบสอบถามเดียวกัน

ผลสำรวจจากสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (America Psychological Association: APA) ยังรายงานว่า Gen Z ที่บรรลุนิติภาวะแล้วถึง 90% ได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจจากความเครียด เช่น ซึมเศร้า หมดความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ไร้แรงจูงใจและพลังงาน แสดงให้เห็นว่าสภาวะจิตใจของวัยรุ่นปัจจุบันอยู่ในสภาวะวิกฤติ

เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานโดยตรง เพราะในปี 2030 กว่า 75% ของตลาดแรงงานทั่วโลกจะเต็มไปด้วย Millennials และ Gen Z ขณะที่ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 75% ของ Millenials และ Gen Z ยื่นลาออกด้วยเหตุผลทางสุขภาพจิต สูงกว่ากลุ่มวัยอื่นที่คิดเป็นเพียง 34% เท่านั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าสังคม โดยเฉพาะบริษัทต่างๆ จะเตรียมวิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

นอกจากความเหงาจะส่งผลกับสุขภาพจิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายโดยตรงอีกด้วย เช่นเดียวกับการเดินออกไปรับอากาศบริสุทธิ์ทุกเช้า ดื่มน้ำให้ครบแปดแก้ว หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การไปดินเนอร์กับเพื่อนหรือการใช้เวลาร่วมกับครอบครัวก็เป็นคำแนะนำสำหรับคนที่อยากมีสุขภาพดีเช่นกัน

หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วความเหงาอันตรายกว่าโรคอ้วนหรือการสูบบุหรี่เสียอีก โดยความเหงาก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันเลยทีเดียว เพราะความเหงาเกี่ยวข้องโดยตรงกับโอกาสการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

อะไรทำให้วัยรุ่นยุคใหม่กลายเป็นวัยเหงาที่สุดในโลก?

1. สื่อบันเทิงและสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือข้อมูลมหาศาลที่อยู่บนโลกออนไลน์ล้วนแต่เป็นตัวกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ต้องคอยติดตามเนื้อหาเหล่านี้อยู่เสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกลัวจะตามโลกไม่ทัน (Fear Of Missing Out: FOMO) อีกส่วนเป็นเพราะวัยรุ่นยุคใหม่โตมากับวิถีชีวิตแบบนี้

สิ่งเบี่ยงเบนความสนใจเหล่านี้เองที่กินทั้งพลังงานและเวลาที่จะได้เชื่อมต่อกับผู้อื่นหรือสร้างความทรงจำ เก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกจอ ขณะที่การศึกษาพบว่าคนเราต้องการเวลากว่า 120-130 ชั่วโมงภายใน 3 สัปดาห์ในการสร้าง “มิตรภาพที่ดี” และ 200 ชั่วโมงหรือมากกว่าภายใน 6 สัปดาห์เพื่อสนิทกับใครสักคน

เมื่อเวลาไม่มี พลังงานไม่พอ จึงทำให้คุณภาพของคอนเน็กชันที่มีกับผู้อื่นลดลงไปด้วย เนื่องจากระยะเวลาไม่เพียงพอให้สร้าง ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ นั่นเอง

2. การเชื่อมต่อผ่านโซเชียลมีเดีย

แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้เราได้เชื่อมต่อกับคนทั่วโลกอย่างง่ายดาย ที่สำคัญคือเชื่อมต่อได้กับคนมากมายภายในวันเดียว แต่ ‘จำนวน’ ไม่ได้การันตี ‘คุณภาพ’ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ามิตรภาพหรือสายสัมพันธ์ที่ดีต้องใช้เวลาในการค่อยๆ สร้างขึ้นมา

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า คนที่ใช้โซเชียลมีเดียหนักๆ มักจะรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง เช่นเดียวกับที่โรเจอร์ พัททัลนี (Roger Patulny) อาจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยวูลลองกองของประเทศออสเตรเลียได้กล่าวไว้ว่า “คนที่ใช้โซเชียลมีเดียเยอะจะเจอกับความเหงามากกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานไหนบอกว่าโซเชียลมีเดียทำให้คนเหงาน้อยลง”

ทั้งนี้โรเจอร์ พัททัลนีได้อธิบายไว้ว่า เพราะโซเชียลมีเดียเหมาะกับการรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่หรือสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ มากกว่าไม่เหมาะกับการใช้เพื่อ ‘ทดแทน’ การมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริง

3. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ผู้คนต้องรักษาระยะห่างจนกลายเป็นชีวิตประจำวันแบบใหม่ (New Normal) ทำให้วัยรุ่นที่โตมาในยุคนี้เผชิญหน้ากับระยะห่างทางสังคมมาจนเคยชิน

เพราะขาดการ ‘ฝึกซ้อม’ เข้าสังคมอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้คนยุคใหม่ที่ไม่ได้เรียนรู้วิธีการเข้าสังคมอย่างถูกวิธีเกิดอาการวิตกกังวลหรือที่เรารู้จักกันในนาม “Social Anxiety” จนเป็นอุปสรรคในการสร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Generation Z รู้สึกโดดเดี่ยวในโลกนี้มากขึ้น

4. ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

สายสัมพันธ์เกิดขึ้นผ่านการใช้เวลาร่วมกัน ทว่าวัยรุ่นยุคใหม่ที่โตมากับสภาพเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่หยุดนิ่งมาหลายปีทำให้คนรุ่นใหม่สูญเสียโอกาสในการเข้าสังคมไปโดยปริยาย

เพราะแค่ก้าวออกจากบ้านก็ต้องเสียเงินแล้ว ยังไม่นับที่เดี๋ยวนี้อะไรก็เป็นเงินเป็นทอง พื้นที่สาธารณะที่สามารถเข้าใช้งานได้ฟรีก็แทบจะไม่มี กิจกรรมในชุมชนที่เสริมสร้างสายสัมพันธ์โดยไม่ต้องเสียเงินก็น้อยลง ช่องทางมีปฏิสัมพันธ์เดียวที่วัยรุ่นยุคใหม่เหลืออยู่จึงไม่พ้นโลกออนไลน์นั่นเอง

5. การพึ่งพาตนเองมากขึ้น ขอความช่วยเหลือน้อยลง

ค่านิยมการพึ่งพาตนเองมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมที่การสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นเรื่องยาก อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าคนยุคใหม่เชื่อใจคนอื่นได้ยากขึ้นเพราะเวลาสร้างปฏิสัมพันธ์ไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่เพื่อนที่สนับสนุนทางใจได้น้อยลง แต่เพื่อนธรรมดาเองก็น้อยลงด้วยเช่นกัน

เพื่อหาหนทางรับมือกับความรู้สึกที่ว่า “เรามีเพื่อนน้อย” หรือ “ไม่มีคนคบ” แทนที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยมากมายที่กล่าวไปข้างต้นทำให้คนรุ่นใหม่ถูกบังคับให้ตนเองเชื่อว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่แค่เพียงในสังคมอเมริกาเท่านั้น แต่สังคมไทยเองก็พบว่า วัยรุ่นยุคใหม่ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงหรือคนอื่นน้อยลง และให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จด้วยตนเองมากขึ้น

แล้ว Gen Z จะรับมือกับความเหงายังไงดี?

1. พาตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตีที่สนใจ

ไม่ว่าจะเป็นชมรมหรือชุมชนต่างๆ เช่น บุ๊กคลับ วงการ K-pop วงการคอสเพลย์ และชุมชนอีกมากมายเป็นพื้นที่และโอกาสดีที่จะทำให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความชอบและความสนใจเดียวกัน ทั้งยังได้รู้จักคนใหม่ๆ พร้อมกับสร้างความเชื่อใจในหมู่คนที่รู้จักอยู่แล้วเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

Advertisements

2. เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา

กิจกรรมอาสาส่วนมากสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยิ่งไปกว่านั้นกิจกรรมอาสามักเกิดขึ้นเป็นกลุ่มและอาศัยความเชื่อใจในการร่วมงานกับ เป็นเวทีดีที่จะทำให้เราได้ฝึกซ้อมการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม นอกจากนั้นการส่งคืนคุณค่าสู่สังคมยังทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นด้วยเช่นกัน

3. กระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว

แม้การสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ จะเป็นเรื่องดี แต่การกระชับความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับคนเดิมๆ จะยิ่งช่วยให้เรามีเบาะรองรับใจยามเหงามากขึ้น เพราะสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความสนิทสนมเชื่อใจจะเป็นแหล่งสนับสนุนทางใจ (Emotional Support) ชั้นดีที่จะทำให้เรารู้สึกเหงาน้อยลง

4. เริ่มฝึกเข้าหาคนแปลกหน้า

เพราะการติดอยู่กับความกลัวและความกังวลจะยิ่งทำให้โอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ น้อยลง ทำให้โอกาสที่จะได้สนิทและเพิ่มคนที่เชื่อใจได้ก็น้อยลงเช่นเดียวกัน การคุยกับคนแปลกหน้านอกจากจะเพิ่มโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ แล้วยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเองและทักษะการเข้าสังคมอีกด้วย

5. ดูแลตัวเองและเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง

เพราะความไม่มั่นคงทางอารมณ์นำมาซึ่งความกลัวที่จะเข้าสังคมและความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนไม่มีคนที่ไว้ใจได้ ส่งผลกระทบไปถึงทักษะการเข้าสังคมของเราอย่างมีนัยสำคัญ การฝึกให้ตนเองมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงจะช่วยทำให้เรามั่นใจในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น

6. หางานอดิเรกหรือกิจกรรมให้ไม่ว่างเอาไว้

ความว่างจะยิ่งทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวเด่นชัด กลับกันการหาอะไรทำจะเปิดช่องทางให้เรามีเรื่องราวของตนเอง ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจเมื่อเรามีทักษะบางอย่างติดตัว อีกทั้งระหว่างทางยังเพิ่มโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่มีงานอดิเรกเดียวกันได้ด้วย

7. เข้าร่วมการบำบัด

การบำบัดฟังดูเหมือนน่ากลัวแต่แท้จริงแล้วอาจจะเป็นเพียงกิจกรรมผ่อนคลายที่ทำให้เราได้สัมผัสกับชุมชนที่พร้อมสนับสนุนทางใจ (Emotional Support) ซึ่งในไทยเองก็มีกิจกรรมบำบัดมากมาย เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด หรือแม้กระทั่งสายมูอย่างการบำบัดพลังงาน (Energy Healing) ก็ได้เช่นกัน

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันจึงจะสามารถฝ่าฟันผ่านอุปสรรคไปได้อย่างราบรื่น การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตรอดมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ปัจจุบันโลกจะเปลี่ยนแปลงวิธีชีวิตของเราไปอย่างมากแต่ก็อย่าลืมที่จะเติมเชื้อเพลิงให้ชีวิตผ่านการมิตรภาพดีๆ กันนะ

ที่มา
– 3 Things Making Gen Z the Loneliest Generation : Ryan Jenkins CSP, Psychology Today – https://bit.ly/3ZwvRvz
– Why You Must Add Social Connection to Your Self-Care Routine : Megan Shen Ph.D, Psychology Today – https://bit.ly/3RyL11r
– Young people aren’t connecting. Here’s why that’s a bigger problem than you think : Natalie Issa, Deseret News – https://bit.ly/3ZytcSi
– Gen Z are the loneliest generation, research finds : Future Care Capital – https://bit.ly/3tb64gA
– How to Cope With Loneliness : Elizabeth Scott Ph.D, VeryWell Mind – https://bit.ly/3ZxhFSU

#selfdevelopment
#generation
#GenZ
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า