self developmentโลกนี้ต้องการคนที่มี Empathy แต่การมี Empathy ต่อคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย

โลกนี้ต้องการคนที่มี Empathy แต่การมี Empathy ต่อคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย

ในวันที่เราต้องการกำลังใจจากคนที่เรารัก เราอาจได้รับแต่การเมินเฉย วันที่อยากได้รับคำชื่นชมจากครอบครัว เราอาจได้รับแต่คำติเตียน วันที่อยากได้คำปลอบใจ เราอาจได้แต่คำสั่งสอน วันที่รู้สึกโดดเดี่ยว จนอยากได้ใครสักคนรับฟัง คนรอบตัวของเราอาจทำได้แค่บอกเราว่า “อย่าไปคิดมากเลย เรื่องเล็กน้อย”

บางครั้งเราอาจสงสัยว่าทำไมคนรอบข้างถึงใจร้ายกับความรู้สึกของเราขนาดนั้น ทั้งที่เราเองพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นมาโดยตลอด แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยได้รับความรักและความเข้าอกเข้าใจจากใคร รู้สึกเหมือนไร้คนรับฟังและไร้ที่พึ่งพิง จนบางครั้งรู้สึกเหมือนโลกช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย

แต่บางทีพวกเขาเหล่านั้นอาจไม่ได้ใจร้ายกับความรู้สึกของเราอย่างที่เราตีความหรอก พวกเขาในเวลาอื่นอาจเป็นคนที่ใจดีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาก พูดจากับคนอื่นดีมาก จนมองดูแล้วไม่น่าติดคำว่าใจร้ายไว้ที่ตัวได้เลย แต่ที่เขาเฉยชาและมักทำเหมือนไม่สนใจความรู้สึกของเรา บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขาขาดทักษะ “Empathy” เท่านั้นเอง

ความจริงแล้ว มนุษย์เกิดมามีทักษะ “Empathy” ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

แวบแรกที่กวาดสายตาอ่านเราอาจรู้สึกไม่อยากเชื่อ เพราะทั้งสงครามและความขัดแย้งล้วนเป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งนั้น แล้วมนุษย์ทุกคนจะมี “Empathy” ตั้งแต่เกิดอยู่แล้วได้อย่างไร?

เจเรมี่ ริฟคิน (Jeremy Rifkin) นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และนักสังคมชาวอเมริกัน ยกเรื่องราวนี้มาเขียนไว้ในหนังสือ “Empathic Civilization” เพื่ออธิบายถึงแก่นแท้ความเป็นมนุษย์และรากเหง้าของสังคมมนุษย์ที่มาจากการมี “Empathy”

โดยเขาเชื่อว่า “Empathy” เป็นบ่อเกิดถึงอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง เขาได้อ้างอิงงานวิจัยหลายตัวเพื่อที่จะบอกผู้อ่านว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาโดยมี “Empathy” ในตัวเองอยู่แล้ว

ริฟคินกล่าวถึงงานวิจัยที่พบว่า เด็กทารกที่เกิดมาบนโลกนี้ได้เพียงสองวัน สามารถรับรู้ความรู้สึกของเด็กทารกคนอื่นจากเสียงร้องไห้ แล้วจะร้องไห้ตอบกลับไปยังเด็กคนนั้น ในงานวิจัยอื่นยังระบุว่า เด็กอายุเพียงสองขวบ มักจะแสดงอาการ “ไม่สบายใจ” เมื่อเห็นเด็กคนอื่นกำลังทุกข์ และจะเข้าไปหาเด็กคนนั้นเพื่อแบ่งของเล่น โอบกอด หรือพาเด็กคนนั้นไปหาแม่ของพวกเขาเพื่อเป็น “การช่วยเหลือ”

ในหนังสือยังเล่าว่า แม้แต่ในสถานที่ที่ดูไร้ความเข้าอกเข้าใจกันมากที่สุดอย่างใน “สนามรบ” ยังเคยเกิดปรากฏการณ์ “คริสต์มาสทรูซ (Christmas Truce)” เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1914 คือเหตุการณ์ที่ทหารอังกฤษและทหารเยอรมันพากันกอดคอร้องเพลงในคืนคริสต์มาสอีฟ และมีบทสนทนาคิดถึงบ้านร่วมกัน ทั้งที่ตอนนั้นโลกกำลังวุ่นวายกับสงครามโลกครั้งที่ 1

อย่างไรก็ตาม “Empathy” เหมือนกับทักษะอื่นๆ ของมนุษย์ ถึงแม้จะเป็นทักษะที่สามารถมีมาตั้งแต่เกิด พัฒนาและฝึกฝนได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจเกิดมามี “ไม่เท่ากัน” โดยมีทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม การเลี้ยงดูจากพ่อแม่และสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด

ทำไมการพัฒนาทักษะ “Empathy” ถึงเป็นเรื่องยาก?

เบรเน่ บราวน์ (Brene Brown) นักวิจัยและนักเขียนชื่อดัง กล่าวไว้ใน Ted Talks ว่า การจะทำความ “เข้าใจ” ผู้อื่นอย่างแท้จริงได้ อันดับแรกเราต้องเข้าใจ “ความเปราะบาง” ในใจของตนเองก่อน คนที่ “กล้า” โอบรับความอ่อนไหวทางอารมณ์ของตนเอง ยอมรับความอ่อนแอของตนเอง และกล้าเปิดเผยมันต่อผู้อื่น จึงจะเป็นผู้ที่สามารถ “รู้สึก” ถึงความเจ็บปวดของผู้อื่น และแสดง “ความเข้าอกเข้าใจ” ออกมาได้

เพราะการเข้าใจผู้อื่น ไม่ใช่แค่การ “เห็น” ว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไร แต่เป็นการ “เข้า” ไปนั่งใน “หัวใจ” ของอีกฝ่าย เพื่อ “เข้าใจ” สถานการณ์ ความยากลำบาก หรือประสบการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ และรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับพวกเขาด้วย เหมือนกับการปลอบโยนว่า “เธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ” “ฉันพร้อมที่จะเข้าใจ รับฟังและช่วยเหลือเธอ”

การเปิดเผยและยอมรับความอ่อนไหวทางอารมณ์ของตนเอง เพื่อ “ร่วม” รู้สึกเจ็บปวดไปกับผู้อื่นด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน เพราะมนุษย์ต้องการ “ความมั่นคง” ทางอารมณ์ และต้องการ “ความปลอดภัย” บ่อยครั้งจึงเกิดการสร้างเกราะกำบังและหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้ตัวเองรู้สึก อ่อนแอด้วยการเดินหนี การเมินเฉย และการรับฟังเราแต่เพียงผิวเผิน

ถ้าคนสำคัญของเราไม่มี Empathy ให้กับเราเลย แล้วเราจะต้องทำอย่างไร?

เมื่อคนที่เราให้ความสำคัญไม่มี Empathy กับเรา โปรดตระหนักไว้ว่า พวกเขาก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเปราะบางในใจไม่ต่างจากเรา แน่นอนว่า เราสามารถเลือกที่จะไม่ให้พวกเขามามีอิทธิพลกับความรู้สึกของเรา เพื่อปกป้องตัวเราไม่ให้ผิดหวังและเสียใจมากขึ้นได้เช่นกัน โดยเราขอแนะนำวิธีรับมือกับคนที่ไม่มี “Empathy” ดังนี้

[  ] สร้างขอบเขตของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นคนรัก คนในครอบครัวหรือคนที่ทำงาน ถ้าเวลาที่เราไปขอความเข้าอกเข้าใจจากพวกเขา หรือแค่กำลังอยู่ในบทสนทนาด้วย แต่เขากลับจงใจใช้คำพูดรุนแรงไม่เกรงใจเรา ให้เราแสดงจุดยืนว่าเขากำลัง “ล้ำเส้น” และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับเรา เพราะแม้ว่าเขาจะไม่สามารถทำความเข้าใจเราได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาสามารถใช้คำพูดไม่ดีกับเราได้

[  ] ผูกมิตรกับคนอื่นที่มี Empathy

ถึงแม้การรับผิดชอบอารมณ์และความรู้สึกจะเป็นหน้าที่ของตัวเราเอง แต่ในเชิงจิตวิทยาก็มีการพิสูจน์แล้วว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันและคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จะเป็นความสัมพันธ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเรามากในระยะยาว ทางที่ดีเราจึงควรเลือกสานสัมพันธ์กับคนที่มีทักษะ Empathy สูงไว้ด้วย

Advertisements

[  ] เลี่ยงขอกำลังใจจากคนที่ไม่มี Empathy

ในบางเวลาเราอาจจะต้องการใครสักคนที่รับฟังเรื่องของเราและเข้าใจเรา แต่ “ใครสักคน” ที่ให้ความเข้าอกเข้าใจเราได้ ย่อมไม่ใช่คนที่ขาดทักษะ Empathy

ทางที่ดีเราควรหันกลับมาฝึกการยอมรับและทำความเข้าใจความรู้สึกตนเอง (Self-Acceptance) หรืออาจไปปรึกษาคนที่สามารถให้ความเข้าอกเข้าใจเราได้ โดยที่ไม่ตัดสินและเมินเฉยปัญหาของเรา อาจเป็นเพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับเรา

[  ] อย่าคาดหวังให้ใครเปลี่ยนแปลง

ทักษะ Empathy สามารถฝึกฝนเพื่อพัฒนาได้ แต่เราไม่สามารถไปทำให้ใครอยากฝึกฝนและพัฒนาทักษะนี้ รวมถึงไปคาดหวังว่าสักวันหนึ่งคนที่ไม่มี Empathy เลยจะกลายเป็นคนที่มี Empathy มากขึ้น เพราะหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงเป็นของตัวพวกเขาเอง ไม่ใช่หน้าที่ของเรา

อย่างไรก็ตาม ถ้าอีกฝ่ายอยากจะเปลี่ยนแปลง เราสามารถให้การสนับสนุนได้ แต่ต้องไม่ใช่การพยายามไปเปลี่ยนแปลงตัวตนของพวกเขา

[  ] เดินออกมาถ้าจำเป็น

ถ้าคนที่ไม่มี Empathy กับเราเป็นคนรัก พ่อแม่หรือเพื่อนที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด เวลาที่พวกเขาเมินเฉยและด้อยค่าความรู้สึกของเรา อาจสร้างความเสียใจและความเจ็บปวดให้เราได้หลายเท่ากว่าคนอื่น การได้ลองเดินออกมามองภาพที่กว้างขึ้น จะทำให้เราได้ทบทวนว่าความสัมพันธ์นี้ยังควรค่าแก่การรักษาไว้หรือไม่ หรือเราควรสร้างระยะห่างเท่าใดในความสัมพันธ์จึงจะเหมาะสม?

[  ] พยายามไม่ถือสา

สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ การที่คนอื่นแสดงการกระทำหรือคำพูดด้วยอารมณ์แง่ลบต่อเรา ไม่ใช่ความผิดหรือความรับผิดชอบของเรา เพราะเราไม่สามารถรับผิดชอบอารมณ์ของคนอื่นได้ หนึ่งสถานการณ์จะสร้างความรู้สึกหรืออารมณ์แบบไหน ขึ้นอยู่กับผู้ที่ให้ความหมายสถานการณ์นั้น

ในอีกแง่หนึ่ง คนที่กำลังขาดทักษะ Empathy และแสดงพฤติกรรมใจร้ายออกมา บางทีอารมณ์ลบนั้นอาจมาจากปัญหาส่วนตัวที่เขากำลังเผชิญอยู่ อาจเป็นปมในอดีตหรือประสบการณ์ฝังใจ ซึ่งเราไม่มีทางรู้หรือตัดสินเขาได้เลย

นอกจากการพยายามหลีกเลี่ยง บางทีเราอาจเลือกที่จะ “เข้าใจ” ในสิ่งที่เขาเป็นก็ได้เช่นกัน ถ้าเราเลือกเข้าใจเขา เขาอาจจะเปิดใจและเข้าใจเรากลับหรืออาจไม่เข้าใจเราเลยก็ได้ เพราะการมี Empathy คือการรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเลือกที่จะเข้าใจผู้อื่น โดยไม่คาดหวังให้ใครต้องเปลี่ยนแปลง

แม้บนโลกนี้เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใครได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อคนอื่น ต่อสังคม และต่อโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้นได้ เพราะแม้แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารอังกฤษกับทหารเยอรมัน ยังสามารถกอดคอร้องเพลงในคืนคริสต์มาสอีฟได้เลย

อ้างอิง
– หนังสือ The Empathic Civilization : Jeremy Rifkin
– The Power of Vulnerability : Brene Brown – https://bit.ly/44Pht3z
– Think Empathy Is A Soft Skill? Think Again. Why You Need Empathy For Success : Tracy Browner – https://bit.ly/45fb3dT
– What to Do If You or a Loved One Lack Empathy : Kendra Cherry – https://bit.ly/3KpI13b

#relationship
#selfdevelopment
#empathy
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า