ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาของทุกคนเป็นอย่างไร?
วันหยุดยาวในตอนสิ้นปีจนถึงปีใหม่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของคนส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ การได้หยุดพักจากงานแล้วเดินทางไกลเพื่อกลับไปใช้เวลากับครอบครัวที่ไม่ได้เจอกันนาน การได้นั่งรถไปในที่ที่อยากไปและจมอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องมีเรื่องงานมารบกวนการพักผ่อน การไปกินข้าวหรือนัดสังสรรค์กับเพื่อนฝูงได้อย่างครบถ้วน ไม่มีใครติดประชุมหรืองานด่วน
และสำหรับบางคน วันหยุดยาวของพวกเขากลายเป็น ‘วันพักผ่อน’ อย่างแท้จริง เพราะอยากนอนกี่โมง ตื่นสายแค่ไหนก็ได้ และสามารถปล่อยให้เตียงดูดร่างและสติสัมปชัญญะไปได้ตลอดเวลา หิวเมื่อไรก็ค่อยลุกขึ้นมาหาอะไรกิน หาหนังหรือซีรีส์มาดูตลอดทั้งช่วงวันหยุดยาว และมีความสุขกับวันพักผ่อนของพวกเขา
แต่กับบางคนแล้ว แม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลและไม่ต้องออกไปทำงาน พวกเขาก็ยังรู้สึกเอื่อยเฉื่อย เหนื่อยหน่าย และไม่ได้มีความสุขไปกับช่วงเทศกาลอย่างที่ควรจะเป็น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ผ่านช่วงเทศกาลมาด้วยความรู้สึกไม่รื่นเริง ไม่ตื่นเต้น ไม่อยากเอาตัวเองไปสัมผัสบรรยากาศของเทศกาลนอกบ้าน และจนถึงตอนนี้ก็ต้องออกไปทำงานทั้งที่รู้สึกว่ายังพักได้ไม่เต็มที่ ไม่แน่ว่าตอนนี้คุณอาจจะกำลังประสบกับ Holiday Burnout อยู่ก็เป็นได้
คนเราก็ Burnout เพราะ ‘เทศกาล’ ได้เหมือนกัน
เมื่อพูดถึงคำว่า Burnout เราก็มักจะนึกถึงสาเหตุจากเรื่องงานกันทั้งนั้น แต่ในความจริงแล้วไม่ได้มีแค่งานที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าและหมดไฟได้เพียงอย่างเดียว สถานการณ์ที่แตกต่างและเต็มไปด้วยความรู้สึกบางอย่างมากกว่าปกติอย่างที่เป็นในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะกับช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาก็ทำให้เรารู้สึก Burnout ได้ด้วยเช่นกัน
Holiday Burnout หมายถึง ความเหนื่อยล้าทั้งทางใจ ทางกายและทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลหรือเกิดขึ้นหลังจากเทศกาล สาเหตุก็มีจากความเข้มข้นของสิ่งต่างๆ นั้นเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งปริมาณคนที่เราต้องไปพบเจอ รวมถึงปริมาณของค่าใช้จ่ายที่เราต้องซื้อของขวัญหรือใช้ในโอกาสต่างๆ ด้วย
ลองนึกถึงภาพการจราจรในวันปกติ การต้องเผชิญกับรถติดเป็นชั่วโมงๆ ระหว่างทางที่กำลังเดินไปทำงานทุกเช้าและทุกเย็นก็สร้างความเหนื่อยล้าให้เราไม่น้อยแล้ว แต่การเดินทางข้ามจังหวัดพร้อมกับรถอีกหลายแสนคันบนท้องถนน ทำให้คุณต้องเผชิญกับสภาพการจราจรติดขัด 5-6 ชั่วโมง เผลอๆ ในบางจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นมากๆ อาจทำให้รถติดนานกว่านั้นได้อีก
ลองคิดว่าในช่วงไม่กี่วันที่ไม่ได้ไปทำงาน คุณต้องออกไปเจอกับผู้คนมากมายและมากกว่าจำนวนคนที่คุณพบปะในชีวิตประจำวันเสียอีก ทั้งญาติพี่น้อง ญาติฝั่งพ่อ ญาติฝั่งแม่ งานเลี้ยงในบริษัท เพื่อนสมัยมัธยม เพื่อนมหาวิทยาลัย และผู้คนอีกมากมายที่คุณต้องไป ‘สวัสดีปีใหม่’ ไม่แน่ว่าเทศกาลใหญ่แบบนี้จะบังคับให้คุณต้องเจอกับคนที่ไม่ได้อยากเจอก็ได้
นอกจากนี้การไปพบเจอแบบมือเปล่าก็อาจจะทำให้คุณรู้สึกกังวลได้ จึงต้องหาของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ติดมือไปเพื่อมอบให้กันในวันปีใหม่แบบนี้ และก็ปิดท้ายเดือนมกราคมด้วยยอดบิลค่าใช้จ่ายที่คุณต้องตกใจจนตาโตทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาดู
ในวินาทีที่เงินถูกจ่ายออกไป มันอาจจะเป็นมูลค่าของความสุขที่จะได้รับกลับมาในช่วงเทศกาลก็จริง แต่เพราะว่าทุกๆ อย่างในช่วงเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลารถติด สถานการณ์ไฟลต์บินล่าช้า ผู้คนที่เราต้องออกจากบ้านไปพบเจอ รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นมากเกินกว่าวันธรรมดาวันอื่นๆ ของเรา จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกท่วมท้นและเหนื่อยล้ากับช่วงเทศกาลได้ง่ายกว่าเดิม
สำรวจสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังเจอกับ Holiday Burnout
ไม่ว่าจะ Burnout จากเรื่องงานหรือจากเทศกาลก็ตาม ถ้าเรารู้ไม่ทันอารมณ์และจิตใจของตัวเอง ก็อาจจะทำให้เหนื่อยล้า เฉื่อยชาและเผลอทำช่วงเวลาแห่งความสุขหลุดมือไปก็ได้ ยิ่งถ้าเลยช่วงเทศกาลไปแล้วเราต้องลุกขึ้นมาอาบน้ำ เตรียมตัวไปทำงานและเผชิญกับรถติดทั้งที่ยังคง Burnout จากวันหยุดยาวปีใหม่ละก็ไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน
ก่อนที่ทุกอย่างจะแย่ลงไปหมด การสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และจับสัญญาณของ Holiday Burnout ให้ได้ก่อนก็จะทำให้เราสามารถแก้ไขสถานการณ์และกอบกู้ความสุขในช่วงวันหยุดยาวกลับคืนมาได้ และต่อไปนี้ก็คือ 3 สัญญาณของ Holiday Burnout
[ ] รู้สึกเหนื่อยมากกว่าจะตื่นเต้นและร่าเริงไปกับบรรยากาศของเทศกาล
เมื่อเทศกาลมาถึง ผู้คนมักจะชอบตกแต่งบ้านและพื้นที่ด้วยสิ่งต่างๆ ที่แสดงถึงบรรยากาศของเทศกาล มีต้นคริสต์มาสเล็กๆ มีป้าย Happy New Year แปะรับแขกอยู่ที่หน้าประตูบ้าน มีแจกัน ตุ๊กตาตั้งโต๊ะ หรือเบาะรองหลังลายใหม่ที่เข้าชุดกัน บางคนอาจสร้างบรรยากาศด้วยเพลย์ลิสต์เพลง หรือหนังเทศกาลหลายๆ เรื่อง แต่ถ้าคุณเหนื่อยกับการตกแต่งหรือสร้างบรรยากาศ ไม่อยากหยิบจับหรือลุกขึ้นมาดื่มด่ำกับสิ่งเหล่านี้แม้แต่น้อย เป็นไปได้มากทีเดียวที่คุณจะกำลังประสบกับ Holiday Burnout
[ ] อารมณ์แปรปรวนง่ายมาก
ในช่วงเวลาแห่งความสุขแบบนี้ การออกไปสัมผัสกับบรรยากาศของเทศกาลจึงกลายเป็นตัวกระตุ้นความสุข ความอบอุ่นในหัวใจและรอยยิ้มได้มากทีเดียว แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้ความสุขและรอยยิ้มอยู่กับคุณได้นานนัก บางทีก็เบื่อ อยากจะเทนัดของทุกคนแล้วกลับบ้านไปนอน หรือรู้สึกไม่รื่นเริงสนุกสนานไปกับบรรยากาศของผู้คนผิดกับที่ควรเป็นแล้วละก็ นี่คือสัญญาณของ Holiday Burnout อย่างแน่นอน
[ ] รู้สึกว่าตัวเองมีขีดจำกัดในเรื่องต่างๆ มากเกินไป
ในช่วงเทศกาลแบบนี้เป็นไปได้ยากมากที่จะหลบหลีกสถานการณ์ต่างๆ เช่น รถติด คนเยอะ ไฟลต์บินดีเลย์ หรือค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงหลายเท่าตัว ดังนั้นถ้าเราเป็นคนที่มีข้อจำกัด เช่น นั่งท่าเดิมนานๆ ไม่ได้ รู้สึกเหนื่อยง่ายและเริ่มไม่สบอารมณ์เมื่อต้องเจอกับคนมากมาย หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลแล้วละก็ ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะ Holiday Burnout สูงมากทีเดียว
แก้ไขตอนนี้ก็ยังไม่สาย! กำจัดภาวะ Holiday Burnout ด้วย ‘ตัวของเราเอง’
แม้ว่าเทศกาลใหญ่ของคนไทยจะมีไม่เยอะมากนัก แต่ช่วงต้นปีถือว่ามีหลายเทศกาลให้เราต้องเผชิญอยู่ทุกเดือนเลยทีเดียว ทั้งวันขึ้นปีใหม่ วันวาเลนไทน์ หรือช่วงสงกรานต์ ดังนั้นถ้าเราปล่อยให้ตัวเองต้องเจอกับ Holiday Burnout ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบแก้ไขแล้ว ก็มีแค่ตัวเราเพียงเท่านั้นที่ต้องอยู่กับความเครียด ความกดดัน ความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจต่อไปไม่สิ้นสุด นี่จึงเป็นวิธีป้องกันและแก้ไขหากวันหนึ่งเราต้องเผชิญกับ Holiday Burnout ขึ้นมา
[ ] ความรู้สึกของเราสำคัญที่สุด
ในช่วงเทศกาลอย่างนี้ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือการแสดงความสุข ความคิดถึงและส่งต่อคำอวยพรให้กับผู้คน ไม่ว่าจะด้วยคำพูด ของขวัญหรือการใช้เวลาด้วยกันก็ตาม แต่บางครั้งสถานการณ์ก็บังคับให้เราทำทั้งที่ไม่อยากทำ ดังนั้นหากเราฟังเสียงหัวใจตัวเอง ปฏิเสธนัดของกลุ่มเพื่อนที่ไม่สนิท ซื้อของขวัญในราคาที่เราไม่เดือดร้อนให้คนอื่น การซื่อสัตย์และยอมรับความรู้สึกของตัวเองจึงเป็นการปลดล็อกตัวเราออกจากกรงขังของเทศกาลเหล่านั้นได้ดีที่สุด
[ ] ขีดเส้นให้ตัวเองได้มีความสุขอย่างเต็มที่
บางครั้งการพบปะสังสรรค์กับผู้คนก็สร้างความสุขให้เราได้ แต่ถ้าการพบปะนั้นทำให้เราสูญเสียเวลาส่วนตัวไปก็จะทำให้เราอารมณ์เสียได้เช่นกัน จึงควรขีดเส้นให้ตัวเองได้มีความสุขกับสิ่งต่างๆ อย่างพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป เราไม่ควรกลัวที่จะขอตัวกลับก่อน ไม่จำเป็นต้องนั่งกินอาหารที่ไม่ได้อยากกิน หรือจะปฏิเสธแผนที่มีค่าใช้จ่ายเกินตัวก็ไม่ผิด อย่าลืมไปว่าเทศกาลแห่งความสุขนี้ก็หมายรวมถึงความสุขของตัวเราด้วยเช่นกัน
การให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเองคือภูมิคุ้มกันภาวะ Burnout ได้อย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากเรื่องงานหรือเทศกาลก็ตาม หากเราละเลยความต้องการของตัวเองแล้ว ก็คงยากที่จะหาคนอื่นที่เข้าใจและเห็นคุณค่าตรงกับใจของเรา
สุดท้ายแล้วถ้าเรายังคงปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเหนื่อยล้าทางกายและใจจากภาวะ Holiday Burnout ต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่ว่าเราอาจจะสูญเสียความสุขทั้งปีของเราไปเลยก็ได้
อ้างอิง
– Here’s what holiday burnout does to your body and how to protect yourself against it : Nandini Maharaj, Business Insider – https://bit.ly/3RK2WAO
#burnout
#selflove
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast