self developmentวันหนึ่งความธรรมดา อาจกลายเป็นเรื่องพิเศษ เมื่ออยู่ท่ามกลางโลกดิจิทัล

วันหนึ่งความธรรมดา อาจกลายเป็นเรื่องพิเศษ เมื่ออยู่ท่ามกลางโลกดิจิทัล

หนึ่งในกิจกรรมที่ผมชอบมากที่สุดเวลาเดินทางไปต่างเมืองหรือต่างประเทศคือ การไปสวนสาธารณะครับ นอกจากจะไปเดินเล่นหรือวิ่งแล้ว ผมยังชอบไปดูผู้คนที่นั่นด้วย

ครั้งล่าสุดที่ผมไปชิคาโกมา ผมก็ไปนั่งๆ เดินๆ ในสวนสาธารณะริมทะเลสาบมิชิแกนอยู่ครึ่งวัน เนื่องจากวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่อากาศดี คนจึงหนาตา ผมเดินมาบริเวณริมน้ำและก็สังเกตว่าคนที่อยู่แถวๆ นั้น มีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือคนจำนวนมากอ่านหนังสือจากกระดาษกันอยู่ บางคนนอนอยู่บนเปลญวนที่เอามาเอง บางคนปิกนิกทานอาหารกับครอบครัว และบางคนกำลังง่วนอยู่กับการลงสีภาพวาด

แทบไม่มีใครจับอะไรที่เป็นหน้าจออิเล็กทรอนิกส์เลย

ภาพตรงหน้าทำให้ผมคิดว่าในโลกที่เต็มไปด้วยความเร็วและข้อมูลที่โหมกระหน่ำแบบไม่ให้หยุดพักผ่อน เชื่อว่าความแอนะล็อก รวมถึงความเงียบสงบและการจดจ่อ สุดท้ายแล้วคือความเป็นมนุษย์ และจะกลายเป็นความ “พิเศษ” หรือจะเรียกว่าความ “หรูหรา” ในยุคอนาคตที่ผู้คนใฝ่หา

ความเป็นมนุษย์

ผมจำความรู้สึกตอนให้ AI อย่าง ChatGPT เขียนบทความภาษาอังกฤษครั้งแรกได้ บทความที่ว่านั้นออกมาครบถ้วนมากๆ เรียกได้ว่าแก้อีกนิดหน่อยก็เอาไปใช้ได้เลย

วินาทีนั้นยอมรับว่าในฐานะ Content Creator เมื่อเห็น AI ทำได้ขนาดนี้ รู้สึกทั้งทึ่งและกลัวไปพร้อมๆ กัน

คือทึ่งในความสามารถของ AI ในขณะเดียวกันก็กลัวว่าอนาคตเราจะยังมีงานทำอยู่ไหม

แต่หลังจากที่ผมลองนั่งคิดๆ ดูแล้ว ก็พบว่าจริงอยู่ว่าเทคโนโลยีนั้นเก่งขึ้นเร็วมาก แต่ในที่สุดแล้วบางทีมนุษย์อาจต้องการอะไรมากกว่านั้น มนุษย์อาจจะต้องการเชื่อมโยงกับคนจริงๆ เหมือนกันมากกว่าหรือเปล่า

อันนี้เป็นแค่การคาดเดาเฉยๆ นะครับ แต่ผมคิดว่าในอนาคตเราอาจจะมีสิ่งที่เรียกว่า “Verified … by human”

เช่น หนังสืออาจจะมีตราที่เขียนว่า Verified written by human หรือการรับรองว่าหนังสือเล่มนี้เขียนโดยคนจริงๆ นะ เป็นต้น

ก็คล้ายๆ กับสติกเกอร์ที่ติดตามอาหารออร์แกนิกอะไรจำพวกนั้นน่ะครับ

พูดถึงหนังสือผมก็นึกได้ว่าผมยกเลิกสมาชิกของแอปพลิเคชันสรุปหนังสือต่างๆ ที่สรุปหนังสือต่างประเทศไปทั้งหมด เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้ใช้งานจริงๆ สิ่งที่สรุปถามว่าครบถ้วนไหมก็ต้องบอกว่าครบถ้วน แต่สิ่งที่ขาดหายไปเลยคือพลังของสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ และบริบทของหนังสือในแง่ของการนำสิ่งที่เราอ่านมาใช้งานต่อ

ทุกวันนี้ผมกลับมาอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ อย่างเดียว แล้วอ่านเยอะขึ้นมาก เพราะหลังจากลองมาหลายอย่างผมพบว่าสิ่งที่ช่วยในการเรียนรู้สิ่งใหม่ รวมถึงตกผลึกสิ่งเก่าด้วย สำหรับผมก็คือ “หนังสือ” นี่แหละครับ

การอ่านหนังสือสำหรับผมแทบจะเป็นหนึ่งในการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งวิธีเดียวเลย มันคือการที่ความรอบรู้ของหนังสือกับความรอบรู้ของเราบวกกันและตกผลึกออกมาเป็นเรื่องใหม่หรือมุมมองใหม่ๆ ที่จะถูกหยิบมาใช้เมื่อถึงเวลา

การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวอักษรเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำกันมานานมากแล้ว

และสิ่งนี้เป็นเรื่อง “ธรรมดา” ที่อาจจะ “พิเศษ” ได้ในอนาคตอันใกล้

ความเงียบสงบและการจดจ่อ

ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่โหมกระหน่ำใส่เราไม่หยุดหย่อน โลกที่เราสามารถเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ ไถหน้าฟีดบนโซเชียลมีเดียดูวิดีโอสั้นๆ ของผู้คนซึ่งเราจะลืมมันไปทันทีหลังจากนั้น รู้ทั้งรู้ว่าไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากนัก แถมบางทีอาจจะยิ่งทำให้เราเศร้าเพราะเกิดการเปรียบเทียบอีก แต่ดูเหมือนว่าเราก็ไม่สามารถหยุดพฤติกรรมนี้ได้

ในหนังสือเรื่อง Four Thousand Weeks ของ Oliver Burkeman พูดถึงเรื่อง Attention Economy หรือ “ระบบเศรษฐกิจเพื่อแย่งความสนใจของผู้บริโภค” ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า นอกจากมันจะเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนความเชื่อและบริบทของสังคมแล้ว มันยังทำให้เวลาของคุณหมดไปเพราะคุณเอาเวลามา “สนใจ” ในสิ่งที่คุณไม่ได้ “ใส่ใจ” และดูเหมือนว่าเรามีอำนาจน้อยมากที่จะควบคุม “ความสนใจ” ของเรา เพราะเรามักแพ้ต่อความเย้ายวนของ Attention Economy เสมอ

อย่างที่เราทราบกันว่าโซเชียลมีเดียนั้นไม่ใช่ของฟรี และจริงๆ แล้วคุณไม่ได้เป็นลูกค้า แต่เป็นสินค้าที่ถูกขาย โดยสินค้าที่ว่าก็คือ “ความสนใจ” หรือ Attention ของเรานั่นเอง โดยการออกแบบของโซเชียลนั้นถูกหยิบยืมมาจากการออกแบบของบ่อนกาสิโน ที่พยายามจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Variable Rewards หรือผลตอบแทนที่ไม่จำเจ เพราะตอนที่คุณรีเฟรชหน้าจอหรือเลื่อนเพื่อดูวิดีโอถัดไป คุณไม่รู้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะมีโพสต์ใหม่หรือคลิปที่น่าสนใจไหม ความไม่แน่นอนนี้ทำให้เราอยากลองอีกครั้ง ซึ่งหลักการนี้คือหลักการของเครื่องเล่นสล็อตเลย

สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่เราสนใจ และการที่โลกปัจจุบันทำให้เราถูกดูดความสนใจไปมากมายแบบนี้ทำให้เราตั้งสมาธิกับอะไรไม่ได้ง่ายๆ

หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือเราอาจสูญเสียความสามารถใน “การจดจ่อ” ไปนั่นเอง

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเราอาจกล่าวได้ว่า “ความจดจ่อ” คือ “ชีวิต” เหมือนที่หนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่า

“ประสบการณ์การมีชีวิตประกอบขึ้นมาจากผลรวมของทุกสิ่งที่คุณสนใจจดจ่อล้วนๆ ในบั้นปลายชีวิตเมื่อมองย้อนกลับไป อะไรก็ตามที่ดึงดูดความสนใจของคุณจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่งก็คือชีวิตของคุณ”

ถ้าหากถามว่าทุกวันนี้เราจดจ่อกับกิจกรรมที่เราทำอยู่มากแค่ไหน

ถ้าพูดเรื่องง่ายที่สุดก็อย่างเช่นการทานข้าว ลองสังเกตตัวเองในมื้ออาหารถัดไปว่า เรารับรู้รสชาติของอาหารแค่ไหน เราได้ดื่มด่ำกับอาหารมากกว่าแค่การถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียหรือเปล่า รวมถึงเราสนใจบทสนทนาของคนตรงหน้าหรือสนใจข้อความในมือถือมากกว่ากัน

หลายคนสัมผัสเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่เรื่องการทำสมาธิที่เคยดูเหมือนเป็นเรื่องศาสนาและไม่ค่อยเกี่ยวกับชีวิตคนทั่วไปเท่าไร แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นเรื่องที่คนพูดถึงกัน ถ้าเราไปยืนที่ชั้นหนังสือเราจะพบหนังสือมากมายที่ไม่ใช่หนังสือธรรมะที่พูดเรื่องนี้

เรามีการพูดถึง Social Media Detox และมีกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะเยอะมาก

เรามีแอปพลิเคชัน สารคดี รวมไปถึงสถานที่ที่สามารถไปพักผ่อนจิตใจเพื่อทำสมาธิได้ โดยไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสถานปฏิบัติธรรมแบบเดิมๆ และธุรกิจเหล่านี้กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก

เห็นได้ชัดว่ามีคนจำนวนมากต้องการที่จะมีชีวิตที่ “เงียบสงบ” และ “จดจ่อ” มากขึ้น

อะไรก็ตามที่สร้างช่วงเวลาแบบนี้ได้ จะกลายเป็นของที่ “พิเศษ” มากๆ ในยุคนี้

Advertisements
Advertisements

ชีวิตแบบแอนะล็อก

ข้อมูลจาก Statista บอกไว้ว่า หลังจากที่แผ่นเสียงถูกแทนด้วยเทปในช่วงยุค 80 และยอดขายก็เหลือแบบเฉพาะกลุ่มมากๆ มาตลอด แต่ในช่วงปี 2007 เราเริ่มเห็นการกลับมาของยอดขายแผ่นเสียงแบบก้าวกระโดด จากปีละไม่ถึงล้านแผ่น มาเป็น 42 ล้านแผ่นในปี 2021 (เฉพาะในสหรัฐอเมริกา) และแนวโน้มยังทะยานขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่แผ่นเสียงเก็บเพลงได้นิดเดียวแถมแพงมากๆ อีกต่างหาก

ถามว่าการเล่นเพลงจากแผ่นเสียงนั้นสะดวกกว่าระบบสตรีมมิงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่เลย และถ้าพูดถึงคุณภาพของเสียงก็คงสู้ออดิโอไฟล์ไม่ได้

แต่เสียงที่ได้จากแผ่นเสียงมีคุณลักษณะบางอย่างที่ไฟล์ดิจิทัลนั้นให้ไม่ได้

ผมเองไม่ได้เป็นคนชอบเครื่องเสียง ผมเลยไปคุยกับเพื่อนๆ ที่ชอบเรื่องนี้มา เกือบทุกคนให้ข้อมูลคล้ายกันว่า ที่ชอบแผ่นเสียงเพราะชอบเอกลักษณ์ของเสียงที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงพิธีกรรมของการเล่นแผ่นเสียง ตั้งแต่การเช็ดแผ่น การยกแผ่นมาวางบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Turntable) แล้วค่อยๆ วางเข็มลงไปอย่างประณีต เหล่านี้คือเสน่ห์ของการเล่นแผ่นเสียงที่เทคโนโลยียุคใหม่ให้ไม่ได้

“มันคือความสุนทรียะของชีวิต” เพื่อนผมคนหนึ่งได้กล่าวไว้

และอีกวงการที่น่าสนใจคือ วงการรถยนต์ครับ

ในยุคของ EV และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Driving) รถยนต์นั้นทำอะไรได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการขับเองหรือจอดเอง ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งนั้นง่ายมากๆ ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้นั่งในรถที่ขับเอง ดู Netflix พร้อมทานอาหารไประหว่างทาง โดยมือไม่ต้องจับพวงมาลัยเลย เมื่อถึงที่หมายรถก็ไปจอดเองโดยไม่ต้องหาที่จอดรถ เมื่อเสร็จธุระจะกลับบ้านก็เรียกรถมารับกลับได้เลย

ท่ามกลางความไฮเทคของรถยนต์สมัยใหม่ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มสะสมรถยนต์เครื่องสันดาปภายในและรถจำนวนมากที่ถูกสะสมคือรถเกียร์ธรรมดา ซึ่งคำว่ารถสะสมผมไม่ได้หมายถึงรถเก่าอย่างเดียว แต่รวมถึงรถใหม่ป้ายแดงด้วย เพราะมีวี่แววว่าบริษัทรถยนต์หลายบริษัทจะหันไปเน้น EV กับ Hybrid 100% ซึ่งแน่นอนว่ารถยนต์ที่จะมีเครื่องสันดาปภายในและเกียร์ธรรมดาก็จะไม่ถูกผลิตขึ้นมาอีก

ถ้ามองไปไกลๆ ในอนาคต เราอาจจะมีพื้นที่พิเศษเฉพาะสำหรับคนที่อยากขับรถเอง เพราะเมืองทั้งเมืองรถยนต์อาจจะกลายเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบหมดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าอยากขับรถเองก็ต้องไปพื้นที่พิเศษ

กิจกรรมการขับรถซึ่งวันนี้เป็นกิจกรรมที่ “ธรรมดา” มากๆ แต่อนาคตอาจจะกลายเป็นกิจกรรม “พิเศษ” ที่เราไปทำเมื่อถึงวันหยุดพักผ่อนก็เป็นได้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผมนึกถึงการทานอาหารของครอบครัวผมที่เราคุยเรื่องราวต่างๆ กันอย่างออกรสชาติโดยไม่มีใครสนใจหยิบมือถือมาเลยสักคนเดียว

พี่สาวผมทั้งสองคนทุกวันนี้อยู่คนละประเทศแต่มีงานอดิเรกที่คล้ายกันคือ ชอบปลูกผักทั้งคู่และปลูกกันแบบจริงจังด้วย

เมื่อสลัดมาเสิร์ฟ พี่สาวผมจะภูมิใจมากที่จะบอกว่า

“ผักที่อยู่ในจานนี้ทั้งหมด พี่ปลูกเอง”

แน่นอนว่าผักต่างๆ อาจจะไม่สวยงามเท่าที่เราซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต แต่สำหรับพวกเราสลัดจานนี้มีความพิเศษมาก

เรากำลังอยู่ในยุคที่เรื่อง “ธรรมดา” กลายเป็นเรื่อง “พิเศษ”

#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า