self development"Feedback ดีมีเพียงหนึ่งเดียว" อยากให้งานเดินหน้าได้ ต้องเลิกเอาใจทุกคน

“Feedback ดีมีเพียงหนึ่งเดียว” อยากให้งานเดินหน้าได้ ต้องเลิกเอาใจทุกคน

“อยากได้งานที่ดี ต้องรู้จักนำความคิดเห็นของคนอื่นมาปรับปรุงแก้ไข”
แต่ถ้ามี 1,000 ความคิดเห็น เราจะต้องใส่ใจทุกความคิดเห็นจริงๆ หรือไม่?

หลายครั้งที่การนำเสนองานของเราย่อมมีการถูกคอมเมนต์หรือ Feedback ด้วยความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย แต่หากความคิดเห็นนั้นมีจำนวนมากและหลากหลายจนตัวคนทำงานเองไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ถูก หรือเรียงลำดับความสำคัญไม่ได้ เราจะเริ่มต้นพัฒนางานนั้นอย่างไรกันแน่?

แม้การนำความคิดเห็นของอื่นมาปรับปรุงแก้ไขกับงานของเรา จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์กันมาหลายต่อหลายชั่วอายุคนแล้วว่าทำให้เกิดการพัฒนางานได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกแนวคิดที่กำลังบอกเราว่า การปฏิเสธบางความคิดเห็นที่ไม่จำเป็น เป็นตัวเร่งให้งานและชีวิตของเราประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น

แนวคิดนี้เรียกว่า Selective Ignorance หรือความไม่รู้แบบเลือกสรร ที่เป็นเคล็ดลับความสำเร็จของคนดังผู้ประสบความสำเร็จระดับโลก

“นวัตกรรมมาจากการปฏิเสธกับ 1,000 อย่าง ที่ทำให้เราไปผิดทาง” – Steve Jobs 

นี่คือประโยคที่ทำให้รู้ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องทำตามทุกความคิดเห็น และเอาใจทุกคนก็ได้ แต่ถ้าเรามีทักษะในการปฏิเสธบางความคิดเห็นที่ไม่จำเป็น แล้วหันมาใส่ใจกับสิ่งที่สำคัญจริงๆ ต่างหาก ถึงจะทำให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จได้เร็วขึ้น

แต่การที่จะรู้ว่า 1,000 อย่างที่ต้องปฏิเสธคืออะไรนั้น เป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนให้เป็นนิสัย จนกลายเป็นทักษะที่ติดตัว วันนี้ Mission To The Moon จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “ทักษะอิกนอร์” หรือการฝึกฝนความไม่รู้แบบเลือกสรร (Selective Ignorance) ที่ทำให้เราเลิกใส่ใจกับ 1,000 อย่างที่ไม่จำเป็น และไปโฟกัสกับ 1 อย่างที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น ​

“การทดลองกอริลลาล่องหน” ปฐมบทของ Selective Ignorance

ในปี 1999 Dan Simons และ Christopher Chabris 2 นักจิตวิทยาปริชาน (Cognitive Psychologists) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการทดลองหนึ่งซึ่งเป็นกรณีศึกษาครั้งสำคัญที่สุดของการศึกษาในวงการจิตวิทยาของโลก

การทดลองนี้จะให้ผู้เข้าร่วมดูคลิปวิดีโอสั้นๆ และนับจำนวนครั้งที่ผู้เล่นบาสเกตบอลเสื้อขาวส่งลูกบาสไปยังอีกคน ซึ่งในไม่กี่วินาทีระหว่างนั้น ก็ปรากฏภาพของมาสคอตใส่ชุดกอริลลาในคลิป เดินผ่านกล้อง แล้วทำท่าชกอกหยอกล้อกับกล้องไปมา ซึ่งเจ้ากอริลลานี้โผล่มาในคลิปเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น

เมื่อคลิปจบแล้ว ผู้เข้าร่วมการทดลองก็ถูกถามด้วยคำถามสั้นๆ ว่า… “เห็นกอริลลาไหม ?”

ที่น่าแปลกใจคือ กว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมการทดลองมองไม่เห็นกอริลลา และยิ่งไปกว่านั้น หลายคนยังมองไปในตำแหน่งเดียวกับที่กอริลลาปรากฏตัวขึ้น แต่กลับไม่เห็นกอริลลาตัวนั้นราวกับว่ามันกำลังล่องหนอยู่

หลังจากที่เฉลยคำตอบ ก็มีการให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกลับมาดูคลิปอีกครั้ง ซึ่งผลก็คือทุกคนมองเห็นกอริลลา แต่มีเพียงไม่กี่คนที่มองเห็นจุดแปลกอื่นๆ ในคลิป อย่างเช่น สีผ้าม่านที่เปลี่ยนไป และตัวของผู้เล่นทีมเสื้อดำที่เดินออกจากเกมไป

จากการทดลองครั้งนี้ Dan Simons และ Christopher Chabris ได้สรุปสั้นๆ ว่าเมื่อมนุษย์มุ่งความสนใจไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราจะไม่สังเกตสิ่งอื่นที่ผิดปกติ แม้ว่าสิ่งนั้นจะชัดเจนมากก็ตาม และในโลกแห่งความสับสนวุ่นวายใบนี้ เราใช้สมองไปกับการมุ่งสนใจไปที่สิ่งรบกวนมากเกินไป ทำให้เรามักจะพลาดสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรจะให้ความสนใจไป

สิ่งนี้เป็นแนวคิดของคำว่า ความไม่รู้แบบเลือกสรร (Selective Ignorance) นั่นเอง

Advertisements
Advertisements

“ทักษะการอิกนอร์” สุดยอดพลังแห่งการจดจ่อกับสิ่งสำคัญ

Ryan Holiday นักเขียน นักปรัชญา และนักการตลาดชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า “ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน การจดจ่อคือสุดยอดพลัง” และการเลือกที่จะไม่รู้จึงเป็นการตัดสิ่งรบกวนในสมองออก เพื่อให้เรารับข้อมูลเท่าที่สมองสามารถรับได้อย่างเต็มที่ และหยุดการป้อนสิ่งที่ไร้ประโยชน์เข้าไป เหมือนกับการล้างแคช (Cache) ในมือถือออก และได้เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลกลับเข้ามาหลายกิกะไบต์ (GB)

เทคนิคของการอิกนอร์อย่างมีประสิทธิภาพ “รู้ว่ากอริลลาของเราคืออะไร ?”
คำว่า “กอริลลา” ในที่นี้คือสิ่งสำคัญที่เราควรจดจ่อกับมันที่สุด ซึ่งการที่จะรู้ว่ากอริลลาของเราคืออะไรนั้น มีวิธีง่ายๆ คือ

“สิ่งนั้น เปลี่ยนแปลงชีวิตหรืองานของเราให้ดีขึ้นหรือไม่ ?”
[] การนั่งตอบลูกค้าวันละหลายร้อยข้อความนั้นจำเป็นจริงหรือไม่ ? หรือแท้จริงแล้วสิ่งที่สำคัญนั้นคือการตอบข้อความของลูกค้าที่สนใจซื้อของของเราให้ “รวดเร็ว” ที่สุด
[] เราจำเป็นที่จะต้องติดตามข่าวสารทุกข่าวบนโลกนี้หรือไม่ ?
[] เราต้องปรับปรุงงานตามทุกความคิดเห็นจากห้องประชุมหรือไม่ ? ถ้าหากว่าเราเหลือเวลาอยู่อีกเพียงน้อยนิด

เมื่อเราทบทวนคำถามเหล่านี้ และตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออก เราก็จะพบ “กอริลลา” ที่เราควรจดจ่อและทำให้ชีวิตหรืองานของเราดีขึ้นได้ในที่สุด

เลือกอิกนอร์ 80% เลือกทำ 20% เพื่อผลลัพธ์ที่สูงสุด

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราควรทำก็มีแค่ 20% ที่เป็นตัวแปรของความสำเร็จ (ตามกฎ 80/20 ของพาเรโต ที่เราคุ้นเคยกันดี) ยิ่งเราปลูกฝัง “ทักษะการอิกนอร์” ได้เท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความสามารถในการมองเห็นสิ่งสำคัญมากเท่านั้น

[ ] หากเราต้องตอบลูกค้าวันละหลายร้อยข้อความ และการอ่านข้อความเพื่อตอบนั้น กินเวลาการทำงานไปหลายชั่วโมงต่อวัน เราอาจจะต้องหาเครื่องมือที่ช่วยตอบข้อความอัตโนมัติ เพื่อคัดสรรลูกค้าที่สนใจซื้อของของเราจริงๆ ในขั้นตอนแรก
[ ] การติดตามข่าวสารในโลกออนไลน์ เราไม่จำเป็นที่จะต้องติดตามทุกข่าว แต่ให้เลือกติดตามเฉพาะข่าวในหมวดหมู่ที่ส่งผลกระทบกับเรา
[ ] ความคิดเห็นจากห้องประชุม เราไม่จำเป็นที่จะต้องนำทุกความคิดเห็นไปปรับใช้เสมอไป แต่เลือกเฉพาะบางส่วนที่ทำให้งาน 80% ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น
[ ] ตั้งค่าโทรศัพท์มือถือให้ไร้สิ่งรบกวนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปิดแจ้งเตือนในเวลาพักผ่อน และลบแอปที่ไม่สำคัญออก

หากคุณกำลังตกอยู่ในสภาวะที่รับความคิดเห็นเข้ามาอย่างมหาศาล จนลืมไปว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นคืออะไร เราแนะนำว่าสิ่งแรกที่คุณควรทำไม่ใช่การนั่งทำตามทุกความคิดเห็นที่มีอยู่ทันที แต่เป็นการคัดเลือกสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วลงมือลงแรงกับสิ่งที่จำเป็นที่สุดแทน

ท้ายที่สุด “ทักษะการอิกนอร์” นี้จะช่วยปลดปล่อยเราออกจากการเป็นผู้รับ ที่ต้องรับทุกอย่างเข้ามาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ให้กลายเป็นผู้สร้าง ที่มีอิสระมากขึ้น มีเวลา มีประสิทธิภาพในการคิดมากขึ้น หากคุณมีการฝึกฝนผ่านการทำบ่อยๆ “ทักษะการอิกนอร์” ก็จะกลายมาเป็นทักษะที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นในที่สุด

อ้างอิง
– Why Ignorance is a Required Skill for Success : Erik Luhrs, LinkedIn – https://bit.ly/48cIbVH
– Selective Ignorance: A Blessing in a World of Chaos : Dan Silvestre – https://bit.ly/3PjXSSz
– Selective ignorance: cultivating intentional knowledge in a chaotic world : Anne-Laure Le Cunff, Nesslab – https://bit.ly/3ZiQE5E

#selfdevelopment
#skill
#selectiveignorance
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า