self development“ไฟเรามอด แต่งานยังไหม้!” จะทำงานให้ดีอย่างไรในวันที่เรา Burnout

“ไฟเรามอด แต่งานยังไหม้!” จะทำงานให้ดีอย่างไรในวันที่เรา Burnout

‘หมดไฟ ไม่อยากทำงานแล้ว!’

เหนื่อย เบื่อ เซ็ง ทำงานได้น้อยลง ไม่ค่อยกระตือรือร้นเหมือนแต่ก่อน
ลองนั่งโต๊ะทำงานได้สักพักก็หมดใจ ไม่อยากทำต่อ จนต้องจบลงที่เตียงนอนเหมือนทุกครั้ง

ถ้าเคยมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับคุณ นั่นหมายความว่าคุณกำลังถูกขัดขวางการทำงานด้วยอาการที่เรียกว่า “หมดไฟ”

เพราะการ “หมดไฟ” และ “ไม่อยากทำงาน” เป็นเรื่องปกติที่คนทำงานทุกคนต้องเคยเจอ และรู้สึกว่าการจัดการกับมันเป็นเรื่องที่ยาก จนหลายคนมักเลือกที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการลาออกจากงาน แต่ถ้าหากว่าการลาออกไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์กับการหมดไฟอีกต่อไป เราจะมีวิธีการอย่างไรให้สามารถทำงานได้ และรักษามาตรฐานของงานได้แบบไม่ตก

ก่อนอื่น เราต้องรู้จักสาเหตุหลักของอาการหมดไฟก่อนว่า อาการนี้มักจะมาจากการที่เราสะสมความเครียด ความกดดัน ปัญหาจากการทำงาน ทั้งเรื่องเนื้องานและความสัมพันธ์ในที่ทำงาน จนทำให้ถึงจุดจุดหนึ่ง ที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่สะสมไว้ได้อีกต่อไป เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ ก็จะนำไปสู่ความรู้สึกหมดไฟ และไม่อยากทำงานในที่สุด

แต่ไม่ว่าเราจะรู้สึกไม่อยากทำงานขนาดไหนก็ตาม ความจริงที่ว่า “คนทุกคนต้องทำงานเพื่อใช้ชีวิต” ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้และยอมรับมันให้ได้ และสิ่งที่ยากที่สุดที่ตามมาหลังจากเริ่มรู้สึกหมดไฟก็คือ “การผลักดันตัวเองให้กระตือรือร้น” แล้วทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด แม้ว่าเราจะอยู่ในช่วงที่ไม่อยากทำงานที่สุดก็ตาม

มองเผินๆ ประโยคนี้อาจทำให้ดูเหมือนว่า การทำงานในขณะที่ตัวเองกำลังหมดไฟนั้นเป็นการชดใช้กรรม แต่ความจริงแล้วอาการหมดไฟเป็นเรื่องแสนธรรมดาของมนุษย์ทุกคน ที่เราสามารถจัดการกับมัน และหาทางออกให้กับมันได้

แล้วถ้าเรายังไม่สามารถหาทางออกได้ เราจะผลักดันตัวเองขึ้นมาทำงานในวันที่หมดไฟอย่างไร ให้งานยังคงมีมาตรฐานเหมือนกับวันที่เรามีแพสชัน ?

สำหรับคนที่มีอาการหมดไฟ แต่งานยังไม่หมดไปนั้น Mission To The Moon มี 6 วิธีที่แนะนำให้คุณลองทำเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้อย่างสงบสุข และรักษามาตรฐานของงานเอาไว้ได้ แม้จะอยู่ในช่วงที่ไม่มีความสุขกับงานก็ตาม

6 วิธีผลักดันตัวเองให้ทำงานได้ แม้ในวันที่เราหมดไฟ และไม่อยากทำงาน

1. แยกเวลางานกับเวลาส่วนตัว

บางครั้ง งานที่มีจำนวนมากก็เบียดเบียนชีวิตส่วนตัวจนทำให้เรารู้สึกเหนื่อยได้ การสร้างกิจวัตรการทำงาน (Work Routine) ในแต่ละวัน จึงเป็นวิธีที่ไม่เพียงแค่แยกชีวิตงานออกจากชีวิตส่วนตัวได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรารู้สึกเครียดกับงานน้อยลง และได้ชาร์จพลังให้พร้อมทำงานในวันต่อไปได้ด้วย

2. เลียนแบบนิสัย Productive

จริงๆ แล้วพลังของการเลียนแบบนั้นมีความมหัศจรรย์กว่าที่เราคิดและสามารถทำให้เรากลายเป็นคนในแบบที่เราอยากเป็นได้ง่ายที่สุด ด้วยการ “ทำตัวเป็นคน Productive” จึงเป็นวิธีที่ดีในการทำงานให้ราบรื่นได้ แม้จะอยู่ในช่วงที่ไม่อยากทำงาน ซึ่งนอกจาก Productivity Hacks ที่เราสามารถทำตามได้จากหนังสือและบทความบนอินเทอร์เน็ตแล้ว เรายังสามารถหาวิธีที่ทำให้ตัวเองรู้สึก Productive ได้จากการสำรวจตัวเอง อย่างเช่น

[ ] ถ้าเรารู้สึกว่าชอบทำงานเวลาที่มีเพื่อนร่วมงานอยู่ด้วย ก็อาจจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่ที่มีเพื่อนร่วมงานอยู่ หรือปรึกษาเรื่องงานกับทีมให้บ่อยขึ้น
[ ] ถ้าเรารู้สึกว่างานตอนนี้กำลังน่าเบื่อ ก็ต้องหาความตื่นเต้นใหม่ๆ เข้ามาทำให้ตัวเองมีความกระตือรือร้นขึ้น
[ ] ถ้าเรารู้สึกสนุกกับเนื้องาน แต่หมดพลังเพราะคน ก็ลองเติมพลังให้ตัวเองด้วยการช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องที่เราเชี่ยวชาญ

Advertisements

3. กำหนดเวลาสำหรับทำ “งานที่ไม่หนัก”

แม้งานของเราจะน่าตื่นเต้นแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเราทำงานหนักเป็นระยะเวลานานๆ และไม่หาเวลาผ่อนคลายบ้าง ก็จะทำให้เราเริ่มรู้สึกว่างานทุกงานมีหน้าตาและหน้าที่ที่เหมือนกัน คือเป็นสิ่งที่ต้อง “สะสางให้หมด” และความ “อิน” กับงานนั้นก็จะหมดไปในที่สุด

การกำหนดเวลาสำหรับทำ “งานที่ไม่หนัก” ในบ่ายวันศุกร์ จึงเป็นวิธียอดนิยมที่หลายคนมักใช้เพื่อลดความเครียดจากตารางงานที่ถาโถมเข้ามาทั้งสัปดาห์ แทนที่จะนัดหมายการประชุมในประเด็นอันหนักหน่วง ก็อาจจะเปลี่ยนมาทำงานรูทีน (Routine) หรือเดินไปขอรีวิวงานในสัปดาห์ที่ผ่านมากับเพื่อนร่วมงานแทน ช่วงเวลาแบบนี้นอกจากจะทำให้งานเสร็จแล้ว ยังช่วยให้สมองของเราได้รับการพักผ่อน และฟื้นฟูพลังให้เรากลับมาโฟกัสกับงานได้ดีขึ้นในสัปดาห์ต่อไปด้วย

Advertisements

4. หยุดพักบ้าง

การหยุดพักไม่ใช่เรื่องน่าอาย งานที่ดีคืองานที่ปล่อยให้เราได้หยุดเพื่อพักผ่อนบ้าง อย่าคิดว่าเราต้องทำงานตลอดเวลา เพราะอย่างที่ได้เกริ่นไปในข้อ 3 ว่ายิ่งเราทำงานหนัก ก็จะยิ่งทำให้สมองของเรารับไม่ไหว และความตื่นเต้นกับงานเหล่านั้นก็จะยิ่งหายไปด้วย

ดังนั้นจึงควรสำรวจตัวเองว่า ช่วงนี้เราหมดไฟเพราะทำงานหนักเกินไปหรือไม่ รู้สึกเครียดมากกว่าเดิมหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือ “ใช่” ละก็ อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าเราควรหยุดพักจากการทำงานบ้าง

5. เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

อาการหมดไฟ มักจะมาจากการทำสิ่งเดิมอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้สมองของเราหยุดคิดเรื่องงาน และเยียวยาเราจากอาการหมดไฟได้ นำมาสู่ความ Productive และความมั่นใจที่สูงขึ้นในอนาคต

ลองมองหาทักษะใหม่ๆ ที่เราต้องการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่ช่วยการทำงาน หรือจะเป็นทักษะที่ไม่เกี่ยวกับงานก็ตาม แล้วใช้เวลาสัก 1-2 ชั่วโมงเพื่อเรียนรู้สิ่งนั้น รับรองว่าคุณจะเหมือนถูกฟื้นฟูและกลับมามีไฟพร้อมทำงานอย่างแน่นอน

6. ไม่ไหวอย่าบอกไหว ให้ขอความช่วยเหลือ

หากเราพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากและเริ่มรับมือไม่ไหว วิธีที่ง่ายที่สุดก็อาจเป็นแค่การ “ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น” เท่านั้นเอง ลองมองหาคนที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ครอบครัว แล้วขอคำแนะนำจากพวกเขา

เพราะสิ่งที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางออก คือการที่ไม่มีใครให้แชร์ความรู้สึกด้วย ซึ่งถ้าคุณรู้สึกแบบนั้น การพูดคุยและขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างจะทำให้คุณรู้สึกดีมากขึ้นเลยทีเดียว

แม้ว่าอาการหมดไฟ จะเป็นอุปสรรคตัวใหญ่ที่คอยขัดขวางการทำงาน แต่มันก็เป็นอาการธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ซึ่งหากใครที่กำลังมีปัญหานี้ นอกจากที่จะต้องลองใช้ 6 วิธีที่เรารวบรวมมาให้แล้ว ท้ายที่สุดก็อาจจะต้องสำรวจตัวเอง หาสาเหตุ หาวิธีเยียวยาตัวเองให้ตรงจุด แล้วความสุขในการทำงานในระยะยาวจะกลับมาอย่างแน่นอน


อ้างอิง
– How to Keep Working When You’re Just Not Feeling It : Ayelet Fishbach, Harvard Business Review – https://bit.ly/3PArnAU
– 8 Tips to Keep Working When You’re Just Not Feeling It! : MyAnatomy Integration, LinkedIn – https://bit.ly/48mJMZk
– 10 Ways To Recharge When You Don’t Want To Work Anymore : Jamie Birt, Indeed – https://bit.ly/3rc0lq8

#selfdevelopment
#burnout
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า