ว่ากันว่า “คนมีความรักมักจะดูเด็กลงไปนิดหนึ่ง”
ตอนที่คู่รักเพิ่งคบกันใหม่ๆ บางคู่ก็จะมีสรรพนามแทนตัวกันอย่างน่ารัก เช่น ตัวเอง เขา (เค้า) เธอ เบ๊บ (Babe) หรือบางคู่ไม่อยากเรียกแฟนด้วยสรรพนามเดียวกับที่ใช้เรียกคนอื่นๆ ก็จะสรรหาคำเรียกที่น่ารักมาเรียกแฟนของตัวเอง เช่น อ้วน หมา หมี หมู เป็นต้น ตอนคุยกับแฟนก็จะมีโทนเสียงที่สอง อยู่ๆ เสียงก็เล็กลงและนุ่มนวลไม่เหมือนตอนคุยกับเพื่อนหรือครอบครัว เริ่มสนใจของชิ้นเล็กๆ หรือของเล่น เช่น พวงกุญแจ ตุ๊กตาขนฟูตัวนุ่ม หรือไอเทมคู่รักบางชิ้น
ถ้ามองในมุมของคนนอกก็อาจจะมองว่าเป็นภาพที่หวานเลี่ยนและดูย้อนแย้งที่ผู้ใหญ่สองคนจะทำตัวเล็กตัวน้อย หรือพูดคุยกันด้วยโทนเสียงที่สอง เพราะในบรรดาความรักทั้งหมดบนโลกใบนี้ ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกเป็นสิ่งที่เราจะพบเจอได้ก็ต่อเมื่อเราโตพอที่จะให้และตอบสนองความโรแมนติกนั้นสู่คนรัก แต่ทำไมในระหว่างที่เรามีความรักหรือเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบ ‘ผู้ใหญ่’ คู่รักหลายๆ คู่ถึงทำตัวเหมือนเด็กให้เห็นจนชินตา
แล้วทำไมพอเรามีความรัก เราจึงมักจะทำตัวเด็กกว่าอายุจริงแบบเลี่ยงไม่ได้ และก็ไม่อยากจะเลี่ยงด้วย?
ผู้เชี่ยวชาญเผย “พฤติกรรมแบบเด็กเล็ก (Babyish) ทำให้เราเรียนรู้ที่จะรัก”
มนุษย์เมื่อแรกเกิดจนถึงวัยเด็ก เราอ่อนแอและไม่สามารถป้องกันตัวเองจากอันตรายรอบตัวได้ ต้องมีพ่อแม่คอยเลี้ยงดูนานเกือบยี่สิบปีกว่าเราจะกล้าหาญมากพอที่จะเผชิญโลกกว้างด้วยตัวเอง แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่ เราก็ต้องเติบโตทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ต้องจัดการปัญหาชีวิตด้วยตัวเอง และต้องเข้มแข็งให้ได้ในทุกสถานการณ์
จนกระทั่งเมื่อความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกเริ่มเข้ามามีอิทธิพล เราก็เหมือนได้หวนย้อนคืนช่วงเวลาในวัยเด็กอีกครั้ง เราได้ย้อนเวลากลับไปยังวันที่สามารถออดอ้อนได้โดยไม่ต้องเขินอาย สามารถร้องไห้ได้กับทุกปัญหาไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่แค่มีคนรักอยู่ด้วย
แบบนี้หมายความว่าความรักกำลังทำให้เราอ่อนแอลงหรือเปล่า?
เอมิลี คอดเวลล์ (Emily Cauldwell) ผู้ก่อตั้ง Race Across USA กล่าวว่าความจริงแล้วพฤติกรรมแบบเด็กเล็ก (Babyish) เป็นสิ่งที่สำคัญมากในความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่รักที่เพิ่งเริ่มต้นความสัมพันธ์ได้ไม่นาน เมื่อความสัมพันธ์เริ่มพัฒนาเข้าสู่จุดที่จริงจังมากขึ้นแล้วถึงค่อยเริ่มแสดงความเป็นผู้ใหญ่ออกมา
พฤติกรรมแบบเด็กๆ ในช่วงต้นของความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกยังแสดงถึงความเปิดเผยและเปิดใจให้กับคู่ความสัมพันธ์ของเราอีกด้วย เพราะมันสร้างบรรยากาศของความต้องการที่จะทำความรู้จัก ความต้องการที่จะเข้าหา ให้ความสนใจอีกฝ่ายและกระตือรือร้นกับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ เหมือนกับเด็กเล็กที่อยากรู้อยากเห็น ขี้สงสัยและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา
ยิ่งไปกว่านั้น Babyish ยังเป็นการเปิดเผยด้านที่เปราะบาง อ่อนแอ อ่อนไหวและต้องการความรักของเราให้แก่ฝ่ายตรงข้าม เมื่ออีกฝ่ายเห็นด้านที่อ่อนแอก็จะเกิดความรู้สึกเอ็นดู อยากดูแลทะนุถนอมและอยากให้ความรัก การเผยด้านที่อ่อนแอออกไปแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราไว้ใจและเชื่อใจว่าคนรักจะสามารถปลอบโยนหัวใจของเราได้ ก็ยิ่งทำให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ถึงความเชื่อมั่นจากเรา และความสัมพันธ์ก็จะเริ่มถักทอแน่นแฟ้นมากขึ้นไปอีกหลายเท่า
Babyish สะพานเชื่อมตัวเราในปัจจุบันให้ย้อนวันกลับไปหาตัวเราในวัยเด็ก
การแสดงความเป็นเด็ก (Babyish) ในความสัมพันธ์ยังบ่งบอกถึงสภาพจิตใจ อารมณ์และทัศนคติต่อวัยเด็กของเราได้อีกด้วย เพราะวัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญของช่วงชีวิตและเป็นเบ้าหลอมตัวเราในวัยผู้ใหญ่ด้วย
ถ้าเรามีความสุขและผ่านชีวิตวัยเด็กมาได้อย่างดี เราก็จะไม่มีปัญหากับการแสดงความอ่อนแอ ต่อให้โตเป็นผู้ใหญ่ มีอาชีพการงานและตำแหน่งที่ใหญ่โตแค่ไหน เราก็จะไม่อายที่จะร้องไห้หรือขอความรักกับคนรัก ในขณะเดียวกันถ้าคนรักของเราอยู่ในช่วงที่เปราะบางและอ่อนแอ เรายังรู้วิธีที่จะปลอบโยนและแสดงความรักกลับไปด้วย
แต่ถ้าชีวิตในวัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่ไม่น่าจดจำเท่าไรนัก หากเราในอดีตไม่เคยได้สัมผัสกับความรักที่ต้องการ ไม่ว่าจะจากเพื่อนหรือครอบครัว เราในวันนี้อาจจะไม่รู้วิธีแสดงความรักออกไป ไม่รู้ว่าจะตอบสนองความต้องการความรักของอีกฝ่ายอย่างไร ไม่รู้สึกว่าการแสดงความเป็นเด็กของแฟนคือสิ่งน่ารักน่าเอ็นดู แต่กลับคิดว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญไปก็ได้ เพราะประสบการณ์บอกเราว่าต่อให้ร้องขอไปก็ไม่ได้ความรักกลับมา เผลอๆ เราอาจจะกลายเป็นคนเหงาที่ไม่กล้าเปิดใจให้กับความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกด้วยซ้ำ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่อินกับ Babyish จะมีวัยเด็กที่ขมขื่นเสมอไป และไม่ควรมีใครถูกตัดสินเพียงเพราะการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน บางคนอาจจะไม่เคยมีแฟนเลย เพิ่งมามีตอนวัยทำงาน บางคนอาจอยู่เป็นโสดมานานหลายปีกว่าจะได้เจอคนที่ใช่จริงๆ บางคนให้ความสำคัญกับเป้าหมายอื่นในชีวิตมานาน เพิ่งจะได้สัมผัสกับความหวานโรแมนติกก็วันนี้
ถ้าความไร้เดียงสาหรือการทำตัวน่ารักน่ากอดไม่ใช่ทางของคุณสักเท่าไร การเปิดใจและการแสดงความรู้สึกออกไปอย่างจริงใจก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสื่อสารกับคนรัก บอกกันตรงๆ ว่าเราต้องการอีกฝ่ายมากแค่ไหนและแสดงความรักในแบบของเราออกไป อย่าเก็บงำความรู้สึกไว้เลย เพราะการให้และรับ (Give and Take) อย่างเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่ายนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกของผู้ใหญ่
เมื่อไรถึงจะเรียกได้ว่าเราเติบโตเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ได้อย่างแท้จริง? วันที่เรียนจบ วันที่มีงานทำ วันที่ต้องยื่นภาษี หรือวันที่เราต้องเผชิญหน้าและแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ไม่ว่านิยามคำว่า ‘ผู้ใหญ่’ ในความคิดของคุณจะเป็นอย่างไร การกลั้นน้ำตา เก็บงำความรู้สึกและปกปิดด้านอ่อนแอไม่ได้ทำให้เราเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
แต่การโอบรับช่วงเวลาต่างๆ ในทุกช่วงวัยของเรา และเปิดโอกาสตัวเองได้ใช้ชีวิต เปิดใจและให้ใจกับใครสักคนอย่างเต็มที่ต่างหาก เราถึงจะสามารถเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง รักคนอื่น และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและงดงาม
อ้างอิง
– Why a Couple Should Be Babyish in LOVE! According To Experts! : Divya Sharma, Morning Lazziness – https://bit.ly/4aR8To5
#babyish
#relationship
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast