“ใครๆ ก็อยากเป็น Somebody”
เชื่อว่าถ้าหากพูดประโยคนี้ขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย หลายๆ คนจะต้องรู้สึกต่อต้านเป็นอย่างมาก แต่ประโยคนี้กลับเป็นสิ่งที่อธิบายสาเหตุความโด่งดังถึงขีดสุดของหนังรักวัยรุ่นสไตล์ Chick Flicks แห่งยุค 2000s อย่าง Mean Girls ที่ทำกำไรมหาศาลและสร้างปรากฏการณ์ให้กับ Pop Culture ของโลกในชนิดที่เรียกว่า “โด่งดังข้ามทศวรรษ” เพราะแม้หนังเรื่องนี้จะออกฉายในปี 2003 และฉายชนกับหนังฟอร์มยักษ์จากค่ายมาร์เวลอย่าง Spider-Man 2 แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีกระแสในโลกออนไลน์ที่พูดถึงมีมจากหนังเรื่องนี้ มีมิวสิกวิดีโอ โฆษณาที่ทำล้อเลียนและมีการรีเมคเป็น Mean Girls เวอร์ชัน 2024 ที่กำลังจะออกฉายในปีหน้าอีกครั้ง
หากจะให้พูดถึงเนื้อเรื่องของ Mean Girls โดยสรุปนั้น Mean Girls เป็นเรื่องราวของเด็กสาววัย 16 ที่เรียนโฮมสคูลมาตลอด แต่กลับต้องเข้ามาเรียนในโรงเรียนอเมริกันและพบเจอกับเด็กวัยรุ่นไฮสคูลที่มีบุคลิกแตกต่างกันโดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กผู้หญิง 3 คนที่เรียกกันว่า “แก๊งพลาสติก”
ซึ่งความสนุกของหนังเรื่องนี้อยู่ที่พัฒนาการของนางเอกที่เริ่มจากการเป็นคนธรรมดาๆ ไม่มีความโดดเด่นอะไร จนสามารถโดดเด่นขึ้นมาแซงหน้าเด็กผู้หญิงที่เรียกได้ว่าเป็นคนที่ป๊อปปูลาร์และร้ายกาจที่สุดในโรงเรียน จนสุดท้ายนางเอกก็กลายเป็นคนที่มีความ “ร้ายกาจ” ยิ่งกว่าเด็กผู้หญิงคนนั้น
พัฒนาการของตัวละครที่เริ่มจากศูนย์ถึงร้อยแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบทหนังอเมริกัน แต่อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังรักวัยรุ่นที่เนื้อเรื่องดูไม่ได้ใหม่ และไม่ได้มีปมของเรื่องที่น่าตื่นเต้นเหมือนกับหนังดังเรื่องอื่นๆ ได้รับความนิยมอย่างมหาศาล เราจะมาแกะความลับที่อยู่เบื้องหลังความโด่งดังนี้ไปพร้อมกัน
นางเอกที่แสนธรรมดา เป็นตัวแทนของคนดูที่คาดหวังความ “ไม่ธรรมดา” ในชีวิต
เหตุผลข้อแรกที่ทำให้คนดูตกหลุมรักหนังเรื่องนี้คือ “ความธรรมดาของนางเอก” อย่างเคดี้ ฮารอน (Cady Heron) ที่เป็นเด็กผู้หญิงธรรมดา แต่งตัวธรรมดา พื้นเพทางบ้านไม่ได้โดดเด่น ลักษณะนิสัยเหมือนเด็กทั่วไปที่ไม่มีความพิเศษอะไร แต่คาแรกเตอร์เหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วกลับสามารถประกอบรวมกันเป็นตัวแทนของคนดูที่เชื่อมั่นว่าตัวเองไม่ได้มีความพิเศษและคาดหวังความพิเศษในชีวิตขึ้นมา
และถ้าหากเราจะพูดว่าการเป็นใครคนหนึ่งที่พิเศษในหมู่มนุษย์ด้วยกัน เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการอยู่ลึกๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะแท้จริงแล้วมนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” ที่มีความรู้สึกเชื่อมโยงกับเพื่อน ครอบครัว และสังคม ซึ่งความรู้สึกถึงการเชื่อมโยงทางสังคมแบบนี้ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการเพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและมีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนแนวคิดว่ามนุษย์มีการปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการยอมรับและชื่นชอบ
ไม่เพียงเท่านั้น มนุษย์ยังมีความต้องการที่จะรู้สึกพิเศษและแตกต่างจากผู้อื่นอีกด้วย ในทางจิตวิทยาจากทฤษฎีความแตกต่างและโดดเด่นเป็นพิเศษ (Uniqueness Theory) ของ Snyder (สะ-ไน-เดอร์) และ Fromkin (ฟอร์ม-คิ่น) เรียกแรงจูงใจนี้ว่า Need for Uniqueness หรือความต้องการเอกลักษณ์ ซึ่งบอกว่ามนุษย์มักจะรู้สึกไม่พอใจ เมื่อพวกเขาพบว่าตัวเองมีความคล้ายคลึงกับผู้อื่นมากเกินไปหรือน้อยเกินไป นั่นหมายความว่ามนุษย์ต้องการความพิเศษที่โดดเด่นออกมาจากกลุ่มในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่โดดเด่นจนดูแปลกแยกและจิตวิทยาเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกบอกเล่าออกมาจากหนังเรื่อง Mean Girls อย่างครบถ้วน
เรามักจะอยากอยู่ในกลุ่มคน “เจ๋งๆ” แม้บางทีคน “เจ๋งๆ” ไม่ใช่คนที่ดีกับเรา
ในชีวิตจริงเราจะพบว่าแม้เราจะเป็นคนธรรมดา แต่เรามักจะต้องพบเจอกับกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็นคนแบบ “เจ๋งๆ” ที่มีความพิเศษตามอุดมคติของเราอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคนเก่งในห้องเรียนสมัยมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่สามารถแนะนำงานให้กับเราได้ จนกระทั่งกลุ่มคนเก่งในที่ทำงานที่แม้เราจะไม่ได้รับความสัมพันธ์ที่ดีจากกลุ่มคนเหล่านั้น แต่ด้วยผลประโยชน์บางอย่างมันกลับทำให้เราต้องเข้าหากลุ่มคน “เจ๋งๆ” เหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่นเดียวกันกับเรจินา จอร์จ (Regina George) ที่เป็นเหมือนกับหัวหน้ากลุ่มเด็กผู้หญิงที่ดูเจ๋งในหนังเรื่องนี้ ซึ่งถึงแม้ว่าตัวละครนี้จะดูร้ายดูแรง แต่กลับมีนางเอกที่อยากเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกับเธอ และไม่เพียงแต่นางเอกเท่านั้น แต่คนดูหลายคนก็ยังอยากเป็นเพื่อนกับตัวละครนี้ บางคนถึงขนาดที่ต้องการเป็นตัวละครนี้้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วมีสิ่งที่อยู่เบื้องหลังว่าทำไมผู้คนถึงชอบคนเจ๋งๆ ที่นิสัยไม่ค่อยดีอยู่
สิ่งที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ก็คืองานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอคลาโฮมาที่สำรวจความชื่นชอบต่อพฤติกรรมของเพื่อนเพศเดียวกัน พบว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็มีแนวโน้มที่จะชื่นชอบเพื่อนที่มีลักษณะนิสัยที่ดู “ร้าย” กับศัตรูของตัวเองมากกว่าเพื่อนที่ดูเป็นมิตรกับทุกคน แม้ว่าในบางครั้งเพื่อนคนนั้นจะแสดงนิสัยร้ายๆ กับตัวเองบ้างก็ตาม
เหตุผลของความชื่นชอบนี้เป็นเพราะว่าคนที่ดูร้ายๆ เหล่านี้มักจะแสดงพฤติกรรมในลักษณะที่ “เพิ่มผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองให้สูงสุด” โดยทั้งสนับสนุนเราและสามารถทำลายศัตรูของเราได้มากกว่าคนทั่วไป เช่นเดียวกับที่นางเอกค้นพบว่าคนเจ๋งๆ ที่เธออยากเป็นเพื่อนด้วยไม่ใช่เพื่อนที่แสนดี แต่กลับเป็นเด็กสาวที่ดูร้ายที่สุดในโรงเรียนอย่างเรจิน่า จอร์จ
ถ้าเราอยากเป็นเพื่อน “เจ๋งๆ” ที่ใครก็อยากเข้าหา เราควรมีลักษณะแบบใด?
หลังจากที่ได้ศึกษาจิตวิทยาของคนธรรมดาและความต้องการที่จะเป็นคนที่พิเศษในกลุ่มคนเจ๋งๆ แล้ว คราวนี้เราจะมาลองมองมุมกลับกันบ้างว่า ถ้าเราอยากเป็นคนเจ๋งๆ คนหนึ่งที่ใครก็ต้องการเข้าหา ต้องการเป็นเพื่อนนั้น เราควรมีลักษณะแบบใดและนอกจากความ “ร้าย” ที่เป็นนิสัยหลักแล้วมีนิสัยแบบไหนอีกบ้าง
ในงานวิจัยชิ้นเดียวกันจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอคลาโฮมาก็ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับการเป็นคนเจ๋งๆ ที่ใครก็อยากเป็นเพื่อนไว้ โดยมีการเรียงลำดับพฤติกรรมที่ทำให้คนคนหนึ่งมีลักษณะที่น่าเป็นเพื่อนด้วยมากที่สุดไว้ 7 ข้อด้วยกันคือ
[ ] มีความร้ายในตัว แสดงด้านร้ายเมื่อมีเหตุการณ์หรือกลุ่มบุคคลที่เข้ามาลดผลประโยชน์ของกลุ่มเช่น ตอบโต้เมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือสู้กลับเมื่อถูกนินทาว่าร้าย
[ ] ใจดีกับเพื่อน นอกจากความร้ายกาจกับศัตรูแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะคาดหวังให้เพื่อนต้องแสดงความใจดีออกมากับตัวเอง สามารถสนับสนุนเพื่อให้ตัวเองไปสู่เป้าหมายได้
[ ] มีความน่าเชื่อถือ สามารถไว้วางใจให้อยู่เคียงข้างได้ในบางสถานการณ์ และมีออร่าของการเป็นคนที่ “น่าเคารพ” ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถมองเพื่อนร่วมกลุ่มอย่างชื่นชม
[ ] ไม่ต้องใส่ใจทุกเรื่องก็ได้ มีความเฉยเมยกับข่าวลือบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง หรือไม่สนใจสิ่งรอบข้างที่ไม่เป็นประโยชน์
[ ] มีพฤติกรรมที่เน้นแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตัวเอง คนกลุ่มนี้จะสามารถทำให้เพื่อนในกลุ่มได้รับผลประโยชน์ไปด้วยกันได้ เช่น คนที่ตีสนิทกับอาจารย์ได้ คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีอิทธิพล หรือคนที่รู้จักเข้าหาผู้ใหญ่
[ ] มีนิสัยบางอย่างที่คล้ายกัน โดยมนุษย์มักจะมีแนวโน้มที่จะถูกดึงดูดจากคนที่มีลักษณะคล้ายกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า รูปร่าง นิสัย ความชอบที่คล้ายกัน คนที่มีความชอบที่คล้ายกับคนส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นคนที่ถูกเข้าหาเยอะกว่าคนอื่น
[ ] มีความใกล้ชิดกันทางกายภาพ ข้อนี้ก็มีหลักการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า กฎความใกล้ชิด (Principle of Proximity) รองรับอยู่ด้วยเช่นกัน โดยคนที่ใกล้ชิดกัน มีการพบเจอกัน มีการทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถสนิทกันได้มากกว่าคนที่ทำตัวห่างเหินออกไป เพราะฉะนั้นคนที่ชอบทำกิจกรรมจึงมักจะเป็นคนที่ผู้คนมักอยากเข้าหาด้วย
“มนุษย์มีความเชื่อลึกๆ ว่าตัวเองธรรมดาและต้องการที่จะเป็นคนเจ๋งๆ ในกลุ่มคนที่เจ๋งเช่นเดียวกัน” ถ้าจะบอกว่าประโยคนี้เป็นกุญแจความสำเร็จของ Mean Girls ก็คงไม่ผิดนัก เพราะสิ่งที่ Mean Girls ทำงานกับจิตใจของคนดูคือการสร้างตัวแทนของคนดูขึ้นมา แล้วพาตัวแทนนั้นไปพบกับเรื่องราวความพิเศษ เจอกลุ่มคนที่มีความพิเศษ สร้างจุดเปลี่ยนให้คนธรรมดาสามารถกลายมาเป็นคนที่แสนพิเศษได้ในที่สุด และที่สำคัญคือหนังเรื่องนี้สามารถสร้างตัวแทนของ “เพื่อนเจ๋งๆ” ที่มีทั้งความร้ายและความฉลาดที่ใครก็อยากเป็นเพื่อนด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Mean Girls จึงกลายเป็นเพื่อนเจ๋งๆ ของวัยรุ่นในยุค 2000s และยังคงดังข้ามทศวรรษมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา
– The science behind why ‘mean girls’ are often so popular — even as adults : Angelica Stabile, Fox News – https://bit.ly/3QGLVqw
– The Mean Girls effect: Women enjoy it when their friends are nasty towards people they dislike, study finds : MAILONLINE REPORTER, Daily Mail – https://bit.ly/3ug4jPw
– Humans and uniqueness : BIRGA MAREEN SCHUMPE and HANS-PETER ERB, Science Progress (2015) – https://bit.ly/47eDGsL
#popculture
#meangirls
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast