“แป๊บนึง ใกล้ถึงแล้ว”
“ขออีก 5 นาทีจะถึงแล้ว”
“แค่นี้ก่อนนะ แบตฯ จะหมด”
เราทุกคนต่างเคยเอ่ยคำโกหกเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดเพื่อรักษาความสัมพันธ์ (เช่น อ้างว่า ‘ไม่ว่าง’ ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่อยากไป) พูดไปเพราะความหวังดี (เช่น บอกเพื่อนที่อบขนมมาให้ว่า ‘อร่อยมาก’ ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่อร่อยเลย) หรือพูดไปเพราะเราโกหกเล็กๆ น้อยๆ จนชิน
แน่นอนว่าการโกหกถือเป็นการกระทำที่ทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึกและหลายๆ คนอาจจะรับไม่ได้ถ้าต้องเผชิญกับเรื่องนี้ในความสัมพันธ์ แต่การโกหกในเรื่อง ‘เล็กน้อย’ หรือ การโกหกเพื่อ ‘ถนอมน้ำใจ’ (White Lies) ก็ดู ‘เหมือนจะ’ ไม่ร้ายแรงและให้อภัยได้มากกว่า
เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
จริงๆ แล้วคำโกหกสีขาวนั้นส่งผลเสียมากกว่าที่เราคิดเสียอีก ทั้งต่อ ‘สมอง’ ของเราเองและ ‘จิตใจ’ ของคนใกล้ตัว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เราเสียใจในตอนท้าย มาดู 3 เหตุผลที่ชวนให้เราฉุกคิดได้ว่าการเลิกโกหกนั้นดีกว่าเป็นไหนๆ
1. เราอาจกลายเป็นคนขี้โกหกโดยไม่รู้ตัว
เวลาที่เราพูดโกหก สมองส่วนที่รับรู้ความทรงจำด้านอารมณ์ (Amygdala) จะถูกกระตุ้นให้เรารู้สึก ‘ไม่สบายใจ’ ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และสมองเผยว่า หากเราโกหกเป็นประจำ สมองของเราจะเคยชินและ ‘เลิกรู้สึกผิด’ ไปโดยปริยาย เรากลายเป็นคนที่ขี้โกหกเป็นนิสัย และโกหกได้ตั้งแต่เรื่องขี้ปะติ๋วจนถึงเรื่องปางตาย เป็นเพราะว่าการโกหกเป็นเรื่องง่ายสำหรับเราไปแล้ว
ถ้าเราไม่อยากกลายเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการพูดเท็จ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร คำโกหกก็ยังคงเป็นคำโกหกอยู่วันยันค่ำ ดังนั้นอย่าทำให้การโกหกเป็นเรื่องปกติสำหรับเราเลยจะดีกว่า
2. เราเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง
งานวิจัยหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างด้านความรู้สึกและการโกหกกับผู้ทดลองมากกว่า 2,500 คน ผลพบว่าความสามารถในการ ‘เข้าใจความรู้สึก’ (Empathic Accuracy) ต่อผู้อื่นถดถอยลง ในกลุ่มคนที่พูดโกหกเป็นประจำ
แน่นอนว่าความสามารถในการอ่านอารมณ์และภาษากายเป็นเรื่องสำคัญเมื่อต้องเข้าสังคม หากเรารับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้น้อยลง เราอาจเผลอทำเรื่องแย่ๆ หลายอย่าง เช่น พูดจารุนแรง พูดจาให้คนอื่นอับอาย หรือไม่ก็พูดโกหกจนสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น
ยิ่งเราตระหนักไม่ได้ว่าการกระทำของเรากำลังสร้างความเสียหาย เรายิ่งเสี่ยงต่อการเผลอกระทำอะไรบางอย่างที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ซึ่งในกรณีนี้จะเป็นอันตรายต่อทั้งผู้อื่นและตัวเราเอง
3. ทำร้ายคนสำคัญทางอ้อม
หลายๆ ครั้งที่เราเลือกโกหกเพื่อถนอมน้ำใจก็เพราะว่าเราเป็นห่วงความรู้สึกของคนที่เรารัก อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์อาจออกมาตรงกันข้าม หากคนคนนั้นรู้ในภายหลังว่า คำพูดของเราเป็นเพียงแค่คำลวงหลอกเพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจ
นอกจากนั้น การไม่พูดความจริงยังส่งเสริมให้คนเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ส่งผลให้ไม่มีการพัฒนาให้ถูกต้องหรือแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
ในงานวิจัยงานหนึ่งพบว่าเจ้านายมักจะให้ Feedback ผลการทำงานต่อพนักงานหญิงอย่างอ้อมๆ ไม่พูดตามตรงเพราะกลัวพนักงานเสียความรู้สึก ขณะเดียวกัน เจ้านายมีแนวโน้มที่จะบอกพนักงานชายตรงๆ มากกว่าว่าผลการทำงานของเขาเป็นอย่างไร การโกหกเพื่อถนอมน้ำใจในกรณีเช่นนี้ไม่ต่างกับการตัดโอกาสความก้าวหน้าของคนคนหนึ่งเลย
เลิกโกหกอย่างไรดี
อันดับแรกคือคอยสังเกตตัวเองว่าเวลาที่เราโกหก เรามักจะโกหกเรื่องอะไร กับใคร เหตุการณ์ประเภทไหนที่กระตุ้นให้เราทำเช่นนั้น และเรารู้สึกกับการกระทำนั้นอย่างไร หากเราให้คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ได้ เราค่อยหาวิธีแก้
หลายๆ คนพบว่า “เราโกหกในเวลาที่เราไม่กล้าปฏิเสธ” ตัวอย่างเช่น เวลาที่เพื่อนชวนออกไปเที่ยว เราหาข้ออ้างมาบอกว่าเรา ‘ไม่ว่าง’ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเราไม่อยากไป ในตอนท้ายเราก็มารู้สึกผิดเองเสียด้วยซ้ำ ในกรณีนี้เราต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า การเลือกเวลาส่วนตัวนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เราทุกคนต้องมีขอบเขตของตัวเอง
ส่วนคนที่พบว่า “เราโกหกเพราะเราเป็นคนอธิบายไม่เก่งและกลัวว่าคนฟังจะเข้าใจผิด จึงเลือกที่จะไม่อธิบายดีกว่า” ก็อาจแก้ปัญหานี้ได้โดยการฝึกการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น และหมั่นฝึกบ่อยๆ
คำโกหก ‘สีขาว’ ที่เราทำเพื่อรักษาความสัมพันธ์ สามารถสร้างรอยร้าวและทำให้โลกของใครบางคนหม่นหมองไปทั้งใบได้ง่ายๆ ดังนั้นเราควรคำนึงถึงผลลัพธ์ให้ดีก่อนตัดสินใจพูดอะไร เพราะการโกหกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แม้จะฟังดูไม่ร้ายแรงแต่ก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเราเองและผู้อื่นอย่างคาดไม่ถึง
อ้างอิง
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/