ทั้งที่มีคนอยู่รอบตัวแต่ทำไมถึงยังเหงา? ความรู้สึกเปราะบางในใจที่ไม่ถูกเติมเต็ม

7306
เหงา

ทั้งๆ ที่เรากำลังเดินอยู่ท่ามกลางแสงไฟนีออนในสังคมเมืองที่แสนวุ่นวาย แม้ว่าจะมีผู้คนเดินอยู่พลุกพล่านรายล้อมรอบตัวเราเต็มไปหมด แต่ว่าทำไมเราถึงยังเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและอ้างว้างในจิตใจอยู่แบบนี้ หรือว่านี่คือความเหงา ความเหงาที่ไม่ได้เกิดจากการไม่เข้าสังคม..

แต่คือความเหงาจากการที่ ‘เรา’ เข้าไปอยู่ใน ‘สังคม’

ความเหงาคืออะไร

‘ความเหงา’ เกิดขึ้นเมื่อระดับของการรับรู้ (Perception) และความต้องการ (Desire) ของคนเราไม่ตรงกัน เนื่องจากความสัมพันธ์ที่เราคาดหวัง และความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่นั้นมีไม่เท่ากัน ทำให้เกิดเป็นความเครียด และไม่มีความสุขในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Advertisements

หากพูดถึงความเหงา (Loneliness) นักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Robert Weiss กล่าวว่า ความเหงาสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

อย่างแรกคือ #ความเหงาจากสังคม (Social Loneliness) เป็นความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับผู้อื่น อย่างในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบ Work From Home ซึ่งกินเวลามาร่วมปี ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกได้ถึงความเหงาจากการขาดการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงคนสนิท หรือห่างหายจากการออกไปพบปะผู้คน

ขณะเดียวกัน ยังมีความเหงาอีกประเภทหนึ่ง คือ #ความเหงาทางอารมณ์ (Emotional Loneliness) ความเหงาที่แม้จะมีผู้คนอยู่รอบตัวเรา แต่ก็ไม่อาจสามารถช่วยทำให้ความเหงาประเภทนี้ลดลงไปได้มากเท่าไรนัก หนำซ้ำยังกลับเพิ่มพูนความรู้สึกเหงานี้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้นอีกว่า ต่อให้มีผู้คนรอบตัวมากแค่ไหน เราก็ยังไม่ได้รับการเติมเต็มให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่ดี

เพราะรู้สึกไม่เข้าพวกจึงเจ็บปวด

ใครๆ ก็บอกว่าเราเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะนะ แต่พอเรามีปัญหา อยากมีใครสักคนให้ปรึกษา แต่ก็กลับมีคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวทันทีเลยว่า

“แล้วจะบอกใครดี?”

สุดท้าย ก็ไม่กล้าบอกใครสักคน เพราะไม่รู้ว่าเขาจะพร้อมรับฟังเราไหม เราสนิทกันขนาดนั้นหรือเปล่า แล้วก็วนกลับมานั่งคิดกับตัวเองอยู่คนเดียว และแก้ปัญหาเองคนเดียวอยู่เหมือนเดิม 

ความรู้สึกเบื้องลึกภายในจิตใจที่เว้าแหว่ง ขาดการเติมเต็มจากบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่า ‘ความใกล้ชิด’ จากความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ขาดหายไป หรือมีไม่เพียงพอกับความต้องการที่มีอยู่ภายในจิตใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาทางอารมณ์ ความเหงาที่ปริมาณคนจำนวนมากอาจไม่ได้ช่วยบรรเทาความรู้สึกนี้ลงไปได้ เพราะบางทีเราอาจไม่ได้ต้องการคนจำนวนมาก 

Advertisements

แต่อาจเป็นเพียง ‘ใครสักคน’ ที่สามารถเป็นผู้ช่วยสนับสนุนทางอารมณ์ (Emotional Support) 

ซึ่งสิ่งนั้นอาจเป็นการได้รับคำชมจากครอบครัว กำลังใจจากเพื่อนสนิท อ้อมกอดของคนรัก หรืออาจจะเป็นสายตาของเจ้าเหมียวขี้อ้อนที่รอให้ลูบขนสีขาวนุ่มๆ และเจ้าตูบที่วิ่งมารอหน้าประตูเพื่อต้อนรับกลับบ้านหลังเลิกงาน หรือคงจะเป็นใครสักคนที่พร้อมอยู่ข้างๆ คอยรับฟัง แบ่งปันความรู้สึก เพื่อช่วยทำลายกำแพงความรู้สึก ‘เหงา’ ที่เกาะกุมหัวใจของเราในวันแย่ๆ ได้เท่านั้นเอง

อ้างอิง:

http://bit.ly/2TQNCIn

http://bit.ly/3g0ftyo

#missiontothemoonpodcast 

#mission #พอดแคสต

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements