“เงินซื้อความสุขไม่ได้”
ถ้อยคำที่ได้พบบ่อยครั้งคำนี้ มักได้ยินซ้ำๆ เอ่ยออกมาจากปากของคนที่มีฐานะการเงินในระดับดีในสังคม ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ช่างขัดแย้งกับโลกทุนนิยมที่มีเงินเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินชีวิตปัจจุบันเป็นอย่างมาก
ถ้าเช่นนั้น ตกลงแล้ว เงินสามารถซื้อความสุขได้จริงหรือไม่?
ความสุขคืออะไร
ความสุข คือ ลักษณะความพึงพอใจทางอารมณ์อย่างหนึ่ง แต่นิยามความสุขของแต่ละคนล้วนหลากหลาย และแตกต่างกัน ดังนั้น จึงมีทฤษฎีทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่สามารถใช้อธิบายความสุขผ่านความต้องการของมนุษย์ได้ นั่นก็คือ ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ หรือ Maslow’s Hierarchy of Needs
Hierarchy of Needs ของ Abraham Maslow เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่อง #ความต้องการของมนุษย์ หากมนุษย์เกิดช่องว่างระหว่างสภาพที่ต้องการ (Desire State) และสภาพที่มีอยู่ (Actual State) จะทำให้เกิดความตึงเครียด (Tension) ดังนั้น มนุษย์จึงต้องการบางสิ่งบางอย่างมาเพื่อเติมเต็มความต้องการเหล่านี้ Maslow จึงอธิบายโดยแบ่งลำดับความต้องการออกเป็น 5 ขั้น ได้แก่
ขั้นที่ 1 ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs)
เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิต เช่น ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
ขั้นที่ 2 ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs)
เป็นความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การดูแลสุขภาพ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน ความปลอดภัยในชีวิต
ขั้นที่ 3 ความต้องการความรักและการเป็นเจ้าของ (Love and Belonging Needs)
เป็นความต้องการเป็นที่รัก อย่างการมีสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก หรือคนอื่นๆ ในสังคม
ขั้นที่ 4 ความต้องการการได้รับการยอมรับ (Esteem Needs)
เป็นความต้องการความเคารพนับถือจากคนรอบข้าง เช่น การประกอบอาชีพที่ได้รับการชื่นชม และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
ขั้นที่ 5 ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Self-actualization Needs)
เป็นความต้องการขั้นสูงสุดในชีวิต ในการค้นพบศักยภาพ และบรรลุสิ่งที่ตัวเองต้องการจะเป็น
เมื่อย้อนกลับไปที่คำถามข้างต้นที่ว่า #เงินสามารถซื้อความสุขได้จริงหรือไม่
แน่นอนว่า เราไม่สามารถเดินเข้าไปหาพนักงานในร้านสะดวกซื้อแล้วพูดว่า “ขอความสุข 1 ที่” จากนั้นก็จะมีความสุขร้อนๆ พร้อมเสิร์ฟใส่จานมาให้เราได้ในทันที
แม้เงินจะไม่สามารถซื้อสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’ โดยตรงได้ แต่ว่า ‘เงิน’ สามารถเติมเต็มความต้องการข้างต้นเหล่านี้เพื่อสร้าง ‘ความสุข’ ได้
Maslow อธิบายต่อไว้ว่า มนุษย์จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองจากความต้องการขั้นพื้นฐานที่อยู่ในลำดับล่างสุดให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถขยับเคลื่อนขึ้นไปยังระดับที่สูงขึ้นได้ แต่หากว่าเราไร้ซึ่งเงินตรา ก็คงไม่มีทางที่เราจะสามารถเติมเต็มได้แม้แต่เพียงความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อย่าง Physiological Needs และ Safety Needs ที่อยู่ขั้นล่างสุดของพีระมิดได้
การจะได้มาซึ่ง อาหารที่ดี ที่อยู่ที่ปลอดภัย เครื่องนุ่งห่มปกปิดร่างกาย และยารักษาโรคยามเจ็บป่วย ล้วนจำเป็นต้องแลกมาด้วยเงิน
อีกหลักฐานยืนยันจากผลสำรวจกว่า 30,000 คน ของ Proceedings of the National Academy of Sciences ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่มีเงินเดือนมากกว่าประเมินความพึงพอใจในชีวิตตนเองมากกว่าผู้ที่มีเงินเดือนน้อยกว่า และมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับจำนวนเงินเดือนที่มากขึ้น
เพราะในสังคมทุนนิยมเช่นนี้ การจะนำมาซึ่งความสุขจากการเติมเต็มความต้องการหลายๆ อย่างได้นั้น อย่างน้อยย่อมต้องการ ‘เงิน’ เป็นส่วนประกอบ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความสุข
ก็จริงอยู่ หากจะกล่าวว่า เงินและความร่ำรวย เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน มีแล้วหมดไป และเงินไม่สามารถซื้อสิ่งที่เรียกว่าความสุขได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า หากปราศจากเงินแล้ว คงเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่จะสร้างความสุขต่างๆ ตามมาได้
อ้างอิง:
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/