คำขอโทษแบบไหนที่เป็นจริง? รู้จัก Fake Apology และการแสดงความ (ไม่) จริงใจของผู้พูด

2392
Fake Apology

“ขอโทษก็แล้วกัน”

“ก็ขอโทษ แต่คนอื่นก็…”

“ขอโทษด้วยแล้วกันถ้าทำให้ไม่พอใจ”

Advertisements

ความจริงแล้วการขอโทษมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ แต่คำขอโทษที่เหมือนพูดส่งๆ ขอไปทีแบบนี้ แถมยังมักพบเจอบ่อยๆ กับคนเดิมๆ ต่อให้ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่มาจากใคร ความสัมพันธ์รูปแบบใดก็ตาม ได้ยินทีไรก็แอบทำให้รู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ในทางจิตวิทยา เรียกการขอโทษที่เหมือนไม่ได้ขอโทษแบบนี้ว่า Fake Apology

คำขอโทษที่ไม่ได้รู้สึกผิด

จุดประสงค์ของการขอโทษ คือ การแสดงออกถึงความจริงใจจากความรู้สึกผิด เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับคู่สนทนา แต่ Fake Apology คือ การใช้รูปประโยคที่แสดงการขอโทษ โดยปราศจากความรู้สึกผิด หรือจะเรียกว่าเป็น #คำขอโทษปลอมๆ ก็ได้เช่นกัน

‘แล้วกัน’ แล้วมัน ‘แล้วๆ กันไป’ ได้จริงไหม

‘แต่…’ จะขอโทษแล้ว ยังจะมีแต่ต่อทำไมอีก

‘ถ้า…’ สิ่งที่ทำผิดไปมันคือความจริง ไม่มีถ้า เพราะความรู้สึกที่เสียไปไม่ใช่เรื่องสมมติ

ถ้อยคำคือการกระทำ

มนุษย์ใช้ถ้อยคำเพื่อกระทำการบางอย่าง อย่างคำว่า ‘ขอโทษ’ เป็นเพียงตัวอักษรยึกยือรูปร่างประหลาดที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเองเท่านั้น แต่เมื่อแต่ละตัวอักษรถูกเรียงร้อยออกมาเป็นคำว่า ‘ขอโทษ’ และถูกนำไปใช้ในบริบทที่ต่างกัน เช่น หัวหน้างานบริหารงานบางอย่างในองค์กรผิดพลาด แล้วพูดในที่ประชุมว่า “ต้องขอโทษด้วยจริงๆ” กับ “ก็ขอโทษแล้วกัน” ผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ย่อมให้ความรู้สึกแตกต่างกัน ซึ่งก็เนื่องมาจากเจตนาของผู้พูดที่สื่อออกมาที่ต่างกัน สิ่งที่ผู้พูดตั้งใจสื่อออกมานี้เรียกว่า วัจนกรรม (Speech Act)

John Searle นักปรัชญาชาวอเมริกันกล่าวถึงเงื่อนไขที่ทำให้เกิด Speech Act ในการขอโทษ ซึ่งจะประกอบไปด้วย

1. ผู้พูดแสดงออกถึงความสุภาพ

2. มีการกระทำความผิดบางอย่าง

3. ผู้พูดไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดนั้นซ้ำ

4. ผู้พูดยอมรับผิดว่ากระทำข้อผิดพลาด

หากมีองค์ประกอบไม่ครบจะทำให้ไม่นับว่าเป็น Speech Act หรือวัจนกรรมการขอโทษ ดังนั้นเมื่อพิจารณาคำว่า “ก็ขอโทษแล้วกัน” ในบริบทที่กล่าวไปข้างต้นจะพบว่า ถ้อยคำนี้ไม่แสดงออกทั้งความสุภาพ และคำว่า ‘แล้วกัน’ ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้พูดยอมรับผิดเลยเช่นกัน ดังนั้น ถ้อยคำนี้จึง #ไม่นับว่าเป็นการขอโทษ

Advertisements

การขอโทษ จะทราบว่าเป็นความจริงได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ดูแค่ที่รูปประโยค สีหน้า หรือท่าทางที่แสดงออกมาขณะกล่าวคำขอโทษเท่านั้น แต่ #การขอโทษที่แท้จริง คือ การสำนึกผิดจากการกระทำ และเรียนรู้จากความผิดพลาด ก่อนจะป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความผิดพลาดนั้นอีก

ขอโทษเพื่อลดบาดแผลจากความผิดพลาด ทั้งตัวผู้พูดและความรู้สึกของผู้ฟัง

การขอโทษเพื่อแสดงความรู้สึกผิดไม่ได้หมายความว่า จำเป็นต้องรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต แต่เป็นการรู้จักที่จะเรียนรู้ ยอมรับ และพยายามไม่ให้เกิดการผิดพลาดนั้นซ้ำอีกก็พอ

แน่นอนว่าทุกๆ คนย่อมต้องเคยกระทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดต่อผู้อื่น แต่ถ้าหากต้องการแสดงความสำนึกผิดจากการกระทำนั้นด้วยความ ‘จริงใจ’ เพียงแค่เอ่ยคำว่า “ขอโทษ” ออกมาถ้อยคำเดียวด้วยความรู้สึกขอโทษอย่างแท้จริง อาจไม่จำเป็นต้องต่อเติมข้อความใดๆ เพิ่มเติมให้ยืดยาว ก็สามารถลดระดับความบาดหมางในใจกับคู่สนทนาได้แล้ว

นอกเสียจากว่าผู้พูดนั้นไม่เคยรู้สึกผิดจริงๆ อย่างที่เอ่ยปากออกมา ต่อให้ต่อเติมคำพูดให้ยืดยาวสักแค่ไหน ความไม่จริงใจนั้น ก็แสดงออกมาให้เห็นแล้วผ่านถ้อยคำที่กล่าวออกมาอยู่ดี

อ้างอิง:

https://bit.ly/3zgPTfZ

https://bit.ly/3v5YX44

https://bit.ly/3pEelUq

https://bit.ly/2REmYSg

https://bit.ly/3g5t5Z9

https://bit.ly/3cuZF4p

#missiontothemoonpodcast

#mission #พอดแคสต

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements