PSYCHOLOGYโกรธจนน้ำตาไหล? ไขข้อสงสัย ทำไมเราถึงร้องไห้ ทั้งที่ความโกรธนั้นลุกเป็นไฟ!

โกรธจนน้ำตาไหล? ไขข้อสงสัย ทำไมเราถึงร้องไห้ ทั้งที่ความโกรธนั้นลุกเป็นไฟ!

เคยโกรธมากๆ จนร้องไห้ไหม?

สำหรับคนที่เคยเป็น เชื่อว่าคงรู้สึกสับสนและหงุดหงิดตัวเองไม่น้อย เราไม่ได้ต้องการร้องไห้ให้คนอื่นเห็น แต่ทุกอย่างมันควบคุมไม่ได้เลย มีเรื่องอยากพูดและทำเต็มไปหมด แต่กลับทำอะไรไม่ได้ เพราะน้ำตาพรั่งพรูไม่หยุด

ไม่ชอบที่ตัวเองเป็นแบบนี้เลย…

แต่อย่าเพิ่งโทษที่ตัวเองเป็นแบบนี้เลย! เพราะการร้องไห้ไม่ใช่เรื่องน่าอายและผิดมหันต์ โดยเฉพาะการร้องไห้เวลาโกรธ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น แถมยังเป็นการระบายที่ดีต่อกายและใจอีกด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจและค้นหาคำตอบกันว่า ทำไมเราถึงร้องไห้เวลาโกรธกัน!

ทำความเข้าใจอารมณ์โกรธ

Sabrina Romanoff นักจิตวิทยาคลินิกและศาสตราจารย์จาก Yeshiva University แห่งรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา บอกว่าความโกรธ ความเครียด หรือความวิตกกังวล จะทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัวและควบคุมตัวเองได้ยาก ส่งผลให้ความสามารถในการใช้เหตุผลต่ำลง

นั่นเป็นเพราะความโกรธทำให้อะดรีนาลีนในร่างกายพลุ่งพล่าน อัตราการเต้นของหัวใจแรงและเร็วกว่าปกติ หายใจหอบถี่ กล้ามเนื้อเกร็ง และความดันโลหิตสูง
โดยเธออธิบายว่า ความโกรธเป็นปัจจัยกระตุ้นอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ ออกมา แบ่งออกเป็น 2 พฤติกรรมหลักๆ คือ

Advertisements

พฤติกรรมก้าวร้าว (Aggression)

การแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบที่รุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น คำพูดเสียดสี โมโหร้าย ไม่รับฟังผู้อื่น ตะโกนด่าทอ ทำลายข้าวของ ทำร้ายตัวเอง และทำร้ายคนอื่น

 ซึมเศร้าและวิตกกังวล (Depression and Anxiety)

เรามักถูกสอนตั้งแต่เด็กๆ ว่าอารมณ์เชิงลบต่างๆ จะไปทำลายความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ทำให้เราเลี่ยงที่จะตอบโต้และพยายามข่มอารมณ์ไว้อยู่เรื่อยมา เพื่อรักษาความสัมพันธ์ แต่มันอาจเป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะเราต้องแบกทั้งความรู้สึกและความไม่พอใจเอาไว้ จนความโกรธกัดกินจิตใจและกลายเป็นความเศร้าในที่สุด

รับมือกับ “น้ำตา” และควบคุม “ความโกรธ”

1. หายใจเข้าลึกๆ

หากอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่โอเค แล้วพบว่าไฟโกรธภายในใจกำลังค่อยๆ ปะทุ และพร้อมวีนได้ตลอดเวลา ค่อยๆ ตั้งสติ และหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก หรือนับเลข 1-10 ในใจช้าๆ ประมาณ 5-10 นาที จะช่วยปัดเป่าพลังลบและเพิ่มพลังบวก ทำให้เรามีสติมากขึ้นและใจเย็นลง

Advertisements

2. นึกถึงเรื่องที่ทำให้ยิ้มได้

การจินตนาการถึงสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและยิ้มได้ จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากสถานการณ์หรือความคิดน่าหงุดหงิดที่เรากำลังเผชิญอยู่ เช่น คิดถึงของกินอร่อยๆ ศิลปินคนโปรด หรือสัตว์เลี้ยงแสนรัก

3. เขียนระบายออกมา

หยิบปากกาสักแท่ง กระดาษสักแผ่น แล้วพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่รู้สึกสงบและปลอดภัย หลังจากนั้นค่อยๆ เขียนความรู้สึก “ทุกอย่าง” ที่อยู่ในหัวเท่าที่จะนึกออกลงไป เช่น ความรู้สึกตอนนี้ สิ่งที่ทำให้หงุดหงิด และสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข โดยการเขียนช่วยให้เราได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจ ได้วิเคราะห์ตัวเอง รวมถึงรู้สาเหตุและวิธีจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม

4. พูดคุยอย่างเปิดอก

หลังจากเราสงบสติอารมณ์ได้แล้ว อย่าเก็บทุกอย่างไว้คนเดียว หรือปล่อยปัญหาทิ้งไว้โดยไม่แก้ไขอย่างเหมาะสม ลองหาใครสักคนที่เชื่อใจและพร้อมรับฟังปัญหาของเรา หรือเปิดอกพูดกับอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา โดยควรเลือกพูดเมื่อมั่นใจว่าเราควบคุมอารมณ์ได้ดีและมีเหตุผลมากพอ แล้วเริ่มต้นด้วยคำพูดที่ว่า “ฉันรู้สึก…” พร้อมบอกเหตุผลออกไป
เช่น ฉันรู้สึกโกรธที่เธอทำแบบนี้เมื่อวาน ฉันรู้สึกไม่พอใจมากๆ ที่เธอผิดนัดครั้งก่อน ฉันรู้สึกไม่โอเคที่เธอไม่ทำตามที่สัญญาไว้

5. ระบายอารมณ์ออกมา

หากรู้สึกว่าทุกอย่างมันหนักเกินไปจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ก็แค่ร้องไห้ออกมา การร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนอ่อนแอ เพราะการร้องไห้เป็นกลไกของร่างกายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่จะช่วยให้เราจัดการความรู้สึกได้ดีขึ้น ปลดปล่อย ผ่อนคลาย และเข้มแข็งมากขึ้น แถมน้ำตายังมีประโยชน์ต่อดวงตา เพราะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นและป้องกันสิ่งสกปรกให้ดวงตาอีกด้วย

เห็นไหมว่าการร้องไห้เวลาโกรธไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ได้แปลว่าเราไม่เข้มแข็งมากพอ เพราะเราทุกคนมีวิธีจัดการกับความโกรธที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเรามีสติและรู้ตัวเวลาโกรธหรือไม่ รวมถึงเราควบคุมทุกอย่างได้ดีหรือเปล่า

หากใครรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองตอนที่รู้สึกโกรธได้ แถมยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตประจำวันล่ะก็ อาจเป็นสัญญาณว่าเราควรไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำปรึกษาและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
– “มีอะไรก็บอกเราได้เสมอ” 8 วิธีสร้าง Emotional Safety พื้นที่ปลอดภัยในความสัมพันธ์: https://bit.ly/3K8D8u4
– ชอบขุด ชอบคุ้ย ชอบแค้น! ทำไมคนเราถึงมีอาการ‘หึงหวง’ ต่อ ‘อดีต’ ของคนรัก: https://bit.ly/3PA7JS7


อ้างอิง :
https://bit.ly/3Aaz8Ey
https://bit.ly/3dLOk3j

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

 

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า