‘ภาวะ Brownout’ ไม่ได้หมดแรงแต่หมดใจ ไม่อยากไปต่อกับการทำงาน

2658
ภาวะ Brownout

เคยเป็นไหม? ไม่ได้หมดแรง ไม่ได้หมดไฟ แต่หมดใจกับการทำงาน

หลายๆ คนคงรู้จัก ​Burnout ภาวะหมดไฟ ที่มักจะเกิดจากการทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจ เกิดความเหนื่อย ความเบื่อและความเครียด ทำให้ไม่มีความสุขและยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานยังลดลงอีกด้วย ซึ่งถ้าหากว่าเพื่อนร่วมงานของใครกำลังเผชิญสภาวะ Burnout อยู่ เราก็จะสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนเลยว่าคนคนนี้กำลัง Burnout อยู่นะ

ผิดกับ Brownout ภาวะหมดใจในการทำงาน ที่ทำให้พนักงานนั้นเบื่อหน่ายกับองค์กรและตัวงานที่ทำอยู่ โดยส่วนมากอาการนี้มักจะเกิดกับพนักงานที่เก่งและมีความสามารถ ซึ่งถือว่าเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวอย่างมาก เพราะว่าองค์กรอาจจะเสียคนเก่งไปจากภัยนี้โดยไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนใดๆ

ต้นตอของภาวะหมดใจ

ต้นตอของการที่พนักงานเกิดสภาวะ Brownout มักจะเป็นผลมาจากการกระทำขององค์กรบางอย่าง เช่น

Advertisements

1. การที่องค์กรมีกฎไร้สาระและจุกจิกมากเกินไป ทำให้พนักงานรู้สึกกดดันกับการทำงาน

2. การปฏิบัติกับคนที่ทำงานได้ดีกับคนที่ทำงานได้ไม่ดีอย่างเท่ากัน ทำให้คนที่ทำงานได้ดีรู้สึกท้อใจ เพราะการที่เขาทำงานหนัก ก็ไม่ได้ทำให้เขาได้ผลตอบแทนอะไรที่มากกว่า

3. การปล่อยให้คนที่ทำงานไม่ดีไม่พัฒนาตัวเอง จนฉุดรั้งความก้าวหน้าของทีม จนบางทีก็กลายเป็นคนที่ทำงานได้ดีนั้นเหนื่อยกว่า

4. ไม่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จของพนักงาน ทำให้รู้สึกว่าทำดีไปก็ไม่ได้รับการชื่นชม

5. การที่หัวหน้าไม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างเขาและพนักงาน

6. ไม่บอกพนักงานถึงทิศทางขององค์กร ทำให้พวกเขาไม่มีเป้าหมายและเหตุผลในสิ่งที่ทำอยู่

7. การไม่ปล่อยให้พนักงานทำสิ่งที่พวกเขาชอบและค้นหาสิ่งใหม่ๆ คอยแต่ให้พวกเขาอยู่ในกรอบที่องค์กรสร้างไว้

8. การเป็นองค์กรที่ขาดความสนุก ทำให้พนักงานรู้สึกถึงสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดและไม่สนุกไปกับการทำงาน

Advertisements

ภาวะหมดใจภัยเงียบขององค์กร

Michael Kibler ผู้ที่ทำการศึกษาภาวะนี้มาเกือบทั้งชีวิตการทำงานของเขา ได้กล่าวว่า “Brownout จะแตกต่างจาก Burnout ตรงที่เราจะไม่สามารถมองเห็นอาการที่ชัดเจนของพนักงานที่กำลังเผชิญกับอาการนี้อยู่”

พนักงานเหล่านี้ก็คงยังทำงานได้ดี ทำงานได้ตามชั่วโมงเวลาเหมือนเดิม มีส่วนร่วมและเข้ากับทีมได้เป็นอย่างดี และยังนำเสนอไอเดียได้อย่างน่าสนใจในการประชุมเฉกเช่นเดิม โดยที่ไม่มีใครรู้เบื้องหลังว่า พวกเขากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่หนักอึ้งและกำลังค่อยๆ ที่จะถอยตัวเองออกไปอย่างช้าๆ

ในขณะที่ Burnout มักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ Brownout จะเป็นอาการระยะยาว ที่ค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ จากประสบการณ์ที่พวกเขาเจอในการทำงาน เหมือนกับดาวฤกษ์ที่แสงของมันค่อยๆ ริบหรี่ลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ดับไป ซึ่งก็เหมือนกับการที่พนักงานอยู่กับอาการเช่นนี้มาเป็นระยะยาว และสุดท้ายก็เลือกที่จะเดินออกไปจากองค์กร ซึ่งบางทีก็ทำให้หัวหน้าหลายๆ คนถึงกับช็อก เมื่ออยู่ดีๆ คนเก่งของทีมตัดสินใจที่จะลาออกแบบไม่ทันตั้งตัว และตัดสินใจที่จะไปเริ่มต้นใหม่กับบริษัทอื่น เพราะว่ามันแทบจะไม่มีสัญญาณอะไรเตือนก่อนเลย

อย่างไรก็ตาม อาการ Brownout นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานอย่างเดียว แต่เกิดกับหัวหน้างานด้วยเช่นกัน โดยหัวหน้าที่กำลังเผชิญกับภาวะ Brownout ก็อาจจะเผลอสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรที่ Toxic ไม่ว่าจะเป็นการไม่แยแสกับไอเดียใหม่ๆ ไม่ให้การสนับสนุนพนักงาน หรือบางทีก็ไม่สนใจหน้าที่ของตัวเอง ส่งผลให้เกิดพลังลบในที่ทำงานและยังเป็นการส่งต่ออาการ Brownout ไปยังพนักงานคนอื่นๆ

ซึ่งจากผลสำรวจของ Corporate Balance Concepts ก็ได้ระบุว่ามีเพียง 5% ของพนักงานระดับสูงที่เผชิญกับอาการ Burnout แต่มีถึง 40% ที่เผชิญกับอาการ Brownout ซึ่งเป็นจำนวนที่ถือว่าไม่น้อยเลย ทำให้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่องค์กรจะมองข้ามไม่ได้ และต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น ในการที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหาภาวะ Burnout ของพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่เก่งและมีความสามารถ เพราะถ้าเสียทรัพยากรบุคคลที่ดีไปก็คงจะส่งผลกระทบไม่น้อยต่อการทำงานขององค์กรและการทำงานของทีม

ดังนั้น หัวหน้า ฝ่ายบุคคล และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะต้องหันกลับมามององค์กรของตัวเองว่ามีข้อผิดพลาดอะไรไหม ที่เป็นเหตุที่ทำให้คนที่มีความสามารถนั้นเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย หมดใจ และสุดท้ายก็เดินออกไปจากองค์กรอย่างน่าเสียดาย

แปลและเรียบเรียง:
https://bit.ly/2RcXhYc
https://bit.ly/3nAgrDz

อ้างอิง:
https://bit.ly/3gW9FqF

#MissionToTheMoonPodcast

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements