Articlesอีกก้าวของความมั่นคงทางสุขภาพไทย ด้วยการเข้าถึงยานวัตกรรม

อีกก้าวของความมั่นคงทางสุขภาพไทย ด้วยการเข้าถึงยานวัตกรรม

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้นวัตกรรมการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงยาและการบริการสุขภาพของไทยยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากมีผู้คนอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและยารักษาโรค ซึ่งนับเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีพ และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย เราจะค้นพบทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร?

Mission To The Moon ชวนทุกท่านมาค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กันกับ ดร.แมรี่ เสรฐภักดี อุปนายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) องค์กรที่สนับสนุนการสร้างสรรค์และพัฒนายานวัตกรรม และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงยานวัตกรรมในอนาคตได้ง่ายขึ้น และสามารถสร้าง “ความมั่นคงทางสุขภาพ” ได้อย่างแท้จริง

สำหรับนิยามของคนไทยนั้น คำว่า “ความมั่นคงทางสุขภาพ” คือการเข้าถึงสิทธิการรักษาที่ดี บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ การเข้าถึงยาและการรักษาเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว ความมั่นคงทางสุขภาพ หรือ Global Health Security (GHS) หมายถึง ความพร้อมของประเทศ ในการป้องกัน และ รับมือกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคภัย ไม่ว่าจะเป็น โรคอุบัติใหม่ หรือ โรคระบาด อย่างเช่น โควิด-19 จากการประเมินดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ หรือ Global Health Security Index (GHS Index) เมื่อปี 2021 ซึ่งจัดทำโดย ศูนย์ความมั่นคงทางสุขภาพ Johns Hopkins ร่วมกับ The Nuclear Threat Initiative (NTI) และ The Economist Intelligence Unit (EIU) โดยใช้ ตัวชี้วัด 6 ด้าน เพื่อประเมินและวัดระดับประเทศต่างๆ ในการรับมือ โควิด-19 ดังนี้

– Prevention การป้องกันโรคที่เกิดขึ้น หรือการรั่วไหลของเชื้อโรค
– Detection and Reporting การตรวจคัดกรองและรายงานสถานการณ์ของโรคระบาดในระยะเริ่มแรก
– Rapid Response การตอบสนองอย่างเร่งด่วน และการบรรเทาผลกระทบของการแพร่กระจายของโรคระบาด
– Health System ระบบสุขภาพของประเทศที่มีศักยภาพเพียงพอในการดูแล รักษาผู้ป่วย และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์
– Compliance with International Norms ทรัพยากรทางด้านบุคลากรหรืองบประมาณที่มีความพร้อมอยู่ในเกณฑ์สากล
– Risk Environment ความเสี่ยงทางด้านสภาพแวดล้อมของประเทศที่มีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค

จากการรายงาน Global Health Security Index พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 5 ของโลก จากการประเมินทั้งหมด 195 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก

Advertisements

ถ้าพูดถึงประเด็นเรื่องปัญหาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บที่คนเราต้องเผชิญ เมื่อเรายังเด็ก เราจะเห็นภาพของผู้ป่วยโรค NCDs หรือโรคเรื้อรังต่างๆ ที่สามารถรักษาได้ยาก แต่ปัจจุบัน ภาพของผู้ป่วยโรคร้ายที่มีอาการรุนแรงกำลังหายไป และถูกแทนที่เข้ามาด้วยการรักษาแบบประคับประคองอาการ จนสามารถมีชีวิตอยู่ได้แบบปกติ จนเรียกได้ว่าคนในปัจจุบันนี้มีโอกาสในการเข้าใกล้ “ความมั่นคงทางสุขภาพ” มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

หากเราสังเกตสถานการณ์เหล่านี้ เราจะพบว่า “นวัตกรรมยาและบริการทางสุขภาพ” กำลังก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ส่งผลให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวขึ้น จากการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “ยานวัตกรรม หรือ Innovative Medicines”

แต่ที่น่ากังวลคือ การเข้าถึงยาและบริการสุขภาพของไทย ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนนั้น กลับไม่สามารถเข้าถึงได้เท่าที่ควร มีเพียงประชาชนที่มีรายได้บางส่วนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงยานวัตกรรมได้ ทำให้ “ยาและการรักษา” ที่เป็นปัจจัย 4 กำลังจะถูกผลักออกไปเป็นสินค้าที่ถูกมองข้ามความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับบางครัวเรือน

เมื่อพิจารณาด้านความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย จะพบว่ามีความเด่นชัดในสองด้านคือการตรวจคัดกรองและรายงานสถานการณ์ของโรคในระยะเริ่มต้น (Detection and Reporting) และการตอบสนองอย่างเร่งด่วนเมื่อเกิดโรคระบาด (Rapid Response) สังเกตได้จากความทันสมัยของการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามในด้านอื่นๆ เช่น ระบบสุขภาพที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย การพัฒนายังคงต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม เห็นได้จากในยามที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ระบบสุขภาพในประเทศยังไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ด้วยข้อจำกัดของจำนวนเตียง บุคลากรและสถานพยาบาลที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีผู้ป่วยบางส่วนที่ได้รับการรักษาล่าช้าไป

ดร.แมรี่ได้ให้ข้อมูลกับเราว่า สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีความไม่มั่นใจในเรื่องสุขภาพอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากระบบการรักษาสุขภาพ (Health System) ที่อาจยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสมมากนัก และเรายังสามารถพัฒนาระบบสุขภาพในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงยาและวัคซีนที่มีคุณภาพ มีสถานพยาบาลที่เพียงพอและเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา คลินิก หรือโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าพบแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีระบบการจัดการในด้านการจัดซื้อจัดหา การเก็บรักษา และการกระจายยาหรือวัคซีนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาความขาดแคลนของวัคซีนและยาในประเทศ เมื่อต้องเผชิญกับโรคระบาดใหม่หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30 บาท ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาด้านการเข้าถึงยานวัตกรรมหรือวัคซีน ผู้ถือบัตรทองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงยานวัตกรรมหรือวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากยานวัตกรรมจำนวนมากยังไม่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ.

ในการพูดคุยครั้งนี้ “ยานวัตกรรม” เป็นสิ่งที่ดร.แมรี่มีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง โดย “ยานวัตกรรม” คือยาใหม่ที่มีการลงทุนเพื่อวิจัย คิดค้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาหรือป้องกันโรค เมื่อเทียบกับยาสามัญ (Generic Drugs) ทั่วไป โดยหากจะทำความเข้าใจอย่างง่ายแล้ว ยานวัตกรรมเป็นยาที่ถูกคิดค้นเพื่อใช้ในการรักษาโรคใหม่ๆ ในขณะที่ยาสามัญเป็นยาที่ถูกพัฒนาจากยานวัตกรรมเพื่อใช้ในการรักษาโรคที่มีอยู่แล้ว เช่น ยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่ถูกคิดค้นเพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ หรือยามุ่งเป้าในการรักษามะเร็ง (Targeted Therapy) ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อโจมตีเซลล์มะเร็งโดยตรงและมีประสิทธิภาพมากกว่าเคมีบำบัดทั่วไป เป็นต้น

Advertisements

กระบวนการค้นคว้า วิจัย และพัฒนายานวัตกรรมตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงขั้นตอนที่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้จริงนั้นใช้ระยะเวลานาน ตั้งแต่ 10 ถึง 15 ปี และอัตราความสำเร็จของยานวัตกรรมนั้นเป็นไปได้ยาก กว่า 85% – 90% ของยาที่เริ่มมีการคิดค้นมีโอกาสในการล้มเหลวสูง นั่นหมายความว่าถ้าเริ่มจาก 100 โมเลกุล จะมีเพียง 10-15 โมเลกุลที่ใช้ได้จริงและสามารถนำมาผลิตเป็นยาได้

เมื่ออัตราความล้มเหลวของการผลิตยานวัตกรรมสูง จึงทำให้ราคายานวัตกรรมมีราคาสูงเพราะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อความล้มเหลว และใช้เวลานานในการค้นคว้าและวิจัย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ยานวัตกรรมในปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพ อย่างบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ งบประมาณเป็นปัจจัยที่รัฐบาลให้ความสำคัญและยานวัตกรรมมีราคาสูงกว่า ยาสามัญทั่วไป โดย พรีม่าและบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยานวัตกรรม ได้มีการร่วมมือพูดคุยกับหน่วยงานรัฐ เพื่อหารือ ในเรื่องกลไกที่จะทำให้ราคายานวัตกรรมอยู่ในช่วงที่รัฐสามารถรับได้ รวมถึงการเพิ่มงบประมาณ ในการใช้กับค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น

เรื่องหนึ่งที่มีการพูดคุยกันมาพอสมควรและมีบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ก็คือการเสนอเรื่องของ Alternative Healthcare Financing หรือการจัดการเรื่องการเงินสำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศ มีการเสนอให้มี Cancer Drug Fund หรือกองทุนเฉพาะสำหรับยาหรือค่ารักษาพยาบาลของโรคมะเร็ง ให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ความสำคัญกับการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น โดยการจัดสรรปันส่วนงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้ในการรักษา พยาบาลโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีการนำมาใช้จริงในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฮ่องกง และอิตาลี

ประเทศที่มีการเข้าถึงยานวัตกรรมค่อนข้างมาก ได้แก่ อังกฤษ เกาหลี โดยที่จะมีขั้นตอนการคัดเลือกยานวัตกรรมที่ค่อนข้างชัดเจนและมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ และให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของประชาชน มากพอสมควร ซึ่งหากดูงบประมาณด้านสุขภาพของเกาหลีเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) แล้ว เกาหลีจะมีเปอร์เซ็นต์งบประมาณที่มากกว่าเมื่อเทียบกับไทย

ในส่วนของพรีม่าเองก็มีความเข้าใจในเรื่องของภาระงบประมาณของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงได้มีการหารือเกี่ยวกับราคาที่เหมาะสม รวมถึงกลยุทธ์ในการแบกรับความเสี่ยงร่วมกับทางภาครัฐเพื่อให้ได้ราคายานวัตกรรมที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น โดยการนำหลักการ Health Economic หรือเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่ดูความคุ้มค่าของยาและปัจจัยอื่นๆ ในการกำหนดราคายานวัตกรรมพิจารณาร่วมด้วย

ปัจจุบัน พรีม่ามีสมาชิกจำนวน 30 บริษัท มีภารกิจในการสนับสนุนการเข้าถึงยานวัตกรรมให้มากขึ้น โดยที่ภารกิจแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ

– Access
: สนับสนุนให้ผู้ป่วยมีสิทธิในการเข้าถึงยานวัตกรรม โดยเป็นตัวแทนผู้ผลิตยาและวัคซีนนวัตกรรมในการหารือกับภาครัฐและหน่วยงานกำกับด้านนโยบายสาธารณสุข โดยหารือในเรื่องของ Alternative Health Care Financing เช่น การทำ Risk Sharing Agreement หรือ Managed Entry Agreement และการจัดตั้งกองทุนรักษาเฉพาะโรค เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยานวัตกรรมของผู้ป่วย

– Innovation : สนับสนุนให้มีระบบนิเวศที่ทำให้เกิดการลงทุนทางด้านการวิจัยทางคลินิกและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ในประเทศไทย เพราะจากการศึกษาของบริษัท Deloitte ในปี 2015 พบว่าทุก 1 บาท ที่ใช้ลงทุนในการทำวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย จะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมา 2.9 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานและบุคลากรตลอดจนผลงานวิจัยที่มีมาตรฐานระดับโลกได้

– Care : เพราะผู้ป่วยคือหัวใจของเรา จึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ให้กับผู้ป่วย ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ป่วย หรือการให้ข้อมูลประชาชนเกี่ยวกับโรค การป้องกัน การรักษาหรือข่าวสารของยานวัตกรรมใหม่ๆ

ภาพที่พรีม่าอยากเห็นก็คือ “ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งและยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง” โดยพรีม่าพร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องของการเข้าถึงยานวัตกรรมและวัคซีน เพราะการเข้าถึงยานวัตกรรมเป็นการเสริมสร้างความมั่นคง ด้านสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประชาชน ผู้ป่วย หรือการให้ข้อมูลความรู้กับบุคลากรทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรีม่าดำเนินการร่วมกับบริษัทสมาชิก ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากจะยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ ก็จะต้องมีการร่วมมือกันจากภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งรวมไปถึงประชาชนด้วย

ท้ายที่สุดนี้ ดร.แมรี่ ยังฝากแนวคิดอีกด้วยว่า “อยากให้ทุกคนมองว่าค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เสียเปล่า แต่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพของตนเอง” เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ คือประชาชน สุขภาพที่ดีจะช่วยให้เราสามารถ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรมองเห็นการเข้าถึงยานวัตกรรมเป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับประเทศชาติ ไม่ใช่แค่ในวันนี้ แต่เป็นอนาคตในระยะยาวที่ประเทศจะสามารถสร้างความมั่นคงได้ต่อไป

Mission To The Moon x PReMA

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า