SOCIETYยุคแห่ง “มูเตลู” ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงสนใจความเชื่อเดิม

ยุคแห่ง “มูเตลู” ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงสนใจความเชื่อเดิม

เคยสังเกตกันไหมว่าเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ อยู่รอบตัวเรามากแค่ไหน

ตั้งแต่เปิดหน้าจอโทรศัพท์มาก็เจอ ‘วอลล์เปเปอร์ไพ่เสริมดวง’ ก่อนจะออกจากบ้านก็ต้องเลือกเสื้อผ้าที่เป็น ‘สีมงคล’ พร้อมสวม ‘สร้อยข้อมือมงคล’ เส้นเล็กๆ ที่ดูทันสมัย ระหว่างเล่นโซเชียลมีเดียระหว่างวันก็มี ‘ดูดวง’ ฟรีให้อ่านทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือไลน์

หากเหตุการณ์ที่กล่าวมาคุ้นๆ คุณอาจเป็นหนึ่งคนที่เชื่อเรื่องดวงชะตา โชคลาง และเรียกตัวเองว่า ‘สายมู’ (หรือรู้จักคนที่เชื่อ) นั่นเอง

Advertisements

และสำหรับบางคนที่เป็นสายมู แต่ในอดีตไม่เคยสนใจเรื่องความเชื่อมาก่อน เคยคิดไหมว่า ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยฟังเวลาที่แม่บอกให้ห้อยพระ แถมยังขำพ่อตอนบูชาจตุคามฯ อยู่เลย

จากที่เคยมองว่าผู้ใหญ่ ‘งมงาย’ แต่ทำไมพอโตมาเราถึงสนใจเรื่องพวกนี้เสียเอง?

มาหาคำตอบกันดีกว่าว่าทำไมเรื่องความเชื่อที่เราเคยมองว่าเป็นของคนยุคเก่า ถึงกลับกลายมาเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

The Rise of Mutelu เมื่อความเชื่อกลับมาเป็นที่รุ่งเรืองอีกครั้ง

‘ดูดวง’ ไม่ว่าจะเป็นจากดวงวันเกิด ราศี หรือจากไพ่ นั้นเป็นที่นิยมของชาวไทยเกือบทุกเพศทุกวัย สถิติจากบริษัท ไลน์​ (Line) ประเทศไทยเปิดเผยว่าในช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีคนใช้บริการดูดวงสูงสุดถึง 3 ล้านคนต่อวัน

ปัจจุบันเราเริ่มเห็นแบรนด์ต่างๆ มีการคอลแล็บฯ ร่วมกับหมอดูชื่อดัง งานอีเวนต์ต่างๆ หันมาเพิ่มกิจกรรม ‘ดูไพ่ยิปซี’ ให้เป็นกิจกรรมในงานนั้นๆ หรือแม้แต่การออกสินค้าใหม่ๆ ก็ยังต้องมีเรื่อง ‘มงคล’ หรือ ‘ราศี’ เป็นองค์ประกอบในนั้น อย่างเช่น ธนาคาร CIMB ไทยที่มีการคอลแล็บฯ กับแม่หมอพิมพ์ฟ้า หรือ แบรนด์เมย์เบลลีนที่ออกคอลเลกชันลิป 12 ราศี

Advertisements

อีกกระแสที่เห็นได้ชัดคือความนิยมเครื่องประดับมงคล ไม่ว่าจะเป็นสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอก็มีผู้ให้ความสนใจมากมาย ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์ Ravipa, Mizuchol, และ Harmenstone ที่ผู้บริโภคจะพบเห็นได้เป็นประจำตามโซเชียลมีเดีย ทั้งจากการโฆษณาของแบรนด์เองและจากการรีวิวของผู้ใช้งานจริง

ส่วนความนิยมของวอลล์เปเปอร์มงคลก็มีมากไม่น้อย ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากเราจะได้เห็นความสำเร็จของสองสำนักดังอย่าง มูเตเวิร์ล และ Horowall ในการขายวอลล์เปเปอร์ เรายังเห็นทั้งแบรนด์และเพจหมอดูต่างๆ หันมาแจกวอลล์เปเปอร์มงคล หรือ วอลล์เปเปอร์มูเตลู แบบฟรีๆ กันมากมาย

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น แต่เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้หลายคนสงสัยแล้วว่า เป็นเพราะอะไรความเชื่อถึงกลับมาเป็นที่นิยมขนาดนี้?

นิยมเพราะงมงายหรือเพราะเป็นความหวังท่ามกลางความไม่แน่นอน?

จริงๆ แล้วความเชื่ออยู่คู่กับสังคมไทยมานานอยู่แล้ว แต่หนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์มูเตลูแบบแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นเพราะแบรนด์ต่างปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ ‘ทันสมัย’ และตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้นต่างหาก

หากจะให้ห้อยพระเส้นใหญ่ๆ แบบเห็นได้ชัด หลายคนก็อาจจะเลือกไม่ใส่เลยดีกว่า เพราะนอกจากจะไม่เข้ากับชุด ไม่ทันสมัย แล้วยังดูงมงายอีก ต้องยอมรับว่า แม้หลายคนจะยังเชื่อเรื่องดวงอยู่ลึกๆ เพราะเติบโตมากับความเชื่อแบบไทยๆ แต่ก็ไม่อยากจะแสดงออกด้านนี้ให้ใครเห็นชัด โดยเฉพาะในยุคที่วิทยาศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผลนั้นอยู่เหนือความเชื่อ แบรนด์อย่าง Ravipa จึงมีแนวคิดในการออกคอลเลกชันสร้อยข้อมือมงคลที่ดูทันสมัย ตามคอนเซปต์ ‘มูอย่างไรไม่ให้คนรู้ว่ามู’ ผลที่ตามมาคือความนิยมเกินคาดจนปีที่ผ่านมา แบรนด์มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2,000% ภายในหนึ่งปี

ในแง่ของบริการก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเมื่อทำให้ทันสมัย ยกตัวอย่างเช่น บริการรับฝากไหว้ ขอพร หรือ แก้บนแบบออนไลน์ ที่เริ่มมีหลายเจ้าหันมาให้บริการ เพราะบริการเช่นนี้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่อยากไปบูชา ไปไหว้เทพเจ้าตามสถานที่ต่างๆ แต่มองว่าอาจขัดกับภาพลักษณ์ หรือ ไม่มีเวลา 

‘ความไม่แน่นอน’ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนหันมาพึ่งความเชื่อกันมากขึ้น

งานวิจัยด้านมิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede อธิบายว่าสังคมที่มี ‘ค่าหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน’ (Uncertainty Avoidance Index; UAI) สูง จะมีความคิด ความเชื่อ หรือความพยายามหาแหล่งที่พึ่งทางจิตใจเพื่อหลีกหนีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในสังคม โดยประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มที่มีระดับ UAI สูง ซึ่งอยู่ที่ 64 คะแนน และหากดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด จึงไม่แปลกที่คนไทยหลายคนรู้สึกสิ้นหวังและหันมาพึ่งความเชื่อกันมากขึ้น

รายงานเรื่อง Capitalism Magic Thailand: Modernity With Enchantment
ของปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน ได้ศึกษาถึง ‘Cults of Wealth’ หรือเหตุการณ์ที่คนหันมานิยมความเชื่อ ในช่วงปี 1990s ที่เศรษฐกิจไทยแกว่งตัวแรง โดยในยุคนั้นคนหันมาไหว้กระษัตริย์องค์ก่อนๆ เช่าพระ และคุยกับร่างทรงหรือพระดังๆ มากขึ้น จากความงมงายของท้องถิ่นก็กลับกลายมาเป็นความนิยมกระแสหลัก

ก่อนหน้านี้เรารู้กันดีว่าความเชื่อต้องหลีกทางให้แก่วิทยาศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผลของโลกสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม แจ็คสันมองว่าทุนนิยมและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกสมัยใหม่นั้น กลายมาเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่แน่นอน และยากเกินจะเข้าใจ คนจำนวนไม่น้อยจึงหันมาหาตัวช่วยเพื่อรับมือกับความไม่มั่นคงในชีวิตประจำวัน อย่างการเช่าพระ หรือ การดูดวง

ในรายงานยังเสริมอีกด้วยว่า ในอดีตคนมักนิยมบูชาเทพเจ้าหรือนิยมห้อยพระเพื่อ ‘ความปลอดภัย’ แต่เรื่องที่คนไทยหันมาในยุคหลังๆ จะเป็นเรื่อง ‘ความร่ำรวย’ เสียมากกว่า และหากสังเกตในตลาดความเชื่อปัจจุบัน เราจะเห็นว่าผู้บริโภคนิยมขอพรในเรื่องที่เข้ากับไลฟ์สไตล์มากกว่าที่เคย
อย่างเช่นการขอความรัก ขอทุน ของาน หรือขอโมเมนต์คู่ชิป เป็นต้น

นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจเมื่อคนรุ่นใหม่หันมาใช้ความเชื่อเป็นที่พึ่งพาจิตใจกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ‘ความไม่แน่นอน’ หรือ ‘ความทันสมัย’ ของวัตถุมงคลรุ่นใหม่ๆ
หลายคนอาจเคยคิดว่าความเชื่อจะค่อยๆ เลือนหายไป แต่เราอาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ เพราะเป็นไปได้ว่าความเชื่อเรื่องดวงชะตาและโชคลางอาจอยู่คู่กับคนไทยไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังปรับตัวเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้ทัน

และไม่แน่ หากยุค Metaverse มาถึง เราอาจได้เห็นการผสมผสานที่ล้ำกว่านี้ก็เป็นได้ 🙂

อ้างอิง:
https://bit.ly/3K5QDJL
https://bit.ly/3JZYnNf
https://bit.ly/35xb2Zc

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า