ถ้าในอนาคต สินทรัพย์ที่เราสะสมมาทั้งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ กองทุน ที่ดิน และมรดกต่าง ๆ ตกไปอยู่ในมือของผู้ประสงค์ร้ายที่ใช้ความหวังดีมาบังหน้า การลงทุนที่ผ่านมาก็แทบจะไร้ประโยชน์ไปโดยทันที..
เรื่องราวเบื้องต้นถูกเล่าผ่านภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า “I Care a Lot” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ Marla Grayson หญิงสาวพราวเสน่ห์แถมเจ้าเล่ห์ ที่คอยบริหารธุรกิจบ้านพักคนชราให้เติบโตขึ้นทุกปี
โดยในแต่ละปีความมั่งคั่งของเธอก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมันมาจากการฮุบสมบัติของผู้สูงอายุที่เธอได้พาเข้ามายังบ้านพักคนชรา หรือการยักยอกทรัพย์ของผู้สูงอายุเหล่านั้นให้กลายเป็นของเธอนั่นเอง
ภาพยนตร์ I Care a Lot ชวนให้ผมฉุกคิดว่า ในวันที่เรามัวแต่มุ่งหน้าหาเงินด้วยการลงทุนตามระดับความเสี่ยงต่างๆ มากมาย ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้สูงลิบ (แน่นอนว่า การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่สูงย่อมเป็นสิ่งที่ใครหลายคนมองหา) ยังมีอีกบทเรียนหนึ่งของโลกการลงทุน ที่หลายคนอาจหลงลืมให้ความสำคัญไป..
ซึ่งบทเรียนนั้นก็คือ “การรักษาสินทรัพย์” เอาไว้นั่นเอง
เพราะเมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
โดยส่วนมาก การยอมรับระดับความเสี่ยงในการลงทุนของเราจะค่อยๆ ลดน้อยลง เนื่องจาก..
…ปัจจัยทางอายุที่เพิ่มขึ้น
…โอกาสการสร้างรายได้ที่ไม่เหมือนเดิม
…และระยะเวลาการลงทุนที่ลดน้อยลงนั่นเอง
ที่สำคัญกว่านั้น คือ การรักษาเงินต้นไม่ให้สูญเสียไปกับสินทรัพย์ที่เสี่ยงเกินไป จนส่งผลกระทบต่อแผนเกษียณในอนาคตด้วยเช่นกัน
โดยมีสูตรบริหารความเสี่ยงการจัดพอร์ตด้วยการใช้หลัก “100 – อายุ”
เป็นต้นว่า หากปัจจุบันเราอายุ 30 ปี พอร์ตการลงทุนของเรายังรับความเสี่ยงได้กี่เปอร์เซ็นต์? คำตอบก็คือนำ 100 – 30 จะเท่ากับ 70%
ดังนั้นถ้าเราอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการรับความเสี่ยงก็จะลดลงตามหลักการคิดแบบที่ยกตัวอย่างไปนั่นเอง
ตัดภาพมาที่โลกแห่งความเป็นจริง มีคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อคล้ายกับในภาพยนตร์ I Care a Lot เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นเชิงถูกอุ้มไปดูแลที่บ้านพักคนชรา เพียงแต่ถูกหลอกลวงในลักษณะของการใช้เสน่ห์ ความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือที่ภาษาการหลอกลวงเรียกว่า “Romance Scam” ซึ่งเป็นการชักชวนให้เหยื่อเกิดความเห็นอกเห็นใจ หรือไม่ก็เกิดความโลภ จนตัดสินใจฝากเงินไปลงทุนแบบตามข่าวที่เราเคยได้เห็นกันในทีวีนั่นเอง
จากการวิเคราะห์ลักษณะเหยื่อของ Romance Scam พบว่า เหยื่อมักเป็นคนที่มีอายุ อยู่คนเดียว มีความโดดเดี่ยว และมีสินทรัพย์เยอะ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่มิจฉาชีพนิยมโจมตีด้วยการใช้เสน่ห์หา เพื่อทำให้เกิดความสนิท และความเห็นใจ ก่อนที่จะทำการหลอกลวงสินทรัพย์ของเราไป
ข้อมูลของสำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พบว่า ในช่วงปี 2561 – 2562 มีการหลอกลวงลักษณะนี้เกิดขึ้นและมีความเสียหายสูงถึง 193,015,902.11 บาท
เรียกได้ว่าถ้ามองว่านี่เป็นกองทุนเกษียณก้อนหนึ่ง ก็สามารถดูแลคนเกษียณได้หลายร้อยชีวิตเลยทีเดียว
ยิ่งประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในปีนี้ จากการมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20%
และมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในอีก 7
ปีข้างหน้า หรือ ปี พ.ศ. 2574 ซึ่งจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง 28% การเพิ่มทักษะการหารายได้และรักษารายได้ทั้งในช่วงก่อนและหลังเกษียณ ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ
แม้หลายคนจะบอกว่า “เงินทองเป็นสิ่งของนอกกาย” แต่ก็อย่าลืมว่าเงินทองที่เราได้มานั้น เราต้องแลกมาด้วยความคิด ความสามารถ และการยอมรับจากการทำงานมานานหลายสิบปี ซึ่งมันก็ผูกอารมณ์และความรู้สึกภาคภูมิใจ รวมถึงการมองเห็นคุณค่าของตัวเองติดมาด้วย
หากวันหนึ่งสินทรัพย์ของเราที่สะสมมาทั้งชีวิต หมดลงอย่างกะทันหันจากการถูกหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของภาพยนตร์ I Care a Lot หรือ Romance Scam ความเสียหายที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่สินทรัพย์ที่จากเราไป แต่มันกระชาก “ความภาคภูมิใจในอดีต” ออกจากชีวิตเราไปด้วย
และความน่ากลัวมากกว่านั้นคือ การถูกกระชากออกไปในวันที่ศักยภาพของเราหมดลง
อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่เราต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นไปทั้งชีวิตก็ได้
และนี่คือโศกนาฏกรรมทางการเงินอันรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกชีวิตเสมอ
ผู้เขียน : โอมศิริ วีระกุล Content Director แห่ง Rocket Digital Agency และผู้เขียนหนังสือ “สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก” “นี่เงินเดือนหรือเงินทอน” และอื่นๆ
อ้างอิง
https://bit.ly/3Teo0yV